HomeBrand Move !!โควิดทำตกงาน 3.5 ล้านคน ธุรกิจรัดเข็มขัด ประกาศไม่ขึ้นเงินเดือน-งดโบนัสยาวปีหน้า

โควิดทำตกงาน 3.5 ล้านคน ธุรกิจรัดเข็มขัด ประกาศไม่ขึ้นเงินเดือน-งดโบนัสยาวปีหน้า

แชร์ :

สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม ถึงวันนี้กว่า 5 เดือนแล้ว หลายธุรกิจยังคงได้รับผลกระทบต่อไป การจ้างงานในประเทศไทยจำนวน 37-38 ล้านคน อุตสาหกรรมที่ถูกสั่งให้ปิดกิจการช่วง Lockdown เลิกจ้างงานทันที 9% เพราะขาดรายได้ ทำคนตกงานไปแล้วกว่า 3.5 ล้านคน แต่สัญญาณบวกจ้างงานเดือนพฤษภาคมเริ่มฟื้น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โควิดถือเป็นสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบแตกต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 ชัดเจน ครั้งนั้น องค์กรที่ได้รับผลกระทบคือ ขนาดใหญ่ มีเงินกู้จากต่างประเทศ  ส่วนโควิดครั้งนี้ สร้างผลกระทบกับทุกองค์กร ทุกอุตสาหกรรม บริษัทขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ สาหัสเหมือนกันหมด

บริษัทขนาดเล็ก ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า เพราะขาดรายได้และเงินหมุนเวียนทางธุรกิจหยุดชะงัก ส่วนองค์กรขนาดใหญ่อาจมีสายป่านที่ยาวกว่า ขณะที่ “คนทำงาน” สถานการณ์โควิดกระทบทั้งหมดไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มเล็ก กลาง ใหญ่ หลายหน่วยงานออกมาประเมินว่าโควิด จะทำให้คนไทยตกงาน 3-8 ล้านคน ถือเป็นตัวเลขสูงมาก

แรงงานถูกเลิกจ้างแล้ว 3.5 ล้านคน

จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) เปิดผลสำรวจผู้ประกอบการและคนทำงาน ถึงผลกระทบการระบาดของไวรัสโควิด-19 ครอบคลุมคนทำงานกว่า 1,400 คน และผู้ประกอบการกว่า 400 ราย คน ช่วงวันที่ 14-30 พฤษภาคม 2563

คุณพรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด  กล่าวว่าการสำรวจพบว่า 25% ของคนทำงานได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด   โดยมี 9% ถูกเลิกจ้าง หรือจำนวน 3.5 ล้านคน ในช่วงที่ธุรกิจถูก Lockdown  สัดส่วน 16% ถูกหยุดงานชั่วคราวแต่ยังคงสถานะการจ้างงานไว้

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด มีหลายปัจจัย ดังนี้ คนที่มีเงินเดือนน้อยกว่า 16,000 บาทต่อเดือน, ลักษณะงานไม่ใช่พนักงานประจำ เป็นสัญญาจ้าง, อยู่ในองค์กรขนาดเล็กพนักงานน้อยกว่า 50 คน, คนทำงานอายุ 45 ปีขึ้นไป

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อย คือ คนทำงานเงินเดือนมากกว่า 30,000 บาทต่อเดือน, เป็นพนักงานประจำ, อยู่ในองค์กรขนาดใหญ่ 51-500 คน, อายุ 25-31 ปี

พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์

รัดเข็มขัดไม่ขึ้นเงินเดือน-งดโบนัสถึงปีหน้า

ช่วงโควิด พนักงานกว่า 50% บอกว่าต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) กว่า 45% ได้รับผลกระทบรายได้ลดลงจากหลายด้าน คือ ไม่ได้รับโบนัส 27% เพราะบริษัทต้องการดูแลต้นทุน, ไม่ได้ปรับเงินเดือน 20%  และ ถูกลดเงินเดือน 14%  ตั้งแต่ 11-30%  ของรายได้

การปรับตัวของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด พบว่า 47% ปรับนโยบายการจ้างงาน  แบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ ไม่รับพนักงานใหม่ 39%  และลดจำนวนพนักงาน 12%

แม้ภาครัฐได้ผ่อนปรนมาตรการ Lockdown เปิดให้ธุรกิจต่างๆ เกือบทุกประเภทเปิดดำเนินการได้ปกติแล้ว แต่ทุกอุตสาหกรรมยังต้องรัดเข็มขัด ดูแลต้นทุน และประกาศชัดว่าจะไม่ปรับขึ้นเงินเดือน และไม่แจกโบนัสถึงสิ้นปีนี้หรือปีหน้า  เพราะกลัวว่าจะเกิดสถานการณ์ระบาดซ้ำ (Second Wave)  ทำให้ภาครัฐต้องประกาศ Lockdown อีกครั้ง ผู้ประกอบการมองว่าสถานการณ์จะดีขึ้นต่อเมื่อมีวัคซีนป้องกันโรค

