HomeBrand Move !!เจาะกลยุทธ์ “โรบินฮู้ด” กับภารกิจปั้น Robinhood Travel เพื่อเป็นมากกว่า Food Delivery

เจาะกลยุทธ์ “โรบินฮู้ด” กับภารกิจปั้น Robinhood Travel เพื่อเป็นมากกว่า Food Delivery

แชร์ :

คุณธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ และคุณสีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด

แม้จะก้าวเข้ามาสู่วงการ Food Delivery ได้เพียง 1 ปีกว่า แต่ “โรบินฮู้ด” หรือ “Robinhood” บริษัทในเครือ SCBX ก็นับเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์ม Food Delivery ที่อยู่รอดในสนามได้แบบสตรองท่ามกลางการแข่งขันดุเดือด ด้วยการชูจุดยืนแอปฯเพื่อคนตัวเล็ก และเข้ามา Disrupt วงการโดยไม่เก็บ GP (Gross Profit) หรือค่าบริการจากร้านอาหาร ส่งผลให้โรบินฮู้ดกลายเป็นแพลตฟอร์มสัญชาติไทยที่หลายคนรู้จัก และเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันมีฐานลูกค้ากว่า 2.3 ล้านราย และมีจำนวนรายการถึง 1.5 แสนครั้งต่อวัน มาวันนี้แพลตฟอร์มสัญชาติไทยรายนี้ กำลังขยับตัวเองไปอีกสเต็ป ด้วยการเปิด “Robinhood Travel” เพื่อพาตัวเองโบยบินสู่การเป็น Super App สัญชาติไทย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ได้เวลาขยายธุรกิจจาก Food Delivery สู่ Robinhood Travel

อุตสาหกรรมท่องเที่ยว นับเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมาก โดยก่อนโควิด-19 สร้างรายได้เป็นมูลค่าราว 3 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 20% ของ GDP แต่เมื่อโควิด-19 ระบาด ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนัก รายได้เกือบกลายเป็นศูนย์ และถึงแม้ตอนนี้จะคลายล็อกดาวน์ให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาได้ แต่ยังต้องใช้เวลากว่าตลาดจะกลับมาฟื้นตัว

“ภาพของโรงแรมเหมือนจะกลับมาฟื้นตัว แต่เมื่อดูจริงๆ ปีหน้าจะมีเฉพาะบางจังหวัดที่คนกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปถึง เช่น หัวหินและชะอำ ขณะที่ภูเก็ตยังไม่ฟื้นกลับมา เพราะว่าพึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติสูง โดยก่อนโควิดเราเคยมีนักท่องเที่ยวปีละ 40 ล้านคน แต่ปีที่แล้วเหลือนักท่องเที่ยวเพียง 100,000 คน ในปีหน้าคาดว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 10 ล้านคน สำหรับคนจีนยังไม่มาแน่นอน ดังนั้นจึงมีหลายโรงแรมที่ยัง Suffer”

คุณธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ฉายภาพสถานการณ์ตลาดท่องเที่ยวไทยที่เกิดขึ้น ทั้งยังบอกด้วยว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่พึ่งพาแพลตฟอร์มสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแพลตฟอร์มต่างชาติ และผู้ประกอบการโรงแรมต้องจ่ายค่าคอมมิชชันในการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์กว่า 15-30% โดยเฉพาะรายเล็กจะเสียค่าคอมมิชชันสูงกว่ารายใหญ่ เมื่อประกอบกับการทำฟู้ด เดลิเวอรี่ ทำให้มีฐานลูกค้าระดับหนึ่งที่สามารถต่อยอดไปยังบริการใหม่ๆ ได้ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้โรบินฮู้ดเข้ามาทำแพลตฟอร์มการท่องเที่ยว

OTA สัญชาติไทย ไม่เก็บค่าคอมมิชชัน

แม้ตลาดท่องเที่ยวในบ้านเราจะหอมหวาน โดยผลการสำรวจพบว่า ก่อนโควิด-19 ในประเทศไทยมีที่พักขนาดกลางและขนาดเล็กกว่า 50,000 โรงแรม คิดเป็นจำนวนห้องประมาณ 788,000 ห้อง และมีการจองห้องพักผ่าน OTA เป็นสัดส่วน 50% หรือประมาณ 45,000 ล้านบาท โดยมีคนไทยจองห้องพักผ่าน OTA ประมาณ 18,000 ล้านบาท แต่ต้องไม่ลืมว่าการเป็นผู้ท้าชิงในตลาดนี้ ไม่ใช่งานง่ายของโรบินฮู้ดเพราะมีแบรนด์ยักษ์ใหญ่ OTA ต่างชาติครองส่วนแบ่งตลาดเกินครึ่ง โดยเบอร์ 1 มีส่วนแบ่งตลาด 40% ส่วนเบอร์ 2 มีส่วนแบ่งตลาด 31%

