ปัจจุบันความท้าทายของแบรนด์ ไม่ใช่แค่สร้างการเติบโตทางธุรกิจ แต่ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง เพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่าและหาลูกค้าใหม่
“มายด์แชร์” เอเยนซี่เครือข่ายด้านการตลาดและการสื่อสาร ในเครือกรุ๊ปเอ็ม สรุป 4 เทรนด์การตลาด ผ่าน Mindshare Think Tank 2025 ชี้โอกาสและความท้ายทางของแบรนด์ในการสื่อสารการตลาดกับผู้บริโภคที่ปรับตัวไปมาตามความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คุณวรวิล สนเจริญ ผู้อำนวยการแผนกการวางแผนกลยุทธ์ มายด์แชร์ (ประเทศไทย) สรุป 4 เทรนด์โลกการตลาด ปี 2025 ที่จะช่วยให้แบรนด์เข้าใจถึงความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภค พร้อมทั้งสร้างประสบการณ์ที่ดีและสร้างความภักดีต่อแบรนด์ ดังนี้
1. Volume Up Value : ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับความคุ้มค่ามากกว่าที่เคย
– พบว่า 4 ใน 5 ของผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้จ่ายเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวในปัจจุบัน การซื้อสินค้าทางเลือก ไม่ใช่เรื่องน่าอายอีกต่อไป เมื่อปัจจุบันผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าจากคุณภาพของสินค้ามากกว่า แต่ยังต้องสามารถนำไปใช้ได้จริง
– การจับจ่ายมองเรื่อง Value หรือความคุ้มค่า เป็นหลัก วันนี้ผู้บริโภคไม่ได้มองความคุ้มค่าด้าน “ราคา” อย่างเดียว แต่หลากหลายมุมเพื่อใช้ตัดสินใจ จึงเกิดเป็นเทรนด์ DUPE Economy การเลือกซื้อสินค้าและบริการที่มีความคล้ายแบรนด์ราคาแพง (Luxury Brand) แต่ราคาถูกกว่า เพื่อทำให้ผู้บริโภคจับต้องได้
– กระแส DUPE Economy เกิดขึ้นในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะตอบโจทย์เรื่องราคาและฟังก์ชั่นการใช้งาน คอนเซปต์ของ DUPE Product ไม่ได้ลดทอนคุณภาพสินค้า มาด้วยรูปลักษณ์ที่ดี มีการสร้างแบรนด์ โดยใช้วิธีลดต้นทุนด้านการตลาด จึงถูกมองว่าเป็นสินค้าแทนลักชัวรีแบรนด์ แต่ราคาถูกกว่ามาก
– สินค้า DUPE ที่สร้างกระแสในปีที่ผ่านมาเช่น กระเป๋า WIEKIN ของ Walmart ที่เลียนแบบ BIRKIN ของ Hermes รวมทั้งจากการเติบโตของ Fast Fashion จีน แบรนด์ SHEIN
– ปีนี้ที่เศรษฐกิจชะลอตัว เทรนด์ DUPE is cool จึงชัดเจน มีสินค้าหลากหลายกลุ่มทั้งแฟชั่น สกินแคร์ อิเลกทรอนิกส์ คนใช้สินค้า DUPE ไม่ได้รู้สึกเขินอายที่ใช้สินค้าเลียนแบบ รู้สึกว่าใช้สินค้าคุ้มค่า คุ้มราคา ฉลาดซื้อ และบอกต่อในโซเชียล คอนเซปต์ DUPE ยังเข้าไปสู่การทำโปรดักท์แบบ DIY ใช้สินค้าอย่างฉลาดประหยัดเงิน เช่น การทำเครื่องฟอกอากาศ DIY (ช่วงที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5)
– ยุคนี้ผู้บริโภคช้อปปิ้งอย่างชาญฉลาด หาข้อมูลก่อนช้อป ทั้งการเปรียบเทียบราคา หาโปรโมชั่น ดีล โค้ดส่วนลด สะสมแต้ม โดย 73% ของ Gen Z ใช้เวลามองหาดีลและราคาที่ดีในการซื้อสินค้า
– สิ่งที่แบรนด์ต้องคำนึงถึง คือ สร้างความคุ้มค่าในทุก Touchpoint ตั้งแต่คุณภาพสินค้า ราคาที่เหมาะสม ไปจนถึงประสบการณ์การซื้อที่ราบรื่นและโปร่งใส สร้างจุดยืนของแบรนด์ให้แข็งแกร่ง เพื่อให้ผู้บริโภคยังคงเลือกแบรนด์ของคุณ แม้จะมีสินค้าที่คล้ายคลึงกันในตลาด
2. AI and Then What? : AI ไม่ได้เป็นแค่เทคโนโลยีแต่พลิกโฉมพฤติกรรมผู้บริโภค
– ในปี 2025 AI ได้พัฒนาจากสิ่งแปลกใหม่กลายเป็นผู้ช่วยที่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น การหาข้อมูล การสะกดคำ การตรวจภาษา การสรุปเอกสาร และการร่างอีเมล
