HomeBrand Move !!“Inclusive Design” เทรนด์ออกแบบสินค้า ด้วยแนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (Leave No One Behind)

“Inclusive Design” เทรนด์ออกแบบสินค้า ด้วยแนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (Leave No One Behind)

แชร์ :

Unilever-Degree Inclusive

แนวคิดการพัฒนาในทุกมิตินับจากนี้ จะอยู่ภายใต้หลัก Leave no one behind” (LNOB) หรือ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” คำมั่นสัญญาของประเทศสมาชิกในกลุ่มสหประชาชาติ (United Nations : UN) ได้ร่วมกันตกลง เพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development and its Sustainable Development Goals : SDGs) ที่มุ่งขจัดความยากจน ยุติการเลือกปฏิบัติ – การกีดกัน และลดความไม่เท่าเทียม

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ใครบ้างที่มักถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ?

UN ระบุถึงผู้ที่มีแนวโน้มถูกทอดทิ้ง หรือถูกเลือกปฏิบัติ มีตั้งแต่อายุ เพศ ความพิการ สถานะทางเศรษฐกิจ สุขภาพร่างกาย สุขภาพจิต เชื้อชาติ ศาสนา การถูกแบ่งวรรณะ หรือชนชั้นทางสังคม ภูมิศาสตร์ สถานะผู้อพยพ สัญชาติ ไร้สัญชาติ รสนิยมทางเพศ ผู้กระทำการผิดกฎหมาย ชนกลุ่มน้อย อาชีพ

ส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และนำไปสู่ความไม่เท่าเทียม หรือความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการทำลายศักยภาพของคน และลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

จากหลักการ Leave no one behind’ ไม่ได้เป็นเพียงทิศทางการพัฒนาประเทศ และสังคมต่างๆ ทั่วโลกเท่านั้น แต่ใน “ภาคธุรกิจ” หลายแบรนด์ได้นำมาปรับใช้กับการพัฒนาสินค้า และบริการแล้วเช่นกัน ด้วยแนวคิด “Inclusive Design” คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ และบริการที่ครอบคลุม เพื่อทุกคนเข้าถึงได้ และใช้งานได้

ปัจจุบันมีในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ ทั้งกลุ่ม FMCG แฟชั่นและสินค้ากีฬา ไปจนถึงกลุ่มเทคโนโลยี นำแนวคิด Inclusive Designมาใช้กับองค์กร โดย Wunderman Thompson ได้ยกตัวอย่างองค์กร/แบรนด์ประกอบด้วย Unilever, Pepsi, Nike, Microsoft ใช้ Inclusive Design ในการพัฒนาสินค้าใหม่ การจ้างงาน รวมถึงการทำแคมเปญสร้างการมีส่วนร่วมกับสังคม

Leave no one behind

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

 

Unilever” ออกแบบขวดโรลออนระงับกลิ่นกาย เพื่อผู้พิการใช้งานง่าย

ในตลาดผลิตภัณฑ์ความงาม และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคล (Beauty Care & Personal Care) มักมองข้ามการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และฟีเจอร์การใช้งานให้ตอบโจทย์ผู้พิการ

อย่างผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายที่วางจำหน่าย เกือบทั้งตลาดอยู่ในบรรจุภัณฑ์แบบขวด ที่ต้องบิด หรือหมุนฝาก่อนใช้งาน และแบบสเปรย์ ซึ่งไม่สะดวกในการใช้งานสำหรับผู้พิการ

จาก Insight นี้เอง ทำให้ “Unilever” (ยูนิลีเวอร์) ทำงานร่วมกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ทั้ง Muscular Dystrophy Association, Open Style Lab, The Lighthouse Chicago และผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา มาร่วมกันออกแบบ และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่แบรนด์ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย “Degree” หรือในบางประเทศใช้ชื่อแบรนด์ Rexona, Sure และ Shield ด้วยแนวคิดใหม่ “Degree Inclusive” ที่คำนึงถึงการใช้งานของผู้พิการ