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ ดัชนีความสุขในการทำงาน ก่อนโควิดอยู่ 85%  แต่หลังโควิดอยู่ที่ 59%  ขณะที่คนไม่มีความสุขในการทำงานเพิ่มขึ้น 3 เท่า  ซึ่งก็มาจากรูปแบบการทำงานที่บ้าน โดยเกือบ 50% บอกว่าชั่วโมงการทำงานแต่ละวันมากขึ้น เพราะบริษัทเห็นว่าไม่ต้องเดินทางมาออฟฟิศ หลายองค์กรจึงคาดหวังการทำงานแต่ละโปรเจกต์ให้เสร็จเรียบร้อยในแต่ละวัน ไม่ต้องรอวันถัดไป นอกจากนี้  20% หรือ 1 ใน 4 บอกว่าได้รับแรงกดดันจากหัวหน้างาน จากองค์กรในเรื่อง Productivity ที่ต้องมากขึ้น

พบว่าพนักงานในสายงานโฆษณา งานประชาสัมพันธ์ รวมถึงสายงานการตลาดดิจิทัล งานอี-คอมเมิร์ซ และงานโซเชียลมีเดีย เป็นกลุ่มสายงานที่ทำงานต่อวันเป็นระยะเวลานานขึ้นเมื่อต้องทำงานอยู่ที่บ้านอีกด้วย

เดือน พ.ค.สัญญาณจ้างงานฟื้น

นับตั้งแต่เกิดโควิด พบว่าเดือนเมษายน ยอดประกาศหางานทั้งตลาดลดลง 35% แต่หากเปรียบเทียบข้อมูลเดือนพฤษภาคม 2563 กับช่วงเดียวกันปี  2562 มีการค้นหางานเพิ่มขึ้น 77 ล้านครั้ง และหากเทียบกับ 3 เดือนก่อนเพิ่มขึ้น 26%

นอกจากนี้มีการค้นหาคำแนะนำเรื่องงาน 4 ล้านครั้ง เทียบกับ 3 เดือนก่อน เพิ่มขึ้น 10%  และมีคนเสิร์ช JobsDB เพิ่มขึ้นเท่าตัว สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการหางานในช่วงนี้

พบว่าการหางานในช่วงโควิด เป็นรูปแบบที่สามารถทำงานได้จากที่บ้าน โดย 36% ค้นหาคำว่า ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งมากขึ้น, 20%  ค้นหาคำว่า กราฟฟิค ดีไซเนอร์, 15% หางานเกี่ยวกับการใช้ภาษา  และ 12%  งาน IT  เช่น ไอที โปรเจกต์ แมเนเจอร์, ซีเนียร์ อินฟราสตรัคเจอร์, เว็บและแอป ดีเวลลอปเปอร์

ครึ่งปีหลัง 2563 หลังมาตรการปลดล็อกดาวน์ธุรกิจทุกประเภทแล้ว ผู้ประกอบการเชื่อมั่นในการจ้างงานมากขึ้น โดยบอกว่าอีก 6 เดือนหลังจากนี้ จะจ้างงาน 88%  ผู้ประกอบการ 33%  บอกว่าจะจ้างงานจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดก่อน เพื่อช่วยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว

“เด็กจบใหม่”ตลาดจ้างงานก่อน 

ปีนี้มีเด็กจบใหม่ (New Entry) เข้าสู่ตลาดแรงงาน 520,000 คน ปกติทุกปีเด็กจบใหม่ 20-30% ไม่สามารถหางานได้ในปีที่จบการศึกษา ช่วงโควิดจะมีตัวเลขที่สูงกว่าปกติ แต่สัญญาณการฟื้นตัวของตลาดจ้างงานในเดือนพฤษภาคม พบว่าผู้ประกอบการกว่า 53% มีแนวโน้มที่จะว่าจ้างเด็กจบใหม่ เพื่อทำงานในตำแหน่งระดับพนักงานทั่วไป และกลุ่มที่มีประสบการณ์ 1-3 ปี

ผู้ประกอบการมีแนวโน้มจ้างงานมากที่สุดใน 5 สายงาน ใน 6 เดือนข้างหน้า ได้แก่ 1.งานไอที 2.งานการตลาด/งานประชาสัมพันธ์ 3.งานขาย/งานบริการลูกค้า/งานพัฒนาธุรกิจ 4.งานต้อนรับ/งานในร้านอาหารและบริการเครื่องดื่ม และ 5.งานจัดซื้อ

ปกติสายงานไอที ไม่ว่าสถานการณ์ใด เป็นสายงานอันดับ 1 มาตลอด เป็นเทรนด์ต่อเนื่องมาหลายปี รวมทั้งในช่วงโควิด โดยงานไอที ที่ต้องงานมากอันดับต้นๆ  คือ อีคอมเมิร์ซ, ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง, และพัฒนาเทคโนโลยี เป็นอาชีพงานที่มีดีมานด์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องแต่ซัพพลายไม่พอ

ส่วนงานการตลาดและขาย เกิดขึ้นหลังจากปลดล็อกดาวน์ ธุรกิจต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดปกติ เป็นสัญญาณว่าเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวก็จะมีการค้าขายมากขึ้น

ด้านบริการมาจากดีมานด์ในกลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม บริการ F&B เริ่มกลับมาหลังรัฐบาลผ่อนปรนมาตรการต่างๆ  คนไทยเริ่มออกมาท่องเที่ยวในประเทศ โรงแรมจึงกลับมาจ้างงานอีกครั้ง

หลังจากผ่านช่วงวิกฤติโควิดมาแล้ว สิ่งที่องค์กรต่างๆ ต้องฟื้นฟู คือ การสร้างความเชื่อมั่นในการทำงาน ยุค New Normal ส่งเสริมความสมดุลของชีวิตและการทำงาน เพื่อลดความรู้สึกไม่มั่นคงในการทำงานที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like