ดูเหมือนจะไม่ใช่แค่แรงบันดาลใจจากคลับเฮาส์ (Clubhouse) ที่เตะตาเจ้าพ่อโซเชียลมีเดียอย่าง Mark Zuckerberg จนอยากให้ Facebook มีบริการด้านเสียงกับเขาบ้างแล้ว เพราะล่าสุดทาง Facebook จัดเต็ม เปิดตัวโปรดักท์ด้านเสียงออกมาชนิดที่เรียกว่าคู่แข่งอย่าง Twitter – Clubhouse ต้องตะลึงกันทีเดียว
เหตุที่กล่าวเช่นนั้นเพราะการเปิดตัวบริการด้านเสียงของ Facebook มีเรื่องน่าสนใจมากมาย ทั้งการพัฒนาชุดเครื่องมือสำหรับสร้างคลิปเสียง รวมถึงมีช่องทางให้นำเสนอคลิปเสียงแบบสั้น ๆ อย่าง Soundbites เอาไว้รองรับ หรือแม้แต่การดึง Podcast ขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์มให้ได้ฟังกันยาว ๆ ด้วย และที่น่าสนใจที่สุดอาจเป็นการเปิดให้บริการอย่าง Room (ฟีเจอร์บน Messenger สำหรับทำคอนเฟอเรนซ์คอลล์) สามารถทำไลฟ์ด้วยเสียงได้ด้วยในชื่อ Live Audio Room
Facebook ให้เหตุผลถึงการเปิดตัวดังกล่าวว่า เพราะทางแพลตฟอร์มเห็นว่าผู้ใช้งานในปัจจุบันมีการใช้งาน “เสียง” มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์หากันผ่าน Facebook Messenger หรือ WhatsApp นั่นทำให้ Facebook อยากทำให้การใช้เสียงบนแพลตฟอร์มทำได้ง่ายขึ้น และสนุกมากขึ้น จึงมีการลงทุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง และสร้างออกมาเป็นโปรดักซ์ต่าง ๆ ให้เราได้ใช้งานกัน ซึ่งหลัก ๆ แล้ว ในการเปิดตัวครั้งนี้ประกอบด้วย
ชุดเครื่องมือสำหรับสร้างไฟล์เสียงที่สามารถหยิบใช้ได้จากตัวแอปพลิเคชัน
เหมือนกับที่ก่อนหน้านี้ Facebook เคยสร้างเครื่องมือสำหรับตัดต่อภาพและวิดีโอมาแล้วใน Reels โดยชุดเครื่องมือสำหรับสร้างไฟล์เสียงครั้งนี้มีการนำ AI มาช่วยปรับคุณภาพเสียงให้ด้วย ซึ่งไฟล์เสียงที่สร้างจากเครื่องมือดังกล่าวสามารถนำไปใส่เป็นแบคกราวน์ให้กับ Story ได้ หรือนำไปมิกซ์กับแทร็กอื่น ๆ เพื่อสร้างเป็นคอลเล็คชั่นเสียงก็ได้เช่นกัน
Soundbites
เป็นช่องทางสำหรับนำเสนอคลิปเสียงที่สร้างขึ้น โดย Facebook อธิบายว่า สามารถเอาไว้บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เช่น บทกลอน เรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจ เรื่องตลกขำขัน รีวิวอาหารแบบ ASMR ฯลฯ และอื่น ๆ อีกมากมายที่บริษัทเองก็ยอมรับว่ายังจินตนาการไม่ออกว่าผู้ใช้จะเอาไปทำอะไรได้อีกบ้าง โดย Facebook จะเริ่มทดสอบ Soundbites ใน 2 – 3 เดือนข้างหน้านี้ (กับผู้ใช้งานกลุ่มเล็ก ๆ ที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังในด้านต่าง ๆ และนำมาปรับปรุงก่อนจะเปิดให้ใช้กับผู้ใช้งานทั่วไป)
Podcast ก็มาอยู่บน Facebook
นอกจากเครื่องมือสร้างคลิปเสียง และแพลตฟอร์มสำหรับการนำเสนอคลิปเสียงแบบสั้น ๆ แล้ว Facebook ยังดึง Podcast ซึ่งเป็นไฟล์เสียงแบบยาวเข้ามาในระบบด้วย แถมความน่าสนใจก็คือ สามารถเล่นไฟล์ Podcast เป็นแบ็กกราวน์ได้ (คล้าย ๆ กับที่ผู้ใช้ iPhone สามารถเปิด youtube ฟังโดยที่ไม่ต้องเปิดหน้าจอ) โดยบริการนี้จะเริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการในอีก 2 – 3 เดือนข้างหน้าเช่นกัน
