HomeBig Featuredสรุป 10 เรื่อง ONEE เข้าตลาดฯ เคาะ IPO 7.50-8.50 บาท ดันมาร์เก็ตแคปทะลุ 2 หมื่นล้าน ขึ้นท็อป 5 หมวดสื่อแซง GRAMMY

สรุป 10 เรื่อง ONEE เข้าตลาดฯ เคาะ IPO 7.50-8.50 บาท ดันมาร์เก็ตแคปทะลุ 2 หมื่นล้าน ขึ้นท็อป 5 หมวดสื่อแซง GRAMMY

แชร์ :

ONEE CEOจากจุดเริ่มต้นบริษัทผลิตคอนเทนต์เมื่อ 30 ปีก่อนในนาม Exact วันนี้ “บอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ” กำลังพา “เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์” หรือ ONEE ก้าวสู่บริษัทบันเทิงมหาชน ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) ณ ราคา IPO ทะลุ 2 หมื่นล้านบาท สูงสุดติดท็อป 5 หมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ของ SET

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดย ONEE  ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ในธุรกิจสื่อและผู้ผลิตคอนเทนต์บันเทิง เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 496,252,500 ล้านหุ้น หรือ 20.8% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้ว ด้วยแผนระดมทุนราว 3,722 – 4,218 ล้านบาท

Brand Buffet สรุป 10 เรื่องเส้นทาง ONEE เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและแผนธุรกิจ 3-5 ปีจากนี้

1. จุดเริ่มต้น ONEE บนเส้นทาง 30 ปี

– เส้นทาง ONEE (วันอี) เริ่มต้นจากบริษัท Exact (บริษัทโปรดักชั่น) ที่ก่อตั้งโดย GMM Grammy และคุณบอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ ในปี 2534 หรือเมื่อ 30 ปีก่อน เพื่อผลิตละครโทรทัศน์ ซิทคอม เกมโชว์ วาไรตี้ โดยเช่าเวลาจากฟรีทีวี ช่อง 5 ช่อง 7 และทำไทม์แชริ่งกับ ช่อง 3 และช่อง 9

ปี 2556 เมื่อ กสทช.เปิดประมูลทีวีดิจิทัล แกรมมี่ก็เข้าร่วมประมูลด้วย 2 ช่อง (GMM25 และ ONE31) เหตุผลการประมูลช่องทีวีดิจิทัล เพราะต้องการมีช่องทางออกอากาศ (Distribution Channel) เป็นของตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงจากการหลุดผังหรือถูกลดเวลาจากช่องฟรีทีวีเดิมที่ต้องมาลุ้นกันทุกปี และทำให้คอนเทนต์ที่ผลิตมีช่องทีวีออกอากาศ

– หลังจากประมูลช่องทีวีดิจิทัลได้ไม่นานเกิด Digital Disruption ทำให้ช่วงปลายปี 2559 “ช่องวัน” ซึ่งถือหุ้นโดยแกรมมี่ 51% และกลุ่มคุณบอย ถกลเกียรติ 49% ต้องดึงกลุ่มทุนใหม่เข้ามาร่วมถือหุ้น นั่นคือ บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ของ พญ.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ (บุตรสาว นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของเครือข่ายธุรกิจโรงพยาบาล บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS) มาร่วมถือหุ้นใหญ่ 50% ด้วยมูลค่าลงทุน 1,900 ล้านบาท ส่วนแกรมมี่ลดถือหุ้นเหลือ 25.50% และกลุ่มคุณบอย ถกลเกียรติ 24.50%

ปี 2563 ช่องวันปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ด้วยการซื้อกิจการ GMMCH (จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง) มูลค่า 2,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นธุรกิจผลิตคอนเทนต์ที่ประกอบไปด้วย จีเอ็มเอ็มทีวี, เชนจ์, จีเอ็มเอ็มมีเดีย, จีเอ็มเอ็มสตูดิโอ และเป็นตัวแทนทำการตลาดให้ช่อง GMM 25 (ช่องทีวีดิจิทัลยังอยู่ในแกรมมี่)

onee 10

2. เปิดรายชื่อ 5 อันดับผู้ถือหุ้น ONEE

โครงสร้างการถือหุ้น ONEE ปัจจุบัน (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564) และหลังการเสนอขายหุ้น IPO (ภายใต้สมมติฐานว่ามีการจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทฯ และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัททั้งจำนวน) สรุปได้ดังนี้

