HomeBrand Move !!อีเวนท์ฟื้นแล้ว ‘อินเด็กซ์’ งัด 4 กลยุทธ์บุกตลาด ปั้นงานแฟร์ต่างประเทศ ปักธง ‘ซาอุฯ’ เตรียม IPO ปี 67

อีเวนท์ฟื้นแล้ว ‘อินเด็กซ์’ งัด 4 กลยุทธ์บุกตลาด ปั้นงานแฟร์ต่างประเทศ ปักธง ‘ซาอุฯ’ เตรียม IPO ปี 67

แชร์ :

index cover

เจอโควิดกระทบหนักมา 2 ปีกว่า วันนี้เบอร์หนึ่งธุรกิจอีเวนท์ไทย “อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ” ออกมายืนยันว่าสถานการณ์โลกกลับสู่ปกติแล้ว ธุรกิจอีเวนท์ฟื้นตัวชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 3 ได้เวลาอินเด็กซ์ฯ กลับมาเดินหน้าขยายธุรกิจอีกครั้ง พร้อมเป้าหมายเข้าตลาดหลักทรัพย์ mai ในปี 2567

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ตลอดเส้นทางธุรกิจอีเวนท์ 33 ปีของอินเด็กซ์ เคยทำรายได้สูงสุดแตะ 2,000 ล้านบาท ในปี 2555 เนื่องจากมีอีเวนท์พิเศษเข้ามา 2 งานใหญ่ BOI Fair และ World Expo เกาหลีใต้  โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีรายได้เฉลี่ยปีละ 1,400-1,500 ล้านบาท

ก่อนโควิด ปี 2562 อินเด็กซ์ มีรายได้ 1,380 ล้านบาท รายได้หลักมาจากมาร์เก็ตติ้ง อีเวนท์ 70% การพัฒนาธุรกิจใหม่ 20% และ Own-Projects อีเวนท์ที่จัดขึ้นเอง หารายได้จากการขายตั๋ว 6.2%

ช่วงโควิดปี 2563 อินเด็กซ์ ได้รับผลกระทบเต็มๆ เพราะไม่สามารถจัดอีเวนท์ได้ ทำให้รายได้ลดลงเหลือ 327 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 20 ปี  

มาในปี 2564 ยังไม่สามารถจัดอีเวนท์ได้ปกติ จึงต้องหาทางรอดด้วยการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ สร้างรายได้ทดแทน อย่าง  Kill & Klean บริการ การทำความสะอาดและพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อภายในอาคาร, ANYA Meditec ธุรกิจบริการทางการแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพ, Hybrid Concert ทั้งออนกราวด์และสตรีมมิ่ง รวมทั้งการสร้าง Own-Projects จัดงานเฟสติวัลร่วมกับเจ้าของสถานที่ อย่างเมืองโบราณ, คีรีมายา, สิงห์ปาร์ค  เพื่อหารายได้จากตั๋วเข้าชม  สรุปสิ้นปี 2564 ทำรายได้ 598 ล้านบาท

อีเวนท์ฟื้นแล้ว

คุณเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ กล่าวว่า ปี 2565 สถานการณ์โควิดคลี่คลายแล้ว ไทยเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัวก่อนตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีนี้ภาครัฐคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาตามเป้าหมาย 10 ล้านคน

ในปี 2566 เพิ่มเป็น 20 ล้านคน  การจะกลับไปที่ตัวเลข 40 ล้านคนเหมือนที่ทำได้ก่อนโควิด คงต้องรอนโยบายจีนเปิดประเทศก่อน แต่ชัดเจนว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็วแน่นอน

ส่วนภาพรวมธุรกิจอีเวนท์กลับมาปกติตั้งแต่ไตรมาส 3 เห็นได้จากกลุ่มไลฟ์สไตล์ อย่างงานคอนเสิร์ตแหล่งรวมคนจำนวนมากสามารถจัดได้ปกติแล้ว  มูลค่าธุรกิจอีเวนท์ปี 2562 ก่อนโควิดอยู่ที่ 14,000-15,000 ล้านบาท  ปี 2565 ฟื้นตัวกลับมาแล้ว 50%  และคาดว่าปี 2566 จะอยู่ที่ระดับ 70-80% ก่อนโควิด 

อินเด็กซ์วาง 4 กลยุทธ์บุกตลาด

ปัจจุบันอินเด็กซ์ มี 3 ธุรกิจหลัก

1. Marketing Service การจัดอีเวนท์ให้กับแบรนด์ต่างๆ ก่อนโควิดมีสัดส่วนรายได้ 70% ปี 2565 ลดลงเหลือ 52%

2. Creative Business Development การพัฒนาธุรกิจใหม่ การสร้างธีมปาร์ค มิวเซียม แหล่งท่องเที่ยว ปี 2565 สัดส่วนรายได้ 31%

3. Own Creation การสร้างงานอีเวนท์ของตัวเองเพื่อหารายได้จากบัตรเข้าชมและการจัดงานเทรดแฟร์ B2B ในต่างประเทศ  ปี 2565 สัดส่วนรายได้ 17%

หลังธุรกิจอีเวนท์ส่งสัญญาณฟื้นตัวแล้ว “อินเด็กซ์” ได้วาง 4 กลยุทธ์ขยายธุรกิจในปี 2566

