HomeBrand Move !!เส้นทาง 8 ปี “MUJI ประเทศไทย” กับ 8 ความเปลี่ยนแปลงที่สร้างร้านให้เป็นมากกว่ามาช้อปปิ้ง

เส้นทาง 8 ปี “MUJI ประเทศไทย” กับ 8 ความเปลี่ยนแปลงที่สร้างร้านให้เป็นมากกว่ามาช้อปปิ้ง

แชร์ :

MUJI

นับตั้งแต่ปี 2556 Ryohin-Keikaku” บริษัทแม่ MUJI ประเทศญี่ปุ่น ร่วมทุนกับ “เซ็นทรัล” จัดตั้ง “บริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) จำกัด” ทุนจดทะเบียน 520 ล้านบาท ถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 8 ปีแล้วที่ MUJI (มูจิ) เข้ามาลงทุนในไทย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

Brand Buffet พาไปดู 8 เส้นทางความเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาเกือบทศวรรษของ MUJI เชนร้านค้าปลีกสินค้าไลฟ์สไตล์จากญี่ปุ่นในประเทศไทย และทิศทางธุรกิจนับจากนี้

1. จากแฟรนไชส์ สู่โมเดลร่วมทุน

ก่อนจะมาเป็นโมเดลธุรกิจร่วมทุนระหว่าง MUJI ญี่ปุ่น กับกลุ่มเซ็นทรัล เดิมที “ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล” ซื้อแฟรนไชส์เข้ามาเปิดสาขาในไทย สาขาแรกที่ห้างฯ เซ็นทรัลชิดลม เปิดในปี 2549

ต่อมาหลังจากนั้น BOI ได้ปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ทำให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยได้ง่ายขึ้น เซ็นทรัล กับ Ryohin-Keikaku จึงได้ยกระดับความสัมพันธ์ทางธุรกิจไปสู่การร่วมทุน โดยจัดตั้ง บริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากมองว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งใน Strategic Market ของตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การปรับโมเดลธุรกิจเป็น “การร่วมทุน” นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ MUJI ประเทศไทยที่เดินหน้าขยายธุรกิจในไทยเชิงรุกมากขึ้น

MUJI Central Chidlom

MUJI เซ็นทรัล ชิดลมโฉมใหม่ ภายใต้ New Concept Store

2. ขยายสาขานอกห้างฯ เซ็นทรัล พร้อมลุยเปิดโมเดลขนาดใหญ่ 1,500 ตารางเมตรขึ้นไป และกระจายรอบนอกใจกลางเมือง

ในยุคแรก MUJI เน้นขยายสาขาไปกับเซ็นทรัล โดยเฉลี่ยเปิดปีละ 2 – 3 สาขาเท่านั้น โดยเน้นเปิดย่านใจกลางเมืองเป็นหลัก แต่ในช่วง 5 ปีมานี้ MUJI ขยายออกนอกห้างฯ เซ็นทรัลมากขึ้น ทั้งขยายไปกับศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์ เดอะมอลล์ กรุ๊ป กลุ่มซีคอน กลุ่มธุรกิจค้าปลีกในเครือทีซีซี กรุ๊ป

รวมทั้งกระจายสาขาจากใจกลางเมือง ออกไปในทำเลรอบนอกเมืองมากขึ้น ทั้งกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก กรุงเทพฯ ฝั่งเหนือ กรุงเทพฯ ฝั่งใต้ และเร่งเปิดสาขาใหม่ พร้อมกับรีโนเวทสาขาเดิม เช่น

ปี 2560 เปิดสาขาที่ สยามดิสคัฟเวอรี่ ศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์

ปี 2562 เปิดที่ สามย่าน มิตรทาวน์ ขนาด 1,900 ตารางเมตร ถือเป็น Flagship Store ใหญ่สุดของ MUJI ในไทย ทุบสถิติสาขาเซ็นทรัลเวิลด์ ที่เดิมเคยเป็นสาขาใหญ่สุดในไทย ด้วยขนาดพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร และถึงปัจจุบันสาขานี้ยังคงเป็นสาขาใหญ่สุดในไทย

