HomeBrand Move !!สรุป 10 เรื่องข้อดี-ข้อเสียและทิศทาง ‘เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์’ หลังขายหุ้นสยามฟิวเจอร์ฯ

สรุป 10 เรื่องข้อดี-ข้อเสียและทิศทาง ‘เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์’ หลังขายหุ้นสยามฟิวเจอร์ฯ

แชร์ :

major cover

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

อีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19 คือ โรงภาพยนตร์ ที่เจอกับมาตรการล็อกดาวน์ยาวกว่าทุกธุรกิจ รอบแรกปี 2563 ปิดทั่วประเทศรวม 75 วัน มาในปี 2564 พื้นที่สีแดงเข้มรวมทั้งกรุงเทพฯ ถูกสั่งปิดตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน คาดว่าจะได้กลับมาเปิดอีกครั้งในไตรมาส 4 นี้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

มาดูผู้นำตลาดธุรกิจโรงภาพยนตร์ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ไม่ได้มีแค่โรงหนัง แต่มี 5 ธุรกิจหลัก ดังนี้ 1. ธุรกิจโรงภาพยนตร์ รวม 172 สาขา 817 โรง รองรับผู้ชมได้ 182,259 ที่นั่ง ภายใต้แบรนด์ในเครือ 12 แบรนด์ 2.สื่อและโฆษณา 3.โบว์ลิ่งและคาราโอเกะ 4.ธุรกิจให้เช่าพื้นที่และบริการ 47,934 ตารางเมตร และ 5. ธุรกิจผลิตภาพยนตร์ นำเข้าและจัดจำหน่าย ภายใต้บริษัทย่อย บมจ.เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนท์ โดยรายได้หลักมาจากธุรกิจโรงหนัง 70% และเป็นเบอร์หนึ่งครองส่วนแบ่งการตลาด 70% นอกจากนี้ยังมีธุรกิจโรงภาพยนตร์อยู่ในประเทศกัมพูชาและลาว

สถานการณ์โควิดในปี 2563 ทำให้เมเจอร์ฯ ขาดทุน 527 ล้านบาท คุณวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) บอกว่า “ตั้งแต่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์เข้าตลาดหลักทรัพย์ (ปี 2545) ไม่เคยขาดทุนมาก่อน”

แต่เมื่อสถานการณ์โควิดยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ธุรกิจโรงหนังก็ยังมีความเสี่ยงจากมาตรการล็อกดาวน์ เห็นได้จากผลประกอบการเมเจอร์ฯ ครึ่งปีแรก 2564 ยังคงขาดทุน 338 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เมเจอร์ฯ จึงออกมาประกาศดีลสำคัญ ขายหุ้นทั้งหมดใน บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF ผู้ประกอบธุรกิจด้านการพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าแบบเปิด (Open-Air Shopping Center) ปัจจุบันมี 18 โครงการ ภายใต้แบรนด์ มาร์เก็ตเพลส, เจ อเวนิว, เมกา บางนา เป็นต้น มีพื้นที่เช่ารวม 430,628 ตารางเมตร โดยขายให้ “เซ็นทรัลพัฒนา” (CPN)

อ่านเพิ่มเติม 

cpn sf major

ตามดู 10 เรื่องราวสรุปเหตุผลการขายธุรกิจสยามฟิวเจอร์ฯ (SF) และทิศทางของเมเจอร์ฯ หลังจากนี้ 

1. เมเจอร์ฯ ลงทุน SF ปี 2546 เฉลี่ยต้นทุนหุ้นละ 6.9 บาท

เมเจอร์ฯ เริ่มลงทุนใน บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF ในปี 2546 จำนวน 77.8 ล้านหุ้น ที่ราคา 1.7 บาท/หุ้น ทยอยลงทุนใน SF มาเรื่อยๆ โดยเป็นผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่ง ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 เมเจอร์ฯ ถือเงินลงทุนใน SF จำนวน 634 ล้านหุ้น สัดส่วน 29.7% มีต้นทุนเงินลงทุนจำนวน 4,361.5 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.9 บาท/หุ้น

ต่อมาในระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2564 เมเจอร์ฯ ได้ซื้อหุ้น SF เพิ่มอีก 13.2 ล้านหุ้น รวมถือหุ้นจำนวน 647.2 ล้านหุ้น สัดส่วน 30.36% คิดเป็นจำนวนเงิน 4,452.6 ล้านบาท เฉลี่ยที่ราคา 6.9 บาท/หุ้น

