HomeBrand Move !!บทสรุป 10 เหตุการณ์รอบโลกแห่งปี 2021

บทสรุป 10 เหตุการณ์รอบโลกแห่งปี 2021

แชร์ :

around the world 2021 bb 2

ปี 2021 กำลังจะจบลงในอีกไม่กี่วันนี้แล้ว ซึ่งเราเชื่อว่า ตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา มีหลายเหตุการณ์ที่เป็นความทรงจำกันมากมาย และวันนี้ BrandBuffet จึงขอนำเหตุการณ์เหล่านั้นกลับมาถ่ายทอดอีกที ผ่านบทสรุป 10 เหตุการณ์ต่างประเทศที่น่าสนใจตลอดปี 2021 ชิ้นนี้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

1. ปรากฏการณ์ GameStop

shutterstock_gamestop

เมื่อช่วงต้นปี (เดือนมกราคม 2021) มีปรากฏการณ์หนึ่งที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก นั่นคือปรากฏการณ์ GameStop ซึ่งเป็นการปะทะกันของนักลงทุนรายย่อย (โดยส่วนใหญ่มาจากแพลตฟอร์ม Reddit) กับนักลงทุนสถาบันที่ทำการช็อตเซลล์หุ้นของ GameStop เพื่อหวังทำกำไร

ปรากฏการณ์นี้ถูกเรียกว่าเป็นการดัดหลังนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งที่มาของเหตุการณ์ดังกล่าวมาจากเนื่องจากสถานการณ์ของตลาดเกมเปลี่ยนไป คนหันมาซื้อเกม – เล่นเกมออนไลน์ ทำให้ GameStop จากเดิมเคยเป็นร้านขายเกมยักษ์ใหญ่ ก็มีผลประกอบลดลงเรื่อย ๆ) ทำให้นักลงทุนรายใหญ่ทำการช็อตเซลล์หุ้นของ GameStop เพื่อหวังกำไรส่วนต่างตอนที่มูลค่าหุ้นลดลง

แต่เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะนักลงทุนรายย่อยต่างเข้ามาช่วยกันซื้อหุ้น GameStop จนราคาหุ้นมีมูลค่าสูงขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนรายใหญ่ที่ช็อตเซลล์ไว้นั้นต่างขาดทุนไปตาม ๆ กัน และต้องทำการตัดการขาดทุน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ส่งผลให้หุ้นของ GameStop พุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดที่มูลค่า 347 เหรียญสหรัฐ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2021 จากที่เคยมีราคา 39 เหรียญสหรัฐเมื่อ 7 วันก่อน

ศึกนี้จบลงด้วยการพังพินาศของทั้งสองฝั่ง และมีเฮดจ์ฟันด์ยักษ์ใหญ่ต้องเสียหน้าที่ขาดทุนเป็นหลักพันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนนักลงทุนรายย่อยที่ช่วยกันปั่นจนหุ้น GameStop ขึ้นไปก็มีสภาพไม่ต่างกัน เพราะในที่สุดแล้ว ราคาหุ้นที่เกิดจากการปั่น และการขายคืนของเฮดจ์ฟันด์ก็ตกลงอย่างรวดเร็ว (อย่างไรก็ดี มูลค่าหุ้นอง GameStop ในปัจจุบันอยู่ที่ 158 เหรียญสหรัฐ)

อ่านเพิ่มเติมที่ How Reddit’s WallStreetBets Pushed GameStop (GME) Shares to the Moon – Bloomberg

2. ศึกสตาร์วอร์ของสองมหาเศรษฐี “Jeff Bezos vs Elon Musk”

shutterstock spacex

นอกจากจะแข่งกันเรื่องอันดับของการเป็นมหาเศรษฐีโลกแล้ว Jeff Bezos อดีตซีอีโอ Amazon และ Elon Musk ซีอีโอ Tesla ก็มีโปรเจ็คด้านอวกาศที่แข่งกันอย่างดุเดือดด้วย