นอกจากนี้ สาขาสามย่าน มิตรทาวน์ ยังเป็นอีกหมุดหมายสำคัญของแผนขยายร้าน MUJI ประเทศไทยที่จากนี้ โฟกัสโมเดลร้านขนาดใหญ่ ไม่ต่ำกว่า 1,300 – 1,500 ตารางเมตรขึ้นไป

MUJI_Samyan-Mitrtown

MUJI สามย่าน มิตรทาวน์

ปี 2563 เปิดที่ เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ถือเป็น MUJI สาขาแรกที่มาเปิดกับกลุ่มเดอะมอลล์ ขนาดพื้นที่กว่า 1,800 ตารางเมตร

ปี 2564 แม้จะเป็นอีกปีที่ยังคงอยู่ในสถานการณ์ COVID-19 แต่ MUJI ยังคงเดินหน้ารีโนเวทสาขาเดิมให้ใหญ่ขึ้น และเร่งเปิดสาขาใหม่ให้ได้ 5 สาขาคือ

– ปรับโฉม สาขาแฟชั่นไอส์แลนด์ ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจาก 359 ตารางเมตร เป็น 1,400 ตารางเมตร

– วันที่ 1 พฤษภาคมนี้เปิดสาขาใหม่ที่ ICONSIAM ขนาด 1,300 ตารางเมตร

– เปิดสาขาใหม่ที่ ซีคอน บางแค ในเดือนพฤษภาคมนี้

– ปรับโฉม สาขาเซ็นทรัล ชิดลม ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจาก 400 ตารางเมตร เป็น 1,800 ตารางเมตร

– ในครึ่งปีหลังนี้ เตรียมเปิดอีก 3 สาขา หนึ่งในนั้นคือ ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ เดือนกรกฎาคมนี้

MUJI_Shop-ICONSIAM

MUJI ไอคอนสยาม

เหตุผลสำคัญที่ MUJI ประเทศไทยเลือกขยายสาขาใหญ่เต็มรูปแบบ ขนาด 1,500 ตารางเมตรขึ้นไป ในขณะที่ทิศทางเชนค้าปลีก มายังขนาดกลาง และเล็กมาขึ้น เนื่องจากสามารถนำเสนอสินค้า และบริการต่างๆ ได้ครบเหมือนกับ MUJI ในญี่ปุ่น

ขณะเดียวกัน MUJI ต้องการใช้ “สาขา” ทำหน้าที่ “สร้างประสบการณ์” ให้กับผู้บริโภค ทั้งแนวคิด MUJI คือ ความเรียบง่าย – ความเป็นธรรมชาติ และเป็นสินค้าที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ในราคาที่จับต้องง่ายขึ้น

ถึงวันนี้ MUJI มีสาขาในไทย 22 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล และเชียงใหม่ ภายในปีนี้ตั้งเป้าเปิดให้ถึง 25 สาขา จากจำนวนสาขาทั่วโลก 978 สาขา (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564) แบ่งเป็นสาขาในญี่ปุ่น 443 สาขา และนอกประเทศญี่ปุ่น 535 สาขา

MUJI Fashion

MUJI เซ็นทรัล ชิดลม

นอกจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว MUJI ประเทศไทยยังมองถึงการขยายสาขาในต่างจังหวัดอีกด้วย

คุณอกิฮิโร่ คาโมการิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) จำกัด ประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญของ MUJI ญี่ปุ่น เพราะมีศักยภาพการเติบโต โดยบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นสนับสนุนการขยายสาขา และเพิ่มขนาดร้านในไทยให้ใหญ่ขึ้น

“เราเป็นแบรนด์ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ในขณะที่ปัจจุบันสาขาของ MUJI ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และมีเชียงใหม่ 1 สาขา เรามองว่ายังมีหลายพื้นที่ที่มีศักยภาพ และเรายังไม่ได้ไป ดังนั้น นอกจากกรุงเทพฯ แล้ว เราอยากไปทำเลอื่นๆ ที่นอกเหนือจากนี้”

MUJI Central Chidlom

 

3. เพิ่มรายการสินค้า 4,000 กว่ารายการ ครอบคลุมทั้งเสื้อผ้า ของใช้ภายในบ้าน และอาหาร

