HomeBrand Move !!อ่านกลยุทธ์ “MUJI” ทำไมรุกเปิดสาขาใหญ่ สวนกระแสช้อปออนไลน์โตแรง – ร้านค้าแห่ลดขนาดสาขา

อ่านกลยุทธ์ “MUJI” ทำไมรุกเปิดสาขาใหญ่ สวนกระแสช้อปออนไลน์โตแรง – ร้านค้าแห่ลดขนาดสาขา

แชร์ :

MUJI Thailand

หากย้อนหลัง Timeline ช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา และในปี 2564 จากนี้ไป โมเดลร้าน MUJI” ในไทย ทั้งเปิดสาขาใหม่ และรีโนเวทสาขาเดิม เน้นรูปแบบสาขาขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่มากกว่า 1,000+ ตารางเมตรขึ้นไป

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ปี 2562

– เปิด Flagship Store ใหญ่สุดในประเทศไทยที่ สามย่าน มิตรทาวน์ ขนาดพื้นที่รวมกว่า 1,900 ตารางเมตร ทุบสถิติสาขาเซ็นทรัลเวิลด์ ที่เดิมเคยเป็นสาขาใหญ่สุดในไทย ด้วยขนาดพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร และถึงเวลานี้สาขาสามย่าน มิตรทาวน์ ยังคงเป็นสาขาใหญ่สุดในไทย

– เปิดสาขาใหญ่ที่ เซ็นทรัลฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เป็นสาขาแรกในโซนรังสิต

ปี 2563

– เปิดสาขา เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ถือเป็น MUJI สาขาแรกที่มาเปิดกับกลุ่มเดอะมอลล์ ขนาดพื้นที่กว่า 1,800 ตารางเมตร

ปี 2564

– ปรับโฉม MUJI สาขาแฟชั่นไอส์แลนด์ ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจาก 359 ตารางเมตร เป็น 1,400 ตารางเมตร

– วันที่ 1 พฤษภาคมนี้เปิดสาขาใหม่ที่ ICONSIAM ขนาด 1,300 ตารางเมตร

– เตรียมเปิดสาขาที่ ซีคอน บางแค ในเดือนพฤษภาคมนี้

– เตรียมเปิดสาขาที่ ซีคอนสแควร์ (ศรีนครินทร์) เดือนกรกฎาคมนี้

ปัจจุบัน MUJI เปิดสาขาในไทย 21 สาขา ในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล และเชียงใหม่ จากจำนวนสาขาทั่วโลก 978 สาขา แบ่งเป็นสาขาในญี่ปุ่น 443 สาขา และนอกประเทศญี่ปุ่น 535 สาขา (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564)

MUJI_Central

Photo Credit : Facebook MUJI Thailand

ในอดีตร้าน MUJI ในไทย มีขนาดพื้นที่โดยเฉลี่ยประมาณกว่า 400 – 700 ตารางเมตรต่อสาขา และเน้นเปิดกับห้างฯ เซ็นทรัล แต่ในช่วงไม่ถึง 10 ปีมานี้ สาขาของ MUJI ขยายออกนอกห้างฯ เซ็นทรัลมากขึ้น โดยนอกจากเปิดสาขาโซนใจกลางเมือง หรือ CBD (Central Business District) แล้ว ได้เริ่มขยายไปยังกรุงเทพฯ รอบนอกมากขึ้น และมีร้านขนาดใหญ่กว่า 1000+ ตารางเมตรขึ้นไป

ตรงกันข้ามกับสถานการณ์ค้าปลีกในเวลานี้ ที่โฟกัสอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่บนแพลตฟอร์ม e-Marketplace, Social Commerce หรือแม้แต่ Conversation Commerce ที่ซื้อขายผ่านแอปฯ แชท