Live Audio Room
สุดท้ายอาจเป็นฟีเจอร์ที่หลายคนรอคอยว่าจะเหมือนกับคลับเฮาส์หรือไม่ นั่นคือ Live Audio Room โดย Facebook บอกว่า จะเริ่มทดสอบบริการนี้ในกลุ่ม (Groups) ก่อน เนื่องจากเป็นคอมมูนิตี้ที่มีผู้ใช้งานให้ความสนใจสูง (มีผู้ใช้งานกว่า 1.8 พันล้านแอคทีฟอยู่ใน Groups เป็นประจำทุกเดือน) และคาดว่าการไลฟ์ด้วยเสียงเพียงอย่างเดียวจะช่วยลดแรงกดดันของผู้ไลฟ์ได้มากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องเกร็งว่าจะต้องดูดีอยู่หน้ากล้องตลอดเวลา
ไม่เพียงเท่านั้น ความพิเศษที่เหนือกว่าของ Live Audio Room คือผู้ใช้สามารถเซฟบทสนทนาที่เกิดขึ้นในห้องเอาไว้ได้ และดาวน์โหลดไปทำเป็น Podcast ได้ด้วย แถม AI ของ Facebook ยังสามารถแนะนำได้ว่า ส่วนที่น่าสนใจที่สุดในห้องสนทนาคือตรงไหน เพื่อจะได้นำมาแชร์ผ่าน Soundbites อีกต่อ ในขณะที่ห้องสนทนาของ Clubhouse หรือ Spaces ของ Twitter นั้น จบแล้วจบเลย ไม่สามารถนำออกมาใช้งานได้
ส่วนการให้บริการจริงนั้น Facebook บอกว่า จะเปิดตัวบริการ Live Audio Room อย่างเป็นทางการในช่วงซัมเมอร์
เปิดให้ทำเงิน
ที่สำคัญ Facebook บอกว่า จะมีการตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนครีเอเตอร์ด้านเสียงในช่วงเริ่มต้นให้ด้วย และยังเปิดโอกาสให้ครีเอเตอร์ที่สร้างไฟล์เสียงสามารถรับการสนับสนุนจากแฟน ๆ ได้ในหลายรูปแบบ ทั้งจากการให้ดาว (Stars) การบริจาคเงิน การจ่ายเงินซื้อสิทธิในการเข้าฟังเป็นห้อง ๆ หรือจ่ายเงินแบบ Subscription ซึ่งจุดนี้น่าจะทำให้ Facebook เอาชนะแพลตฟอร์มอื่นได้ไม่ยากเลย
นอกจากชุดเครื่องมือ และช่องทางใหม่ ๆ ที่กล่าวมาแล้ว เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา Facebook ก็มีการทดสอบแอปพลิเคชันใหม่ชื่อ Hotline ด้วยเช่นกัน โดยภายใน Hotline ครีเอเตอร์สามารถพูดคุย และตอบคำถามจากผู้ชมได้แบบสด ๆ ด้วย
ไม่ใช่เฉพาะ Facebook ที่ให้ความสนใจกับการนำโซเชียลมีเดียมามิกซ์กับบริการเสียง เพราะก่อนหน้านี้ก็มีทวิตเตอร์ (Twitter) ที่เปิดตัว Spaces ออกมาเช่นกัน แต่ถ้าถามถึงความพร้อมในภาพรวมแล้ว ต้องบอกว่า Facebook คิดได้รอบด้านกว่ามาก ๆ เพราะไม่ได้มีแค่ฟีเจอร์ที่บอกว่าทำได้อย่างเดียว แต่ยังมีเครื่องมือตัดต่อ และช่องทางให้นำเสนอคลิปเสียง ทั้งในแบบสั้น แบบยาว และช่องทางทำเงินให้ด้วยนั่นเอง
งานหนักจึงน่าจะตกกับคนที่มาก่อน อย่าง Twitter และ Clubhouse โดยเฉพาะ Clubhouse ว่าจะรักษาการเติบโตอย่างไรให้ได้เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2020 เพราะถึงแม้มูลค่าบริษัทจะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่การถูกยักษ์ใหญ่ที่มาแรงกว่าเอาชนะก็อาจเกิดขึ้นได้ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่ง Facebook อาจเป็นยักษ์ใหญ่รายนั้น
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand