HomeBrand Move !!เปิดเหตุผลทำไม 7-Eleven เน้นร้านไซส์ใหญ่-มีที่จอดรถ ปี 2566 ยังเดินหน้าขยายอีก 700 สาขา

เปิดเหตุผลทำไม 7-Eleven เน้นร้านไซส์ใหญ่-มีที่จอดรถ ปี 2566 ยังเดินหน้าขยายอีก 700 สาขา

แชร์ :

7 Eleven Big Formatปัจจุบันร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ของ “ซีพี ออลล์” (CPALL) เป็นเชนสโตร์เบอร์หนึ่งในประเทศไทย ถึงสิ้นปี 2565 จะมีสาขาทั่วประเทศกว่า 13,800 สาขาทั่วประเทศ ปี 2566 ยังคงเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่องอีก 700 สาขา ด้วยงบลงทุน 11,000-12,000 ล้านบาท

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ซีพี ออลล์ ได้รับสิทธิใช้เครื่องหมายการค้า 7-Eleven จาก 7-Eleven Inc สหรัฐอเมริกา ในปี 2531 จากนั้นเปิดร้าน 7-Eleven สาขาแรกในไทยบริเวณหัวมุมถนนพัฒน์พงศ์ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2532 เปิดร้าน 7-Eleven ในประเทศไทยมาแล้ว 34 ปี

สาขา 7-Eleven ในยุคเริ่มต้นเป็นร้านขนาด 2 ห้องแถว ทำเลแหล่งชุมชน ที่พักอาศัย เพื่อให้ลูกค้าสะดวกเข้าถึงร้านค้าได้ง่าย เป็นทำเลที่สามารถเดินมาใช้บริการได้ เน้นลูกค้าในระยะทาง 1 กิโลเมตรจากที่ตั้งสาขา เมื่อมีลูกค้ามากขึ้นก็ขยายร้านใหญ่ขึ้นเป็น 3 ห้องแถว รวมทั้งมีบริการใหม่ๆ และสินค้าเพิ่มเข้ามา

ในปี 2556 7-Eleven เริ่มเปิดโมเดลใหม่ “ไซส์ใหญ่” ใช้พื้นที่ว่างก่อสร้างเป็นร้านรูปแบบสแตนด์อโลน มีที่จอดรถยนต์ด้านร้าน ตัวอย่าง โมเดลนี้เริ่มเปิดที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ ขนาดพื้นที่รวมประมาณ 1 ไร่ ลงทุนประมาณ 20 ล้านบาท โมเดล 7-Eleven ไซส์ใหญ่นี้ ซีพี ออลล์ เน้นการลงทุนเองเป็นหลัก

ระยะหลังๆ มานี้เห็นได้ว่ามีร้าน 7-Eleven ไซส์ใหญ่ขยายสาขามากขึ้น ซึ่งนโยบายของ ซีพี ออลล์ บอกชัดเจนว่ายังคงลงทุนเปิดสาขาใหม่ 700 สาขาต่อปี และจะเน้นร้านขนาดใหญ่มีที่จอดรถด้านหน้าให้บริการมากขึ้น

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

ตามดูเหตุผลทำไม 7-Eleven เน้นขยายสาขาไซส์ใหญ่รูปแบบสแตนด์อโลน

1. ให้บริการ All Convenience สะดวกครบจบที่เดียว ทั้งออฟไลน์-ออนไลน์

ร้าน 7-Eleven เริ่มจากการวางตำแหน่งเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งในใจลูกค้า เมื่อนึกถึงอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage Destination) ตามสโลแกน “หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา” จากนั้นขยายบริการส่งสินค้าตามความต้องการ (On-demand Delivery) ด้วยสโลแกน “หิวเมื่อไหร่ก็สั่งเลย” ตามการขยายตัวของแพลตฟอร์มออนไลน์ เดลิเวอรี่

ปัจจุบัน ร้าน 7-Eleven วางตำแหน่งให้ตอบสนองความต้องการครอบคลุมกิจกรรมในชีวิตประจำวันของลูกค้า (Customer Daily Life) ให้บริการ All Convenience สะดวกครบจบที่เดียว จากจุดแข็งเครือข่ายร้านสาขา (Offline) กว่า 13,800 สาขา และบริการสั่งซื้อออนไลน์ (Online) ตามไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัล มีสมาชิก All Member กว่า 14 ล้านราย มีลูกค้าใช้บริการทั้งร้านค้าและออนไลน์เฉลี่ย 12 ล้านคนต่อวัน

การเป็นร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงที่ให้บริการลูกค้า 7 มื้อต่อวัน ด้วยบริการ All Convenience โมเดลร้านขนาดใหญ่จึงตอบโจทย์การเพิ่มจำนวนสินค้า เมนูสินค้าพร้อมรับประทาน (Ready-to-eat) ใหม่ๆ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น รองรับการเป็นร้านอิ่มสะดวกเต็มรูปแบบทั้งซื้อที่ร้านและสั่งเดลิเวอรี่

All Cafe 7eleven

2. ขยายพื้นที่ให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมเสิร์ฟ “ชงสด อบสด ปรุงสด”

ด้วยจุดแข็งการเป็น Food & Beverage Destination ภายในร้าน 7-Eleven จึงต้องมีพื้นที่เพิ่มขึ้นเพื่อจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในรูปแบบประกอบสดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ชงสด All cafe, อบสด Kudsan และ ปรุงสด Food Place สำหรับประกอบอาหารสดแบบง่ายๆ

นอกจากนี้ ร้าน 7-Eleven ยังให้บริการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม แบรนด์นอกร้านเซเว่นฯ ที่อยู่ในเครือซีพี เช่น เบเกอรี่แบรนด์ Bellinee’s Bake & Brew แบรนด์ ทัคคาลบี้ (DAK GALBI) อาหารเกาหลีปรุงสด

3. ร้านไซส์ใหญ่ใช้เป็นจุดกระจายสินค้าบริการเดลิเวอรี่

แม้การขายผ่านช่องทางออนไลน์จะมีความสำคัญมากขึ้นในธุรกิจค้าปลีก ปัจจุบันมีสัดส่วน 11% ของภาพรวมยอดขายค้าปลีก แต่ 7-Eleven ก็ยังให้ความสำคัญกับการลงทุนร้านสาขาใหม่ปีละ 700 สาขา ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รองรับการขยายตัวของชุมชนเมืองและความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคของลูกค้า

นโยบายการขยายสาขาใหม่เน้นร้านขนาดใหญ่มีที่จอดรถ เพื่อใช้เป็นจุดกระจายสินค้าบริการเดลิเวอรี่ (7Delivery) ที่มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น เพราะสาขาไซส์ใหญ่เก็บสต็อกสินค้าได้จำนวนมาก ทำให้ไม่เสียโอกาสการขาย ปัจจุบันยอดขายผ่านช่องทางเดลิเวอรี่และออนไลน์ของร้าน 7-Eleven มีสัดส่วน 10% ของยอดขายรวม มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

การสั่งซื้อสินค้าผ่าน 7Delivery กำหนดขั้นต่ำ 100 บาท ให้บริการส่งฟรี จึงมียอดซื้อต่อบิลสูงกว่าหน้าร้านที่เฉลี่ย 82 บาท (ตัวเลข ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565)

สรุปตัวเลขฝั่งหน้าร้าน ณ สิ้น ไตรมาส 3 ปี 2565 มียอดขายเฉลี่ย 76,612 บาทต่อร้านต่อวัน เพิ่มขึ้น 22% มียอดขายต่อบิล 82 บาท จำนวนลูกค้าใช้บริการ 928 คนต่อวันต่อสาขา รายได้จากการขาย 74% มาจากกกลุ่มอาหารและสินค้าอุปโภค 26%

CPALL 7Eleven delivery

4. เสริมบริการใหม่ๆ ตามเทรนด์ผู้บริโภค

ร้าน 7-Eleven มีเครือข่ายร้านทั่วประเทศกว่า 13,800 แห่ง เข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม จึงมีสินค้าและบริการใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาในร้านไซส์ใหญ่ เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต

จากพฤติกรรมลูกค้าหันมาดูแลสุขภาพและความงามมากขึ้น รวมทั้งการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย ร้าน 7-Eleven จึงเพิ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ (Health & Wellness) เข้ามาในร้าน รวมทั้งขยายมุมสินค้าสุขภาพ (Eat Well) ไปแล้วกว่า 1,500 สาขา จำหน่ายผักผลไม้สด สมุนไพร และสินค้าสุขภาพครบวงจร ในพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีความต้องการ อย่าง สาขาในโรงพยาบาล เป็นต้น

ขยายมุมจำหน่ายยาสามัญประจำบ้านและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ eXta ปัจจุบันมีครบทุกสาขาทั่วประเทศ เพื่อเป็นธุรกิจบริการด้านสุขภาพ ในชุมชน รวมทั้งขยายร้าน eXta Plus ร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำร้านให้บริการ

จับมือกับ “แดรี่ ฟาร์ม อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง” ขยายสินค้าและผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม แบรนด์ All Guardian ซึ่งเป็นร้านอันดับหนึ่งด้านสุขภาพและความงามจากสิงคโปร์

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ให้บริการรูปแบบใหม่ๆ ครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นบริการรับฝากเงินแทนธนาคาร (Bank Agent) บริการับชำระและจองตั๋ว บริการรับส่งพัสดุ Speed-D บริการรับฝากซักอบรีด เป็นต้น

ALL Guardian 7-eleven

สินค้า Guardian ในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น

 

5. ซูเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน ตอบโจทย์เทรนด์ซื้อสินค้าแพ็คใหญ่

ด้วยบริการ All Convenience มีสินค้าหลากหลาย ร้าน 7-Eleven จึงถูกมองเป็น “ซูเปอร์มาร์เก็ตไซส์เล็ก” ที่มาจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคลดการเดินทางไปซื้อสินค้าไกลบ้านอย่างไฮเปอร์มาร์เก็ต และหันมาซื้อสินค้าใกล้บ้านแทน ร้าน 7-Eleven จึงมีมุมสินค้าของใช้ต่างๆ เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก รวมทั้งสินค้าแพ็คใหญ่ มาจำหน่ายในร้านเพิ่มขึ้น

การเพิ่มขนาดพื้นที่ขายในร้านไซส์ใหญ่ ทำให้มีความหลากหลายของสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน (In-home Consumption) อย่างสินค้าแพ็คใหญ่ ที่เติบโตตั้งแต่ช่วงโควิดถึงปัจจจุบัน

นอกจากนี้ ร้าน 7-Eleven ยังเป็นจุดที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาหาซื้อสินค้าของที่ระลึกอีกด้วย ก่อนโควิด มีร้าน 7-Eleven ราว 1,000 สาขา ที่มีสินค้าของฝากสำหรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ เช่น สแน็คสาหร่าย ผลไม้อบแห้ง ลูกอม สมุนไพรไทย ยาดม หมอนยางพารา ปี 2566 หลังจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจีน กลับมาเดินทางอีกครั้ง น่าจะมีจับจ่ายสินค้าของฝากใน ร้าน 7-Eleven เพิ่มขึ้น

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

6. ร้านไซส์ใหญ่ จุดเติมสินค้า ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine)

อีกหนึ่งช่องทางขายสินค้าที่ 7-Eleven ให้ความสำคัญและลงทุนต่อเนื่อง คือ ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ที่ให้บริการจำหน่ายสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าในชีวิตประจำวัน เน้นติดตั้งให้บริการในชุมชน โรงงาน หรือที่พักอาศัย คอนโดมิเนียม โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนและช่วงเวลาที่หาของกินยาก เช่น กลางคืน ณ สิ้นปี 2564 ได้ขยายตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติไปแล้วกว่า 2,600 ตู้ทั่วประเทศ

จุดแข็งของตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ คือ การตั้งตู้จำหน่ายในทำเลที่มีศักยภาพ มีระบบแจ้งสินค้าขาด และมีพนักงานจากร้านสาขาที่อยู่ใกล้เคียงสามารถนำสินค้ามาเติมได้มากถึง 3 รอบต่อวัน ทำให้สินค้าในตู้มีความสดใหม่และหลากหลายอยู่เสมอ ดังนั้น ร้าน 7-Eleven ไซส์ใหญ่ สามารถสต็อกสินค้าและเติมให้กับตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติได้สะดวกและรวดเร็ว

7. ให้บริการสถานีชาร์จรถไฟฟ้า

การขยายร้าน 7-Eleven ไซส์ใหญ่มีที่จอดรถแบบสแตนด์อโลน เป้าหมายแรกคือ สร้างความสะดวกให้ลูกค้าและโอกาสการขายสินค้ามากขึ้น

ส่วนแผนต่อไปคือ คือการนำพื้นที่ขนาดใหญ่ มาสร้างรายได้ ตั้งแต่ปี 2564 ร้าน 7-Eleven ไซส์ใหญ่ ได้ร่วมมือกับ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด หรือ EA ติดตั้งสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า บริเวณหน้าร้าน เพื่อให้บริการชาร์จรถไฟฟ้า ซึ่งมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

แม้ธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อเชนสโตร์ จะมีผู้เล่นรายใหญ่อย่าง 7-Eleven ครองตลาดเบอร์หนึ่งด้วยจำนวนกว่า 13,800 สาขา แต่ก็มีคู่แข่งเข้ามาในตลาดนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายตัวของกลุ่มค้าปลีก เชนสโตร์ด้วยกัน แสดงให้เห็นว่าในตลาดนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้ และผู้บริโภคเองมีทางเลือกมากขึ้นด้วย

ภายใต้กลยุทธ์ All Convenience ของร้าน 7-Eleven ก็ยังวางเป้าหมายการเติบโตสวยงาม ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ในปี 2566

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like