HomeBrand Move !!เปิดเบื้องหลัง “วัดร่องขุ่น Light Fest” ของ 2 ศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปะต่างขั้ว “เกรียงไกร-เฉลิมชัย”

เปิดเบื้องหลัง “วัดร่องขุ่น Light Fest” ของ 2 ศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปะต่างขั้ว “เกรียงไกร-เฉลิมชัย”

แชร์ :

อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ และคุณเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน)

จากสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง “วัดร่องขุ่น” สถาปัตยกรรมพุทธศิลป์ระดับโลก ผลงานสร้างสรรค์ของ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ถูกเนรมิตให้เป็น “วัดร่องขุ่น Light Fest” งานแสดงโชว์เทคนิคมัลติมีเดียระดับเวิลด์คลาส ยามค่ำคืนเป็นครั้งแรก ด้วยไอเดียสร้างสรรค์ของเจ้าพ่ออีเวนท์ “เกรียงไกร กาญจนะโภคิน” ตามดูเบื้องหลังเส้นทางของ 2 ศิลปิน ต่างขั้วกับภารกิจปั้น “บิ๊กอีเวนท์” หนุนท่องเที่ยวเชียงราย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เปิดเบื้องหลังดีล 2 ศิลปินต่างขั้ว 

ต้องจัดให้เป็นหนึ่งในบิ๊กอีเวนท์ สร้าง Attraction ใหม่ให้กับจังหวัดเชียงราย ในปีที่ผ่านมากับ “การแสดงสด” (Live Performance) วัดร่องขุ่น Light Fest”  จากผลงานความร่วมมือของ 2 ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะต่างขั้ว

คนหนึ่งเป็นผู้สร้างงานพุทธศิลป์สุดยิ่งใหญ่ “อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรผู้สร้างสรรค์งานศิลปะแนวพุทธศิลป์มีชื่อเสียงระดับโลก ทั้งผลงานภาพวาดและผู้สร้าง “วัดร่องขุ่น” จังหวัดเชียงราย

ส่วนอีกคนหนึ่งใช้ความถนัดด้านครีเอทีฟ สร้างชื่อสายอีเวนท์ “คุณเกรียงไกร กาญจนะโภคิน” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) บริษัทอีเวนท์อันดับ 7 ของโลก ที่สร้างสรรค์และพัฒนาโปรเจกต์ระดับเวิลด์คลาสมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Thailand Pavilion ใน World Expo งานที่ถือเป็น 1 ใน 3 งานใหญ่ของโลก

คุณเกรียงไกร  เล่าว่าแนวคิดการจัดงานโชว์แสงสีเสียง Light Fest เป็นไอเดียที่คิดอยู่ในใจ เพียงแต่ยังไม่มีโอกาสเหมาะสม หลังจากเดินทางท่องเที่ยวและมองหาโอกาสใหม่ๆ ในหลายสถานที่ รวมทั้ง จังหวัดเชียงราย ที่แวะเวียนมาหลายครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

เช้าวันหนึ่งในเดือน ก.ค. 2561 ได้มีโอกาสมาที่วัดร่องขุ่น และเข้าพบกับอาจารย์เฉลิมชัย เห็นว่าสถานที่เหมาะกับการจัด Light Fest จึงนำแนวคิดดังกล่าวเสนออาจารย์เฉลิมชัย ด้วยเป้าหมายต้องการจัดบิ๊กอีเวนท์ดึงดูด “นักท่องเที่ยว” ที่เดินทางมาชมความสวยงามของวัดร่องขุ่นในช่วงกลางวัน  มาดูการแสดงในช่วงกลางคืน  ซึ่งจะใช้เวลาอยู่ในจังหวัดเชียงรายนานขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เพราะคนที่มาเชียงราย มักใช้เป็นจุดแวะท่องเที่ยว ไม่ได้พักค้างคืน

การเสนอไอเดียจัด Light Fest กับอาจารย์เฉลิมชัย ใช้เวลาไม่นานในการตัดสินใจ เพราะก็มีตัวเลือกแค่ “ทำ หรือ ไม่ทำ”  เมื่อได้รับคำตอบว่า “ทำ”  ที่เป็น “สัญญาใจ” ระหว่างกัน เพราะกว่าจะเริ่มโปรเจกต์ก็กินเวลาอีกนานนับปีด้วยอาจารย์ติดภารกิจงานศิลปะปั้น “จ่าแซม” จากเหตุการณ์ช่วยชีวิต “หมูป่า”