Unilever-Degree Inclusive

สำหรับบรรจุภัณฑ์แนวคิด “Degree Inclusive” ออกแบบให้สามารถใช้งานได้ด้วยมือเดียว โดยออกแบบฝาให้มีตัวแขวน และเปิด-ปิดฝาง่าย ขณะที่ตัวขวดและลูกกลิ้งออกแบบให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อทาบนผิวได้กว้างและทั่วถึงต่อการทา 1 ครั้ง รวมทั้งด้านข้างตัวขวด มีส่วนโค้งเว้า เพื่อสะดวกต่อการจับ และฉลากสินค้า ใช้ตัวอักษรเบรลล์

“ผู้คนมากกว่า 60 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา ใช้ชีวิตด้วยความพิการ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อคนกลุ่มนี้ ในฐานะที่ Degree เป็นแบรนด์ที่มุ่งมั่นสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนเคลื่อนไหวร่ายกายมากขึ้น ดังนั้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์ Degree Inclusive เราหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าคนพิการจะได้รับความเท่าเทียมกัน”  Kathryn Swallow รองประธานแบรนด์ Degree ระดับโลก เล่าถึงแนวคิด Inclusive Design

Unilever-Degree InclusiveUnilever-Degree Inclusive

 

PepsiCo” ออกแบบขวดน้ำอัดลมใหม่ จับกระชับมือ แปลงโฉมขวดน้ำดื่ม เป็นพื้นที่สร้างความเท่าเทียมทางศิลปะ

กลุ่ม PepsiCo (เป๊ปซี่โค) ใช้แนวคิด Inclusive Design กับ 2 กลุ่มธุรกิจคือ

กลุ่มเครื่องดื่มอัดลม ต่อยอดสู่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ “ขวดน้ำอัดลม” ขนาด 2 ลิตร เช่น Pepsi, MTN DEW (Mountain Dew), Dr. Pepper และ Schweppes Ginger Ale โดยช่วงเอวขวด ออกแบบให้มีส่วนโค้งเข้าไป และมีเส้นรอบวงขนาด 10.4 นิ้ว เพื่อจับถนัดมือกว่าขวดรุ่นเดิมที่มีเส้นรอบวง 13.4 นิ้ว และฉลากขวดใหม่ ใช้วัสดุน้อยลง 24% เมื่อเทียบกับฉลากเดิม และสามารถรีไซเคิลได้ 100%

PepsiCo_2L Bottles Old and New

ผลิตภัณฑ์น้ำดื่ม “LIFEWTR” แบรนด์น้ำดื่มพรีเมียมในเครือ PepsiCo เล็งเห็นความเหลื่อมล้ำในอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ ทั้ง 4 สาขาคือ แฟชั่น ภาพยนตร์ ดนตรี และ Visual Arts มีผลกระทบกับคนผิวสี ผู้พิการ LGBTQ+ และผู้หญิงในอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้

LIFEWTR ร่วมกับสถาบัน Quantitative Study of Inclusion, Diversity, and Equity (QSIDE) ทำการศึกษาความเหลื่อมล้ำในอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ พบว่าช่องว่างทั้งทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ เพศ และรสนิยมทางเพศ ตัวอย่างเช่น ในขณะที่สหรัฐฯ มีผู้พิการทางร่างกาย คิดเป็น 13% ของประชากรทั้งประเทศ จากการศึกษาพบว่าในอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ที่สหรัฐฯ มีเพียงกว่า 1% เท่านั้นที่ผู้พิการก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินที่โด่งดังและมีอิทธิพล

ดังนั้น LIFEWTR จับมือกับ Issa Rae นักแสดง นักเขียน และโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน ทำแคมเปญ Life Unseen ทั้งการคัดเลือกศิลปินใน 4 สาขา ทั้งแฟชั่น ภาพยนตร์ ดนตรี และ Visual Arts จำนวน 20 คนมาแสดงในแคมเปญ Life Unseen ผ่านช่องทางดิจิทัลต่างๆ ของแบรนด์ และร่วมดีไซน์ขวดน้ำดื่มคอลเลคชั่นพิเศษ

LIFEWTR_Life Unseen_Mariam PareLIFEWTR_Life Unseen_Marly GallardoLIFEWTR_Life Unseen

 