MUJI ในยุคแรกที่เข้ามาทำตลาดในไทย เน้นหมวดเสื้อผ้าก่อน และในเวลาต่อมาค่อยๆ ขยายไปยังกลุ่มสินค้าประเภทอื่น ในขณะที่ปัจจุบัน เมื่อขยายสาขาขนาดใหญ่ ทำให้รายการสินค้าที่จำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 4,000 รายการ อย่างสาขาเซ็นทรัล ชิดลม หลังจากปรับโฉมใหม่ภายใต้ New Concept Store มีสินค้ากว่า 4,600 รายการ เพิ่มขึ้นมา 1.5 เท่าจากเดิม

ครอบคลุมใน 3 กลุ่มหลักคือ หมวดเสื้อผ้า ของใช้ภายในบ้าน และหมวดอาหาร ซึ่งก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19 กลุ่มเสื้อผ้า เป็นสินค้าที่ทำยอดขายมากสุด แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาด ทำให้สินค้าของใช้ภายในบ้าน กลายเป็นสินค้าทำสัดส่วนยอดขายมากสุด อยู่ที่ 50% ในขณะที่กลุ่มเสื้อผ้า มีสัดส่วนยอดขาย 48% และอาหาร 2%

MUJI Showroom

 

4. ขาย “เบนโตะ ขนมปัง ข้าวปั้น กาแฟ” เพิ่มความถี่การมาร้าน และดึงลูกค้าอยู่ในร้านนานขึ้น

อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงของ MUJI ในไทยคือ การเพิ่มสินค้ากลุ่มเครื่องดื่ม และอาหารพร้อมรับประทาน โดยเริ่มจากเปิดมุมกาแฟสด “MUJI Coffee Corner” โดยใช้เมล็ดกาแฟจากดอยตุง เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์หลากหลายจากโครงการดอยตุง เปิดสาขาแรกที่สามย่าน มิตรทาวน์​ และสาขาขนาดใหญ่ต่อๆ มาก็มีให้บริการเครื่องดื่มกาแฟสดและเครื่องดื่มเมนูอื่นด้วยเช่นกัน พร้อมจัดที่นั่ง  อย่างสาขาเซ็นทรัล ชิดลมล่าสุด ก็มีโซน MUJI Coffee Corner พร้อมขนมเค้ก และขนมทานเล่นเช่นกัน

นอกจากนี้ อีกหนึ่งไฮไลท์ของสาขาเซ็นทรัล ชิดลม เป็นครั้งแรกที่ MUJI ประเทศไทยเปิดโซนอาหาร ที่มีตั้งแต่ข้าวปั้น ข้าวกล่องเบนโตะ สลัดผัก เบเกอรี่ต่างๆ ปรุงสดวันต่อวัน และไอศกรีม โดยเบเกอรี่ ใช้วัตถุดิบจากญี่ปุ่น ขณะที่ไอศกรีมใช้วัตถุดิบในไทยผลิต โดยมีพื้นที่ให้นั่งรับประทาน

MUJI Central Chidlom_MUJI Bento

โซนอาหารประจำวัน (Daily Food & Bekery) หนึ่งในนั้นคือ ข้าวกล่อง MUJI เปิดตัวครั้งแรกที่สาขาเซ็นทรัล ชิดลม

แม้เวลานี้จะอยู่ในช่วง COVID-19 และรัฐบาลมีคำสั่งให้ร้านค้างดให้บริการนั่งรับประทานที่ร้าน แต่หากอยู่ในสถานการณ์ปกติ การเปิดโซนอาหาร และเครื่องดื่ม พร้อมที่นั่งภายในร้าน

สินค้ากลุ่มนี้จะเป็น Magnet ดึงลูกค้ามาร้านถี่ขึ้น และเพิ่มโอกาสลูกค้าใช้เวลาในร้านนานขึ้น ซึ่งสาขาเซ็นทรัล ชิดลม อยู่ในย่าน CBD ที่มีทราฟิกคนทำงานหนาแน่น ดังนั้น สินค้าอาหาร และเครื่องดื่ม ตอบโจทย์ความสะดวกในชีวิตประจำวัน จึงช่วยเพิ่มความถี่ของลูกค้าในการมาร้านมากขึ้น