การแข่งขันของสองซีอีโอมีตั้งแต่การแย่งชิงฐานปล่อยจรวจของนาซา ในปี 2013 ที่ Jeff Bezos มองว่าไม่แฟร์ หาก SpaceX จะได้สิทธิ์ใช้ฐานนั้นคนเดียว หรือในปี 2014 กับเรื่องสิทธิบัตร Drone Ship ของ Blue Origin ที่จะใช้ในการลงจอดของจรวด โดย SpaceX บอกว่า แนวคิดเรื่องเทคโนโลยีนี้มีมานานนับสิบปีแล้ว เป็นต้น

ส่วนในปี 2021 การแข่งขันของทั้งสองซีอีโอ มาถึงจุดเดือดอีกครั้ง เมื่อนาซามีการประกาศให้ SpaceX เป็นผู้ได้รับสิทธิพัฒนาระบบ Human Landing System บนดวงจันทร์แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งทำให้ Blue Origin ออกมาประท้วงจนโครงการดังกล่าวต้องหยุดชะงักไป

แต่ถ้าพูดถึงความสำเร็จในการออกไปนอกโลกแล้ว อาจกล่าวได้ว่า Jeff Bezos ได้ทำให้ความฝันของเขาเป็นจริงก่อน Elon Musk กับการขึ้นไปท่องอวกาศกับยาน New Shepard เป็นเวลา 11 นาทีและกลับมาอย่างปลอดภัยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเขาได้ลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของ Amazon ก่อนการออกทริปนอกโลกครั้งนี้เพียงสองสัปดาห์

ส่วน Elon Musk นั้น แม้ว่า SpaceX จะสามารถจัดทริปในลักษณะเดียวกันได้ตั้งแต่ปี 2020 แต่ด้วยฐานะที่เป็นซีอีโอ ซึ่งแบกรับภาระต่าง ๆ เอาไว้มากมาย ทำให้เขาไม่สามารถขึ้นบินได้อย่างอิสระเหมือน Jeff Bezos นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติมที่ Jeff Bezos, Elon Musk Rivalry: a History of Their 15-Year Feud (businessinsider.com)

3. เรือ Ever Given เกยตื้นที่คลองสุเอซ

shutterstock_suez evergiven สุเอซ

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ทั่วโลกต้องจดจำก็คือเรือ Ever Given เกยตื้นที่คลองสุเอซ ประเทศอียิปต์จนทำให้การเดินเรือในคลองสุเอซต้องหยุดชะงัก และส่งผลให้ซัพพลายเชนทั่วโลกที่ตึงมืออยู่แล้วจากวิกฤติ Covid-19 ต้องวิกฤติหนักขึ้น เรือหลายลำต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือใหม่ โดยอ้อมไปทางแหลมกู๊ดโฮปแทน ซึ่งผลกระทบครั้งนี้ยังส่งผลถึงสหรัฐอเมริกาด้วย เพราะ “ไข่มุก” ซึ่งเป็นส่วนประกอบของ”ชานม” เครื่องดื่มยอดนิยมถึงกับขาดตลาดเลยทีเดียว

4. การกลับสู่มาตุภูมิของ “เมิ่ง เหวินโจว”

meng wanchou huawei

หลังจากไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกแคนาดานานหลายปี เมิ่ง เหวินโจว (Meng Wanzhou) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงินของหัวเว่ย (Huawei) ก็ได้รับการปล่อยตัวจากแคนาดา และเดินทางกลับจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยมีรายงานว่า เธอเดินทางด้วยสายการบินแอร์ไชน่า และแตะพื้นแผ่นดินจีนที่เสินเจิ้น ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่หัวเว่ย โดยมีพิธีต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่

5. ปรากฏการณ์ปรับแพกเกจจิ้งแบรนด์รักษ์โลก

muji aluminium bottle

การเปลี่ยนแพกเกจเครื่องดื่มในร้านเป็นขวดอลูมิเนียมของ MUJI

การพัฒนาสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกลายเป็นอีกหนึ่งกระแสมาแรงในปี 2021 นี้ โดยหากย้อนอดีตจะพบว่ามีแบรนด์ต่าง ๆ ให้ความสนใจ และพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ออกมามากมายเต็มไปหมด เช่น กรณีของ Coca-Cola ที่เปิดตัวขวดพลาสติกทำจากข้าวโพด หรือ Muji ที่เปลี่ยนแพกเกจเครื่องดื่มในร้านเป็นขวดอลูมิเนียมเพื่อความสะดวกในการรีไซเคิล

