HomeDigitalศึกษาจากจีน ดูแลอย่างไรในวันที่มีผู้สูงอายุทะลุ 250 ล้านคน และยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ศึกษาจากจีน ดูแลอย่างไรในวันที่มีผู้สูงอายุทะลุ 250 ล้านคน และยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

แชร์ :

หากกล่าวถึงเรื่องของ Aging Society ภาพของประเทศญี่ปุ่นอาจปรากฏขึ้นมาในจินตนาการของใครหลายคน กับการที่ประชากรในประเทศถึง 1 ใน 3 เป็นผู้สูงอายุอยู่ในขณะนี้ แต่ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นประเทศเดียวที่เผชิญกับความท้าทายดังกล่าว จีนแผ่นดินใหญ่ ประเทศที่เตรียมก้าวขึ้นแท่นผู้นำโลกก็หนีความท้าทายนี้ไม่พ้น โดยตัวเลขในปี 2018 พบว่า จีนมีประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 250 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 1.4 พันล้านคน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สถาบัน Academy of Social Sciences ของจีนชี้ว่า คนวัยทำงาน 2 คน จะต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนบำเหน็จบำนาญเพื่อสนับสนุนคนเกษียณที่ไม่ได้ทำงานแล้ว 1 คน แต่ในปี 2050 อัตราส่วนการพึ่งพานี้มีแนวโน้มว่าจะลดลงจนกลายเป็น 1 ต่อ 1 นั่นคือเหตุผลให้นักวิทยาศาสตร์ และบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากหาทางพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ รวมถึงการนำ AI มาใช้เพื่อให้การดูแลสุขภาพประชาชนของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หนึ่งในสถานที่ที่จะได้เห็นนวัตกรรมเหล่านี้ก็คือ Lujiazui Elderly Community Centre ซึ่งเป็นสถานดูแลผู้สูงอายุที่ได้รับความนิยมมากแห่งหนึ่งในเขตผู่ตง ของเซี่ยงไฮ้

ที่แห่งนี้มีการนำฟูกนอนอัจฉริยะมาปรับใช้เป็นแห่งแรก โดยฟูกดังกล่าวมาพร้อมเซ็นเซอร์ที่สามารถตรวจสอบสุขภาพของผู้ป่วย และแชร์ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ รวมถึงสมาชิกในครอบครัวได้อัตโนมัติ หรือหากหลงทาง ก็สามารถติดตามตัวผู้สูงอายุได้จากตำแหน่งของ GPS

การออกกำลังกายของผู้สูงอายุในศูนย์ก็น่าสนใจ เพราะมีนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยในการออกกำลังกาย โดยให้อยู่ในรูปของการเล่นเกม เช่น เกมเก็บผลไม้เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ฝึกขยับมือเพื่อความคล่องตัว และได้สนุกกับเกมไปพร้อม ๆ กัน

“ที่ผ่านมา นักบำบัดจะต้องนำมือของผู้ป่วยไปวางไว้บนเครื่องเพื่อให้พวกเขาได้เคลื่อนไหวซ้ำ ๆ กันประมาณ 500 ครั้งใน 20 นาที ซึ่งแน่นอนว่ามันกินเวลาของนักบำบัดอย่างมาก และสำหรับผู้ป่วยก็คงไม่สนุกอย่างแน่นอน ขณะที่เจ้าเครื่องใหม่นี้ นอกจากเล่นเกมแล้ว ยังสามารถตรวจสมรรถภาพผู้ป่วยได้พร้อมกันถึง 3 ราย จึงประหยัดเวลาไปได้อย่างมาก” Gu Jie ซีอีโอของ Fourier Intelligence บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์กล่าว

ทางศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเผยว่า ก่อนหน้าที่จะนำนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาใช้งาน ทางศูนย์จะต้องจ้างนักบำบัดให้มาเข้าเยี่ยมทุกวันเพื่อช่วยผู้ป่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งหลังจากมีการติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้แล้ว นักบำบัดยังคงจำเป็น แต่พบว่าเครื่องมือต่าง ๆ สามารถช่วยให้นักบำบัดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการทำงานซ้ำ ๆ ลงได้