เพราะโจทย์ใหญ่ของธุรกิจค้าปลีกในวันนี้ คือการแย่งชิง “เวลา”​ ของผู้บริโภคจากกิจกรรม และสื่อที่รายล้อมอยู่รอบตัวผู้บริโภคมากมาย ให้มา “ใช้เวลา”​ (Spend Time) และ “ความถี่การมาใช้บริการ” (Frequency) หากร้านค้าปลีกสามารถทำให้เกิด 2 สิ่งนี้ จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าใช้จ่ายมากขึ้น

MUJI Bekery

มุมเบเกอรี่ท่ี MUJI สาขาเซ็นทรัล ชิดลม

MUJI Coffee Corner

 

5. ปรับลดราคา เพื่อให้คนไทยเข้าถึงสินค้า MUJI ง่ายขึ้น

เป็นที่ทราบกันดีว่าในอดีต สินค้า MUJI ในไทยมีราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับ MUJI ในญี่ปุ่น โดยเฉลี่ยราคาในไทยสูงกว่า 30% ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ในการทำตลาดในไทย ทำให้เวลานั้นคนไทยที่เป็นแฟน MUJI อยู่แล้ว เมื่อได้ไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็เลือกที่จะซื้อจากญี่ปุ่นมากกว่าไทย

จนกระทั่งในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา MUJI ประเทศไทย เริ่มทยอยปรับลดราคาสินค้าลงมา เนื่องจากต้องการทำให้ราคา MUJI ทั่วโลกมีราคาใกล้เคียงกัน หรือทำให้เท่ากับญี่ปุ่นให้ได้มากที่สุด หรือบางรายการถูกกว่าญี่ปุ่น เนื่องจากวิสัยทัศน์ของ MUJI คือ ผลิตสินค้าที่ทุกคนใช้งานได้จริง มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ดี ในราคาเหมาะสม

ครั้งหนึ่ง คุณซาโตรุ มัทสึซากิ ประธาน และตัวแทนผู้บริหาร Ryohin-Keikaku เคยให้สัมภาษณ์กับ Brand Buffet พร้อมสื่อมวลชนสำนักต่างๆ เมื่อครั้งเดินทางมาไทยในวาระร่วมฉลอง 70 ปีเซ็นทรัล จัดนิทรรศการ What is MUJI? ได้พูดถึงการปรับราคาว่า

คนญี่ปุ่นมี Perception ต่อ MUJI ว่าเป็นสินค้าที่ใครๆ ก็ซื้อได้ ราคาย่อมเยา มีคุณภาพ แต่สำหรับ MUJI ในต่างประเทศ เช่น ไทย ที่ผ่านมาราคาสูงกว่าที่ญี่ปุ่น เพราะมีต้นทุนค่าขนส่ง เนื่องจากสินค้า MUJI ผลิตจากต่างประเทศ และนำเข้ามาจำหน่ายในไทย ประกอบการภาษีที่ต้องจ่ายให้กับทางรัฐบาล นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ราคา MUJI นอกประเทศญี่ปุ่น แพงกว่าที่จำหน่ายในญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม จึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องไปคิดหาวิธีทำให้ MUJI นอกประเทศญี่ปุ่น มีราคาใกล้เคียง หรือเท่ากับที่ญี่ปุ่น เพราะตามแผนธุรกิจ ผมต้องการให้ลูกค้าทั่วโลกรู้สึกแบบเดียวกับคนญี่ปุ่นเช่นกันว่าของดีแบบนี้ ซื้อได้ในราคาเท่านี้เอง

โดยขณะนี้เราพยายามทำให้ MUJI ทุกๆ สาขาทั่วโลก อยู่ในระดับที่ใครๆ ก็สามารถซื้อได้ มีราคาเหมาะสม และเมื่อได้ซื้อแล้ว ก็อยากซื้ออีก เพราะคนซื้อ MUJI ไม่ได้ซื้อเพราะแบรนด์ แต่ซื้อเพื่อฟังก์ชั่นการใช้งานนั้นจริง พอเกิดการซื้อซ้ำเรื่อยๆ จะทำให้ Perception ของคนเปลี่ยนไปว่า MUJI เป็นสินค้าคุณภาพดี มีฟังก์ชั่น ในราคาเหมาะสม

MUJI-Japan

คุณซาโตรุ มัทสึซากิ ประธาน และตัวแทนผู้บริหาร Ryohin-Keikaku เ

การปรับราคาลงมา MUJI ใช้วิธีลดต้นทุนการผลิต และกระบวนการจัดจำหน่าย โดยตัดกระบวนการที่ไม่จำเป็นออก ในปัจจุบัน MUJI ในไทยปรับราคาให้อยู่ในระดับ Affordable Price กว่า 1,200 รายการ เช่น เสื้อยืดอยู่ที่ 290 บาท เสื้อเชิ้ต 690 บาท กางเกงชิโน 990 บาท

MUJI ตั้งเป้าว่าจะเป็นสินค้าสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยที่เข้าถึงได้ง่าย นำเสนอสินค้าคุณภาพสูง และมีประโยชน์ต่อการใช้สอย ในราคาเหมาะสม เราจึงคิดเสมอว่าทำอย่างไรที่จะเข้าถึงลูกค้าทุกคนในประเทศไทย ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นเหตุผลว่าเราถึงมีการทบทวนการทำราคาสินค้าให้เหมาะสมกับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

เราตรวจสอบตั้งแต่กระบวนการผลิต ไปจนถึงกระบวนการจัดจำหน่าย เพื่อขจัดขั้นตอนไม่จำเป็นออกไป แล้วแทนที่ด้วยประสิทธิภาพ นั่นจึงทำให้ MUJI สามารถปรับราคาสินค้าลงให้ลูกค้าได้” คุณอกิฮิโร่ล่าถึงกลยุทธ์การปรับลดราคา

MUJI price discount

 

6. บริการใหม่ โซนใหม่ สร้างประสบการณ์ ให้เป็นมากกว่ามาช้อปปิ้ง

ในยุคดิจิทัลที่ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าทุกที่ทุกเวลาผ่านออนไลน์ ทำให้ Physical Store ต้องปรับตัวให้เป็นมากกว่าสถานที่ที่ผู้บริโภคมาช้อปปิ้ง หากแต่เป็นที่ๆ ผู้คนมาใช้ชีวิต มาอัพเดทเทรนด์ มาค้นหาแรงบันดาลใจ เปิดรับประสบการณ์ใหม่

ร้านสาขาของ MUJI ในไทยเองก็ปรับตัวไปทิศทางดังกล่าว ด้วยการเติมสินค้าหลากหลาย บริการใหม่ และเปิดโซนใหม่ เพื่อให้ร้านเป็นสถานที่ตอบโจทย์ทั้งคนทุกกลุ่ม ทุก Generation ได้มาพักผ่อน ใช้เวลาอยู่ที่สาขา MUJI เช่น

MUJI Showroom ครั้งแรกที่สาขาเซ็นทรัล ชิดลม เปิดโชว์รูมจำลองบรรยากาศบ้านสไตล์ MUJI บนเนื้อที่กว่า 50 ตารางเมตร มีทั้งห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศอันเรียบง่ายของห้องที่ตกแต่งด้วยสินค้า MUJI และสร้างแรงบันดาลใจการตกแต่งบ้าน ซึ่งทุกวันนี้หนึ่งในสไตล์การแต่งบ้านที่ได้รับความนิยม คือ สไตล์ Minimal แบบญี่ปุ่น หรือที่หลายคนเรียกว่าสไตล์ MUJI

MUJI Central ChidlomMUJI Central Chidlom

Kids Play Space ครั้งแรกที่สาขาเซ็นทรัล ชิดลม พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับน้องๆ ตัวน้อย พร้อมเสริมจินตนาการไปกับกระดานดำดิจิทัล อันเป็นความร่วมมือระหว่าง MUJI กับ teamlab (ทีมแลป) กลุ่มนักสร้างสรรค์ชาวญี่ปุ่นจากหลากหลายอาชีพ ที่รวมตัวกันนำดิจิทัลมาเป็นผืนผ้าใบสร้างสรรค์ศิลปะ

Open MUJI พื้นที่สำหรับแชร์ไอเดีย และแรงบันดาลใจผ่านการจัด Workshop, Gallery และการพูดคุยกับเหล่า Creator

Service Counter บริการงานปักบนสินค้า MUJI บริการห่อของขวัญ บริการรับสินค้าที่จองไว้ และบริการปรับความยาวกางเกง

Interior Advisor Service บริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการตกแต่งบ้านที่ประหยัดพื้นที่ โดยคำนึงถึงความเรียบง่าย ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ในครัวเรือน โดยการจำลองแบบ 3 มิติให้ลูกค้าได้เห็นภาพเสมือนจริง

MUJI Central Chidlom_Teamlab

 

7. สร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ สังคม และผู้คนด้วย​ “สิ่งแวดล้อม”

หนึ่งในวิสัยทัศน์ของ Ryohin-Keikaku Group บริษัทแม่ MUJI ประเทศญี่ปุ่น คือ “สร้างความยั่งยืน” (Sustainability) ทั้งในระบบซัพพลายเชนตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งวัตถุดิบยั่งยืน ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกัน MUJI นำแนวคิดรีไซเคิล และการย้อมสีใหม่ เข้ามาอยู่ในกระบวนการผลิตด้วยได้สร้าง Sub-brand ReMUJI เป็นกลุ่มสินค้าคงค้าง แต่คุณภาพยังดีอยู่ นำกลับมาผลิตใหม่ด้วยวิธีการย้อมคราม เพื่อลดขยะ และมอบชีวิตใหม่ให้กับสินค้าเหล่านี้

REmuji

นอกจากนี้ เป็นครั้งแรกที่ MUJI ในไทยเปิดมุม Zero Waste Community ที่สาขาเซ็นทรัล ชิดลม โดยจับมือกับแบรนด์ Normal Shop ให้ลูกค้านำภาชนะมา “รีฟิล” แชมพู สบู่เหลว น้ำยาล้างจาน ฯลฯ เพื่อลดการใช้พลาสติก

MUJI GreenMUJI x Normal Shop Refill

 

8. เปิดช่องทางช้อปออนไลน์ เพิ่มโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคกว้างขึ้น

ในขณะที่ MUJI ประเทศไทยเดินหน้าเปิดสาขา Physical Store ในเวลาเดียวกันได้ขยายช่องทางบนอีคอมเมิร์ซควบคู่กัน เป็นหนึ่งในแผนการขยายช่องทางการจำหน่าย เพื่อตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุค New Normal ที่นิยมซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น และเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงผู้บริโภคที่กว้างขึ้น

ช่องทางออนไลน์ของ MUJI มีทั้งบนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันของเซ็นทรัล รวมทั้งจับมือกับแพลตฟอร์ม e-Marketplace เช่น LAZADA เปิด Official Shop นำสินค้ากว่า 398 รายการจำหน่ายอยู่บนแพลตฟอร์มดังกล่าว

“เราพัฒนาสาขาของ MUJI เพื่อให้ลูกค้ามาที่ร้าน แล้วได้รับประสบการณ์ดีๆ กลับออกไป ไม่ได้เพียงแค่การมาช้อปปิ้งเท่านั้น และ MUJI มองเห็นศักยภาพในตลาดประเทศไทยจากพฤติกรรมการช้อปปิ้งของลูกค้าชาวไทย ต้องเป็นสินค้าคุณภาพ ทนทาน มีคุณค่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นคือ ความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าญี่ปุ่น

ทำให้ MUJI ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าชาวไทย โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่ไม่สามารถเดินทางไปซื้อสินค้าจากญี่ปุ่นได้โดยตรง ทาง MUJI ก็มีการวางแผนขยายช่องทางการขาย การปรับราคา และการพัฒนาช่องทางการขายออนไลน์ เพื่อตอบสนอง และเข้าถึงพฤติกรรมการซื้อแบบ New Normal” คุณอกิฮิโร่ คาโมการิ กล่าวทิ้งท้าย

MUJI BentoMUJI Ice cream


แชร์ :

You may also like