HomeBrand Move !!Quick Commerce คืออะไร และทำไม Retail Business ถึงเป็นโอกาสใหม่สำหรับ Foodpanda

Quick Commerce คืออะไร และทำไม Retail Business ถึงเป็นโอกาสใหม่สำหรับ Foodpanda

แชร์ :

ต้องยอมรับว่า ธุรกิจสั่งซื้อและจัดส่งอาหารออนไลน์ของประเทศไทย เป็นตลาดที่มีผู้เล่นรายใหญ่ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก โดยสิ่งที่ทุกรายมีอยู่ในมือ “เหมือน ๆ กัน” อาจเป็นเรื่องของพาร์ทเนอร์คนขับ และร้านอาหาร แต่เมื่อการแข่งขันเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ การมีแค่พาร์ทเนอร์คนขับและร้านอาหารก็อาจไม่เพียงพอที่จะสร้างการเติบโตได้อีกแล้วก็เป็นได้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ด้วยเหตุนี้ จึงเริ่มมีผู้เล่นบางรายฉีกตัวออกมามองหาตลาดใหม่เพิ่มเติม เห็นได้จากการที่ FoodPanda  ปรับพื้นที่ย่านลาดพร้าว และอีกหลาย ๆ แห่งทั่วกรุงเทพฯ ให้กลายเป็น “แพนด้ามาร์ท” (Pandamart) สำหรับรุกธุรกิจจัดส่งสินค้าอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะ

ซึ่งที่มาของ Pandamart นี้ คุณโทมัส บูซัน ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ FoodPanda ประเทศไทย บอกว่า มาจากอินไซต์ของทางแพลตฟอร์มที่พบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคในยุค New Normal มีการเปลี่ยนแปลงไป นั่นคือไม่ได้ต้องการสั่งอาหารเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการสั่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันด้วย ซึ่ง FoodPanda มองว่ามันกำลังนำไปสู่ธุรกิจใหม่ที่เน้นความสะดวกสบายและความรวดเร็ว หรือที่ทางบริษัทตั้งชื่อให้ว่า Quick Commerce นั่นเอง

เปิดสโตร์ Pandamart รับธุรกิจ Quick Commerce

โดยการจัดพื้นที่ภายใน Pandamart ย่านลาดพร้าวที่ทีมงาน Brandbuffet มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมเยือนนั้นพบว่า เป็นอาคารติดแอร์ขนาด 300 ตารางเมตรที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง (มี Wi-Fi คลุมทั้งอาคาร) ภายในบรรจุสินค้าต่าง ๆ เอาไว้มากถึง 2,500 รายการ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องดื่ม, ขนมขบเคี้ยว, อาหารแช่แข็ง, น้ำแข็ง, ไอศกรีม, ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม, ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและซักรีด หรือแม้แต่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ซึ่งทั้งหมดนี้ ดูแลด้วยระบบบริหารจัดการคลังสินค้าไม่ต่างจากคลังสินค้าชั้นนำอื่น ๆ

พนักงานจะมีอุปกรณ์ Handheld สำหรับสแกนบาร์โค้ดสินค้า เพื่อความถูกต้องก่อนจัดส่ง

เมื่อมีออเดอร์สินค้าเข้ามา ออเดอร์จะถูกส่งไปที่พนักงาน พร้อมบอกข้อมูลให้ทราบว่า สินค้าแต่ละรายการนั้นอยู่ที่ชั้นวางเลขที่เท่าไรเพื่อความรวดเร็วในการหยิบ นอกจากนั้น ตัวระบบยังใส่รูปมาให้ด้วย เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าพนักงานจะไม่หยิบผิด เมื่อหยิบสินค้าทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำไปแพ็ก และส่งให้พาร์ทเนอร์คนขับนำไปจัดส่งให้ลูกค้าต่อไป ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ มีเวลากำกับตลอด เพื่อให้สามารถจัดส่งได้ทันภายใน 20 นาที

แต่นอกจากจะมี Pandamart แล้ว ทางแพลตฟอร์มยังมีการจับมือกับร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งรายเล็กและรายใหญ่ อย่าง ซีพี เฟรชมาร์ท กูร์เมต์มาร์เก็ต เทสโก้โลตัส ลอว์สัน บิวตี้ บัฟเฟต์ และอื่น ๆ อีกมากมายกว่า 2,700 แห่ง ให้สามารถกดสั่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้แบบไม่คิดค่าจัดส่งด้วยเช่นกัน

ส่วนรูปแบบการทำงานก็จะไม่ต่างกันเท่าไรนัก โดยทาง Foodpanda จะจัดส่งทีมงานไปประจำที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเหล่านั้น และเมื่อมีออเดอร์เข้ามา ทีมงานก็จะหยิบสินค้ามาแพ็ก และส่งให้พาร์ทเนอร์คนขับจัดส่งต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้ ผู้ซื้อสามารถกดสั่งได้จากในแอปพลิเคชัน (อยู่ในเมนู Shops) และถ้าสั่งขั้นต่ำ 50 บาทขึ้นไป ก็จะไม่มีการคิดค่าจัดส่งด้วย

Pick – Pack – Delivery ภายใน 20 นาที ทำดีมีโอกาสโต?

คุณจักรินทร์ สะสินิน ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการแพนด้ามาร์ท ของ Foodpanda (ประเทศไทย) เผยว่า ปัจจุบัน Pandamart เปิดให้บริการในกรุงเทพฯ ครอบคลุมแล้วใน 7 พื้นที่ ได้แก่ ลาดพร้าว วัฒนา สาธร สุทธิสาร งามวงศ์วาน บางนา และธนบุรี ซึ่งบริษัทตั้งเป้าจะขยายสโตร์ Pandamart ให้ทั่วกรุงเทพฯ และขยายไปตามหัวเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ หรือภูเก็ต ภายในสิ้นปีนี้ด้วย

บรรยากาศภายใน Pandamart

ปัจจุบัน Foodpanda มีออเดอร์สั่งสินค้าอุปโภคบริโภคเข้ามาเฉลี่ย 400 ออเดอร์ต่อวัน มูลค่าต่อการสั่งหนึ่งครั้งอยู่ที่ 300 บาทขึ้นไป ซึ่งรายได้ของบริษัทจากธุรกิจดังกล่าวมาจาก 2 ช่องทาง ช่องทางแรกคือค่าคอมมิชชั่นที่ได้รับจากซูเปอร์มาร์เก็ตรายต่าง ๆ และช่องทางที่ 2 คือส่วนต่างจากการซื้อในปริมาณมาก ๆ แล้วนำมาขายปลีก ซึ่งคุณจักรินทร์มองว่า ธุรกิจนี้มีแนวโน้มเติบโตสูงมากในอนาคต เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ในแง่ของความสะดวกรวดเร็ว อีกทั้งยังเหมาะกับครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ หรือมีเด็กเล็กด้วย

คุณโทมัส บูซัน (ซ้าย) และคุณจักรินทร์ สะสินิน

สำหรับ Pandamart ได้มีการเปิดให้บริการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว 12 ประเทศ โดยประเทศแรกที่เปิดคือสิงคโปร์ ขณะที่บริการของ Foodpanda นั้นปัจจุบันมีมากกว่า 300 เมืองใน 12 ตลาดของเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไทย มาเลเซีย ปากีสถาน ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ ลาว กัมพูชา พม่า และญี่ปุ่น โดยมีบริษัทแม่เป็นบริษัทสัญชาติเยอรมันชื่อ Delivery Hero ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเบอร์ลินนั่นเอง

 


แชร์ :

You may also like