ยิ่งมาเจอกับสถานการณ์ COVID-19 ตัวเร่งให้ Retail Landscape เปลี่ยนไปสู่ช้อปออนไลน์ ส่งผลให้ร้านค้าปลีกบางราย ปรับโมเดลร้านให้มีขนาดเล็กลง หรือปรับลดจำนวนสาขา เพื่อลดค่าใช้จ่าย

ดังที่ผลวิจัย CBRE รายงานร้านค้าปลีกที่เคยเช่าพื้นที่ขนาดใหญ่ เมื่อร้านค้าเหล่านั้นมีความคุ้นเคยกับการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ และมีแนวโน้มทำธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น หลังจากวิกฤต COVID-19 ทำให้เกิดการปรับลดขนาดพื้นที่เช่า หรือยกเลิกพื้นที่เช่าที่มีหลายแห่งในปัจจุบัน

และจากผลสำรวจพื้นที่ค้าปลีกในเอเชียแปซิฟิก Asia Pacific Retail Flash Survey โดยแผนกวิจัย CBRE ระบุว่าธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม และร้านค้าปลีกอื่นๆ ที่เน้นสร้างประสบการณ์การใช้บริการ ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การเปิดสาขาน้อยลง หรือเพิ่มสาขาเพียงไม่กี่แห่ง

แล้วทำไม “MUJI” ยังคงเดินหน้าลงทุนเปิดสาขาใหญ่ขึ้น และโมเดลร้านขนาดใหญ่ สำคัญกับเชนค้าปลีกสัญชาติญี่ปุ่นรายนี้อย่างไร ? มาหาคำตอบกัน

MUJI_Samyan Mitrtown

MUJI สามย่าน มิตรทาวน์ สาขาใหญ่สุดในไทยขณะนี้

 

จากแฟรนไชส์ สู่ “บริษัทร่วมทุน” เพิ่มโอกาสโตนอกห้างฯ เซ็นทรัล

“MUJI” เข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี 2549 โดย “ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล” ในเครือเซ็นทรัล กรุ๊ป ซื้อแฟรนไชส์นำเข้ามาเปิดสาขาในไทย สาขาแรกที่ห้างฯ เซ็นทรัลชิดลม

ต่อมาหลังจากนั้น BOI ได้ปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ทำให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยได้ง่ายขึ้น ในปี 2556 เซ็นทรัล กับ Ryohin-Keikaku บริษัทแม่ MUJI ได้ยกระดับความสัมพันธ์ทางธุรกิจไปสู่การร่วมทุน โดยจัดตั้ง “บริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) จำกัด” ทุนจดทะเบียน 520 ล้านบาท เนื่องจากมองว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งใน Strategic Market ของตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลังการปรับโมเดลธุรกิจเป็น “การร่วมทุน” ทำให้เห็นกลยุทธ์เชิงรุกของ MUJI ในประเทศไทยมากขึ้น

– รุกเปิดสาขานอกห้างฯ เซ็นทรัลมากขึ้น เช่น สาขาสยามดิสคัฟเวอรี่ สาขาสามย่าน มิตรทาวน์ สาขาเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน สาขาซีคอน ทั้งบางแค และศรีนครินทร์ ทำให้เพิ่มโอกาสการเข้าถึงผู้บริโภคไทยมากขึ้น

– เปิดสาขาใหม่ต่อปีมากขึ้น จากเดิมเปิดสาขาใหม่เพียงปีละ 1 สาขาเท่านั้น

– เปิดสาขาขนาดมากกว่า 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป

– ทยอยปรับลดราคาสินค้าแต่ละหมวด เช่น กลุ่มสินค้าเสื้อผ้า อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน ไปจนถึงสินค้าชิ้นใหญ่อย่างเฟอร์นิเจอร์ เพื่อทำให้เป็นสินค้าที่เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง ในราคาจับต้องได้ง่ายขึ้น

– เปิดสาขามากขึ้น จากเดิมเปิดสาขาใหม่เพียงปีละ 1 สาขาเท่านั้น

MUJI_The Mall

MUJI เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน เป็น MUJI สาขาแรกที่เปิดกับกลุ่มเดอะมอลล์

