HomeBrand Move !!คุยกับนักการตลาด ธุรกิจควรสื่อสารอย่างไร เมื่อต้อง “ขาย” ท่ามกลางความหวาดกลัว

คุยกับนักการตลาด ธุรกิจควรสื่อสารอย่างไร เมื่อต้อง “ขาย” ท่ามกลางความหวาดกลัว

แชร์ :

หาก “การตลาดคือผู้คน” สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่ WHO ได้ยกระดับให้เป็น Pandemic หรือการแพร่ระบาดในระดับโลกอาจเป็นอีกหนึ่งบททดสอบนักการตลาดรวมถึงเจ้าของธุรกิจกันอีกครั้งว่าจะรับมือกับความตื่นตระหนกที่กำลังแพร่กระจายไปในวงกว้างกันอย่างไร และมีวิธีใดบ้างที่จะทำให้ยอดขายสินค้าของตนเองคึกคักเหมือนกับกลุ่มข้าวสารอาหารแห้งที่คนไทยแห่กักตุน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยในมุมของคุณนันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว นักการตลาดและซีอีโอของบริษัท Nawin Consultant ได้ให้ทัศนะต่อสถานการณ์ดังกล่าวไว้ในอย่างน่าสนใจว่า “การตลาดเวลานี้ไม่ใช่เวลาของการนั่งสร้างแบรนด์ เพราะตอนนี้ สิ่งที่เราเห็นคือผู้ประกอบการ SME จำนวนมากมีสินค้าอยู่ในโกดังหลายหมื่นชิ้น และต้องการขายของให้ได้ ดังนั้น การสื่อสารจากแบรนด์ในภาวะที่เต็มไปความกลัว หรือสถานการณ์ของเศรษฐกิจขาลงจึงต้องละเอียดอ่อน และเลือกช่องทางให้เหมาะสม”

หรือในส่วนของสินค้าเอง คุณนันทวัฒน์มองว่า ในกรณีที่เจ้าของธุรกิจมีการศึกษาลูกค้ามาอย่างดีจะมีโอกาสพบว่า ยังมีจุดไหนที่ลูกค้าไม่ได้รับการดูแล และถ้าสามารถปรับให้สินค้าของตนเองดีขึ้น ถูกลง ใช้ง่ายขึ้น ฯลฯ เพื่อให้เข้าไปตอบโจทย์ความต้องการนั้น ๆ ได้ ก็สามารถเพิ่มยอดขายแม้ในภาวะวิกฤติได้เช่นกัน

ยอมรับว่าหนักแต่ไม่ใช่ว่าไม่มีโอกาส

“ยอมรับว่าหนักสุดเท่าที่เคยเจอมา แต่สิ่งที่ธุรกิจต้องทำในภาวะเศรษฐกิจขาลง คือต้องละเอียดอ่อน และคิดเยอะ ๆ ว่าสิ่งที่เราทำมานั้น ในตลาดมีคนทำแล้วหรือยัง ถ้ามีคนทำแล้ว คุณจะทำออกมาแล้วขายได้ดีเพราะอะไร เพราะคุณควบคุมต้นทุนได้ดีกว่าหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ ต้องทบทวนอีกหลาย ๆ รอบ เพราะการสร้างสินค้า Me too ขึ้นมาแล้วมาสร้างภาพให้ดาราถือ มันไม่ใช่ Competitive Advantage อีกต่อไปแล้ว แถมตอนนี้ธนาคารคงไม่ปล่อยกู้ง่าย ๆ อีก ดังนั้น ธุรกิจต้องมีการทำวิจัยที่ดี ว่ายังมีจุดไหนที่จะเข้าไปตอบสนองผู้บริโภคได้บ้าง ซึ่งจะนำไปสู่ความชัดเจนว่าสินค้าหรือบริการที่จะผลิตออกมานั้นคืออะไร”

คุณนันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว

ทั้งนี้ ข้อควรระวังในภาวะวิกฤติก็คือ ผู้คนจะเริ่มใช้เหตุผลในการซื้อของมากขึ้น ดังนั้น การสื่อสารแบรนด์จึงต้องปรับเปลี่ยนเป็นว่าสินค้านี้คุ้มค่า คุ้มราคา เป็นของดี หรือมีเหตุผลรองรับว่า ทำไมต้องซื้อกับเรา ส่วนรูปแบบการสื่อสารที่อาจทำแล้วไม่เห็นผลในช่วงนี้คือภาพยนตร์โฆษณาเพื่อการสร้างแบรนด์ เนื่องจากเจ้าของธุรกิจตระหนักแล้วว่ายังมีอีกหลายเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพไม่แพ้กัน และธุรกิจสามารถใช้งานได้ในราคาที่ประหยัดกว่า เช่น การจ้างอินฟลูเอนเซอร์มาช่วยรีวิวสินค้า

“จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ ภาพยนตร์โฆษณาที่ทำเพื่อการสร้างแบรนด์ลดน้อยลงไป จากเดิมที่เคยสร้างแบรนด์กันเต็มไปหมด ยุคที่เศรษฐกิจมีความฝืดเคือง คนไม่สามารถใช้จ่ายได้แบบในอดีต โฆษณาจึงต้องเปลี่ยนเป็นการบอกว่าสินค้านี้คุ้มค่า คุ้มราคา เป็นของดี จึงจะนำไปสู่ยอดขายได้นั่นเอง”

“ส่วนธุรกิจใครที่โดน Disrupt แล้วก็อย่าฝืน พยายามศึกษา ลองนับหนึ่งใหม่ เริ่มจากเล็ก ๆ ก่อนก็ได้ เพราะสุดท้าย ในทุกวิกฤติมันจะเกิดธุรกิจใหม่ตามมาเสมอ เช่นเดียวกับสถานการณ์วันนี้ที่พอผ่านไปอีกสัก 5 ปี อาจจะมีมหาเศรษฐีใหม่ที่มาบอกเล่าว่า เขาประสบความสำเร็จได้อย่างไรตอนที่ Covid-19 ระบาด ซึ่งคนที่จะไปสู่จุดนั้นได้คือ คนที่ช่างสังเกต คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ว่าจะส่งมอบอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าได้ในสถานการณ์ดังกล่าวนั่นเอง” คุณนันทวัฒน์กล่าวปิดท้าย


แชร์ :

You may also like