ส่วนแบรนด์ใดที่ยังไม่พร้อม ก็จะมีการตั้งเป้าให้ตัวเองว่าจะบรรลุเป้าหมายเมื่อไรด้วยเช่นกัน เช่น กรณีของ McDonald’s ที่ตั้งเป้าว่า ในอีก 4 ปี ของเล่น Happy Meal จะทำจากพลาสติกรีไซเคิล – กระดาษลูกฟูก

6. Hybrid Workplace จากเทรนด์สู่ Norm

Hybrid Workplace

หลังจาก Work From Home กันจนเป็นเทรนด์ในปี 2020 พอมาถึงปี 2021 องค์กรจำนวนไม่น้อยเริ่มอยากเรียกพนักงานกลับเข้าออฟฟิศ โดยเฉพาะบรรดา Tech Company ที่มองว่า ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนา Product เริ่มหายไปเรื่อย ๆ อย่างไรก็ดี ผลสำรวจจาก Cisco Global Workforce Survey ชี้ว่า 91% ของพนักงานต้องการการทำงานแบบ “Hybrid Working” และหลายคนอาจเลือกลาออกแทนหากออฟฟิศบังคับให้กลับไปทำงาน

การทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Work from Anywhere) จึงอาจไม่ใช่แค่สมัยนิยม แต่จะกลายเป็น Norm ปกติของชีวิตในอนาคต ถึงแม้การระบาดของโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายไปแล้วก็ตาม สะท้อนจากข้อมูลของบริษัท Morgan Stanley ระบุว่าอีก 7 ปีข้างหน้า ครึ่งหนึ่งของแรงงานในสหรัฐฯ จะเป็นฟรีแลนซ์ 

ไม่เฉพาะชาติตะวันตก กระแสการทำงานที่ใดก็ได้ ยังทำให้ประเทศที่บ้าการทำงานแบบสุด ๆ อย่างญี่ปุ่นเกิดการปรับตัวเช่นกัน เห็นได้จากรถไฟชินคันเซนที่มีการปรับตู้รถไฟให้รองรับการทำงานระหว่างเดินทาง แถมยังเพิ่มไวไฟ – เมาส์ให้ยืมฟรี ๆ อีกต่างหาก หรือ IKEA ที่พัฒนาผ้าม่านมหัศจรรย์ กรองทั้งแสงกรองทั้งเสียงให้กับชาว WFH ด้วย

7. เสียงปรบมือทั่วโลกมอบแด่ Tokyo Olympics แม้ไร้ผู้ชม

olympic tokyo 2020

Tokyo Olympic 2020 มหกรรมการแข่งขันที่ว่ากันว่ายิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ และมีกำหนดต้องจัดในปี 2020 แต่ถูกเลื่อนมาจัดในปี 2021 ได้ถูกบันทึกเอาไว้ว่าเป็นการจัดงานที่มีต้นทุนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากประเทศเจ้าภาพอย่างญี่ปุ่นต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการป้องกันการแพร่ระบาดของ Covid-19 ไม่เพียงเท่านั้น Tokyo Olympic 2020 ยังเป็นมหกรรมที่ไม่สามารถทำรายได้จากการขายตั๋วเข้าชม และไร้เสียงเชียร์ในสนาม แถมประชาชนในประเทศญี่ปุ่นก็ไม่โอเคกับการจัดงานครั้งนี้เอามาก ๆ ถึงกับมีการประท้วงรัฐบาลกันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี Tokyo Olympic 2020 ก็เปิดฉากขึ้นอย่างสวยงามและเรียกเสียงฮือฮาไปทั่วโลก เมื่อญี่ปุ่นเลือกใช้เพลงจากเกมดังในพิธีเปิดการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็น Dragon Quest, Final Fantasy, The Legend of Zelda, Sonic, Monster Hunter รวมถึงใช้คอนเทนต์จากรายการทีวีเกมซ่าท่ากึ๋นที่หลายคนคิดถึงมาทำเป็นภาพ Pictogram ของกีฬาแต่ละชนิดด้วย

