HomeBrand Move !!เปิดอาณาจักรค้าปลีก-ศูนย์การค้า “เซ็นทรัล” รุกทุกเซ็กเมนต์ “ร้านสะดวกซื้อ” ถึง “Super Regional Mall”

เปิดอาณาจักรค้าปลีก-ศูนย์การค้า “เซ็นทรัล” รุกทุกเซ็กเมนต์ “ร้านสะดวกซื้อ” ถึง “Super Regional Mall”

แชร์ :

Central Group

หลังจาก “เซ็นทรัล” ถือหุ้นใหญ่ใน “สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์” หรือ SF ในสัดส่วน 56.26% และเตรียมทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมดของ SF จำนวน 932,550,343 หุ้น คิดเป็น 43.74% จากนั้นมีแผนจะเพิกถอน SF ออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

และเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เซ็นทรัลพัฒนา” ได้รับมอบพื้นที่ Block A เขตพาณิชย์สยามสแควร์ จากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากคว้าสิทธิ์เป็นผู้เช่าลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยเตรียมสร้าง Landmark สำคัญอีกแห่งของกรุงเทพฯ

นับเป็นอีก 2 จิ๊กซอว์สำคัญของการขยายอาณาจักรค้าปลีก และศูนย์การค้าของ “กลุ่มเซ็นทรัล” ที่ตอกย้ำถึงความเป็นพี่ใหญ่ทั้งในธุรกิจเชนค้าปลีก ที่รุกรบทุกเซ็กเมนต์ ครอบคลุมค้าปลีกไซส์เล็กอย่าง “ร้านสะดวกซื้อ” (Convenience Store) ไปจนถึง “ค้าปลีกเฉพาะทาง” (Category Killer) และ “ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์สโตร์” (Hypermarket – Super Store)

ขณะเดียวกันยังเป็นเจ้าของโครงการศูนย์การค้า ทั้งขนาดเล็ก กลาง และขนาดใหญ่ที่เข้าไปปักธงในทำเลต่างๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ระดับอำเภอ เมืองรอง ไปจนถึงหัวเมืองใหญ่

รวมทั้งเร่งสปีดไปสู่โมเดล Omnichannel ที่ผสานระหว่าง Retail Store และแพลตฟอร์มออนไลน์เข้าด้วยกัน

Central-Shopping-Mall

Brand Buffet อยากชวนมาสำรวจ “อาณาจักรค้าปลีก และศูนย์การค้า” ของกลุ่มเซ็นทรัลในไทยว่ามี Business Ecosystem ใหญ่ขนาดไหน ?!?

ภายใต้ Retail Ecosystem ของกลุ่มเซ็นทรัล แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่คือ

1. เชนค้าปลีก ประกอบด้วย 6 เซ็กเมนต์หลัก ภายใต้การบริหารโดย “เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น” (Central Retail Corporation : CRC)

2. ธุรกิจพัฒนาที่ดินเพื่อค้าปลีกนั้น มีทั้ง Shopping Mall และล่าสุดได้จิ๊กซอว์ Community Mall พร้อมทั้งเสริมความแข็งแกร่งให้กับ Super Regional Mall หลังจากซื้อกิจการ “สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์” (SF) ซึ่งโครงการศูนย์การค้า มีทั้งภายใต้การพัฒนาของ “เซ็นทรัลพัฒนา” (Central Pattana : CPN) และโครงการของ “เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น”

Central Department Store

 

ลุยค้าปลีก 6 เซ็กเมนต์

ในช่วงเวลาเกือบ 3 ทศวรรษมานี้ พัฒนาการค้าปลีกสมัยใหม่ในไทยได้แยกย่อยออกเป็น Segmentation มากมาย โดยที่ กลุ่มเซ็นทรัล” ข้าไปมีบทบาท ไม่ว่าจะในฐานะ Market Leader และในบางเซ็กเมนต์ แม้จะไม่ได้เป็นผู้นำตลาด แต่เป็น Major Player ของค้าปลีกเซ็กเมนต์นั้นๆ

มาดูกันว่าในปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกในเครือ “เซ็นทรัล” อยู่ในเซ็กเมนต์ไหนบ้าง ?!?