MUJI_The Mall

ขณะที่ผลประกอบการธุรกิจของ “มูจิ รีเทล (ประเทศไทย)” ปี 2557 – 2563 ได้กำไรมาโดยตลอด แต่ในปี 2563 ที่ผ่านมา ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้รายได้รวม และกำไรลดลงอย่างมาก (ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า)

ปี 2557 รายได้รวม 458.8 ล้านบาท / กำไร 36.9 ล้านบาท

ปี 2558 รายได้รวม 544 ล้านบาท / กำไร 51.4 ล้านบาท

ปี 2559 รายได้รวม 723.2 ล้านบาท / กำไร 92.4 ล้านบาท

ปี 2560 รายได้รวม 871.3 ล้านบาท / กำไร 71.2 ล้านบาท

ปี 2561 รายได้รวม 1,018.8 ล้านบาท / กำไร 79.7 ล้านบาท

ปี 2562 รายได้รวม 1,144.7 ล้านบาท / กำไร 71.5 ล้านบาท

ปี 2563 รายได้รวม 638.7 ล้านบาท / กำไร 23.2 ล้านบาท

MUJI_Fashion Island

 

5 เหตุผล “MUJI” ลงทุนเปิดร้านขนาดใหญ่

เมื่อวิเคราะห์ถึงเหตุผลสำคัญที่ MUJI ประเทศไทย ยังคงให้ความสำคัญกับการเปิด Physical Store โดยเป็นโมเดลร้านขนาดใหญ่ มาจาก 5 องค์ประกอบนี้

1. ประเทศไทยเป็น Strategic Market และคนไทยชอบสินค้าญี่ปุ่น

แผนระยะกลางของ MUJI ในระดับโลก คือ วางยุทธศาสตร์ภายในปี 2024 จะเปิดสาขาในญี่ปุ่นเพิ่มอีก 100 สาขา จากปัจจุบันมี 443 สาขา และ 50 สาขาในจีน จากปัจจุบันมีมากกว่า 270 สาขา ซึ่งประเทศจีน เป็น Strategic Country สำคัญของ MUJI นอกประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ตามแผนธุรกิจ MUJI ยังโฟกัสอีก 2 ตลาดคือ ไต้หวัน ที่ขณะนี้มีกว่า 50 สาขา และประเทศไทย  

คุณอกิฮิโร่ คาโมการิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) ให้เหตุผลที่ตลาดประเทศไทยเป็นหนึ่งใน Strategic Market สำคัญของ MUJI

– ผู้บริโภคชาวไทย มั่นใจต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากญี่ปุ่น และการขยายสาขา เป็นไปตามกลยุทธ์ของ MUJI ให้คนไทยเข้าถึงสินค้า MUJI ได้ง่ายขึ้น

– ประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาท่องเที่ยวและช้อปปิ้ง จึงเป็นช่องทางสำคัญในการนำผลิตภัณฑ์ของ MUJI ไปสู่ผู้บริโภค

MUJI_Shop ICONSIAM

MUJI สาขา ICONSIAM

2. ร้านใหญ่เติมเต็มความหลากหลายสินค้า และบริการ สร้างประสบการณ์ได้ครบวงจร

ในยุคอีคอมเมิร์ซที่ลูกค้าช้อปที่ไหนก็ได้ ทุกที่ทุกเวลา ทำให้บทบาทของ Physical Store ไม่ใช่ทำหน้าที่ขายสินค้าอย่างเดียว แต่ยังต้องเป็นช่องทาง “สร้างประสบการณ์” ให้กับผู้บริโภค

ดังนั้น การเปิดสาขาขนาดใหญ่ ทำให้ MUJI สามารถสร้างประสบการณ์เต็มรูปแบบมากขึ้น ทั้งแนวคิด MUJI เน้นความเรียบง่าย – ความเป็นธรรมชาติ เป็นสินค้าใช้ในชีวิตประจำวัน ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ในราคาที่จับต้องได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์เครื่องเขียน ของใช้ในครัวเรือน อาหาร – เครื่องดื่ม มุมหนังสือ เฟอร์นิเจอร์ จักรยาน รวมแล้วมากกว่า 3,000 รายการ รวมทั้งเพิ่มบริการใหม่ในไทย เช่น

– MUJI Coffee Corner เปิดสาขาแรกที่สามย่าน มิตรทาวน์ และปัจจุบันมี 4 สาขา (รวมสาขา ICONSIAM ที่จะเปิดวันที่ 1 พฤษภาคมนี้) ตกแต่งด้วยบรรยากาศแบบธรรมชาติอบอุ่นเรียบง่ายสไตล์ MUJI

– บริการ MUJI Interior Consultation Service ให้คำปรึกษา และคำแนะนำด้านออกแบบตกแต่งภายในบ้าน ทั้งการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ และปัญหาด้านการจัดเก็บพื้นที่ที่จำกัด จากที่ปรึกษาด้านการตกแต่งภายใน เพื่อการอยู่อาศัยภายใต้บรรยากาศผ่อนคลาย สวยงาม และเรียบง่าย

MUJI_Coffee corner_ICONSIAM

โซน Coffee Corner

– บริการตัดขากางเกงฟรี (Alteration Service) สำหรับลูกค้าที่ซื้อกางเกง MUJI เพื่อให้ลูกค้าสวมใส่กางเกงได้พอดี

– เพิ่มสินค้ากลุ่ม MUJI Labo เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ดีไซน์ไม่ยึดติดกับเพศสภาพ สามารถใส่ได้ทั้งผู้หญิง และผู้ชาย

– มุมผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่น (Shokoku Ryohin) MUJI คัดสรรสินค้าจากชุมชนในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย เช่น สินค้าออร์แกนิก, สินค้าที่สนับสนุนชุมชนในพื้นที่ มีกระบวนการผลิตปลอดภัย

MUJI_ICONSIAMMUJI

3. ดึงลูกค้าใช้เวลาในร้านนานขึ้น และเพิ่มความถี่การใช้บริการ

ทุกวันนี้ชีวิตในแต่ละวันของผู้บริโภคมีกิจกรรมมากมาย และหลากหลาย และยิ่งในปัจจุบันผู้บริโภค 1 คนใช้ชีวิตอยู่บนสื่อดิจิทัลต่างๆ โดยเฉลี่ยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน อีกทั้งการเกิดขึ้นของ COVID-19 ทำให้คนใช้เวลานอกบ้านน้อยลง และลดการไปในที่คนหนาแน่น

ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของธุรกิจค้าปลีก (Physical Store) อยู่ที่การแย่งชิง “เวลา”​ ของผู้บริโภคจากกิจกรรม และสื่อที่รายล้อมอยู่รอบตัวผู้บริโภคมากมาย ให้มา “ใช้เวลา”​ (Spend Time) และ “ความถี่การมาใช้บริการ” (Frequency) หากร้านค้าปลีกสามารถทำให้เกิด 2 สิ่งนี้ จะเพิ่มโอกาสที่ลูกค้าใช้จ่ายมากขึ้น

อย่าง MUJI สาขาใหญ่ 1,000+ ตารางเมตรขึ้นไป เมื่อมีสินค้าและบริการหลากหลาย จะเป็น Magnet ดึงลูกค้ามาร้านถี่ขึ้น และใช้เวลาอยู่กับร้านนานขึ้น เช่น Coffee Corner ที่มีเครื่องดื่ม และของว่างเมนูต่างๆ กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่อยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ก็เป็นอีกบริการที่ดึงให้คนมาใช้บริการถี่ขึ้น และใช้เวลาอยู่ในร้านนานขึ้น