– AI ยังเข้ามามีบทบาทในการค้นหา (Search) มากขึ้น จากยุค Google Search สู่แพลตฟอร์มเสิร์ชหลากหลาย โดย 74% ของผู้บริโภค Gen Z ใช้ TikTok ในการค้นหา และ 51% ชื่นชอบที่จะใช้การค้นหาผ่าน TikTok Search มากกว่า Google ตั้งแต่ปี 2020 ถึงปัจจุบัน AI เสิร์ชด้วยรูปภาพมากขึ้น จากการพัฒนาเทคโนโลยีของดีไวซ์ (มือถือ) และอีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์ม
– อย่างไรก็ตามแบรนด์ต้องทำความเข้าใจว่า AI ยังไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง และไม่สามารถสร้างความรู้สึกร่วมกับผู้บริโภคได้มากเท่าที่ควร ผู้บริโภคยังคงให้ความสำคัญกับประสบการณ์จริง ๆ อย่าง Sense of Humor หรือ Brand Affinity ได้ ดังนั้นแบรนด์ต้องสร้างเอนเกจที่เชื่อมโยงกับผู้คน เพราะผู้บริโภคยังมองหาสิ่งที่จับต้องได้ จากนั้นต่อยอดไปในโลกออนไลน์ เพื่อสร้างคอนเทนต์ ประสบการณ์ที่ดีกับแบรนด์
3. COM ‘ME’ NITY : การตลาดที่เน้นตัวตนของผู้บริโภค สร้าง Connection ที่แข็งแกร่ง
– คอนเทนต์หนึ่งที่ได้รับความนิยมในช่วงที่ผ่านมา คือ “This is ME” (Yes , I am) สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการเน้นตัวตนของผู้บริโภค คอนเทนต์สไตล์นี้มาแรง เพราะมีคนสไตล์เดียวกันอยู่บนโซเชียล และเป็นสิ่งที่คนอยากได้ยินว่ามีคนที่เหมือนตัวเองอยู่บนโซเชียล เช่น Introvert Extrovert MBTI กลายเป็นหัวข้อที่คนสนใจ
– เทรนด์ “This is ME” Marketing คือ การที่แบรนด์ใช้ความเป็น Personalization เข้ามาเชื่อมโยงกับผู้คนที่มีตัวตนสไตล์เดียวกัน ทำให้คนรับสารรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน และเข้าใจตัวตน Hyper-Personalization ที่เจาะจง และสร้าง Emotional Connection กับกลุ่มคนเดียวกัน
– วัฒนธรรมในท้องถิ่น (Sub-culture) ได้มีการพัฒนาจนเกิดเอกลักษณ์จากกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น และมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคในวงกว้าง เช่น หมอลำ หรือดนตรีบางประเภท ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ดังนั้นแบรนด์ที่ทำเรื่องนี้ จะได้รับความสนใจจากคนกลุ่มนี้
– การสร้างความเชื่อมั่น กับผู้บริโภคผ่านทาง KOL แบรนด์จะต้องเข้าใจและเข้าถึง Micro หรือ Niche Community มากขึ้น และไม่จำเป็นต้องเลือกคนที่ Mass แต่ควรจะเลือกบุคคลที่มี Impact ที่สามารถสร้างอิทธิพลให้คนสนใจ
4. Short n Bitter : คอนเทนต์สั้น กระชับ โดนใจ ครองโลกโซเชียลมีเดีย
– ผู้บริโภคมีสมาธิสั้นลงและมีเวลาจำกัดในการรับชมคอนเทนต์ แบรนด์ต้องสร้างคอนเทนต์ที่สั้น กระชับ โดนใจ และสามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคได้ตั้งแต่ต้น จึงเกิดเป็น Speed-up Culture การดูคอนเทนต์ออนไลน์ด้วยสปีดเร็วขึ้น (1.5 – 2X) นอกจากวิดีโอคอนเทนต์ วันนี้เริ่มขยายไปที่เพลง เป็นการฟังด้วยสปีดเร็วขึ้น
– เมื่อผู้บริโภคนิยมเร่งความเร็วในการรับชมคอนเทนต์ เพื่อประหยัดเวลา แบรนด์ต้องระมัดระวังในการสร้าง Short Content เพราะผู้บริโภคสามารถเร่งความเร็วในการรับชมได้อีก
– แต่อย่างไรก็ตาม “ความเร็ว” อาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ต้องคำนึงถึง เพราะผู้บริโภคยังเลือกรับชมคอนเทนต์ทีมีความยาวที่ตนเองสนใจ เห็นได้จากปัจจุบันคนดูวิดีโอ TikTok 1 นาทีขึ้นไปมีสัดส่วน 50% TikTok เพิ่มความยาวคอนเทนต์มากขึ้นเรื่อยๆ
– ข้อมูล YouTube บอกว่า 57% คนดูคอนเทน์ทั้ง Long & Short Contents โดย Gen Z 55% ยังดูคอนเทนต์ทั้ง Long & Short Contents การทำคอนเทนต์สั้นอาจไม่ใช่คำตอบเดียว ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแต่ละแบรนด์
– ดังนั้นแบรนด์ต้องคิดสร้างสรรค์และทำ Storytelling ที่น่าสนใจ อีกทั้งเลือกความยาวของคอนเทนต์ที่เหมาะสมกับแพลตฟอร์มและวัตถุประสงค์ทางการตลาด
คุณวรวิล สนเจริญ
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE