HomeBrand Move !!ฟังจากมุม Apple เมื่อ Tim Cook ยก Data Privacy และ Climate Change คือปัญหาแห่งศตวรรษ

ฟังจากมุม Apple เมื่อ Tim Cook ยก Data Privacy และ Climate Change คือปัญหาแห่งศตวรรษ

แชร์ :

ต้องบอกว่าทุกวันนี้มีความขัดแย้งทางความคิดมากมายเกิดขึ้นทั่วโลก หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอาจเป็นสหรัฐอเมริกาที่ความแตกแยกทางการเมืองกำลังส่งผลรุนแรงฝังลึกขนาดที่อเมริกันชนจำนวนหนึ่งยังไม่เชื่อว่าประเทศตนเองเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่ความขัดแย้งของสหรัฐอเมริกาไม่ได้เกิดแต่ในภาคการเมือง เพราะในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี (Tech Company) ดูเหมือนว่าจะมีร่องรอยแห่งความแตกแยกปรากฏอยู่เช่นกัน โดยศูนย์กลางของความขัดแย้งนี้ก็คือประเด็นเรื่อง Data Privacy ที่แอปเปิล (Apple) บอกว่า ในฐานะบริษัทเทคโนโลยี พวกเขาให้ความสำคัญ และพยายามปกป้อง Privacy ของลูกค้าตลอดมา

ในขณะเดียวกัน ก็มีการเอ่ยถึงบริษัทเทคโนโลยีบางรายเพื่อบอกว่า Business Model ของบริษัทเหล่านั้นกำลังทำให้โลกไม่น่าอยู่ขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากพวกเขามีการแลกเปลี่ยนข้อมูลของลูกค้าระหว่างกัน แล้วมัดรวมข้อมูลของลูกค้าส่งต่อให้นักการตลาดเพื่อสร้างยอดขาย ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทเทคโนโลยีบางรายก็ปล่อยให้แพลตฟอร์มเต็มไปด้วย Fake News เพื่อสร้างความสับสน – หวาดกลัวให้กับผู้บริโภคอีกด้วย

ความขัดแย้งระหว่างบริษัทเทคโนโลยีที่สื่อมวลชนจับตาครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ประเทศในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และอิสราเอลรู้จักกันในชื่อว่า “Data Privacy Day” โดยทิม คุก (Tim Cook) ซีอีโอของ Apple กล่าวสปีชในงานสัมมนาออนไลน์ “Computers, Privacy & Data Protection” ว่า ถ้ามนุษย์ยอมรับการเก็บข้อมูลทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตมามัดรวมแล้วนำไปขายให้กับนักโฆษณาต่อไปเรื่อย ๆ สิ่งที่มนุษย์จะสูญเสียนั้นอาจมีมูลค่ามากกว่าข้อมูล หากแต่เป็นคุณค่าของความเป็นคน เพราะการกระทำของบริษัทเทคโนโลยีที่กล่าวมานั้น ไม่ใช่การมองมนุษย์เป็นผู้บริโภค หากแต่มองมนุษย์เป็น “สินค้า” ไปแล้วเรียบร้อย

Data Privacy Day ถูกริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2007 โดย 47 ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เป้าหมายของการตั้งวันดังกล่าวขึ้นมาก็เพื่อสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคในเรื่องการปกป้องรักษาข้อมูลของตนเอง รวมถึงกระตุ้นให้ภาคธุรกิจรู้จักปกป้องดูแลข้อมูลของลูกค้า ซึ่งทางสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลได้เข้าร่วมด้วยในอีกสองปีให้หลัง

Tim Cook ยังได้เปรียบเทียบความรุนแรงของปัญหา Data Privacy ในสถานการณ์ปัจจุบันว่า ร้ายแรงพอ ๆ กับปัญหา Climate Change เหตุเพราะมีผู้บริโภคส่วนหนึ่งเลือกที่จะเมินเฉยกับปัญหานี้และคิดว่ายังเป็นเรื่องไกลตัว

ในสปีชดังกล่าว Tim Cook ได้กล่าวขอบคุณการบังคับใช้กฎหมาย GDPR ของสหภาพยุโรปที่นำไปสู่การยกระดับมาตรฐาน Data Privacy ไปอีกขั้น พร้อมบอกว่า Apple ก็กำลังพยายามอยู่เช่นเดียวกัน นั่นคือการปรับปรุง Ecosystem ของ App Store ครั้งใหญ่

สิ่งที่ Apple ทำประการแรกคือสิ่งที่เรียกว่า The Privacy Nutrition Label แนวคิดคล้าย ๆ กับฉลากที่แปะอยู่ข้างอาหารกระป๋องเพื่อบอกว่ามีสารอาหารอะไรบ้าง โดยจากนี้ไป แอปพลิเคชันต่าง ๆ รวมถึงแอปของ Apple เอง จะต้องติดฉลากบอกว่าภายในแอปพลิเคชันนี้มีการแชร์ดาต้าอะไรบ้างให้ผู้ใช้งานเข้าใจก่อนจะติดตั้งแอปลงบนเครื่อง

ประการที่สองคือฟีเจอร์ที่มีชื่อว่า App Tracking Transparency หรือ ATT ฟีเจอร์ที่เปิดให้ผู้ใช้งานเป็นผู้ควบคุมข้อมูลของตนเอง รวมถึงมีสิทธิอนุญาต – ไม่อนุญาตให้แอปพลิเคชันต่าง ๆ นำข้อมูลของพวกเขาไปใช้ได้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ใช้งาน iPhone มีแนวโน้มที่จะปิดกั้นการแชร์ข้อมูลของแอปพลิเคชันกันเป็นจำนวนมาก และสิ่งนี้เองที่ทำให้ Facebook ออกมาแสดงความไม่พอใจอยู่หลายครั้ง และพยายามหาแนวร่วมด้วยการบอกว่ามีธุรกิจขนาดเล็กนับสิบล้านรายบน Facebook ที่ต้องพึ่งพาข้อมูลของผู้ใช้งานในการขายสินค้า ซึ่งหากธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงข้อมูลไม่ได้อีก พวกเขาก็อาจเอาตัวไม่รอดจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี Tim Cook ยืนยันหนักแน่นว่า ผู้ใช้งาน Apple ร้องขอฟีเจอร์นี้มานานมากแล้ว และ Apple ก็ปรารถนาที่จะทำให้มันเกิดขึ้นจริงเช่นกัน เนื่องจากการเป็นบริษัทเทคโนโลยีในมุมของ Apple นั้นคือการนำเทคโนโลยีมาทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น และ ATT ตอบโจทย์ประเด็นนี้ได้ หรือแปลตรง ๆ ก็คือ ต่อให้บริษัทเทคโนโลยีรายอื่น ๆ จะงอแงออกสื่อมากแค่ไหน Apple ก็ไม่มีทางยกเลิกแน่นอน

ไม่เพียงสปีชจาก Tim Cook ที่ย้ำว่า Apple จะเดินหน้าการใช้งาน ATT แต่ในวัน Data Privacy Day ทาง Apple ยังได้เปิดตัวรายงานฉบับหนึ่งชื่อ A Day in the Life of Your Data ที่เผยความจริงว่า ในการพัฒนาแอปพลิเคชันสักหนึ่งตัวนั้น จะมีเครื่องมือสะกดรอย (Trackers) ฝังอยู่ในแอปเฉลี่ย 6 ตัว โดยแอปยอดฮิตทั้งบนแพลตฟอร์มแอนดรอยด์ และ iOS ต่างมีการฝังตัว Trackers นี้เอาไว้ทั้งสิ้น

หน้าที่ของ Trackers เหล่านี้คือการเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานแล้วนำไปเชื่อมโยงกับข้อมูลของแอปพลิเคชันอื่น ๆ เพื่อสร้างเป็นโปรไฟล์ข้อมูลของผู้ใช้งานแต่ละคนที่สามารถบ่งบอกบุคลิกลักษณะของคน ๆ นั้นได้อย่างแม่นยำ จากนั้น ข้อมูลดังกล่าวอาจถูกนำไปขาย หรือนำไปใช้งานในด้านต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทที่เป็นเจ้าของบรรดา Tracker เหล่านี้สามารถเก็บข้อมูลผู้บริโภคได้มากถึง 700 ล้านคน และเก็บพฤติกรรมได้มากถึงคนละ 5,000 พฤติกรรม ด้วยเหตุนี้ โฆษณาต่าง ๆ ในยุคดิจิทัลจึงสามารถเข้าหาเราได้อย่างแม่นยำมากขึ้นผ่านสิ่งที่เราพูดคุย สถานที่ที่เราสนใจ อาหารที่เราเคยรับประทาน เว็บไซต์ที่เราเคยเข้าชม สินค้าที่เราเคยเข้าไปดู ฯลฯ

