HomeBrand Move !!10 ข้อคิด Underdog Spirit ‘พิทักษ์ รัชกิจประการ’ แห่ง PTG กับความกล้า ความบ้า และลงมือทำจริง

10 ข้อคิด Underdog Spirit ‘พิทักษ์ รัชกิจประการ’ แห่ง PTG กับความกล้า ความบ้า และลงมือทำจริง

แชร์ :

คุณพิทักษ์ รัชกิจประการ

เรื่องราวของ “คนเล็ก เวทีใหญ่” ผู้บริหารหัวใจนักสู้ ด้วยวิถี Underdog Spirit ของ คุณพิทักษ์ รัชกิจประการ แห่ง PTG กลายเป็น “บทเรียน” ธุรกิจที่น่าเรียนรู้ ในฐานะผู้พลิกสถานการณ์บริษัทที่เกือบ “ล้มละลาย” จากหนี้สินกว่า 3,600 ล้านบาท ในช่วงวิกฤติต้มย้ำกุ้ง ปี 2540 ล้างหนี้หมดภายใน 10 ปี พา PTG เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ขยายปั๊มน้ำมัน PT จากป่าล้อมเมือง ก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 2 ในตลาด สร้างยอดขายกว่า 130,000 ล้านบาท

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ตามดู 10 ข้อคิดการบริหารธุรกิจด้วยหลักคิด Underdog Spirit วิธีการก้าวผ่านความยากลำบาก ในแบบฉบับนักบริหารสู้ชีวิต และเคล็ดลับความเร็จของ PTG กับ คุณพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) และเจ้าของกาแฟ “พันธุ์ไทย” จากงาน  Soft Skills Bootcamp โดย YourNextU School of Life ศูนย์รวมวิชาชีวิต

ynu ptg

1. ถ้าเล็กไม่เป็น ก็ใหญ่ไม่ได้

คุณพิทักษ์ เล่าถึงวัยเด็กว่าครอบครัวเป็นคนหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เริ่มเรียนที่โรงเรียนแสงทอง คุณแม่มีแผงขายของในตลาดกิมหยง ในวัยเด็กจึงเติบโตมากับการค้าขาย เดินไปโรงเรียน เลิกเรียนมาขายของ วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็มาขายของกับคุณแม่ สิ่งที่ได้ติดตัวมาตั้งแต่เด็กคือ “คิดเลขเร็ว”

ส่วนคุณพ่อทำฟาร์มกุ้งธรรมชาติที่จังหวัดสตูล เวลาไปหาคุณพ่อช่วงเสาร์-อาทิตย์ หรือปิดเทอม สิ่งที่เห็นตั้งแต่เด็ก คือ คนต่างจังหวัดก็จะนั่งพื้นกินข้าวด้วยกัน คุณพ่อก็นั่งกินข้าวพร้อมลูกน้อง “แม้ผมเป็นลูกเถ้าแก่ แต่เวลากินข้าว จะมีหน้าที่ตักข้าวให้ลูกน้องคุณพ่อก่อนที่จะตักให้ตัวเอง” 

เป็นสิ่งที่สอนเรื่องการดูแลคนมาตั้งแต่ยังเด็ก และทำให้เห็นว่า “ถ้าเล็กไม่เป็น ก็ใหญ่ไม่ได้”  เป็นวิธี Respect คน ที่ถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่เด็ก

2. เรียนรู้ Economy of speed  

ช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนตัวเลือกวิศวะ 5 อันดับ โดยคุณพ่อขอให้เลือกประมง  ไว้เป็นอันดับสุดท้าย  เพราะมีฟาร์มกุ้งธรรมชาติอยู่ที่จังหวัดสตูล จึงต้องการให้ไปดูแล  สรุปสอบติดคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียนจบปี 2530 จากนั้นไปทำฟาร์มกุ้งกับคุณพ่อที่สตูล และเรียน MBA ช่วงค่ำ ใช้เวลาเรียน 2 ปีครึ่งจบ

ในช่วงนี้ได้เรียนรู้เรื่อง Economy of speed การเลี้ยงกุ้งกุลาดำจาก 8 ไร่ ใช้เวลา 5 ปี ขยายได้ 800 ไร่  ทุกวันนี้ สิ่งที่ทำให้ ปั๊มน้ำมัน PT ขยายได้เร็ว เกิดจากการเรียนรู้ตอนทำฟาร์มกุ้ง

3. JENG = เจ๊ง หรือ JENG = เจ๋ง อยู่ที่เราคิด

ปี 2531 ครอบครัว (คุณพิพัฒน์ รัชกิจประการ ซึ่งเป็นพี่ชาย) ก่อตั้ง บริษัท ภาคใต้เชื้อเพลิง จำกัด หรือปั๊ม PT  จุดเริ่มต้น บมจ. พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) ในปัจจุบัน

ปี 2535  พี่ชาย (คุณพิพัฒน์) ให้มาช่วยทำธุรกิจปั๊มน้ำมัน PT เริ่มทำปั๊มน้ำมันที่จังหวัดชุมพร เป็นช่วงที่ดีมานด์มากกว่าซัพพลาย จึงสามารถนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้  แต่หลังจากมีโรงกลั่นเพิ่มขึ้นอีก 3 โรง จึงเป็นยุคโอเวอร์ซัพพลาย ภาครัฐจึงห้ามนำเข้าน้ำมัน

ปี 2538 -2539  เตรียมเข้าตลาดฯ เป็น บริษัทภาคใต้เชื้อเพลิง จำกัด (มหาชน) มี 4 สัญชาติร่วมถือหุ้น SK Global เกาหลีใต้,  ซูมิโตโม ญี่ปุ่น, เมย์แบงก์ มาเลเซีย และไทย

ปี 2540 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง หุ้นส่วนต่างชาติทุกรายเลิกธุรกิจกลับประเทศ บริษัทมีหนี้จากการลงทุนและเงินกู้ต่างประเทศ 3,600 ล้านบาท

ช่วงนั้นหากเรามี Mindset ว่า “เจ๊ง” ก็คง “เจ๊ง” แต่หากเราคิดว่า “เจ๋ง” ก็ต้องมีวิธีทำให้ “เจ๋ง”  เพราะ JENG = เจ๊ง หรือ JENG = เจ๋ง (ภาษาอังกฤษเขียนเหมือนกัน) อยู่ที่เราคิด

4. เป็นหนี้  “ไม่มี ไม่หนี (ทำเรื่อง) ไม่จ่าย”

บริษัทใช้เวลา 10 ปี  (ปี 2540-2549) ในการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงินต่างๆ  ตอนนั้นต้องบอกว่า “ไม่มี ไม่หนี (ทำเรื่อง) ไม่จ่าย” เป็นสิ่งที่ทำได้เพื่อเดินหน้าแก้หนี้

“หลายคนบอกว่าเราโง่ไม่ยอมล้มบนฟูก แต่ความคิดเรา คือเป็นหนี้ก็ต้องจ่าย ทำให้เลือกเดินหน้าใช้หนี้ต่อให้ถูกต้อง เพราะพ่อแม่ไม่ได้สอนให้เรามาขี้โกงใคร เป็นหนี้ก็ต้องจ่าย”

จากหนี้สิน 3,600 ล้านบาท จ่าย 10 ปี ผ่อนไปอย่างต่อเนื่อง จนทางธนาคารเห็นใจและลดหนี้ให้ จึงจ่ายหนี้ไปราว 1,500 ล้านบาท แลกกับการทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์  สื่อสารเกี่ยวกับเรื่องการเงินและพูดถึงเรื่องการใช้หนี้ให้แก่ลูกหนี้ธนาคารฟัง เป็นสิ่งที่ใครทำดีก็ได้ผลดี

5. เป็นผู้นำ ต้องทำให้ดู 

ในช่วงที่เป็นหนี้ 3,600 ล้านบาท  กรรมการบริษัทบอกให้ปิดบริษัท เพราะไม่น่าจะไปรอด  แต่คุณพิทักษ์ ยืนยันว่ายังปิดไม่ได้ เพราะมีพนักงานอีก 1,600 ชีวิตต้องดูแล จึงเดินหน้าแก้ไขหนี้ทุกอย่าง เจรจากับแบงก์ โทร.ยืมเงินคนรู้จักเพื่อนำมาซื้อน้ำมันมาขาย

สิ่งสำคัญในการจะผ่านวิกฤติไปให้ได้ คือ “เป็นผู้นำ ต้องทำให้ดู” ต้องพูดให้ลูกน้องฟัง ทำให้ลูกน้องดู ว่าเราทำจริง  เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้พนักงานลุกขึ้นมาร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยกัน

ผู้บริหารต้องทำให้ลูกน้องอิน (IN) กับสิ่งที่บริษัทกำลังจะก้าวไป และถ้าลูกน้องอิน ไปด้วยกัน ก็จะกลายเป็น NI (Net Income) สูงขึ้น 

6. สวนกระแส-แตกต่างอย่างสิ้นเชิง 

หลังจากแก้ปัญหาหนี้จบแล้ว ปี 2551 เริ่มเห็นโอกาสการเติบโตในธุรกิจปั๊มน้ำมัน จึงใช้วิธีคิดที่ต้องทำอย่างแตกต่างจากคนอื่นอย่างสิ้นเชิง ด้วยวิธี “สวนกระแส” จากปั๊มน้ำมันอื่นๆ ที่ขยายสาขาด้วยระบบแฟรนไชส์ แต่ PT ขยายปั๊มด้วยการลงทุนเอง

“คนตัวเล็กเดินตามคนอื่นโดยไม่ดูตัวเองก็มีแต่พัง จึงต้องเล่นในเกมของเรา หาสิ่งที่ถนัดและทำให้เร็ว สร้าง Economy of Speed”  

PT จึงเลือกที่จะเล่นในเกมของตัวเอง เริ่มด้วยการลงทุนปั๊มเอง ไม่เป็นระบบแฟรนไชส์ เลือกทำเลเปิดในถนนสายรอง เพราะบริษัทน้ำมันรายใหญ่ ไม่สนใจทำเลแบบนี้ จึงกลายเป็น Blue Ocean ของ PT ในช่วงปี 2551-2554 ขยายปั๊มถนนสายรองในต่างจังหวัดได้จำนวนมาก

ปี 2555 เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เติบโตมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นเบอร์ 2 ในปัจจุบัน (ปี 2565 มีประมาณ 2,200 สาขา ในจำนวนนี้  1,900 สาขา  PTG เป็นเจ้าของลงทุนเอง)

“ในวันนั้นใครๆ ก็คิดว่าเราเป็นสิงห์ภูธร คงทำมาหากินอยู่ในต่างจังหวัด แต่กลยุทธ์ของ PT คือเริ่มจากต่างจังหวัดก่อนเข้าสู่เมือง วันนี้เราจะทำให้พื้นที่เมืองเป็นสีเขียว (ตามสีของปั๊ม PT) ให้ได้”

7. คนประสบความสำเร็จต้องมี “3 ถึง” เงินถึง-ใจถึง-มือถึง

หากย้อนไปดูบทเรียนความสำเร็จของแต่ละธุรกิจ มาจากพื้นฐาน  “3 ถึง”  คือ 1. เงินถึง 2.ใจถึง 3.มือถึง

ขณะเดียวกันก็ต้องปรับตัวใหม่เพื่อให้เป็น Opportunity Seeker หรือเป็นผู้ที่มองและเห็นโอกาสให้ได้  เมื่อใครเห็นโอกาสก่อน คนนั้นชนะ แต่หากเห็นโอกาสพร้อมกัน คนชนะคือคนที่ทำก่อน  หากทำพร้อมกัน คนชนะ คือคนที่ทำเยอะกว่า

8. Underdog Spirit ความกล้า ความบ้า และลงมือทำจริง 

ในการทำสิ่งที่ยากและท้าทาย คือ จะทำอย่างไรให้ทีมงาน ทำไปได้วยกัน ท้าทายไปด้วยกัน และคิดแบบเรา เมื่อพนักงานเชื่อมั่นในตัวเราแล้ว ก็ต้องไม่พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ ต้องท้าทายตัวเองไปเรื่อยๆ

ในมุมของ Underdog Spirit  จึงต้องมี ความกล้า ความบ้า และลงมือทำจริงอยู่ตลอดเวลา  

DNA ของ PT  คือ ต้องเร็ว อย่าง ปี 2565 ทำยอดขายได้ 5,000 ล้านลิตร  ปี 2566 ก็ต้องตั้งเป้าหมายใหม่ต้องขายให้ได้ 6,000 ล้านลิตร เฉลี่ยไตรมาสละ 1,500 ล้านลิตร  หากไตรมาสแรกทำได้เกินเป้าหมาย ก็ขยับเป้าหมายทั้งปีใหม่ หากไตรมาส 2 ยังทำได้เกินเป้าหมายอีก ก็จะขยับตัวเลขใหม่ไปเรื่อยๆ เพื่อท้าทายตัวเอง

ต้องเปลี่ยนจาก Impossible เป็น  I’m Possible  

9. จาก Follower เป็น The Great Challenger    

อาวุธลับของคนตัวเล็ก คือ ความเร็ว คิดแตกต่าง และหาโอกาสอยู่ตลอดเวลา  วันนี้เราไม่ได้เป็น Follower แต่จะเป็น The Great Challenger

“คนตัวเล็กไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราสร้างสนามแข่ง เล่นในเกมของตัวเอง ไม่ไปเล่นในเกมของคนตัวใหญ่ แม้เป็นคนตัวเล็กแต่ไม่ได้ห้ามเราคิดใหญ่ เราต้องฝันใหญ่” 

ด้วยความเป็นคนตัวเล็กของ PTG  จึงทำแตกต่าง ลงทุนปั๊มน้ำมันเอง มีรถบรรทุกเองไม่เอาท์ซอร์ส รายอื่นยุบคลัง PT ขยายคลัง มีทุก 200 กิโลเมตร ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเน็ตเวิร์กในการขยายเครือข่ายร้านค้าปลีกต่อไป

การต่อยอดธุรกิจผ่าน บัตร PT Max’s World สร้างฐานลูกค้าให้อยู่ในอีโคซิสเต็ม ใช้บริการและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ PTG ในปี 2565 มีผู้ถือ MaxCard 19 ล้านใบ ทำให้สัดส่วนยอดขายน้ำมัน 75% มาจากผู้ถือ MaxCard ต่อไปจะเพิ่มเป็น 85-90% ด้วยสัดส่วนนี้ ใครมาเปิดปั๊มใกล้ๆ PT ก็ไม่กลัวแล้ว เพราะมีฐานลูกค้าประจำ ในปี 2569 บัตร PT Max’s World จะต้องมีสมาชิกครบ 30 ล้านใบ

เช่นเดียวกับร้านกาแฟ “พันธุ์ไทย” ที่เห็นโอกาสเติบโต ปี 2564  มี 300 สาขา, ปี 2565 มี 550 สาขา,  ปี 2566 วางเป้าหมาย  1,500 สาขา  และปี 2568 กับเป้าหมาย  5,000 สาขา จากนั้นจะนำเข้าบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป คู่แข่งใช้เวลา 25 ปี กับเป้าหมาย 5,000 สาขา แต่พันธุ์ไทยในเวลาสั้นกว่า

กาแฟพันธุ์ไทย ขาดทุนมา 9 ปี (ขาดทุนรวม 400 ล้าน) ไตรมาส 4 ปี 2565 เพิ่งมีกำไรสุทธิครั้งแรก เชื่อว่าเมื่อเข้าตลาดฯ กำไรจะสร้างกำไรคืนมาได้  20 เท่า นี่คือพลังของคน PTG  ที่กล้าทำ  เพราะไม่ว่าแพ้กี่ครั้ง แต่ชนะครั้งเดียวมันคุ้มค่า

10. อย่าหยุดคิด อย่าหยุดเรียนรู้ ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา

การทำธุรกิจมีสิ่งที่พลาดได้ เวลาผิดพลาดก็ไม่ต้องกลัว แต่ให้รีบแก้ไขให้เร็ว สิ่งสำคัญคือเราต้องช่วยกันคิด ช่วยกันเรียนรู้ และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา

Underdog Spirit ต้องมีหัวใจขบถ ต้องเห็นอะไรแล้วไม่แฮปปี้ ต้องเห็นว่ามีอะไรที่ทำได้ดีกว่านั้น  เพราะคนที่จะชนะ คือคนที่เห็นโอกาสและลงมือทำก่อน ทำด้วยหัวใจที่สุดๆ ไปเลย

“ถ้าวันนั้น วันที่เรามีปัญหามีหนี้ ถ้าผมยอมรับฟังเสียงที่บอกให้ปิดกิจการ เลิกทำ วันนี้ผมคงไม่ได้อยู่ท่ามกลางพนักงานทุกคน ที่มีความรู้ความสามารถ ที่มาช่วยดูแลความฝันของผมให้เป็นจริงได้”

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like