1.บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด 952.5 ล้านหุ้น สัดส่วน 50% (หลัง IPO 952.5 ล้านหุ้น สัดส่วน 40%)
2.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ 595.7 ล้านหุ้น สัดส่วน 31.27% (หลัง IPO 595.7 ล้านหุ้น สัดส่วน 25.02%)
3.กลุ่มคุณถกลเกียรติ วีรวรรณ 341.2 ล้านหุ้น สัดส่วน 17.19% (หลัง IPO 321.2 ล้านหุ้น สัดส่วน 13.49%)
4.กลุ่มครอบครัวซอโสตถิกุล 7 ล้านหุ้น สัดส่วน 0.37% (หลัง IPO 7 ล้านหุ้น สัดส่วน 0.29%)
5.คุณสุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว (บี้ เดอะสตาร์) 2.5 ล้านหุ้น สัดส่วน 0.13% (หลัง IPO 2.5 ล้านหุ้น สัดส่วน 0.10%)

โดยจำนวนหุ้น ONEE ปัจจุบัน (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564) อยู่ที่ 1,905,000,000 หุ้น หลัง IPO อยู่ที่ 2,381,250,000 หุ้น

ONEE BOY CEO

คุณถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์

3. ธุรกิจ Content Creator ไม่ใช่แค่ทีวีดิจิทัล

หลังการปรับโครงสร้างซื้อกิจการ GMMCH ทำให้ ONEE เป็น Content Creator ผลิตคอนเทนต์ทั้ง ละคร ซิทคอม ซีรีส์ รายการวาไรตี้ และข่าว ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้ชมเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Premium Mass กลุ่ม Family กลุ่ม New Generation และกลุ่ม Edgy

คุณถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ กล่าวว่า ONEE ไม่ได้มีแค่ธุรกิจทีวี “ช่องวัน” แต่เป็น Content Creator ที่มีโมเดลธุรกิจครอบคลุมธุรกิจสื่อและบันเทิงตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำโดยมี 4 ช่องทางหลักนำเสนอคอนเทนต์
1. ทีวี ช่องวัน 31 ทำการตลาดให้ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 รับผลิตคอนเทนต์ให้ช่องพีพีทีวี อมรินทร์ทีวี
2. ออนไลน์ ผ่าน OTT ทุกแพลตฟอร์มโซเชียล มีเดีย (ยูทูบ เฟซบุ๊ก) รวมทั้งแอปพลิเคชั่นของตัวเอง คือ ช่องวัน จีเอ็มเอ็มทีวี และเอไทม์
3. วิทยุ เป็นกลุ่ม Voice Content ที่มี Iconic Brand ทั้ง Green Wave, EFM ฟังได้ผ่านหน้าปัดวิทยุและช่องทางออนไลน์
4. อีเวนต์ คอนเสิร์ตและ Fan Meeting รวมทั้งกลุ่มบริหารจัดการศิลปิน (Artist Management) ปัจจุบันมีศิลปินกว่า 200 คน

นอกจากผลิตคอนเทนต์ป้อนช่องทางของตัวเองแล้ว ธุรกิจของกลุ่ม ONEE อย่าง จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอ ยังรับจ้างผลิตออริจินัล คอนเทนต์ให้ Netflix ใน 5 ประเทศ ได้แก่ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ฮ่องกง ไต้หวัน