ส่วนในพิธีปิด ญี่ปุ่นเลือกแสดงออกอย่างเรียบง่าย แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งความเป็นญี่ปุ่น และมีความสง่างามแฝงอยู่ในคราวเดียวกัน (รวมถึงมีการนำเพลงอนิเมะยอดฮิตแห่งยุคอย่าง Demon Slayer หรือดาบพิฆาตอสูรมาใช้ด้วย) ผลก็คือ แม้คนในชาติจะไม่ชอบใจนักกับการจัดมหกรรมโอลิมปิกในครั้งนี้ แต่ทั่วโลกก็ปรบมือให้กับสปิริตของญี่ปุ่น และรู้สึกขอบคุณที่ทำให้การจัดงานครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

8. ความฉูดฉาดของ Tesla

tesla elon musk เทสล่า อีลอน มัสก์ กำไร รถยนต์ไฟฟ้าTesla เป็นแบรนด์ที่สร้างสีสันให้กับปีนี้อย่างแท้จริง เห็นได้จากความฉูดฉาดของแบรนด์ที่มีออกมาตลอดทั้งปี เช่น ในการประกาศผลประกอบการไตรมาสแรก Tesla บอกว่า นอกจากจะขายรถแล้ว พวกเขายังขายบิทคอยน์จำนวน 272 ล้านเหรียญสหรัฐออกไปด้วย และทำกำไรจากการขายบิทคอยน์ดังกล่าวได้ถึง 101 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้กำไรไตรมาส 1 พุ่งไปแตะ 438 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

ขณะที่ไตรมาส 2 บริษัททำกำไรทุบสถิติด้วยตัวเลขสูงถึง 1.14 พันล้านเหรียญสหรัฐ ท่ามกลางสถานการณ์การขาดแคลนชิปที่ค่ายรถยักษ์ใหญ่ต่างต้องลดกำลังการผลิตลง โดย Tesla ทำรายได้จากธุรกิจยานยนต์ไปทั้งสิ้น 10,206 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้น 97% จากไตรมาสเดียวกันของปี 2020 ที่ทำไว้ 5,179 ล้านเหรียญสหรัฐ และสามารถส่งมอบรถยนต์ได้มากกว่า 201,250 คัน จากรถยนต์ที่ผลิตได้ทั้งหมด 206,421 คัน (นับจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน) เหตุเพราะ Tesla ได้ทำการดึงชิปจาก Powerwall มาผลิตรถก่อนนั่นเอง

ไตรมาส 3 บริษัทนี้ก็ยังสร้างความฮือฮาต่อเนื่อง เพราะตัวเลขกำไรมีแต่เพิ่มขึ้นเป็น 1.62 พันล้านเหรียญสหรัฐ แซงหน้าไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วไปกว่า 4 เท่า ซึ่งทางบริษัทเผยว่า บริษัทสามารถทำยอดขายทุบสถิติในจีนในเดือนกันยายน โดยทำไปได้ถึง 52,153 คัน นอกจากนั้น จีนยังเป็นประเทศที่ทำให้บริษัทสามารถผลิตรถได้มากที่สุดด้วย โดยในไตรมาสนี้ Tesla สามารถส่งมอบรถได้ถึง 241,300 คันทั่วโลก (เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 73%) ซึ่งทาง Tesla ถึงกับบอกว่า จะขยายกำลังการผลิตรถยนต์ในจีนเพิ่มขึ้นในอนาคต

9. จีนลงดาบ Tech company

JackMa Donate

นับตั้งแต่ปลายปี 2020 เป็นมา การคุมเข้มบริษัทเทคโนโลยีในจีนแผ่นดินใหญ่ได้กลายเป็นที่จับตาของทั่วโลก โดยบริษัทที่ต้องจ่ายค่าปรับมีตั้งแต่อาลีบาบา กับข้อหาผูกขาดทางการค้า ที่คิดเป็นเงินค่าปรับ 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ Meituan ที่โดนค่าปรับไป 3.44 พันล้านหยวน ประมาณ 589 ล้านเหรียญสหรัฐด้วยข้อหาเดียวกัน

