HomeBrand Move !!ไทยเบฟขายหุ้นทิ้ง “จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง” ช่อง ONE เข้าซื้อกิจการบริหาร GMM25

ไทยเบฟขายหุ้นทิ้ง “จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง” ช่อง ONE เข้าซื้อกิจการบริหาร GMM25

แชร์ :

กลุ่มเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ นำทัพโดย คุณบอย ถกลเกียรติ และกลุ่มปราสาททองโอสถ เป็นผู้เข้าซื้อกิจการ “จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง” เจ้าของช่อง GMM 25  แทนทายาท “สิริวัฒนภักดี” เจ้าของอาณาจักรไทยเบฟ ที่เคยถือหุ้นอยู่สัดส่วน 50%

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ค่ายบันเทิงย่านอโศกออกมาเคลียร์ความชัดเจนกลุ่มธุรกิจ “จีเอ็มเอ็ม แชนแนล” แล้วว่าจะไปทางไหนต่อ หลังมีกระแสข่าวในโซเชียลว่าปิดกิจการ  โดยกลุ่มเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตคอนเทนท์  เจ้าของช่องวัน 31, เอ็กแซ็กท์ ซีเนริโอ, แอ๊กซ์ สตูดิโอ,  และมีมิติ  ออกมาประกาศว่าได้ปิดดีล ซื้อกิจการ  “จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง”  เพื่อขยายธุรกิจแบบครบวงจร ทั้งคอนเทนท์ ทีวีดิจิทัล วิทยุ อีเวนท์ และออนไลน์ ลุยต่อช่อง GMM 25 เรียบร้อยแล้ว การบริหารงานจะเริ่มวันที่ 1 มกราคม 2564

การเข้าซื้อกิจการ “จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง” ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจ ช่อง GMM25, จีเอ็มเอ็มทีวี, จีเอ็มเอ็ม มีเดีย, เช้นจ์ 2561, จีเอ็มเอ็มสตูดิโอ อินเตอร์เนชั่นแนล  จะทำให้กลุ่มวัน เอ็นเตอร์ไพรส์ เป็นผู้นำคอนเทนท์ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เตรียมขยายธุรกิจไปในทุกแพลตฟอร์ม พร้อมทั้งเป็นตัวแทนทำการตลาดและร่วมผลิตคอนเทนท์ ช่องจีเอ็มเอ็ม 25

“บอย ถกลเกียรตินำทัพบริหารช่อง GMM 25

คุณบอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์  กล่าวว่าการเข้าไปซื้อกิจการครั้งนี้ เพราะเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจคอนเทนท์ที่อยู่ในกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง ที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน เมื่อมาควบรวมกับกลุ่มเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จะช่วยขยายธุรกิจสื่อและบันเทิงได้ครบวงจรทุกช่องทาง

ส่วนช่อง GMM 25 ยังดำเนินการออกอากาศต่อไป โดยกลุ่มเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ รับหน้าที่เป็นตัวแทนทำการตลาด และร่วมผลิตรายการ จากประสบการณ์บริหารช่องวัน 31 ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารธุรกิจทีวิดิจิทัล เข้าไปเป็นตัวแทนทำการตลาดให้ช่อง GMM 25 ให้มีความชัดเจนในการจับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีผลกระทบกับบุคลากรบางส่วน ที่ต้องมีการโยกย้ายกระจายไปอยู่ในส่วนต่างๆของบริษัทในเครือตามความเหมาะสม และในส่วนที่มีการปรับลด ได้มีการสื่อสารเจรจาพูดคุยกับพนักงาน พร้อมดูแลตามกฎหมายอย่างเป็นธรรมทุกขั้นตอน

ซื้อหุ้นคืนจากทายาท “สิริวัฒนภักดี”

เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ “จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง”  ครั้งนี้ เป็นการเจรจาระหว่างพันธมิตรผู้ถือหุ้นเดิมในกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กลุ่มสิริดำรงธรรม (ทายาทตระกูลสิริวัฒนภักดี)  และกลุ่มเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ เพื่อหาแนวทางในการบริหารงาน  อีกทั้งเป็นการต่อยอดให้แต่ละธุรกิจสำเร็จร่วมกัน โดย เช้นจ์ 2561 ยังคงผลิตคอนเทนท์ให้กับช่องอมรินทร์ทีวี (ทายาทสิริวัฒนภักดีเป็นผู้ถือหุ้นหลัก) และช่องทีวีดิจิทัลอื่น ๆ  จึงเป็นที่มาของการปรับโครงสร้างการถือหุ้นอย่าเป็นพันธมิตร

คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี และ คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เมื่อครั้งถือหุ้น จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง ในปี 2560

ย้อนไปดูความร่วมมือของ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และทายาทตระกูลสิริวัฒนภักดี  ได้เข้ามาถือหุ้น ในจีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง ในเดือนธันวาคม 2560  โดย จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถือหุ้น 50%  และบริษัท สิริดำรงธรรม จำกัด ของคุณฐาปน สิริวัฒนภักดี และคุณปณต สิริวัฒนภักดี ทายาทเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ถือหุ้นรวมกัน 50%

การปรับโครงสร้าง จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง ครั้งนี้ เป็นการขายหุ้นออกทั้งหมดของ ทายาทตระกูลสิริวัฒนภักดี ให้กับ กลุ่มเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์  ซึ่งมีผู้ถือหุ้น คือ คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม (เจ้าของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่) คุณถกลเกียรติ วีรวรรณ คุณปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ (ลูกสาวนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ) ซึ่งเข้ามาถือหุ้นในช่องวัน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ในนามบริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด

แกรมมี่ ขายหุ้น จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง 1,200 ล้าน

ในฝั่ง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันนี้ (27 พ.ย.2563)ว่าได้ขายหุ้น จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง (GMMCH) ให้กับบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (ONE) ที่ถืออยู่ทั้งหมด 9,999,998 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 50% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของ GMMCH ในราคาหุ้นละ 120 บาทเป็นมูลค่า 1,200 ล้านบาท (GMMCH ถือหุ้นโดย จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ 50% และ บริษัท สิริดำรงธรรม จำกัด 50%)

ในการขายหุ้น GMMCH ให้ ONE จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้ปรับโครงสร้างการถือหุ้นบริษัทในเครือใหม่ดังนี้

1. ให้บริษัทจี เอ็ม เอ็ม โฮลดิ้ง จำกัด (GMMHD) (บริษัทย่อย จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถือหุ้นในสัดส่วน 100%) ซื้อหุ้นในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด (GMM25) จาก GMMCH และผู้ถือหุ้นเดิม จำนวน 20,920,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท หรือคิดเป็น 100% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของ GMM25 ในราคา 1 บาท

2. ให้ GMMHD ซื้อหุ้นใน บริษัท คอนเทนต์ แอนด์ อาร์ตติสท์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (CAN) จาก GMMCH และผู้ถือหุ้นเดิม จำนวน 1,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท หรือคิดเป็น 100% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของ CAN ในราคา 1 บาท

3. ให้ GMMHD ชื้อหุ้นใน บริษัท เอ-ไทม์ ทราเวิลเลอร์ จำกัด (ATV) จาก บริษัท เอ-ไทม์ มีเดีย จำกัด (ATM) และผู้ถือหุ้นเดิมของ ATV จำนวน 10,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 25 บาท หรือคิดเป็น 20% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของ ATV ในราคา 250,000 บาท

GMM 25

GMM 25

ภายใต้บริษัท “จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง”  ที่มีหลายธุรกิจทั้ง ช่อง GMM25, จีเอ็มเอ็มทีวี, จีเอ็มเอ็ม มีเดีย, เช้นจ์ 2561, จีเอ็มเอ็มสตูดิโอ อินเตอร์เนชั่นแนล

หากดูเฉพาะผลประกอบการ GMM 25  ในนามบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด ที่รายงานกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ นับตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจทีวีดิจิทัล ปี 2557-2562  รวม 6 ปี ขาดทุนสะสมกว่า 2,636 ล้านบาท

  • ปี 2557 รายได้   64 ล้านบาท ขาดทุน 265 ล้านบาท
  • ปี 2558 รายได้ 445 ล้านบาท ขาดทุน 650 ล้านบาท
  • ปี 2559 รายได้ 699 ล้านบาท ขาดทุน 326 ล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้ 854 ล้านบาท ขาดทุน 632 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้ 858 ล้านบาท ขาดทุน 413 ล้านบาท
  • ปี 2562 รายได้ 823 ล้านบาท ขาดทุน 350 ล้านบาท

ความเคลื่อนไหวปรับโครงสร้างธุรกิจของจีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง ครั้งนี้ จึงเป็นภารกิจสำคัญของคุณบอย ถกลเกียรติ ที่ต้องมาพลิกธุรกิจ GMM25 กลับมาทำกำไรให้ได้ เช่นเดียวกับที่ทำสำเร็จมาแล้วในช่องวัน


แชร์ :

You may also like