MUJI_Coffee corner_ICONSIAMMUJI_The Mall

4. จากโซนใจกลางเมือง ขยายสู่รอบนอกเมือง – ปริมณฑล เพิ่มการเข้าถึงลูกค้ากว้างขึ้น

เดิมทีสาขา MUJI กระจุกตัวอยู่เฉพาะในโซนใจกลางเมืองเป็นหลัก แต่ถ้าสังเกตสาขาใหม่ขนาดใหญ่ของ MUJI เน้นปักหมุดในทำเลกรุงเทพฯ รอบนอกทั้ง 4 ทิศ

– โซนกรุงเทพฯ ตอนเหนือ เช่น สาขารังสิต

– โซนกรุงเทพฯ ตะวันออก เช่น สาขาแฟชั่นไอส์แลนด์ ที่มีขนาดใหญ่ถึง 1,400 ตารางเมตร และสาขาซีคอน สแควร์ศรีนครินทร์ ที่จะเปิดเดือนกรกฎาคม

– โซนกรุงเทพฯ ตะวันตก เช่น สาขาเซ็นทรัล เวสต์เกต

– โซนกรุงเทพฯ ตอนใต้ เช่น สาขาซีคอน บางแค ที่จะเปิดเดือนพฤษภาคมนี้

– ล่าสุดสาขา ICONSIAM รองรับย่านฝั่งธนบุรี และนักท่องเที่ยว เป็นสาขาที่ 2 ในย่านนี้ (สาขาแรกที่เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ขนาด 400 ตารางเมตร) เพราะทุกวันนี้ย่านฝั่งธนฯ กลายเป็นทำเลที่มีศักยภาพสูง

MUJI_Iconsiam

การเปิดร้านสาขาใหญ่ ทั้ง 4 โซนของกรุงเทพฯ และย่านฝั่งธนฯ เพื่อรองรับผู้บริโภคที่อยู่ในย่านนั้น และผู้บริโภคจากจังหวัดใกล้เคียง เนื่องจากโซนรอบนอกกรุงเทพฯ และปริมณฑล กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของเมือง ระบบคมนาคม ทั้งทางถนน และรถไฟฟ้าเชื่อมต่อจากย่านกลางเมือง – รอบนอกเมือง ทำให้ที่อยู่อาศัย และย่านคนทำงานโซนรอบนอก และปริมณฑลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

คุณอกิฮิโร่ คาโมการิ เล่าเหตุผลการขยาย MUJI สาขาแฟชั่นไอส์แลนด์ให้เป็นฟอร์แมตใหญ่ หลังจากเปิดให้บริการลูกค้าย่านรามอินทรา และพื้นที่ใกล้เคียงมากว่า 4 ปี และการเปิดสาขา ICONSIAM ว่า แฟชั่นไอส์แลนด์เป็นโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่บนถนนรามอินทรากิโลเมตรที่ 10 ซึ่งเป็นถนนสายหลักที่ทอดยาวคาบเกี่ยวพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งเหนือและฝั่งตะวันออก เชื่อมโยงถนนสายหลัก และสายรองสำคัญ ๆ หลายสาย รวมทั้งมีโครงการรถไฟฟ้าระบบรางเดี่ยวสีชมพูที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2565 ช่วยอำนวยความสะดวกเชื่อมต่อการเดินทางให้สะดวกสบายและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ทำเลนี้จึงนับเป็นทำเลศักยภาพย่านหนึ่งที่มีโครงการที่อยู่อาศัยกระจายตัวอยู่จำนวนมาก รวมทั้งเริ่มเป็นย่านของโฮมออฟฟิศ ประกอบกับเดิมกลุ่มคนทำงานกระจายตัวออกมาซื้อที่พักอาศัยในทำเลนี้เป็นจำนวนมาก จึงมีกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ นับเป็นอีกหนึ่งในโลเกชั่นที่ MUJI มองเห็นศักยภาพและให้ความสำคัญ จึงเลือกปรับปรุงโฉมสาขานี้เป็นอันดับต้น ๆ ภายใต้แนวคิดให้ MUJI เป็นแบรนด์สินค้าสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ในราคาที่จับต้องได้ง่ายขึ้น

