HomeDigitalเปิดกลยุทธ์ GrabMart บนตลาด Quick Commerce ผู้ซื้อเป็นใคร ทำไม “ไข่-หมูสับ-มะนาว” ขายดี

เปิดกลยุทธ์ GrabMart บนตลาด Quick Commerce ผู้ซื้อเป็นใคร ทำไม “ไข่-หมูสับ-มะนาว” ขายดี

แชร์ :

grabmart

GrabMart เผยตลาด Quick Commerce เติบโตต่อเนื่อง ดันธุรกิจแกร็บมาร์ทในประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา โดยมีสินค้าขายดี 5 อันดับแรกได้แก่ ไข่ไก่, หมูสับ, มะนาว, แตงกวา และพวงมาลัย (ข้อมูลเดือนสิงหาคม 2022) และสามารถขายผลไม้ผ่านแพลตฟอร์มได้แล้วกว่า 5 ล้านกิโลกรัม ตั้งเป้าขยายพื้นที่ให้บริการต่างจังหวัดเพิ่ม

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

คุณจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด-พันธมิตรทางธุรกิจ และธุรกิจแกร็บมาร์ท แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “GrabMart ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับความนิยมและมีการเติบโตอย่างโดดเด่นต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการในประเทศไทยในช่วงไตรมาสสองของปี 2563 เนื่องจากเป็นบริการที่ช่วยตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่มองหาความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอยและความรวดเร็วในการจัดส่งแบบทันที ประกอบกับอิทธิพลจากสถานการณ์โควิดในช่วงสองปีที่ผ่านมาที่ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจ GrabMart ในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบัน GrabMart ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการใน 68 จังหวัด และมีร้านค้าพันธมิตรรวมกว่า 15,000 สาขา”

สอดคล้องกับรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ e-Conomy SEA Report 2021 ที่ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา (2564) ตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่ารวมสูงถึง 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตขึ้น 62% จากปีก่อนหน้า โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจดิจิทัล ซึ่งแม้ความนิยมใน Quick Commerce และมูลค่าตลาดจะยังไม่สามารถเทียบเท่ากับธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้ แต่ถือเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มของสดและของชำ (Online grocery) ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเข้าถึง (penetration rate) หรืออัตราการซื้อสินค้าประเภทนี้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพียง 2% เท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยหลักเมื่อต้องเลือกซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันแบบออนดีมานด์ นั่นคือ การมีสินค้าที่หลากหลายให้เลือกซื้อ, การจัดส่งที่รวดเร็ว และราคาที่เข้าถึงได้

ผู้ซื้อ GrabMart คือใคร

สำหรับบริการ GrabMart พบว่าปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วใน 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และเมียนมาร์ โดย 3 ประเทศที่ GrabMart ที่เติบโตโดดเด่น ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทย พบว่า มีสินค้าบนแพลตฟอร์มแล้ว 15 หมวดหมู่ คิดเป็นรายการสินค้ากว่า 180,000 รายการ จากร้านค้ากว่า 15,000 แห่ง และให้บริการแล้วใน 68 หัวเมืองทั่วประเทศ

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ใช้บริการ GrabMart พบว่า กว่าครึ่ง (54%) มีอายุระหว่าง 25 – 34 ปี นอกจากนั้นพบว่า 64% แต่งงานและมีลูกแล้ว 65% เป็นพนักงานออฟฟิศ โดยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการจำหน่ายสินค้าบน GrabMart ในช่วงที่ผ่านมาก็คือ ทางแพลตฟอร์มสามารถจำหน่ายชุดตรวจ ATK ได้กว่า 1.2 ล้านชุด (หรือเทียบเท่ากับ 2% ของประชากรไทย) โดยช่วงเวลาที่มีการสั่งซื้อสินค้าผ่าน GrabMart สูงสุดของวัน คือ 11.00 – 13.00 น. และ 17.00 – 19.00 น. ขณะที่เวลาเฉลี่ยในการจัดส่งสินค้าที่สั่งผ่านแกร็บมาร์ท คือ 25 นาที ซึ่งเร็วกว่าเวลาที่ใช้ในการเดินทางบนท้องถนนของกรุงเทพฯ ช่วงเช้าด้วย

เปิดกลยุทธ์ “คุ้ม ครบ คูล” ขยายฐานผู้ใช้

grabmart

คุณจันต์สุดา เผยด้วยว่า การสร้างการเติบโตของ GrabMart ในระยะต่อไป ต้องมาจากการเสริมความแข็งแกร่งใน 3 ด้าน คือ เรื่องของความคุ้มค่า (Affordability), การมีสินค้าให้ครบ – ครอบคลุมกับความต้องการในชีวิตประจำวัน (Wide Selection) และการพัฒนาประสบการณ์การใช้งานให้ดี หรือที่คุณจันต์สุดาบอกว่าตัวแอปต้อง “คูล” ด้วยนั่นเอง

“เรามีการพัฒนาเทคโนโลยี แอปพลิเคชัน ตลอดจนระบบการให้บริการและมาตรฐานการจัดส่งสินค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้ผู้ใช้บริการสามารถค้นหา เลือกซื้อ และสั่งสินค้าได้อย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น อาทิ การใช้ระบบ AI ในการนำเสนอดีลส่วนลดจากร้านค้าในรัศมีของผู้ใช้บริการ การจัดอันดับร้านค้าในแอปพลิเคชันตามคะแนนความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ และ การจัดให้มีไอคอนในแกร็บมาร์ทสำหรับประเภทสินค้าตามเทศกาล”

“นอกเหนือจากกลยุทธ์หลักใน 3 ด้าน Grab ยังเตรียมเดินหน้าขยายพันธมิตรและการเข้าถึงสินค้าไปยังกลุ่มร้านค้าขนาดเล็กมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ร้านโชว์ห่วย ร้านขายของชำในชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถใช้แพลตฟอร์มของ Grab ในการเข้าถึงฐานลูกค้าในวงกว้างขึ้น ช่วยเพิ่มยอดขายและขยายโอกาสในเชิงธุรกิจให้กับกลุ่ม MSMEs ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจ GrabForGood ที่มุ่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนในสังคม” คุณจันต์สุดา กล่าวทิ้งท้าย


แชร์ :

You may also like