เตรียมส่งไม้ต่อให้ AI รับหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ

หรือในส่วนของการใช้ AI เพื่อการดูแลสุขภาพก็พบว่ามีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคืองานวิจัยของศาสตราจารย์ Chen Xiaoping จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (University of Science and Technology of China หรือ USTC) ที่ได้พัฒนาหุ่นยนต์ AI สำหรับเตือนให้ผู้สูงอายุกินยามาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ เขาก็พบว่ายังมีความท้าทายต่าง ๆ มากมาย

“เราเริ่มทำงานกับหุ่นยนต์บริการในปี 2008 แต่สำหรับผู้สูงอายุ การเตือนให้กินยา ก็มีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เราพบว่าหลังจากได้รับการเตือน บางครั้งผู้สูงอายุก็ยืนขึ้นแล้วเดินไปรอบ ๆ แทนที่จะกินยา ดังนั้นหุ่นยนต์ต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น และต้องสามารถเตือนพวกเขาให้กินยาอีกครั้งได้ เช่นเดียวกัน บางครั้งพวกเขาก็กินยาแล้ว หุ่นยนต์ก็ต้องวิเคราะห์ได้ และหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการเตือนซ้ำ” ศาสตราจารย์ Chen กล่าว

โดยศาสตราจารย์ Chen หวังว่าหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุจะได้รับความนิยมมากขึ้นในอีก 3 – 5 ปีข้างหน้า และอาจมีราคาต่ำกว่า 10,000 หยวน (ประมาณ 50,000 บาท) เพื่อให้คนหาซื้อมาใช้งานได้ง่ายมากขึ้น

นอกจากนั้นก็ยังมี Yitu Technology ซึ่งเป็นบริษัทด้าน AI ชั้นนำของจีนที่ได้เปิดตัวเครื่องมือตรวจคัดกรองมะเร็งโดยใช้ AI แบบใหม่เมื่อปีที่แล้ว เพื่อลดภาระงานและเพิ่มความสามารถในการวินิจฉัยสำหรับนักรังสีวิทยาทั่วโลกเช่นกัน

ข้อมูลจากบริษัทวิจัย Markets and Markets เผยว่า การใช้ AI ในตลาดการดูแลสุขภาพทั่วโลกจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 2,100 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2018 เป็น 36,100 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2025

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตลาดดังกล่าวเติบโตมาจากการขาดแคลนบุคลากรในการดูแลผู้สูงอายุ แม้ว่าจะเป็นประเทศจีนที่มีประชากรกว่าพันล้านคน แถมยังเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับค่าตอบแทนค่อนข้างดีก็ตาม (รายได้ของผู้ดูแลต่อเดือนเฉลี่ย 15,000 หยวน หรือประมาณ 75,000 บาท ขณะที่รายได้ของศูนย์บริการต่อการดูแลผู้สูงอายุหนึ่งคนอาจมีตั้งแต่ระดับ 5,000 – 20,000 หยวนต่อเดือนเลยทีเดียว)

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ตลาดดังกล่าวขาดแคลนบุคลากรคือเรื่องของความสุขของคนทำงานที่ค่อนข้างต่ำ เหตุจากต้องทำงานซ้ำเดิมตลอดเวลา ขณะที่ตัวกฎหมายก็มีข้อบังคับที่ละเอียดยิบย่อย ทำให้หลายคนอาจไม่ได้รับการประเมินให้อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ต่อ

ทั้งหมดนี้จึงทำให้ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งเริ่มเปิดใจยอมรับการดูแลตัวเองควบคู่กับการให้ AI เข้ามาช่วยเหลือมากขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้การสำรวจโดยสถาบันวิจัยของ Tencent ที่พบว่า มากกว่า 50% ของผู้มีอายุระหว่าง 50 – 64 ปี สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อชดเชยการขาดแคลนผู้ดูแลผู้สูงอายุแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุในเมืองสำคัญๆ อย่าง กรุงปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, กวางโจว และเซินเจิ้น ซึ่งเราเชื่อว่าภาพที่เกิดในเมืองจีนกับจำนวนผู้สูงอายุหลักร้อยล้านคนและรูปแบบการดูแลดังกล่าว อาจทำให้หลายคนมองเห็นโอกาสของการใช้ AI มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน

Source


แชร์ :

You may also like