ขณะที่การเปิดให้บริการสาขา ICONSIAM ซึ่งเป็นแหล่งช้อปปิ้งและแลนด์มาร์กที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นอีกทำเลศักยภาพ มีจุดเด่นด้านความสวยงาม สามารถดึงดูดนักช้อปปิ้งทั้งประเทศ ทำเลดังกล่าวจึงถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีในการขยายสาขา ซึ่ง MUJI ยังไม่มีสาขาในย่านนั้น เราจึงอยากขยายสาขาใหม่เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าออกไปในย่านนั้น โดยหวังว่าลูกค้าจะเข้าถึงและมีความเข้าใจในแบรนด์ MUJI มากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคชาวไทยเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของ MUJI ได้ง่ายยิ่งขึ้น

MUJI_Local Food Zone_ICONSIAM

5. ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

นอกจากการนำเสนอความเรียบง่าย ประหยัดทรัพยากร และมุ่งเน้นความเป็นธรรมชาติแล้ว หนึ่งวิสัยทัศน์ของ MUJI คือ “การเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน” (Become part of the community) ผ่านสินค้า บริการ สาขา การสร้างความร่วมมือ และให้การสนับสนุนคนในท้องถิ่น/ในชุมชน

อย่างในประเทศไทย MUJI ได้ทำ Localization เพื่อให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทย และชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ ด้วยการคัดสรรผลิตภัณฑ์อาหารท้องถิ่นจากผู้ประกอบการท้องถิ่น ที่มีแนวคิด และวิสัยทัศน์เดียวกัน นำมาวางจำหน่ายในโซนผลิตภัณฑ์อาหารท้องถิ่น (Local Food) ซึ่งมี 154 รายการ โดยเป็นของหายากและเต็มไปด้วยคุณค่าที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าออร์แกนิก สินค้าที่สนับสนุนชุมชนในพื้นที่ หรือสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย ที่สำคัญต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีการจัดตลาดนัด MUJI เปิดพื้นที่บริเวณหน้าร้านให้ผู้ประกอบการ SME ไทย เปิด Pop-up Store

MUJI_Community Market

ตลาดนัด MUJI เปิดให้ผู้ประกอบการ SME ไทยเปิด Pop-up Store โซนหน้าร้าน MUJI (Photo Credit: Facebook MUJI Thailand)

MUJI_Local Food Zone_ICONSIAM

ปัจจุบันนอกจากการเดินหน้าเปิดสาขาขนาดใหญ่แล้ว “MUJI” ในไทย ได้เพิ่มช่องทางออนไลน์ ให้บริการผ่านเซ็นทรัลออนไลน์ และแพลตฟอร์ม LAZADA เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น

ตลอดระยะเวลา 15 ปีของ MUJI เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย นับตั้งแต่ก้าวแรกมาในฐานะเป็นแฟรนไชส์ นำเข้ามาโดยห้างฯ เซ็นทรัล กระทั่งปัจจุบันพัฒนาเป็นบริษัทร่วมทุน รุกเปิดสาขาขนาดใหญ่ และขยายรอบนอกเมือง

ไม่แน่ว่าหากทิศทางโมเดลสาขาใหญ่ และการเปิดสาขาเพิ่มขึ้น ได้การตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคไทย ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจเห็น ร้าน MUJI ในหัวเมืองใหญ่ของไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้งสินค้า และบริการมากมายที่มีใน MUJI ญี่ปุ่น และในต่างประเทศ มานำเสนอให้กับผู้บริโภคไทยก็เป็นไปได้

MUJI_local food_ICONSIAMMUJI_local food_ICONSIAMMUJI_Labo Zone_ICONSIAMMUJI_Labo

 


แชร์ :

You may also like