2. ขายหุ้น SF เกลี้ยงพอร์ต รับเงิน 7,765 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เมเจอร์ฯ แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ขายหุ้นทั้งหมดของ SF จำนวน 647.2 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 12 บาท ให้กับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN คิดเป็นมูลค่า 7,765 ล้านบาท โดย CPN ได้จ่ายเงินทั้งหมดของดีลเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564

3. โควิดกระทบ SF เมเจอร์ฯ ขายหุ้นทิ้งลดเสี่ยง

เมเจอร์ฯ ให้เหตุผลในการขายหุ้นทั้งหมดของ SF ว่าเป็นเพราะสถานการณ์โควิดในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของ SF จากมาตรการควบคุมของภาครัฐส่งผลให้มีการจำกัดลูกค้าเข้ามาใช้บริการในศูนย์การค้าของ SF ทำให้รายได้ค่าเช่าพื้นที่ศูนย์การค้า ซึ่งเป็นรายได้หลักของ SF ลดลง

ดังนั้นการขายหุ้น SF ทั้งหมดจะช่วยให้เมเจอร์ฯ ลดความเสี่ยงที่อาจจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากโควิดต่อธุรกิจพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าลง และสามารถนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นไปจ่ายหนี้กู้ยืม เพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงิน และมีกระแสเงินสดใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเสริมสภาพคล่องและรับมือกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด

4. เมเจอร์ฯ กำไรขายหุ้น SF 2,824 ล้านบาท

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิดยังไม่คลี่คลาย แนวโน้มธุรกิจศูนย์การค้าและโรงหนังยังมีความเสี่ยง เมเจอร์ฯ ต้องบริหารจัดการกระแสเงินสดให้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจที่ยังไม่แน่นอนนี้ การขายหุ้นทั้งหมดของ SF ทำให้เมเจอร์ฯ รับรู้กำไร ประมาณ 2,824 ล้านบาท

เมเจอร์ฯ วางแผนการใช้เงินที่ได้รับจากการขายหุ้น SF จำนวน 7,765 ล้านบาท ไว้ 3 ส่วนหลัก 1. ทยอยจ่ายคืนหนี้เงินกู้ยืมตามสัญญา 2,300 ล้านบาท ซึ่งมีกำหนดจ่ายคืนในปีนี้ 2. สำรองเป็นเงินทุนหมุนเวียน 2,200 ล้านบาท และ 3.สำรองเป็นเงินลงทุนขยายงานและโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจในอนาคต 3,200 ล้านบาท

5. ทิศทางธุรกิจหลังโควิดใช้กลยุทธ์ 3T

หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เมเจอร์ฯ วางแผนฟื้นธุรกิจด้วยกลยุทธ์ 3T (Thai Movie / Technology / Trading) ย้ำเบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทย

– Thai Movie การผลักดันภาพยนตร์ไทย ซึ่งเป็นคอนเทนต์หลักในช่วงเวลาที่ตลาดโรงภาพยนตร์ขาดสินค้าจากฝั่งฮอลลีวู้ด ส่งผลให้ธุรกิจโรงหนังสามารถผ่านจุดวิกฤติจากสถานการณ์โควิดมาได้
– Technology การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการให้บริการลูกค้าต่อเนื่อง เช่น การขายตั๋วผ่านตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ (E-Ticket) หรือการพัฒนาระบบ AI เพื่อเสนอโปรโมชั่นที่ตรงใจลูกค้ามากขึ้น การพัฒนาดิจิทัล แพลตฟอร์มเพื่อรับชมภาพยนตร์
– Trading การขยายธุรกิจใหม่ ได้แก่ การเพิ่มช่องทางจำหน่ายป๊อปคอร์น ผ่านแอปพลิเคชั่น Food Delivery และแพลตฟอร์มช้อปปิ้ง ออนไลน์ การขายป๊อปคอร์นบรรจุถุงหรือกระป๋องที่มีอายุยาวนานขึ้นผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด ก่อนโควิดปี 2562 เมเจอร์ฯ ทำรายได้จากการขายป๊อปคอร์นหน้าโรงภาพยนตร์ถึง 2,000 ล้านบาท

Popstar_Popcorn Major Cineplex

ป๊อปคอร์น POPSTAR ที่มีแผนวางจำหน่ายใน Modern Trade เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต

6. สรุปข้อดี-ข้อเสีย เมเจอร์ฯ ขายหุ้น SF

ในมุมของโบรกเกอร์ฯ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส สรุปดีลเมเจอร์ขายหุ้น SF มีทั้งข้อดีและข้อเสียดังนี้
ข้อดี
– เมเจอร์ฯ บันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้น SF ทันที จำนวน 2,824 ล้านบาท
– หนี้สินลดลง ทำให้ D/E Ratio จากเดิม 1.27 เท่า เหลือ 0.63 เท่า ส่งผลให้ เมเจอร์ฯ มีสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มขึ้นในการขยายแผนธุรกิจในอนาคต
– ประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยได้ปีละ 130-140 ล้านบาท
– ในแง่การ Synergy หรือ Indirect Benefit ร่วมกับกลุ่ม CPN ในระยะยาว เช่น การขยายโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ในศูนย์การค้าใหม่ของ CPN ที่อาจได้เงื่อนไขทางการค้าที่ดีขึ้น

ข้อเสีย
– การรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก SF จะหายไปราว 500-600 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกำไร 30-40% ของกำไรทั้งปีของเมเจอร์ฯ อย่างไรก็ตามส่วนแบ่งกำไรจาก SF 400-500 ล้านบาทต่อปี เป็นรายการที่ไม่ใช่เงินสด โดยเป็นผลมาจากการวัดมูลค่าอสังหาฯ เพื่อการลงทุนใหม่ ภายใต้มาตรฐานทางบัญชี IAS40 จากเดิมที่การวัดมูลค่าอสังหาฯ เพื่อการลงทุนบันทึกตามวิธีราคาทุน (Cost Method) มาใช้วิธีบันทึกตามมูลค่ายุติธรรม (Fair Value Method) จึงส่งผลให้เมเจอร์ฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก SF มากขึ้นตั้งแต่ปี 2563

ดังนั้นหากดูเฉพาะกระแสเงินสดเมเจอร์ฯ จะรับรู้เงินปันผลรับจาก SF ปีละ 110-130 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับดอกเบี้ยจ่ายที่เมเจอร์ฯ จะประหยัดได้จากการนำเงินที่ได้จากการขายหุ้น SF ไปชำระคืนหนี้ อีกทั้งการขายหุ้น SF ก็ไม่ได้กระทบกับสัญญาเช่าพื้นที่และ Revenue Sharing ที่เมเจอร์ฯ มีต่อ SF จากการเซ็นสัญญาระยะยาว

โดยสรุปเอเซีย พลัส มองว่าดีลขาย SF จะเกิดประโยชน์ต่อเมเจอร์ฯ มากกว่า

7. โรงหนังลุ้นคลายล็อกดาวน์ไตรมาส 4

จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดลดลง ทำให้ ศบค.ผ่อนปรนให้หลายธุรกิจกลับมาดำเนินธุรกิจภายใต้มาตรการดูแลต่างๆ ส่วนโรงหนังคาดว่าจะกลับมาเปิดได้อีกครั้งในไตรมาส 4 เดือนตุลาคมนี้  เมเจอร์ฯ ยังมีปัจจัยบวก จากหนังฟอร์มยักษ์จ่อคิวรอฉายจำนวนมาก เช่น Fast&Furious9, Spiderman

8. ปรับตัวหารายได้ใหม่ ขาย ‘ป็อปคอร์น’ นอกโรงหนัง

– นอกจากโรงหนัง ธุรกิจอื่นๆ ของเมเจอร์ฯ ที่ทำยอดขายได้ดี ตั้งแต่ก่อนโควิด ก็คือ “ป๊อปคอร์น” แต่ละปี ทำยอดขายได้ราว 2,000 ล้านบาท ในช่วงโควิด โรงหนังถูกปิดจากมาตรการล็อกดาวน์ เมเจอร์ฯ ยังขยายช่องทางการขายป๊อปคอร์น ผ่านช่องทางเดลิเวอรี่และออนไลน์ แพลตฟอร์ม อย่าง Shopee และ Lazada ปัจจุบันทำยอดขายป๊อปคอร์นวันละ 1 ล้านบาท เทียบกับช่วงปกติก่อนโควิดมียอดขายวันละ 5 ล้านบาท เมเจอร์ฯ ตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากการขายป๊อปคอร์นผ่านช่องทางใหม่ร้านค้าปลีกโมเดิร์นเทรดและร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่น

– อีกธุรกิจคือ การขายคอนเทนต์ ให้กับผู้ประกอบการสตรีมมิ่ง เช่น Netflix ผ่านบริษัทย่อย MPIC จากโมเดลธุรกิจแบบเดิมที่ Netflix จะเป็นผู้เลือกซื้อหนังไทยและลิขสิทธิ์หนังต่างประเทศบางเรื่องของเมเจอร์ฯ ที่ฉายผ่านโรงหนังไปแล้ว 3-6 เดือน แต่จากนี้ไป เมเจอร์ฯ ได้เปลี่ยนนโยบายใหม่โดยขายล่วงหน้าสัญญา 3 ปี จำนวน 15 เรื่องต่อปี ให้กับ Netflix โดยรับค่าตอบแทนประมาณ 2 แสนเหรียญสหรัฐต่อเรื่อง การเข้ามาของสตรีมมิ่งรายใหญ่ Disney+ ถือเป็นโอกาสของเมเจอร์ฯ สามารถหารายได้จากการขายคอนเทนท์เพิ่มเติม

– เมเจอร์ฯ ยังรับจ้างผลิตคอนเทนต์ โดยผลิตหนังเรื่อง Deep Project ลับหลับเป็นตาย ให้กับ Netflix โดยมีกำไรสูงถึง 80%

Major Cineplex

คุณวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)

 

9. ผุดโมเดล Entertainment Supermarket เปิดโรงหนังไซส์เล็กเจาะรายอำเภอ

ส่วนการขยายโรงหนัง เฉลี่ยปีละ 30-40 จอ นอกจากไปกับศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้ มอลล์ แล้ว เมเจอร์ฯ ยังใช้กลยุทธ์ขยายโรงหนังขนาดเล็กในต่างจังหวัด ซึ่งจะมีจำนวน 1-2 จอต่อโลเคชั่น มีเป้าหมายจะเปิดโรงหนังในทุกอำเภอทั่วประเทศในรูปแบบ Entertainment Supermarket ให้งบลงทุนต่ำเพียง 5 ล้านบาทต่อจอ สามารถคืนทุนได้ภายใน 1-2 ปี โดยลดค่าตั๋วหนังเพื่อเข้าถึงคนที่มีรายได้น้อยในต่างจังหวัดเป็นการต่อยอดธุรกิจโรงหนังให้เติบโตในอนาคต

10. ขายหุ้น SF ปีนี้พลิกกำไร

หลังเมเจอร์ฯ ขายหุ้น SF และการกลับมาเปิดบริการได้ในไตรมาส 4 เอเซีย พลัส ประมาณการปี 2564-2565 โดยรวมกำไรพิเศษจากการขายหุ้น SF เข้ามาในปี 2564 และส่วนแบ่งกำไรจาก SF ที่จะหายไปในปี 2565 รวมถึงสมมติฐานสำคัญอื่นๆ ทั้งรายได้จากธุรกิจหลักและอัตรากำไรสะท้อนกับสถานการปัจจุบัน ส่งผลให้ปรับประมาณการกำไรเมเจอร์ฯ ปี 2564 จากเดิม 885 ล้านบาท เป็น 1,973 ล้านบาท ส่วนกำไรปี 2565 ลดลงจาก 1,019 ล้านบาท เหลือ 744 ล้านบาท

ย้อนดูผลประกอบการและคาดการณ์กำไรเมเจอร์ฯ
ปี 2562 กำไร 1,407 ล้านบาท
ปี 2563 ขาดทุน 528 ล้านบาท
ปี 2564 กำไร 1,973 ล้านบาท
ปี 2565 กำไร 744 ล้านบาท
ปี 2566 กำไร 956 ล้านบาท

แม้สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เมเจอร์ฯ ต้องขาดทุนเป็นครั้งแรกในปี 2563 นับตั้งแต่เข้าตลาดฯ ปี 2545 แต่ในมุมมองคุณวิชา พูลวรลักษณ์ ถือว่าโควิด เป็นประสบการณ์ที่ทำให้แข็งแรงขึ้น ได้ทำอะไรใหม่ๆ เป็น Content Provider ที่ลุกขึ้นมาทำคอนเทนต์มากขึ้น และต่อยอดสู่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง รวมทั้งเข้าสู่ธุรกิจ Trading เมื่อโควิดคลี่คลาย เมเจอร์ฯ จะกลับมาเติบโตแบบ V Shape ให้ได้

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like