ปั้นอีเวนท์ Light Fest ยามค่ำคืน

เมื่อได้เวลาเริ่มงานทั้งสองร่วมกันคิดบิ๊กอีเวนท์นี้ไว้หลากหลายรูปแบบ แต่สุดท้ายได้เลือกคอนเซปต์ The Illumination of White Temple เป็นการนำงานศิลปะมาผสมผสานกับเทคนิคมัลติมีเดียสากล โดยนำเลเซอร์มากกว่า 100 ตัวมาใช้ พร้อมเทคนิคการสร้างภาพในรูปแบบ 3D ที่เห็นชัดได้ด้วยตาเปล่า ร่วมกับการใช้เทคนิคการจำลองเสมือนจริง Virtual Reality (VR) นำเสนอในมุมภาพแบบ 360 องศา เพื่อสร้างจินตนาการให้กับผู้ชม

อีกทั้งยังเพิ่มประสบการณ์ใหม่ในการชม Light Fest ยามค่ำคืน โดยแบ่งการแสดงออกเป็น 6 จุด ได้แก่ 1. หนทางสู่สรวงสวรรค์ (THE WAY TO HEAVEN) 2. ปากพญามาร-ขุมนรก (THE SINS) 3. บ่อน้ำอธิษฐานจิต (ASTROLOGY) 4. ต้นโพธิ์แห่งการตรัสรู้ (ENLIGHTENING) 5. สังสารวัฏ (CIRCLE OF LIFE) ซึ่งผู้ชมจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับโชว์ โดยการเดินเข้าไปชมการแสดงแสงสีในแต่ละจุดแสดง โดยจะใช้ระยะเวลาในการรับชมจุดละ 2-3 นาที

ก่อนจะเข้าสู่จุดสุดท้าย 6. ปฐมบทแห่งวัดร่องขุ่น (WAT RONG KHUN BEGINS) ณ หอพระพิฆเนศ ซึ่งเป็นไฮไลท์สำคัญ เพราะเป็นช่วงละครเวทีประกอบจินตภาพผ่านม่านน้ำ ที่เล่าเรื่องราวการเดินทางต่อสู้โชคชะตา อุปสรรค และความเชื่อของ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ กว่าจะมาเป็นศิลปินแห่งชาติที่ทั่วโลกรู้จักในวันนี้ ในความยาวประมาณ 30 นาที

“เราคิดว่าหากจัดงาน Light Fest อย่างในต่างประเทศ ที่ให้ผู้ชมยืนดูงานศิลปะเฉยๆ ไม่มีเพลงประกอบ ผู้ชมคนไทยอาจจะรู้สึกว่าไม่เต็มอิ่ม จึงนำละครเวทีเข้ามาผสมผสานด้วย โดยสื่อสารในเนื้อเรื่องที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน เพื่อให้ถูกจริตกับคนไทยที่ชื่นชอบเสพเรื่องราว มีดราม่า ในขณะเดียวที่นักท่องเที่ยวต่างชาติก็สามารถเข้าใจเนื้อเรื่องได้ แม้จะไม่รู้ภาษาไทย” คุณเกรียงไกร กล่าว

หลังจากที่เปิดการทำแสดงได้เพียงไม่กี่วัน อาจารย์เฉลิมชัย มองเห็นปัญหา “ความไม่เข้าใจ” ในวิธีการรับชมงานศิลปะของนักท่องเที่ยว ที่ส่วนใหญ่ตั้งใจจะถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ โดยไม่ได้ใช้เวลาสัมผัสกับงานศิลปะอย่างแท้จริง ทำให้อาจารย์ฯ ต้องเข้ามาแนะนำวิธีการรับชมการแสดงวัดร่องขุ่น ไลท์เฟสด้วยตัวเอง โดยครั้งหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า