“เราไม่ได้ต้องการเอาชนะแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ และไม่คิดจะขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาด OTA แทนผู้เล่นต่างชาติรายเดิม แต่เราต้องการทำตัวเป็น Disrupter ให้กับธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อให้โรงแรมขนาดเล็กสามารถอยู่ได้ รวมถึงอยากให้เกิดบทสทนาเหมือนฟู้ด เดลิเวอรี่ที่ภาครัฐพูดถึงเรื่อง GP เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ท่ามกลางสภาวะ New normal และรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่กลับมา” คุณธนา บอกถึงเป้าหมายของ Robinhood Travel

โดยกลยุทธ์สำคัญที่ Robinhood Travel จะนำมาใช้สู้กับยักษ์ใหญ่ในตลาด คุณสีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด บอกว่า สิ่งแรกจะเป็นเรื่องจุดเด่นของการไม่เก็บค่าคอมมิชชัน หรือ Zero Commission กับผู้ประกอบการโรงแรมในการใช้บริการแพลตฟอร์ม รวมถึงการได้รับเงินค่าห้องรวดเร็วขึ้นภายใน 1 ชั่วโมง หลังจากลูกค้า Check in ซึ่งจะช่วยให้โรงแรมมีเงินหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ โรงแรมยังสามารถจะเล่น Pricing หรือทำโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาจองที่พักได้มากขึ้น

เมื่อไม่เก็บค่าคอมมิชชัน คุณธนา บอกว่า ในส่วนรายได้จากโรงแรมจึงยังไม่มี แต่ Robinhood Travel จะมีรูปแบบการหารายได้ทางอ้อมจากสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น การจองตั๋วเครื่องบิน รถเช่า และบริการทัวร์ต่างๆ โดยในช่วงแรกจะเน้นการท่องเที่ยวในประเทศก่อน ตอนนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับผู้ประกอบการโรงแรมในการเข้าร่วมบริการ ตั้งเป้ามีโรงแรมเข้าร่วมกว่า 30,000 แห่ง และจะเปิดให้บริการจองโรงแรมที่พักในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จากนั้นจะขยายสู่บริการจองตั๋วเครื่องบิน ทัวร์ และรถเช่าในช่วงเดือนเมษายน

โดยในปีแรก Robinhood Travel คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจองผ่านแพลตฟอร์มกว่า 200,000 ราย และมีทริปเกิดขึ้นจากแพลตฟอร์มกว่า 300,000 ทริป ขณะที่รายได้อาจจะไม่มาก เพราะอยู่ในช่วงของการสร้างตลาด อีกทั้งตลาดท่องเที่ยวในปีหน้าอาจจะยังไม่กลับมาเต็มรูปแบบ

“ถ้าเทียบกับฟู้ด เดลิเวอรี่ เราขาดทุนไม่มาก หรือแทบจะไม่ค่อยขาดทุน เพราะทุกครั้งที่สั่งอาหารเราต้อง Subsidize ไม่เช่นนั้นเราสู้คู่แข่งไม่ได้ แต่ในการทำโรงแรมมีแค่ค่าการตลาด ดังนั้น การทำแพลตฟอร์มท่องเที่ยว รายได้อาจจะไม่มาก แต่ไม่ได้เข้าเนื้อมาก และก็จะทำให้แพลตฟอร์มเราใหญ่ขึ้น”

ตั้งเป้าขยับสู่ Super App สัญชาติไทย

สำหรับแผนในอนาคต คุณสีหนาถ บอกว่า Robinhood ยังมีแผนจะเปิดให้บริการสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้า หรือ Mart Service และบริการรับส่งของ หรือ Express Service ประมาณไตรมาส 2 ปี 2565 เพื่อที่จะพา Robinhood โบยบินสู่การเป็น Super App ต่อไป

“การจะเป็น Super App คือการมีลูกค้าจำนวนหนึ่งที่เป็นฐานใหญ่พอสมควร และลูกค้าเข้ามาใช้บริการหลากหลาย (Multi-Purpose) รวมถึงต้องมี Active User และลูกค้าแต่ละคนต้องใช้บริการมากกว่า 1 อย่าง ยกตัวอย่างถ้ามีลูกค้าใช้บริการฟู้ด เดลิเวอรี่จำนวนมาก ขณะที่แพลตฟอร์มท่องเที่ยวมีคนจองห้องพักวันละห้อง เราก็ไม่เรียกว่าเป็น Super App โดยจะเริ่มจากการรวมบริการฟู้ด เดลิเวอรี่ และท่องเที่ยวเข้ามาในแอป และจะเปิดให้ลูกค้าดาวน์โหลดแอปฯ ใหม่ในเดือนมกราคม 2565นี้ ก่อนจะเปิดตัวบริการใหม่ๆ ต่อไป และอนาคตเมื่อมีฐานลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น ก็จะทำให้มีนักลงทุนเข้ามา Raise Fund ใน Robinhood โดยมีแผนที่จะระดมทุนในระดับ Series A ประมาณกลางปีหน้า” คุณธนาย้ำท้าย


แชร์ :

You may also like