1. Department Store

ห้างสรรพสินค้าถือเป็นเซ็กเมนต์ค้าปลีกที่เก่าแก่ในไทยก็ว่าได้ เมื่อเดินเข้ามาในห้างฯ จะพบสินค้าหลากหลายประเภท โดยแบ่งเป็นแผนก และมีพนักงานขายประจำแผนกต่างๆ เช่น แผนกกีฬา แผนกสินค้าเด็ก แผนกเสื้อผ้าสตรี แผนกเสื้อผ้าบุรุษ แผนกเครื่องครัว แผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า

ห้างสรรพสินค้าในเครือเซ็นทรัล ประกอบด้วย

– “เซ็นทรัล ดีพาร์ทเมนท์สโตร์” หรือ “ห้างเซ็นทรัล” หนึ่งในตำนานห้างฯ เก่าแก่ที่อยู่กับประเทศไทยมายาวนานกว่า 70 ปี และเป็นจุดกำเนิดอาณาจักรเซ็นทรัลในทุกวันนี้ ปัจจุบันมี 24 สาขา ทั้งในศูนย์การค้าของกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา และศูนย์การค้าโครงการของ Retail Developer อื่น โดยโฟกัสเจาะตลาดกลาง – บน

– “โรบินสัน” ห้างสรรพสินค้าที่เซ็นทรัลซื้อกิจการเมื่อปี 2538 ถึงปัจจุบันมี 49 สาขา เจาะตลาดกว้างกว่าห้างเซ็นทรัล

Central-Department-Store

2. Supermarket 

อีกเซ็กเมนต์ที่กลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้นำตลาด แรกเริ่ม “กลุ่มเซ็นทรัล” ร่วมลงทุนกับ “รอยัลเอโฮลด์” ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตจากเนเธอร์แลนด์ เปิด “ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต” (Tops Supermarket) เมื่อปี 2539 จากนั้นในปี 2547 เซ็นทรัล รีเทล ได้ซื้อหุ้นจากรอยัลเอโฮลด์ นำไปบริหารเองจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบัน Brand Portfolio ซูเปอร์มาร์เก็ตของเซ็นทรัล ได้สร้าง Store Format หลากหลาย เพื่อเจาะเข้าไปในแต่ละโลเกชั่น แต่ละกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเหมาะสม ประกอบด้วย

– ท็อปส์ มาร์เก็ต (Tops Market) ซูเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นรูปแบบที่กระจายสาขาเข้าถึงผู้บริโภคในโลเคชั่นหลากหลาย ทั้งอยู่ในศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ย่านที่พักอาศัย ย่านออฟฟิศบิวดิ้ง ปัจจุบันมี 119 สาขา

– ท็อปส์ เดลี่ (Tops Daily) มินิซูเปอร์มาร์เก็ต ขนาด 100 – 200 ตารางเมตร จำหน่ายสินค้าคุ้มค่าคุ้มราคา ทั้งกลุ่มอาหาร – เครื่องดื่ม และสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันมี 95 สาขา

Tops Daily

Photo Credit : Facebook Tops Thailand

เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ (Central Food Hall) เป็น Food Store ระดับพรีเมียม จำหน่ายสินค้าอาหาร ทั้งของไทย และนำเข้าจากต่างประเทศ ปัจจุบันมี 13 สาขา

Central Food Hall

3. Convenience Store 

ร้านสะดวกซื้อ จัดอยู่ในเซ็กเมนต์ค้าปลีกขนาดเล็ก เป็นเซ็กเมนต์ที่เซ็นทรัลใช้ความพยายามเข้ามาสู่ตลาดนี้ เริ่มจากเปิด “เซ็นทรัล มินิมาร์ท” แต่ไม่ประสบความสำเร็จ นำไปสู่การตัดสินใจปิดฉากในปี 2543 ในขณะที่คู่แข่งอย่าง “เซเว่น อีเลฟเว่น” มีความแข็งแกร่ง ทำให้หลังจากทบทวนแล้ว ในเวลานั้นเซ็นทรัลต้องการโฟกัสธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ที่ตนเองเชี่ยวชาญมากกว่า

แม้ต้องปิดตัวเซ็นทรัล มินิมาร์ทไป แต่ “เซ็นทรัล”​ ยังมองว่าต่อไปร้านสะดวกซื้อ จะเป็นเซ็กเมนต์ค้าปลีกที่เติบโต และมี Power มหาศาลในการเข้าถึงผู้บริโภคได้ครอบคลุม

ในที่สุดเซ็นทรัล รีเทล หรือ CRC ก็มีโอกาสที่จะหวนคืนสู่สมรภูมิค้าปลีกไซส์เล็กในไทย ด้วยการได้เข้าร่วมทุนกับบริษัท Japan FamilyMart Co., Ltd. (JFM) ในปี 2555 โดยถือหุ้นในนามบริษัท เอสเอฟเอ็ม โฮลดิ้ง จำกัด (SFMH) ในสัดส่วน 50.65% และบริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) (RBS) ในสัดส่วน 0.35%

ต่อมาในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 “CRC” ได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มในนามของ “บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด” (CFR) ในสัดส่วน 49% จำนวน 5,757,500 หุ้น ทำให้ CRC กลายเป็นผู้ถือหุ้นเต็ม 100% ในบริษัท เซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท จำกัด (CFM)

FamilyMart

ปัจจุบันแฟมิลี่มาร์ท มีสาขาในไทยกว่า 800 – 900 สาขา แม้จำนวนสาขาห่างจากผู้นำตลาดร้านสะดวกซื้ออย่าง “เซเว่น อีเลฟเว่น” ในเครือซีพีออลล์ ที่มีกว่า 12,734 สาขาทั่วประเทศ (ณ ไตรมาส 2/2564) และตั้งเป้าขยายเพิ่มเป็น 14,000 สาขาภายในปี 2564 แต่บทบาทของแฟมิลี่มาร์ท คือ การเป็น Lifestyle & Food Destination โดย “สาขา” จะเป็น Network สำคัญในการเจาะเข้าถึงผู้บริโภคในระดับชุมชน ไม่ว่าจะเข้ามาใช้บริการที่ร้าน หรือผ่าน Delivery ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Grab ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์กับเซ็นทรัล

ขณะเดียวกันเป็นช่องทางจำหน่ายทั้งสินค้า House Brand และ Private Brand ในเครือเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทลที่ผลิตสินค้าของตนเองออกมาจำหน่ายในราคาคุ้มค่า

FamilyMart

4. Category Killer

เชนค้าปลีกขายสินค้าเฉพาะประเภท โดยใช้จุดเด่น “ความครบวงจร” ในสินค้าประเภทนั้นๆ และ “ความคุ้มค่าคุ้มราคา” เป็นตัวดึงลูกค้ามาซื้อ เช่น ขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เชนค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน เชนร้านค้าปลีกสินค้ากีฬา เชนร้านค้าปลีกหนังสือ เครื่องเขียน และสินค้าไลฟสไตล์ต่างๆ

หลังจากเซ็นทรัลประสบความสำเร็จในธุรกิจห้างสรรพสินค้า และลุยตลาดท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ในช่วงปี 2539 – 2540 เป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญของเซ็นทรัล เนื่องจากเป็นก้าวแรกในการขยายมาทำค้าปลีกรูปแบบ Category Killer

เริ่มจาก Power Buy (เพาเวอร์บาย) เชนร้านค้าปลีกรวบรวมแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า – อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ Supersports (ซูเปอร์สปอร์ต) ร้านขายเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาหลากหลายแบรนด์ จากนั้นเซ็นทรัลเดินหน้าเปิด Category Killer ประเภทต่างๆ เช่น

Super Sport

– B2S (บีทูเอส) ปัจจุบันไม่ได้วางตัวเองเป็นแค่ร้านหนังสือและอุปกรณ์การเขียนเท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาโมเดล “B2S Think Space” เป็น Community Hub ที่นำเสนอสินค้าไลฟ์สไตล์ และพื้นที่ในด้านความรู้ – การสร้างสรรค์ให้กับคนในย่านๆ นั้นที่สาขาตั้งอยู่

Office Depot (ออฟฟิศดีโป้) ร้านขายเครื่องใช้สำนักงาน Office Depot (ออฟฟิศดีโป้) ซึ่งต่อมาในปี 2555 กลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าถือหุ้นใหญ่ใน OfficeMate (ออฟฟิศเมท – ก่อตั้งโดยคุณวรวุฒิ อุ่นใจ) แล้วเปลี่ยนชื่อจากบริษัทออฟฟิศเมท เป็น “COL” ประกอบด้วย OfficeMate, B2S, MEB ให้บริการ E-Book กระทั่งในปี 2563 “เซ็นทรัล รีเทล” (CRC) ได้ซื้อธุรกิจและซื้อหุ้นทั้งหมดของ COL

Power Buy x B2S

– HomeWorks ค้าปลีกประเภท Home Improvement แต่ไม่สามารถแข่งขันได้กับผู้นำตลาดอย่าง HomePro “เซ็นทรัล” จึงประกาศเลิกทำตลาดแบรนด์นี้ แล้วในปี 2553 ปั้นแบรนด์ใหม่ “ไทวัสดุ” เป็นศูนย์รวมวัสดุก่อสร้าง ที่มีฐานลูกค้ากว้างกว่า HomeWorks ที่เน้นจับกลุ่มเจ้าของบ้าน แต่สำหรับกลุ่มลูกค้าไทวัสดุ ครอบคลุมตั้งแต่ผู้รับเหมารายกลาง และรายย่อย เจ้าของบ้าน ร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง เจ้าของโครงการต่างๆ

จากนั้นในปี 2556 ได้กลับมาบุกตลาด Home Improvement ที่เน้นกลุ่มเจ้าของบ้านอีกครั้ง ภายใต้แบรนด์ใหม่ “baan & BEYOND”

Thai Watsadu

5. Specialty Store

หนึ่งในเซ็กเมนต์ ที่เติบโตต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี คือ “Specialty Store”  ในกลุ่ม “Health & Beauty Store” ยังคงมีแนวโน้มขยายตัว

บริษัทในเครือเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น เล็งเห็นโอกาสการเติบโตของตลาดสุขภาพ และความงาม จึงได้สร้าง Brand Porftolio เชนร้าน Health & Beauty Store โดยที่แต่ละแบรนด์ มีจุดขาย และบุคลิกของแบรนด์ที่แตกต่างกัน เพื่อสอดคล้องกับโลเกชั่น และกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์นั้นๆ ประกอบด้วย

“KIS BEAUTY STORE” บริหารโดย “บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด”​ สร้างขึ้นภายใต้แนวคิด The Ultimate Beauty Destination หรือจุดหมายใหม่แห่งความงาม มีสินค้ามากกว่า 800 แบรนด์จากทั่วโลก และกว่า 80,000 รายการ เน้นขยายสาขาตามหัวเมืองต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยมีสาขาแรกที่ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ บนพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร ขณะที่กลุ่มลูกค้าหลักคือ กลุ่ม Millennials ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่สุดในตลาดสินค้าความงาม

KIS

“LOOKS” ภายใต้การบริหารของ “บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด” วางคอนเซ็ปต์เป็นศูนย์รวมสกินแคร์ และเครื่องสำอาง ใน Asian Style โดยในกลุ่มสินค้าความงาม ส่วนใหญ่จะเป็นสไตล์เกาหลี นอกจากนี้ภายในร้าน มีสินค้า Commodity Product เข้าไปด้วย เพื่อสร้างความหลากหลาย ส่วนระดับราคา มีตั้งแต่ Low to Upper Medium เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยมีกลุ่มลูกค้าหลัก ครอบคลุมทั้ง Gen Y และ Gen Z

“Matsumoto Kiyoshi” เชนร้านสุขภาพและความงามรายใหญ่ของญี่ปุ่น นำเข้ามาเปิดในไทย เป็นการร่วมทุนระหว่าง “เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล” กับ “มัทสึโมโตะ คิโยชิ จากญี่ปุ่น” จัดตั้ง “บริษัท เซ็นทรัลและมัทสึโมโตะ คิโยชิ จำกัด” คอนเซ็ปต์เป็นร้านสุขภาพและความงาม ขณะที่สินค้าที่ขายนั้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นมากกว่า 2,000 รายการ และมีสินค้าสุขภาพ – ความงามของไทยจำหน่ายร่วมอยู่ด้วย

Looks

6. ไฮเปอร์มาร์เก็ต/ดิสเคาน์สโตร์ (Hypermarket/Discount Store) และซูเปอร์สโตร์

หากย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 3 ทศวรรษที่แล้ว “เซ็นทรัล” ขยายอาณาจักรเข้าสู่ค้าปลีกเซ็กเมนต์ “ดิสเคาน์สโตร์” หรือ “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” ด้วยเช่นกัน โดยร่วมทุนกับกลุ่มอิมพีเรียล ตั้ง “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” แต่แล้วในขณะที่กำลังเดินหน้าขยายสาขา ประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งช่วงปี 2540 ลุกลามไปทั่วเอเชีย