นอกจากนั้น รัฐบาลจีนยังเคยสั่งถอดแอปพลิเคชัน Didi Chuxing ออกจาก App Store ด้วย เนื่องจากกังวลเรื่องประเด็น Data Security หลังจากบริษัทไป IPO ในตลาดสหรัฐอเมริกา

Tencent เองก็หนีไม่พ้น โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทถูกทางการจีนระงับการอัปเดตแอป เพื่อให้ทางการเข้าไปตรวจสอบการทำงานของแอปเหล่านั้นแล้ว สาเหตุที่มีคำสั่งดังกล่าวเนื่องจากทางการจีนมีการบังคับใช้กฎหมายด้าน Privacy ตัวใหม่ จึงจำเป็นต้องตรวจสอบว่า บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ทำอะไรกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคบ้างนั่นเอง

แน่นอนว่า นโยบายคุมเข้มบริษัทเทคโนโลยีของรัฐบาลจีน ได้ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่มาลงทุนในบริษัทเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่นักลงทุนบางส่วนก็มองว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะเข้ามาเก็บหุ้นของอาลีบาบา, Tencent, JD และ Baidu ด้วยเช่นกัน

10. ปัญหาขาดแคลนชิป กระทบทั้ง IT และ Automotive

apple logo shutter

ปัญหาการขาดแคลนชิปเซ็ทเป็นปัญหาที่กระทบกับทุกวงการมานานนับปี และทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยักษ์ใหญ่ต้องปรับกำลังการผลิต หรือไม่ก็หยุดการผลิตชั่วคราวในบางโรงงาน ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เช่น เราเตอร์ มีแนวโน้มจะขาดตลาดนั้น

ปี 2021 เป็นอีกปีที่ปัญหาดังกล่าวถูกฉายภาพให้เห็นชัดขึ้น ผ่านผลประกอบการของหลาย ๆ บริษัทที่ถือเป็นกรณีศึกษาได้อย่างดี ตัวอย่างแรกคือ LG ที่ตัดสินใจถอนตัวออกจากธุรกิจสมาร์ทโฟน ที่ทำให้หุ้นของบริษัทเด้งขึ้นทันที 2% โดยนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า LG ไม่ลงทุนในธุรกิจชิปมากพอ ทำให้ไม่สามารถไปต่อได้ ขณะที่ Samsung นั้นตรงกันข้าม เพราะสามารถทำกำไรในไตรมาส 2 ได้ถึง 9.45 ล้านล้านวอน ซึ่งเหนือกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์อย่างมาก โดยสิ่งที่ทำให้ธุรกิจของ Samsung เติบโตในไตรมาสดังกล่าว มาจากยอดขาย “ชิปหน่วยความจำ” ไม่ใช่สมาร์ทโฟนแต่อย่างใด

ส่วน Apple ยักษ์ใหญ่ที่แทบไม่เคยมีปัญหาขาดแคลนชิป มาในปี 2021 ก็มีรายงานว่า เริ่มได้รับผลกระทบแล้วเช่นกัน โดยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีรายงาน Apple อาจต้องลดกำลังการผลิต iPhone 13 ลงไปประมาณ 10 ล้านเครื่อง หรือคิดเป็น 11%

ไม่เฉพาะ iPhone 13 แต่นาฬิการุ่นสำคัญอย่าง Apple Watch Series 7 ก็คาดว่าจะเจอปัญหาด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ Apple ถือเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงเรื่องการบริหารจัดการซัพพลายเชนมาได้ด้วยดี แม้จะอยู่ในภาวะโรคระบาด โรงงานต้องปิดตัวเพราะไม่มีคนทำงาน การขาดแคลนชิปที่ส่งผลกระทบต่อ Apple ในครั้งนี้นับเป็นเรื่องใหญ่ไม่ใช่น้อยแถมยังมาในไตรมาสสำคัญอีกด้วยนั่นเอง

ทั้งหมดนี้คืออีกหนึ่งการรวบรวมความเคลื่อนไหวที่สำคัญของปี 2021 มาฝากกัน

 


แชร์ :

You may also like