ONEE rafha CMO

คุณระฟ้า ดำรงชัยธรรม ประธานเจ้าหน้าที่การตลาดกลุ่ม ONEE

4. บิสซิเนสโมเดลหารายได้ต้นน้ำยันปลายน้ำ

คุณระฟ้า ดำรงชัยธรรม ประธานเจ้าหน้าที่การตลาดกลุ่ม ONEE ผู้บริหาร New Gen ทายาทอากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ให้ข้อมูลว่าบิสซิเนสโมเดลของ ONEE เป็นรูปแบบที่เรียกว่า Vertically Integrated Service Provider คือ ทำตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ โดยคอนเทนต์ 95% ผลิต In-house และกระจายเผยแพร่ในช่องทางทีวี ออนไลน์ และออนกราวด์ เพื่อหารายได้ทุกแพลตฟอร์ม จุดที่แตกต่างมี 3 ประเด็นหลัก

1. การเก็บดาต้าผู้ชมทุกแพลตฟอร์มมาวิเคราะห์ เพื่อผลิตคอนเทนต์ที่ประสบความสำเร็จและสร้างรายได้มากขึ้น ในปี 2563 ผลิตคอนเทนต์ 4,619 ชั่วโมง ปี 2564 น่าจะอยู่ที่ 7,000 ชั่วโมง การผลิตคอนเทนต์มีอัตราทำกำไรเพิ่มขึ้นจาก 2561 อยู่ที่ 40% ปี 2564 เป็น 52%

2. การหารายได้รูปแบบ Long-Tail จากทุกแพลตฟอร์ม ด้วยต้นทุนการผลิตคอนเทนต์ครั้งเดียว
– คอนเทนต์ทีวี (ผู้ชมอายุ 35 ปีขึ้นไป) รายได้จากทีวี 82% ออนไลน์และช่องทางต่างประเทศ (ขายไลเซนส์) 18%
– คอนเทนต์มัลติ-แชนแนล (ผู้ชมอายุน้อยกว่า 35 ปี) รายได้จากทีวี 29% ออนไลน์และช่องทางต่างประเทศ 31% และช่องทางอื่นๆ (อีเวนต์ เมอร์เชนไดซิ่ง พรีเซ็นเตอร์) 40%

3. ปรับรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ตามพฤติกรรมผู้ชมและหารายได้ตามเม็ดเงินโฆษณาในแต่ละช่องทาง
– ปี 2558 รายได้มาจากทีวี 93.8% และช่องทางอื่นๆ 6.2%
– ปี 2563 รายได้มาจากทีวี 48% ออนไลน์ 21% ต่างประเทศ 5% และช่องทางอื่นๆ 27%

ONEE IPO 2

5. แหล่งรายได้ 4 ธุรกิจหลัก

สำหรับช่องทางสร้างรายได้ ONEE มาจาก 4 ธุรกิจหลัก

1. ทีวี เป็นรายได้หลักสัดส่วน 48% เนื่องจากเป็นสื่อที่ครองเม็ดเงินโฆษณาสูงสุดของอุตสาหกรรมโฆษณา แต่ก็มีทิศทางปรับตัวลงตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ย 5.6% แต่รายได้ “ช่องวัน” เติบโตทุกปีเฉลี่ย 7.7% จากเรตติ้งไพรม์ไทม์เพิ่มขึ้น ปี 2561 อยู่อันดับ6 ปี 2564 อยู่อันดับ3 โดยทั้งช่องวันและจีเอ็มเอ็ม 25 มีส่วนแบ่งการตลาดโฆษณาทีวี ในปี 2561 ที่ 8.5% ส่วนครึ่งปีแรก 2564 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.4%

2. ออนไลน์ โดยสร้างยอดผู้ชมจากโซเชียล มีเดีย อย่างเฟซบุ๊ก ยูทูบ ไอจี TikTok (ปัจจุบัน ONEE เป็นคอนเทนต์ประเภท Non Music ที่มีผู้ชมอันดับหนึ่งในยูทูบและเฟซบุ๊ก), OTT Platforms ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ Netflix, LINE TV, Disney+ Hotstar, WeTV, Viu, TRUE ID, AIS Play, IQIYI เป็นต้น รวมทั้ง แอปพลิเคชั่นของตัวเอง คือ ONE31, GMM TV และ Atime