ทำให้บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ต้องหากลุ่มทุนใหญ่มาช่วยโอบอุ้ม ในที่สุดได้ “กลุ่มคาสิโน” (Casino Group) หนึ่งในยักษ์ใหญ่ค้าปลีกจากฝรั่งเศส เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์นับตั้งแต่ปี 2542 (จากนั้นประมาณปี 2553 “กลุ่มคาสิโน” ได้เข้าซื้อกิจการคาร์ฟูร์ในไทย ด้วยมูลค่ากว่า 35,000 ล้านบาท พร้อมกับเปลี่ยนสาขาต่างๆ ของคาร์ฟูร์ มาเป็นบิ๊กซี)

ทว่าในปี 2559 “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” ในไทยก็ถูกเปลี่ยนมืออีกครั้ง เมื่อกลุ่มคาสิโน ตัดสินใจขายกิจการบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ทั้งในไทย และเวียดนาม โดยบิ๊กซีในไทย “บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)” หรือ BJC ในเครือทีซีซี กรุ๊ปของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ซื้อกิจการได้ไปครอบครองสำเร็จ ทำให้ในเวลาต่อมา “เซ็นทรัล” ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ประมาณ 25% ในบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)​

ขณะเดียวกัน “เซ็นทรัล” ได้ซื้อกิจการ “บิ๊กซี เวียดนาม” ซึ่งประเทศเวียดนาม เป็นหนึ่งใน Strategic Market ของเซ็นทรัลที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าไทย โดยปัจจุบันเซ็นทรัลได้รีแบรนด์ชื่อบิ๊กซี (Big C) เป็น “GO!” ขณะนี้มี 42 สาขา

GO! Mall

ในขณะที่มองกลับมาที่ประเทศไทย กลุ่มเซ็นทรัลได้เปิดตัว “ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์” ภายใต้การบริหารของ “เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล” เป็นโมเดลค้าปลีกที่มีส่วนผสมระหว่างซูเปอร์มาร์เก็ต กับการขายสินค้าหมวดอื่น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าอุปกรณ์กีฬา แฟชั่น เครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงาน

ในท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ ใช้พลัง Synergy กลุ่มธุรกิจในเครือเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ทั้งท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เพาเวอร์บาย ซูเปอร์สปอร์ต ออฟฟิศเมท ขนาดพื้นที่ประมาณ 4,500 ตารางเมตร โดยแบ่งเป็นโซนต่างๆ เปิดปี 2557 สาขาแรกที่เซ็นทรัลพลาซา ศาลายา ถึงปัจจุบันมี 8 สาขา

Tops SuperstoreTops Superstore

 

สำรวจ “ศูนย์การค้า” ปักหมุดทุกทำเลทั่วไทย “ใจกลางเมือง เมืองหลัก เมืองรอง”

นอกจากการขยายเซ็กเมนต์ค้าปลีกแล้ว ภายใต้อาณาจักรเซ็นทรัล ยังเป็น Developer โครงการศูนย์การค้าในทำเลมีศักยภาพทั่วไทย โดยมีทั้งโครงการของ “เซ็นทรัลพัฒนา” และโครงการของ “กลุ่มเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น”

“เซ็นทรัลพัฒนา”

ปัจจุบัน เซ็นทรัลพัฒนา มีศูนย์การค้าที่ก่อสร้างเอง 34 โครงการ แบ่งเป็นโครงการในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 15 โครงการ ต่างจังหวัด 18 โครงการ และในประเทศมาเลเซีย 1 โครงการ รวมมูลค่าลงทุน (ณ สิ้นปี 2563) 148,792 ล้านบาท พื้นที่ใช้สอย 7.6 ล้านตารางเมตร และพื้นที่ให้เช่ารวม 1.8 ล้านตารางเมตร

รายได้ของเซ็นเทรัลพัฒนา กว่า 81% มาจากธุรกิจศูนย์การค้า

– รายได้ค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีก

– รายได้จากการให้บริการระบบสาธารณูปโภค และระบบรักษาความ ปลอดภัย

– รายได้จากการให้บริการรักษาความสะอาดภายในศูนย์การค้า

– รายได้ค่าเช่า และการให้บริการพื้นที่ศูนย์ประชุม อเนกประสงค์

– รายได้จากการให้บริการสื่อโฆษณา

– รายได้จากการจัดกิจกรรมในพื้นที่ส่วนกลาง และธุรกิจอื่นๆ ที่สนับสนุนศูนย์การค้า

Central Westgate & Ikea Bangyai

ภายใต้ Brand Portfolio ศูนย์การค้าของเซ็นทรัลพัฒนา ประกอบด้วย

1. เซ็นทรัลเวิลด์ (CentralWolrd) เป็นโครงการพัฒนาให้เป็น Landmark ดึงดูดทั้งคนไทยจากทั่วประเทศ และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ดังนั้นจึงมีสาขาหนึ่งเดียวเท่านั้น

2. เซ็นทรัลเฟสติวัล (CentralFestival) ตามด้วยชื่อสถานที่ แบรนด์นี้ใช้ในเมืองท่องเที่ยวใหญ่ หรือในย่านคึกคักมีสีสัน เช่น เซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยา บีช เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ เซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ เซ็นทรัลเฟสติวัล สมุย เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์

3. เซ็นทรัลพลาซา (CentralPlaza) ตามด้วยชื่อสถานที่ แบรนด์นี้ ใช้สำหรับศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั่วไป เช่น เซ็นทรัลพลาซา พระราม 3 เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว เซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9 เซ็นทรัลพลาซา บางนา เซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ เซ็นทรัลพลาซา ชลบุรี เซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี เซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น ฯลฯ

4. เซ็นทรัล วิลเลจ (Central Village) เป็นโครงการ Luxury Outlet ร่วมทุนกับมิตซูบิชิ เอสเตท เอเชีย บริษัทในเครือมิตซูบิชิ เอสเตท

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า เริ่มมีการใช้ชื่อศูนย์การค้าเซ็นทรัล และตามด้วย “ชื่อสถานที่” จะไม่มีคำว่า “เฟสติวัล” หรือ “พลาซา” อย่าง 3 โครงการ Mixed Used Development ล่าสุดที่เตรียมเปิดให้บริการเร็วๆ นี้คือ “เซ็นทรัล อยุธยา” เปิดตุลาคม 2564, “เซ็นทรัล ศรีราชา” เปิดพฤศจิกายน 2564 และ “เซ็นทรัล จันทบุรี” เปิดปี 2565

Central-Shopping-Mall

นอกจากโครงการศูนย์การค้าที่เซ็นทรัลพัฒนาก่อสร้างเองแล้ว ยังได้สร้างการเติบโตด้วยการเข้าซื้อกิจการเช่นกัน ล่าสุดคือ “บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลลอปเมนท์​ จำกัด​ (มหาชน)” หรือ “SF” เป็นจิ๊กซอว์สำคัญของการขยาย Portfolio ศูนย์การค้า ทั้งขนาดใหญ่ และขนาดชุมชน

– โครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ระดับ Super Regional Mall เพิ่มขึ้นเป็น 2 แห่ง คือ เซ็นทรัล เวสต์เกต และ เมกาบางนา รวมทั้งต่อยอดการลงทุนร่วมกับ “IKEA” (อิเกีย) ต่อไปในอนาคต

– การซื้อหุ้น SF เป็นทางลัดของกลุ่มเซ็นทรัล ในการลุยตลาด Community Mall และที่ดินรอการพัฒนาในทำเลศักยภาพสูง ทั้งโซน CBD ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ในจังหวัดต่างๆ

Mega Bangna

ถึงตรงนี้ อาจสงสัยว่าทำไมเซ็นทรัล ถึงสนใจลงทุนในรูปแบบ Community Mall ทั้งที่ผ่านมาหากเป็นการพัฒนาศูนย์การค้า “เซ็นทรัล” เน้นพัฒนาโครงการขนาดใหญ่มากกว่า ?

อีกทั้ง Community Mall เป็นการพัฒนาที่ดินที่บูมอย่างมากในไทย เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ผุดขึ้นหลายโครงการในย่านชุมชน หรือย่านที่อยู่อาศัย  เพราะด้วยความที่ไม่ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่มากนัก และการออกแบบโครงการไม่ซับซ้อนเหมือนกับศูนย์การค้า ขณะเดียวกันไม่ต้องใช้งบลงทุนสูงเป็นหลักพันล้าน จึงทำให้คนที่มีที่ดินของตนเอง และมีความพร้อมด้านเงินลงทุน รวมไปถึง Developer ขนาดกลาง – เล็ก แห่กันเข้ามาลงทุน พัฒนาโครงการ Community Mall กันเป็นจำนวนมาก

แต่ภาพที่ปรากฏขึ้นในเวลาต่อมาคือ หลายโครงการอยู่ในสภาพร้างผู้คน พื้นที่เช่าไม่เต็ม ทำให้บางแห่งต้องปิดตัวไป แต่ขณะเดียวกันก็มีบางโครงการ ที่สามารถไปได้ และมีการเติบโตที่ดี อย่างหลายโครงการของ SF และ Developer รายอื่น

ดังนั้นการที่เซ็นทรัลถือหุ้นใหญ่ใน SF ซึ่งมีจุดแข็งด้านการพัฒนาโครงการ Community Mall ย่อมทำให้เซ็นทรัลได้ประโยชน์ใน 3 ส่วนหลักๆ คือ

1. ทำให้มี Portfolio โครงการศูนย์การค้าทุกขนาด ตั้งแต่ขนาดใหญ่ระดับ Super Regional Mall ไปจนถึงศูนย์การค้าชุมชน หรือ Community Mall

2. ความหลากหลายของรูปแบบศูนย์การค้า ทำให้เซ็นทรัลสามารถนำโมเดลต่างๆ ไป Match เข้ากับทำเลที่ได้มา

3. ตอบรับแนวโน้มการขยายตัวของความเป็นเมือง ทำให้เกิดย่านที่อยู่อาศัยใหม่ และวิถีชีวิตผู้บริโภค โดยเฉพาะในยุค COVID-19 และ Post COVID-19 คนจะใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันต่างๆ จากร้านใกล้บ้าน

la_villa

Photo Credit : สยามฟิวเจอร์

นอกจากนี้ เซ็นทรัลพัฒนา คว้าสิทธิ์เป็นผู้เช่าลงทุนพัฒนาใน Block A เขตพาณิชย์สยามสแควร์ เป็นระยะเวลา 30 ปี เนื้อที่โครงการทั้งหมดประมาณ 7 ไร่ 31 ตารางวา ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกปทุมวัน จุดตัดระหว่างถนนพญาไท กับถนนพระรามที่ 1 โดยสภาพปัจจุบันคือ โรงภาพยนตร์สกาลา และอาคารพาณิชย์ สูง 3 – 4 ชั้น จำนวน 79 คูหา ส่วนใหญ่ประกอบกิจการหลากหลาย โดยล่าสุดเซ็นทรัลพัฒนา รับมอบพื้นที่จากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว เพื่อเตรียมสร้างโครงการใหม่บนที่ดินแห่งนี้ให้เป็น Landmark สำคัญอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ

Siam-Square-Block-A

Credit : PMCU

นอกจากเซ็นทรัลพัฒนาแล้ว ทางด้าน “เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น” ได้สร้างโครงการศูนย์การค้าเช่นกัน โดยเป็นศูนย์การค้าขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งการสร้างศูนย์การค้าของเซ็นทรัล รีเทล แตกต่างจากของเซ็นทรัลพัฒนา ทั้งโลเคชั่น และลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย

สำหรับโครงการศูนย์การค้าของเซ็นทรัลพัฒนา จะเปิดในโลเคชั่นใจกลางเมือง จังหวัดเศรษฐกิจใหญ่ หัวเมืองหลัก เมืองท่องเที่ยว เพื่อจับกลุ่มลูกค้าไทย และลูกค้าต่างประเทศที่มีกำลังซื้อ ขณะที่ศูนย์การค้าของเซ็นทรัล รีเทลในไทย เน้นเปิดในโลเคชั่นเมืองรอง อำเภอใหญ่ ปัจจุบันขยายภายใต้ 2 แบรนด์คือ

1. ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์

ปัจจุบันมี 24 สาขา จำนวนนักช้อปเข้าใช้บริการกว่า 90 ล้านคนต่อปี ซึ่งโลเคชั่นที่ “โรบินสันไลฟ์สไตล์” เน้นเปิดสาขา ทั้งในโลเคชั่นจังหวัดเมืองรอง และอำเภอใหญ่ของเมืองเศรษฐกิจ เช่น ถนนศรีสมาน ตรัง ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี บ่อวิน จังหวัดชลบุรี แม่สอด และล่าสุด “โรบินสันไลฟ์สไตล์ บ้านฉาง” เป็นรูปแบบ Compact Size พื้นที่กว่า 34,000 ตารางเมตร (Gross Area ) เตรียมเปิดเดือนตุลาคม 2564

เหตุผลที่เลือกเปิดในอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เพราะทำเลศักยภาพในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเศรษฐกิจของจังหวัดระยอง ถูกขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมเป็นหลัก มีสัดส่วนถึง 20% ของจำนวนนิคมอุตสาหกรรมในประเทศ และอำเภอบ้านฉางเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นนิคมฯ ใหญ่ที่สุดของจังหวัดระยอง อีกทั้งใกล้สนามบินอู่ตะเภา และปลายทางมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยาย รวมทั้งรถไฟความเร็วสูง โดยกลุ่มลูกค้าหลัก มีทั้งกลุ่มผู้ประกอบการ และพนักงานในภาคอุตสาหกรรม

Robinson Lifestyle BANCHANGRobinson Lifestyle

2. ท็อปส์ พลาซ่า

เป็นศูนย์การค้าขนาดเล็ก ภายใต้การบริหารของ “เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล” ในเครือเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น เน้นเปิดในโลโคชั่นจังหวัดเล็ก หรือเมืองขนาดเล็ก เช่น พิจิตร สิงห์บุรี ปัจจุบันมี 5 สาขา

การเปิดศูนย์การค้าท็อปส์ พลาซ่า ทำให้ธุรกิจของท็อปส์, กลุ่มธุรกิจต่างๆ ของกลุ่มเซ็นทรัล และแบรนด์พันธมิตร เข้าไปถึงจังหวัดขนาดเล็ก เช่น เปิดท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์, Supersport, Power Buy, B2S และร้านอาหารในเครือ CRG

Tops-Plaza

ไม่เพียงแต่เดินหน้าเปิด Physical Retail Store และ Shopping Mall เท่านั้น ปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัล เร่งสปีดทรานส์ฟอร์มสู่ยุค “Omnichannel” เพราะเป็นทิศทางของธุรกิจค้าปลีกทั่วโลก

โดยที่ Physical Retail และ Shopping Mall จะเปลี่ยนบทบาทจากเดิมตอบโจทย์การช้อปปิ้ง ไปสู่การเป็นสถานที่ที่ผู้บริโภคมาใช้ชีวิต มาอัพเดทเทรนด์ มาพบปะ เป็นศูนย์กลางของชุมชน และการใช้ชีวิตของผู้คน ตลอดจนเป็น Retail Network ผสานเชื่อมต่อกับบริการบนแพลตฟอร์มออนไลน์

Central-App

อย่างหลายกลุ่มธุรกิจในเครือเซ็นทรัล รีเทล ทรานส์ฟอร์ม Business Model เป็น Omnichannel แล้ว เช่น

– Power Buy, Super Sport และไทวัสดุ สินค้า 100% ของ 3 เชนค้าปลีกนี้ อยู่บน Omni-channel

– กลุ่มแฟชันในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล และโรบินสัน 50%

– กลุ่มอาหาร 50 – 100%

– B2S น้อยกว่า 50%

Central-App

ประกอบกับกลุ่มเซ็นทรัลมีความได้เปรียบตรงที่มีฐาน Big Data จากแพลตฟอร์ม “The 1” ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 18 ล้านคน และเป็นมากกว่า Loyalty Program แล้ว แต่คือ Engine สำคัญของ “กลุ่มเซ็นทรัล” ในการขับเคลื่อนไปสู่ยุค “Data-driven และ “Digital Lifestyle Platform”

The-1-Ecosystem

Ecosystem บนแพลตฟอร์ม The 1 มีทั้งกลุ่มธุรกิจในเครือเซ็นทรัล กรุ๊ป และแบรนด์พันธมิตร


แชร์ :

You may also like