HomeDigital“Tree Hole” จากช่องทางแบ่งปันความลับของจีนโบราณ สู่ AI ช่วยป้องกันการฆ่าตัวตาย

“Tree Hole” จากช่องทางแบ่งปันความลับของจีนโบราณ สู่ AI ช่วยป้องกันการฆ่าตัวตาย

แชร์ :

ห้องนอนของ Wang Le เงียบและมืดมิด ผ้าม่านถูกปิดสนิท มีเพียงเสียงจากการคลิกเมาส์และคีย์บอร์ดที่ดังเป็นระยะ เขาไม่สามารถใช้ชีวิตและทำงานเหมือนคนปกติได้เกือบสิบปีเนื่องจากความหวาดกลัวสังคม อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งเดียวที่เขาเชื่อมต่อกับโลกภายนอก และมันยังเป็นสิ่งที่ช่วยชีวิตเขาเอาไว้ด้วย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

Wang ในวัย 20 ตอนปลาย อาศัยอยู่ตามลำพังในเมืองเล็ก ๆ ทางตอนเหนือของจีน โดยญาติของเขาจะนำอาหารมาให้ทุกสองหรือสามสัปดาห์ เพราะเขาไม่สามารถแม้แต่จะสั่งอาหารให้มาส่งที่บ้าน ถ้านั่นหมายถึงการต้องพูดคุยกับผู้คนทางโทรศัพท์ ในฤดูใบไม้ผลิเขาคิดฆ่าตัวตาย แต่ก็ลังเล กลัวความตาย และก็กลัวการมีชีวิตไปพร้อมๆ กัน เขาแบ่งปันความสิ้นหวังนี้ใน Weibo แพลตฟอร์มโซเชียลของจีน

“คุณโอเคไหม” คนแปลกหน้าทักมาในข้อความ ไม่นานหลังจากที่เขาโพสต์ “คุณอยากคุยกับฉันไหม”

ข้อความข้างบนทำให้เขารู้ว่ามีบางคนห่วงใยเขา Wang ตัดสินใจเป็นเพื่อนกับคนแปลกหน้า และพบว่าเธอเป็นที่ปรึกษาด้านจิตวิทยา เธอพบเขาด้วยความช่วยเหลือของบอท Tree Hole ซึ่งเป็น AI สำหรับจับตาดูพฤติกรรม หรือเจตนาการฆ่าตัวตายใน Weibo และส่งข้อความเตือนไปยังกลุ่มนักวิชาการด้านจิตวิทยา ที่ปรึกษา และอาสาสมัครเกือบ 600 คน เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่มีปัญหาได้อย่างทันท่วงที

Tree Hole พัฒนาขึ้นโดย Huang Zhisheng นักวิจัยอาวุโสด้าน AI จากมหาวิทยาลัย Vrije University of Amsterdam และได้เริ่มใช้งานจริงมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2018 ปัจจุบัน AI ตัวนี้ได้ช่วยรักษาชีวิตคนจากการฆ่าตัวตายมาแล้วกว่าพันราย แต่เนื่องด้วยทีมมีขนาดเล็กและเป็นอาสาสมัคร พวกเขาจึงสามารถรับมือได้แค่เฉพาะกรณีเร่งด่วนที่สุด แม้ว่าบางคนจะไม่ตอบสนองต่อความช่วยเหลือของพวกเขาก็ตาม

โดยทีมงานตั้งเวลาให้ Tree Hole สแกน Weibo อัตโนมัติทุก 4 ชั่วโมง เพื่อดึงโพสต์ที่มีคำและวลีเช่น “ความตาย”, “หลุดจากการมีชีวิต” หรือ “จุดสิ้นสุดของโลก” ออกมา รวมถึงมันยังเข้าใจด้วยว่า หากมีคำว่า “ไม่ต้องการ” และ “มีชีวิต” อยู่ในประโยคเดียวกันอาจบ่งบอกถึงแนวโน้มการฆ่าตัวตายมากขึ้น เมื่อได้โพสต์ออกมาแล้ว จะมีการแบ่งระดับความรุนแรงของเจตนาการฆ่าตัวตายออกเป็น 10 ระดับ และโพสต์ที่ถูกจัดว่ามีความรุนแรงระดับห้าขึ้นไปจะถูกรายงานไปยังทีม ซึ่งจากข้อมูลพบว่าเวลาในการโพสต์ที่มีการระบุความตั้งใจในการฆ่าตัวตายสูงสุดอยู่ระหว่าง 22.00 – 02.00 น. และ 3 ใน 4 มาจากผู้หญิง

ส่วนเหตุผลที่บอทตัวนี้ถูกตั้งชื่อว่า Tree Hole นั้น เป็นอิงกับเรื่องราวในสมัยโบราณของจีนที่จะมีการกระซิบบอกความลับผ่านช่องบนต้นไม้นั่นเอง

Huang กล่าวว่า ความแม่นยำของ Tree Hole นั้นสูงถึง 82% อย่างไรก็ดี การตรวจจับของ Tree Hole ทำได้เฉพาะบนแพลตฟอร์มของ Weibo ในจีนแผ่นดินใหญ่ จึงมีนักวิจัยบางคนจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศเชิญ Huang ให้ทำงานร่วมกันและขยายบอทดังกล่าวออกไปนอกประเทศจีนด้วย

 

AI ที่โลกต้องการ

ในปี 2016 ประเทศจีน มีคนฆ่าตัวตายอย่างน้อย 136,000 คน คิดเป็น 17% ของยอดรวมของโลกในปีนั้น และตามข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของประชากรอายุ 15 – 29 ปีทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการฆ่าตัวตายก็คือ การที่คนที่เป็นทุกข์ได้รู้ว่ามีคนห่วงใยพวกเขา เหมือนเช่นกรณีของ Wang ที่ไม่เพียงขาดการสนับสนุนจากครอบครัว แต่เขายังอาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆ ที่ห่างไกลจากการให้บริการทางจิตวิทยา สำหรับคนเหล่านี้ AI จึงมีบทบาทสำคัญในการระบุตัวตน และพาผู้เชี่ยวชาญที่สามารถช่วยเหลือเขาได้มาอย่างทันท่วงที

จากความสำเร็จของ Tree Hole ปัจจุบัน Huang กำลังพัฒนาบอทแบบใหม่ที่สามารถสนทนากับผู้คนได้ โดยเขาหวังว่ามันจะสามารถแชทกับผู้คนได้ในลักษณะเดียวกับนักจิตวิทยาที่เป็นมนุษย์

แต่ไม่เฉพาะ Huang เพราะในประเทศจีนยังมีบริษัทสตาร์ทอัพจำนวนหนึ่งกำลังทำการวิจัยที่คล้ายคลึงกัน เช่น WonderLab สตาร์ทอัพในกรุงปักกิ่ง และ Huayuntong สตาร์ทอัพของเสินเจิ้นที่ได้พัฒนาโปรแกรมติดตามสุขภาพจิตของผู้ต้องขังในเรือนจำของประเทศ โดยติดตามการเคลื่อนไหวของดวงตา การหายใจ การแสดงออกทางสีหน้า และเสียง

Chris Wong ผู้จัดการทั่วไปของ Huayuntong กล่าวว่า AI ยังไม่สามารถแทนที่นักจิตวิทยาได้ในอนาคตอันใกล้ เพราะจะต้องมีตัวอย่างข้อมูลอย่างน้อย 500,000 รายการเพื่อที่มันเรียนรู้ รวมถึงข้อจำกัดด้าน Privacy ด้วย

เมื่อ Privacy คือความท้าทายของการป้องกันการฆ่าตัวตาย

ที่ผ่านมาเราพบว่า กลุ่มผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียอย่าง Google, Facebook และ Pinterest ก็มีการใช้ AI เพื่อประเมินความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายในหมู่ผู้ใช้งาน และตรวจจับเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเองเช่นกัน อย่างไรก็ตาม AI เหล่านั้นยังมีข้อจำกัดในการติดตาม – ค้นหาคนที่จะฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่อง Privacy ที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้งานก่อน

ตรงข้ามกับกรณีของ Tree Hole เพราะ Huang กล่าวว่า ไม่ติดในเรื่องดังกล่าว เนื่องจาก Weibo เป็นแพลตฟอร์มแบบเปิด และการช่วยชีวิตคนนั้นก็สำคัญกว่าการปกป้องความเป็นส่วนตัว ที่สำคัญ AI อย่าง Tree Hole ตัวนี้ก็ช่วยให้ชีวิตของ Wang ดีขึ้นมาก เพราะหลังจากผู้ให้คำปรึกษาจาก Tree Hole ได้คุยกับ Wang ก็นำไปสู่การพูดคุยจนสามารถโน้มน้าวให้แม่ของเขากลับมาอยู่ด้วย และตอนนี้เขาสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติแล้ว

หากคุณหรือคนที่คุณรู้จักกำลังคิดฆ่าตัวตาย โปรดรู้ไว้ว่าโลกมีนี้มีคนรอให้ความช่วยเหลือคุณอยู่ สำหรับในไทยสามารถติดต่อสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และไม่แน่ว่าในอนาคต อาจมีเทคโนโลยีที่พร้อมให้ความช่วยเหลือดีๆ แบบนี้ในบ้านเราบ้างก็ได้

Source

 


แชร์ :

You may also like