แม้จะมีการถกเถียงอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการเปิดใช้ฟีเจอร์ ATT ของ Apple แต่สิ่งที่ Tim Cook เน้นย้ำก็คือ การจะใช้เทคโนโลยีหรือการจะสร้างแอปพลิเคชันให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมากเอาไว้แต่อย่างใด ธุรกิจโฆษณาก็เช่นกัน ในยุคหนึ่งพวกเขาสามารถเติบโตโดยไม่ต้องพึ่งพาสิ่งเหล่านี้แม้แต่น้อย

ไม่เฉพาะ Tim Cook ที่ออกมาเน้นย้ำว่าโลกเราควรให้ความสำคัญกับเรื่อง Privacy แต่อดีตผู้ก่อตั้ง Apple ผู้ล่วงลับอย่าง Steve Jobs ก็เคยกล่าวถึงประเด็นด้าน Privacy เอาไว้ตั้งแต่ปี 2010 แล้วเช่นกัน และมันปรากฏอยู่ในหน้าแรกของรายงาน A Day in the Life of Your Data ด้วย โดยมีใจความว่า

“I believe people are smart and some people want to share more data than other people do.

Ask them. Ask them every time. Make them tell you to stop asking them if they get tired of your asking them.

Let them know precisely what you’re going to do with their data.”
Steve Jobs
All Things Digital Conference, 2010

ทั้งนี้ หลังจากสปีชของ Tim Cook ผ่านไปไม่นาน ทาง Facebook ก็มีการจัดแถลงข่าวเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการ Fake News ของแพลตฟอร์มให้กับผู้สื่อข่าวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกออกมาเช่นกัน โดยสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก แชร์คอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียอย่างไรไม่ให้ถูกลบ – ลดการมองเห็น 

อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า นาทีนี้อาจมี Apple เพียงบริษัทเดียวที่มีศักยภาพมากพอจะออกมาเปิดหน้าชนบริษัทเทคโนโลยีรายอื่น ๆ ที่เก็บข้อมูลผู้ใช้งานเพื่อหารายได้จากค่าโฆษณา เหตุเพราะ Apple เป็นบริษัทเดียวที่มี Ecosystem พร้อมสรรพ ทั้งฮาร์ดแวร์ (สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่ร้านขายของของตัวเองอย่าง Apple Store ฯลฯ) และซอฟต์แวร์ (ระบบปฏิบัติการ iOS, iPadOS, App Store, เว็บไซต์ apple.com ฯลฯ) ของตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอก ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีบางแห่งยังต่อสู้ในตลาดนี้โดยมีเพียงแค่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และต้องพึ่งพาสมาร์ทโฟน – App Store จึงจะสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานได้

ความผิดหวังของ Mark Zuckerberg ซีอีโอ Facebook ในการประกาศผลประกอบการไตรมาส 4 ที่ผ่านมาเป็นหลักฐานได้ดี โดยเฉพาะเมื่อต้องยอมรับว่าฟีเจอร์ใหม่ของ Apple อย่าง ATT นั้นจะกระทบกับรายได้ของ Facebook ในอนาคต ซึ่ง Mark Zuckerberg บอกแล้วว่า เวทีการแข่งขันครั้งใหม่ของ Facebook กับ Apple นั้นอยู่ที่โลก Virtual Reality เพียงแต่คราวนี้ Facebook มี Oculus เป็นฮาร์ดแวร์ของตัวเองแล้ว ซึ่งก็หวังว่าพวกเขาจะไม่พลาดอีกเป็นครั้งที่สอง

Source

Source


แชร์ :

You may also like