“หากไปดูงาน Light Fest ในต่างประเทศจะเห็นว่าเป็นการยิงแสงสีเสียงเข้าไปในตึก แต่ครั้งนี้เป็นการใส่เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง คล้องจองกับสถาปัตยกรรมและประติมากรรมเข้าไป การฟังเสียงที่ยิ่งใหญ่ เห็นแสงที่ยิ่งใหญ่ มันให้อารมณ์และความรู้สึกยิ่งใหญ่ ท่านอย่าคิดว่าสิ่งที่ผมทำมันธรรมดา ถ่ายรูปแล้วจบ ไม่ได้ ท่านต้องดูเอง  ผมต้องมาอธิบายวิธีการชมให้ฟังทุกวัน” อาจารย์เฉลิมชัย กล่าว

ปลุกกระแสเที่ยววัดตอนกลางคืนได้ใจ “คนสูงวัย”

อินเด็กซ์ฯ ใช้ความเชี่ยวชาญในด้านการตลาดและการวางแผนสื่อดิจิทัลเข้ามาช่วยโปรโมทงาน โดยนำ Social Media เข้ามาปรับให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย “ผู้สูงวัย” (Retirement) ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักของบิ๊กอีเวนท์นี้

“เราไม่มีเงินทำ Traditional Media ราคาแพงเพื่อเจาะตลาดแมส จึงนำ Social Media เข้ามาช่วยสร้างการตลาดแบบคนสูงวัย ตัวอย่าง สวัสดีวันจันทร์ เราเปลี่ยนเป็น สวัสดีวันพระ และเนื่องจากผู้สูงวัยบางส่วน ไม่คุ้นเคยกับการจองและซื้อบัตรผ่านออนไลน์ ดังนั้นนอกจากช่องทางไทยทิกเก็ตเมอร์เจอร์แล้ว ยังเปิดช่องทาง Call Center เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกอีกทางด้วย”

นับตั้งแต่วัดร่องขุ่น ไลท์เฟส จัดแสดงวันแรก 22 พ.ย. กระทั่งจบงานในวันที่ 22 ธ.ค.2562 ตลอดระยะเวลา 1 เดือน ขายบัตรเข้างานในราคา 400 บาท และ 1,000 บาท ได้เฉลี่ย 80% ต่อรอบ (รองรับได้สูงสุด 1,000 คนต่อรอบการแสดง) โดยคิดเป็นผู้เข้าชมงานทั้งหมด 25,000 คน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวไทย 95% ที่เหลือเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ในตอนแรก ที่คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานถึง 37,000 คน

ตัวเลขคนเข้างานที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คุณเกรียงไกร มองว่ามาจากความยากของการจัดงาน Light Fest ในการดึงดูดคนให้เข้ามาที่วัดร่องขุ่นในเวลากลางคืน ซึ่งถือเป็นสิ่งใหม่สำหรับนักท่องเที่ยว ด้วยรูปแบบของโชว์แสงสีเสียงที่สดใหม่ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในไทย ทำให้ในช่วงที่เปิดให้มีการจองบัตรล่วงหน้า “ยอดจองไม่เป็นไปตามเป้า” เมื่อมองเห็นสัญญาณตอบรับที่ไม่ค่อยดี จึงตัดสินใจลดรอบการแสดงเหลือเพียงรอบเดียวต่อวัน จากเดิมที่กำหนดไว้ 2 รอบ คือรอบ 18.00 น. และ 20.30น. เหลือเพียงรอบ 18.00 น.

แม้ตัวเลขผู้ชม “วัดร่องขุ่น ไลท์เฟส” จะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่สิ่งที่ได้ คือการกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดเชียงใหม่ มีการประเมินว่าตลอดระยะเวลาของการจัดงานมีเงินสะพัดกว่า 700-800 ล้านบาท จากการที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายไปกับการจองบัตร จองที่พัก รวมถึงค่าอาหาร โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4,000 บาทต่อคนต่อทริป

อีกยังเป็นอีเวนท์รูปแบบใหม่ที่สามารถเจาะกลุ่ม “สูงวัย” สอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมผู้อายุของประเทศไทย และยังไม่มีใครลงมาเล่นกับตลาดนี้จริงจัง แต่ชัดเจนว่ามีดีมานด์ในตลาด ดังนั้นตามแผนของอินเด็กซ์ ในปี 2020 จะโฟกัสไปที่การขยายฐานในกลุ่ม Own Project มากขึ้น โดยจะมีโปรเจกต์อีเวนท์ใหม่ๆ ในจังหวัดเมืองรอง อย่างน้อย 3 โปรเจกต์ ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไปพร้อมกัน


แชร์ :

You may also like