Nike” ออกแบบรองเท้าไร้เชือก ใส่ถอดง่าย ไม่ต้องใช้มือ

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา Nike” (ไนกี้) เปิดตัวนวัตกรรมรองเท้าใหม่ Nike GO FlyEase เป็นรองเท้าที่ไม่มีเชือก และใส่-ถอดง่าย โดยไม่ต้องใช้มือช่วย เพื่อเป็นรองเท้าสำหรับทุกคน ทั้งคนทั่วไป และผู้พิการ

เบื้องหลังการคิดค้นนวัตกรรมใหม่นี้ มาจากความคิดที่ว่าอยากประดิษฐ์รองเท้าที่ใส่ได้โดยไม่ต้องใช้มือ (Free Hand Shoes) ซึ่งจะปฏิวัติวิธีการใส่รองเท้าแบบเดิมๆ

โดยด้านนอกมีแถบสำหรับยึดตัวรองเท้าด้านนอก กับด้านในที่ยกพื้นได้เหมือนกับบานพับ ในขณะที่เวลาจะถอดรองเท้า เพียงแค่เหยียบบริเวณส้นรองเท้า พื้นรองเท้าด้านในจะยกขึ้น ส่วนเวลาใส่ เพียงแค่สวมใส่รองเท้า โดยไม่ต้องใช้มือ พื้นที่ยกขึ้น จะเด้งตัวกลับเป็นรองเท้าตามเดิม

Nike GO FlyEaseNike GO FlyEase

 

Microsoft” สร้างองค์กร Inclusive Workplace

เพราะเล็งเห็นว่าปัจจุบันมีประชากรมากกว่า 1,000 ล้านคนที่เป็นผู้พิการ “Microsoft” (ไมโครซอฟท์) จึงให้ความสำคัญกับการแนวคิด Inclusive Design ในการคิดค้น และพัฒนาสินค้าเพื่อทุกคน รวมทั้งสร้างวัฒนธรรมภายในองค์กรที่ผนวกรวมความหลากหลาย และความแตกต่างเข้าด้วยกัน

Tricia Fejfar ผู้อำนวยการด้านการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งาน Microsoft Digital เล่าว่า นับตั้งแต่ Satya Nadella รับตำแหน่งซีอีโอ Microsoft ในปี 2014 ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี และเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้พนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และมีส่วนร่วม

Manish Agrawal ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายพัฒนาโปรแกรม, Microsoft Digital เป็นบุคคลหนึ่งที่พิการทางตา เล่าว่า ความสามารถในการทำงานที่ Microsoft และทักษะของตัวเอง ไม่ได้ถูกปิดกั้นด้วยตาบอด แต่ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ Microsoft ที่ทำให้ผู้พิการเข้าถึงได้มากขึ้น ซึ่งการทำเช่นนี้ได้ ปัจจัยสำคัญมาจากองค์กรต้องมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่หลอมรวมเข้าด้วยกัน และทำให้ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้

“สำหรับผม ไม่ใช่แค่การทำให้พนักงาน Microsoft เข้าถึงผลิตภัณฑ์ขององค์กร เพื่อช่วยให้พวกเขาทำงานได้สำเร็จลุล่วง แต่ยังเป็นการสนับสนุนพนักงานที่มีความพิการ และสร้างความมั่นใจได้ว่า Microsoft ได้สร้างทีมงานที่มีความหลากหลาย และผนวกรวมความสามารถต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน”

Microsoft

เชื่อว่าแนวคิด “Inclusive Design” ไม่ได้เป็นเพียงแค่เทรนด์ที่มาแล้วก็ไป แต่จะกลายเป็นโจทย์สำคัญของการดำเนินธุรกิจ เพราะสิ่งที่ผู้บริโภคมองหาในวันนี้ นอกจากแบรนด์ที่มีคุณภาพ มีนวัตกรรม จำหน่ายในราคาสมเหตุสมผลแล้ว ผู้บริโภคต่างแสวงหาความเท่าเทียมในสังคม และเปิดรับความหลากหลายมากขึ้น ดังนั้นแบรนด์ที่สามารถผนวกรวมความหลากหลาย และมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ แบรนด์นั้นย่อมมีโอกาสชนะใจผู้บริโภค

 

Source

Source

Source


แชร์ :

You may also like