1. Hybrid Experiences

การทำธุรกิจแบบผสมผสานเทคโนโลยีดิจิทัลในธุรกิจอีเวนท์ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างด้วยรูปแบบ Immersive Experiences ตั้งแต่ไลฟ์สไตล์ ไอเดีย นวัตกรรมและวัฒนธรรมผ่านงานอีเวนท์ รวมทั้งการเข้าสู่โลก Metaverse โดยเป็นพันธมิตรของ D.OASIS ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมต่อเทคโนโลยี Metaverse และ NFT

index 2023

2. จัดงานเทรดแฟร์ต่างประเทศ

ในกลุ่มงานเทรดแฟร์ที่อินเด็กซ์ เป็นเจ้าของงานเองในต่างประเทศ เริ่มที่กัมพูชา ทำมา 7-8 ปีแล้ว มีทั้งงาน  Architect & Décor, งาน Health & Beauty Expo และ FoodBev Retail  เป็นงาน B2B ที่จัดต่อเนื่องมาหลายปี

ปี 2566 เตรียมจัดงานเทรดแฟร์ เพิ่มอีก 2 ประเทศคือ คาซัคสถาน และ ซาอุดิอาระเบีย เป็นงาน B2B  ในชื่อ “ไทยแลนด์ เมกะ แฟร์ แอนด์ เฟสติวัล” เป็นงานเทรดแฟร์ธุรกิจไทยที่ต้องการขยายตลาดเข้าไปในทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะ ซาอุฯ ประเทศที่มีกำลังซื้อสูง จากจำนวนประชากรกว่า 30 ล้านคน

ธุรกิจไทยที่จะดึงมาร่วมงานเทรดแฟร์ เช่น การท่องเที่ยว การลงทุน ก่อสร้าง กลุ่ม Soft Power ด้านต่างๆ เช่น อาหาร  กีฬา หรือไปร่วมออกงานแฟร์ในนามจังหวัด ที่ต้องการเจาะตลาดในซาอุฯ

3. เจาะตลาดนักท่องเที่ยว 

หลังโควิดคลี่คลายอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปี 2566 ททท.วางไว้ 20 ล้านคน และอาจจะถึง 30 ล้านคน

อินเด็กซ์ จึงได้เข้าไปลงทุนโครงการ THE CAVENTURE บนพื้นที่ 20 ไร่ โป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวจัดแสดงเรื่องราวเหตุการณ์ “13 หมูป่า” ในรูปแบบ Immersive Experience โดยจะเปิดให้เข้าชมในเดือนตุลาคม 2566 ถือเป็นอีกโปรเจกต์ที่จะกลายเป็นแฟลกชิปของอินเด็กซ์ ในการสร้างสถานที่ท่องเที่ยวและสร้างรายได้ประจำจากธุรกิจในกลุ่ม Own Creation

THE CAVENTURE

 

4. ลุยไลฟ์สไตล์อีเวนท์ 

ในกลุ่มไลฟ์สไตล์อีเวนท์ ที่อินเด็กซ์ จัดขึ้นเอง ปี 2566 มีหลายงานที่จะกลับมาจัดอีกครั้งหลังหยุดไปในช่วงโควิด

เริ่มที่งาน Kirimaya Forest of Illumination Snoopy Adventure ที่ คีรีมายา เขาใหญ่ วันที่ 1 ธันวาคม 2565 – 19 กุมภาพันธ์ 2566

งานไลท์เฟสติวัล “สิงห์ ปาร์ค Village of Illumination” ซึ่งเริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2563

งาน KILORUN  (กิโลรัน) มหกรรมการวิ่งยุคใหม่ที่ไม่ได้ชูเรื่องการวิ่งแบบกิโลเมตร KM.(ระยะทาง) แต่ให้ความสำคัญเรื่องกิโลกรัม KG. (การกินของอร่อย) ไปพร้อมกัน  เริ่มจัดครั้งแรกในปี 2560 ใน  4 เมือง 4 ประเทศ ได้แก่ กรุงเทพ (ไทย) บาหลี (อินโดนีเซีย) โอซาก้า (ญี่ปุ่น)  และฮานอย (เวียดนาม)

ปี 2566 งาน KILORUN จะกลับมาจัดอีกครั้ง วางเส้นทางไว้ 5 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสิงคโปร์

ส่วนอีเวนท์ เมืองโบราณ สมุทรปราการ ปี 2566 เตรียมจัด 4  เฟสติวัล

การทำอีเวนท์ทั้งหมดในกลุ่ม Own Creation วางเป้าหมายยอดขายตั๋วเข้าร่วมงานในปี 2566 ไว้ที่ 100,000 ใบ  โดยรวมทั้งอีเวนท์และงานเทรดแฟร์ในปีหน้ามีจำนวน 18 โปรเจกต์ ใน 7 ประเทศ ถือเป็นการเดินหน้าขยายธุรกิจเต็มที่ของอินเด็กซ์หลังสถานการณ์โควิด

จากแผนธุรกิจในปี 2566 อินเด็กซ์ วางเป้าหมายรายได้อยู่ที่ 1,295  ล้านบาท กำไร 116 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีรายได้ 954 ล้านบาท กำไร 98 ล้านบาท เป็นการกลับมากำไรอีกครั้งหลังจาก “ขาดทุน” ในช่วง 2 ปี โควิด โดยวางแผนนำบริษัท IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ mai ในไตรมาส 2 ปี 2567 

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like