3. ต่างประเทศ การรับจ้างผลิตคอนเทนต์ ที่จะช่วยสร้างโอกาสให้ประเทศไทยเป็น Content Hub ของเอเชีย ปัจจุบัน OTT Platform ยักษ์ใหญ่ อย่าง Netflix ประกาศแผนชัดเจนว่าจะลงทุนกับคอนเทนต์ในเอเชียเพิ่มขึ้นเท่าตัว หรือ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่นเดียวกับ Disney+ จะลงทุนผลิตคอนเทนต์เพิ่มขึ้นในเอเชีย 6-9 เท่า

ปัจจุบันผู้ผลิตคอนเทนต์หลักๆ ในเอเชีย คือ จีน และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่มีต้นทุนสูง ดังนั้น OTT Platforms ต่างๆ จึงเริ่มมองหาฮับผลิตคอนเทนต์ในเอเชียใหม่และมองมาที่ประเทศไทย เพราะอาเซียน ยังเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูงสำหรับ OTT Platforms จากจำนวนประชากร 600 ล้านคนใกล้เคียงกับยุโรปและมีจีดีพีโตสูงก่อนโควิด 3-6%

GFNW2 ONEE

ประเทศไทยเองมีความสามารถในการสร้างคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมสูงในระดับภูมิภาค และกลุ่ม ONEE ก็มีประสบการณ์สร้างคอนเทนต์ดังในระดับโลก อย่างซีรีส์ “เด็กใหม่ ซีซัน 2” ติดท็อปเทนใน Netflix กว่า 10 ประเทศทั่วโลก เช่น บราซิล โรมาเนีย เปรู กาตาร์ โบลิเวีย ปัจจุบัน ONEE มีฐานผู้ชมครอบคลุมทั้งในประเทศไทยและอีกกว่า 15 ประเทศทั่วโลก

“เราเริ่มจับสูตรการผลิตคอนเทนต์ ที่สามารถสร้าง storyline และได้ความนิยมในต่างประเทศมากขึ้น เราพยายามจะเป็น Soft Power ที่สำคัญให้กับประเทศไทยในด้านการผลิตคอนเทนต์บันเทิง บริษัทบันเทิงทั่วโลกเองไม่มีสูตรสำเร็จการทำธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ให้ประสบความสำเร็จ 100% แต่หากดูจากประสบการณ์ของ ONEE ตลอด 30 ปี ตั้งแต่ยุคทีวีโปรดักชั่น เราแม่นขึ้นในทุกวัน”

4.อีเวนต์-บริหารศิลปิน เป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ ONEE มีจุดเด่นปัจจุบันมีทาเลนต์กว่า 200 คน ทั้งพระเอก นางเอก พิธีกร ดีเจ ผู้ประกาศข่าว ผู้สื่อข่าว โดยมีการบริหารจัดการครบวงจร ตั้งแต่การคัดเลือกทาเลนต์ใหม่ๆ พัฒนาความสามารถ สร้างแบรนด์ปั้นให้เป็นไอดอล และหารายได้ ผ่านช่องทางพรีเซนเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์ สินค้าเมอร์เชนไดส์ และอีเวนท์ ทั้งออฟไลฟ์และออนไลน์)

6. สรุปรายได้ 3 ปีก่อน IPO

ภาพรวมผลการดำเนินงาน ONEE ย้อนหลัง 3 ปี มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 7.7%
– ปี 2561 รายได้ 4,199 ล้านบาท กำไรสุทธิ 72 ล้านบาท
– ปี 2562 รายได้ 4,818 ล้านบาท กำไรสุทธิ 227 ล้านบาท
– ปี 2663 รายได้ 4,875 ล้านบาท กำไรสุทธิ 657 ล้านบาท
– ปี 2564 (6เดือนแรก) รายได้ 2,782 ล้านบาท กำไรสุทธิ 455 ล้านบาท

onee ipo mar cap

7. เคาะราคา IPO 7.50 – 8.50 บาทต่อหุ้น

– โดย ONEE เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 496,252,500 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 20.8% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการ IPO ซึ่งประกอบไปด้วย 1. หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 476,250,000 หุ้น และ 2. หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยบริษัท ซีเนริโอ จำกัด จำนวนไม่เกิน 20,002,500 หุ้น

– บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 7.50 – 8.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายไม่เกิน 3,722 – 4,218 ล้านบาท

– ราคา IPO เบื้องต้นที่ 7.50 – 8.50 บาทต่อหุ้น กำหนดจากผลตอบรับและความสนใจเบื้องต้นของนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่าเป็นช่วงราคาเสนอขายที่มีความเหมาะสมสะท้อนปัจจัยพื้นฐานและ ศักยภาพการเติบโตในระยะยาว ประกอบกับความโดดเด่นและความแตกต่างของ ONEE ที่ไม่เหมือนกับผู้เล่นรายอื่นในธุรกิจสื่อและความบันเทิงของประเทศไทย พร้อมทั้งได้พิจารณาถึงสภาวการณ์ตลาดโดยรวมและเสถียรภาพของราคาหุ้นในระยะยาว

– P/E Ratio ของ ONEE เทียบเคียงที่จดทะเบียนในตลาดฯ จำนวน 2 บริษัท ที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจที่คล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกัน เท่ากับประมาณ 32.9 – 75.1 เท่า

– ONEE มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ

– เตรียมเปิดจองซื้อวันที่ 20-21, 25-26 ตุลาคม 2564 โดยจะต้องชำระเงินที่ราคา 8.50 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขาย (วันที่ 27 ตุลาคม ประกาศราคาสุดท้าย) หากราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่าราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายดังกล่าว ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์จะคืนเงินจองซื้อแก่นักลงทุนภายใน 10 วันทำการนับจากวันจองซื้อวันสุดท้ายสำหรับผู้จองซื้อทุกประเภท

– เปิดจอง IPO ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร และบริษัทหลักทรัพย์อีก 6 ราย คือ กรุงไทย ซีมิโก้, ทิสโก้, ธนชาต, ฟินันเซีย ไซรัส, หยวนต้า และเอเซีย พลัส

สัดส่วนการเสนอขายหุ้น IPO กลุ่ม ONEE รวม 496,252,500 หุ้น ดังนี้
– บุคคลทั่วไปตามการจำหน่ายของหลักทรัพย์ 108,500,000 หุ้น สัดส่วน 21.9%
– นักลงทุนสถาบัน หรือนิติบุคคล 297,752,500 หุ้น สัดส่วน 60%
– ผู้มีอุปการคุณของบริษัท 36,500,000 หุ้น สัดส่วน 7.4%
– บุคคลที่มีความสัมพันธ์ของบริษัท 25,000,000 หุ้น สัดส่วน 5%
– พนักงานบริษัท 28,500,000 หุ้น สัดส่วน 5.7%

– หุ้น ONEE คาดว่าจะเปิดซื้อขายวันแรกใน SET ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2564

ONEE IPO 1

8. มาร์เก็ตแคปขึ้นท็อป 5 แซงหน้า GRAMMY

กลุ่ม ONEE เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในหมวดธุรกิจ “สื่อและสิ่งพิมพ์” ปัจจุบันกลุ่มนี้ใน SET มี 26 หลักทรัพย์ หุ้นที่มีมูลค่าตามราคาหลักทรัพย์ (Market Cap.) สูงสุด (ณ วันที่ 14 ตุลาคม 2564) คือ 1. VGI มูลค่า 55,542 ล้านบาท 2. BEC มูลค่า 27,400 ล้านบาท 3. PLANB มูลค่า 26,013 ล้านบาท 4. MAJOR มูลค่า 20,308 ล้านบาท และ 5. GRAMMY มูลค่า 11,889 ล้านบาท

นั่นหมายความว่าช่วงราคา IPO ของ ONEE ที่กำหนดไว้ 7.50-8.50 บาทต่อหุ้น จะมีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 17,859-20,240 ล้านบาท ถือเป็นหลักทรัพย์ฯ ในหมวดธุรกิจสื่อใหญ่เป็นอันดับ 5 ณ ราคา IPO ขึ้นมาแซง GRAMMY ที่ถือหุ้น ONEE เป็นอันดับสองที่ 31%

ONEE IPO 3

9. กลยุทธ์เติบโต 3-5 ปี

การเข้าระดมทุนในตลาดฯ ของ ONEE คาดว่าจะได้เงินจาก IPO ราว 3,722 – 4,218 ล้านบาท โดยจะนำเงินที่ได้ไปใช้เป็นกลยุทธ์การเติบโตในช่วง 3-5 ปี ดังนี้

– ลงทุนผลิตรายการและเพิ่มรายการ 500 ล้านบาท ภายในปี 2567 ลงทุนระบบไอทีและพัฒนาช่องทางออนไลน์ 130 ล้าน และจ่ายเงินค่าซื้อกิจการกลุ่ม GMMCH 2,200 ล้านบาท และเป็นเงินทุนหมุนเวียน
– แผนการพัฒนารายการและเพิ่มงบผลิตคอนเทนต์ทางทีวีช่องวัน เพื่อรักษาเรตติ้งไพร์มไทม์อันดับ 3 และผลิตรายการให้กับทีวีช่องอื่นๆ
– การร่วมลงทุน (Co-Invest) หรือ ร่วมผลิตรายการ (Co-produce) กับพันธมิตรระดับโลก 3-4 ราย เพื่อผลิตคอนเทนต์เผยแผร่ในระดับภูมิภาค และระดับโลก ไทยมีจุดเด่นความแตกต่างความเป็นไทย (Thainess) ที่ชาวโลกสนใจ และหาวิธีเล่าเรื่องให้เป็นอินเตอร์ เพื่อไปทำตลาดระดับโลกและสู้คู่แข่งได้
– ขยายการผลิตคอนเทนต์ตลาดต่างประเทศให้ครอบคลุมมากขึ้น จาก 4 ประเทศ เป็น 11 ประเทศในอีก 3-5 ปี
– เป้าหมาย 3-5 ปี ONEE จะมีรายได้เติบโตต่อเนื่อง สัดส่วนรายได้แบ่งเป็น ทีวี 40-45% ช่องทางออนไลน์ 25-28% ช่องทางต่างประเทศ 7-10% ช่องทางอื่นๆ 12-25%

BOY CEO ONEE 2

10. ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ไม่มีวันตาย

ตลอดเส้นทางผู้ผลิตคอนเทนต์ 30 ปี จาก Exact มาถึงบริษัทบันเทิงมหาชน ONEE คุณบอย ถกลเกียรติ มีความเชื่ออยู่เสมอว่า “ธุรกิจทีวี” ที่ถูกมองเป็นสื่อขาลง จากยุค Digital Disruption ไม่มีวันตาย เพราะยังตอบโจทย์ผู้ชมเปิดทีวีดูเป็นเพื่อน เป็นสื่อหลักสร้างกระแส Talk of the town โดยมีออนไลน์มาช่วยเสริม และโมเดลธุรกิจ ONEE เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ในทุกช่องทาง “เราเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ที่มีช่องทีวีเป็นของตัวเองและพร้อมหาโอกาสใหม่ๆ จากการเติบโตของแพลตฟอร์ม”

ในยุค Digital Disruption ไม่ใช่ว่าคนจะไม่ดูคอนเทนต์หรือดูลดลง แต่นั่นหมายถึงคนดูคอนเทนต์มากขึ้นจากแพลตฟอร์มใหม่ๆ เข้ามาเป็นตัวเลือก จึงต้องหาโอกาสใหม่ๆ ในการหารายได้จากคอนเทนต์ ผ่านออนไลน์ โซเชียล มีเดีย OTT Platforms

“ย้อนไป 7 ปียุคทีวีดิจิทัล เราถือว่ามาถูกทาง เพราะวันนี้หากไม่มีทีวีเป็นของตัวเอง คอนเทนต์ก็คงไม่ได้รับความนิยมขนาดนี้ และเชื่อว่าเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอนเทนต์ไม่มีวันตาย เพราะผู้ชมยังต้องการเสพความบันเทิง ยิ่งโลกเล็กลงไร้พรหมแดน คอนเทนต์ยิ่งมีโอกาสเติบโตได้ทั่วโลก”


แชร์ :

You may also like