HomeBrand Move !!ตรึงไม่ไหวขาดทุนแล้ว! 5 แบรนด์บะหมี่ฯ แจงต้นทุนพุ่ง ขอขึ้นราคา 8 บาท  แก้เกมหันไปขยายตลาดส่งออกแทน   

ตรึงไม่ไหวขาดทุนแล้ว! 5 แบรนด์บะหมี่ฯ แจงต้นทุนพุ่ง ขอขึ้นราคา 8 บาท  แก้เกมหันไปขยายตลาดส่งออกแทน   

แชร์ :

mama noodle

สถานการณ์ต้นทุนวัตถุดิบ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ขยับสูงตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะ “แป้งสาลี” จากราคา 250 บาทต่อถุง (ถุงละ 22.5 กิโลกรัม) ขึ้นราคาเป็นกว่า 500 บาทต่อถุง หรือ 100%  น้ำมันปาล์ม จาก 18 บาทต่อลิตร ล่าสุดอยู่ที่กว่า 50 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 300% แพ็คเกจจิ้งสูงขึ้น 20-30%  นอกจากนี้ยังมีต้นทุนค่าขนส่ง จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงก็ขยับขึ้น สาเหตุสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หลังจากผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทยอยยื่นปรับราคาสินค้าชนิดซอง 6 บาท ต่อกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ไปตั้งแต่ต้นปี แจกแจงต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ช่วงแรกเดือนมีนาคม ขอปรับขึ้น 1 บาท เป็นซองละ 7 บาท  แต่ราคาวัตถุดิบยังปรับขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จึงยื่นขอปรับราคาเป็นซองละ 8 บาท  เพิ่มขึ้น 2 บาทต่อซอง แต่ถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับอนุมัติจากกรมการค้าภายในให้ขึ้นราคา

5 แบรนด์บะหมี่ฯ รวมตัวครั้งแรกในรอบ 50ปี แจงต้นทุนพุ่ง

หลังจากกรมการค้าภายใน ยังไม่พิจารณาให้ขึ้นราคาบะหมี่ฯ จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้ประกอบการบะหมี่ฯ บอกว่าตอนนี้ สุดอั้นแล้ว สินค้าบางตัวเริ่ม “ขาดทุน”

วันนี้ (15 ส.ค.2565) จึงเห็นการรวมตัวครั้งประวัติศาสตร์ของ 5 แบรนด์ผู้ผลิตบะหมี่ฯ ในไทย ประกอบด้วย “มาม่า ไวไว ยำยำ นิชชิน และซื่อสัตย์” อยู่บนเวทีเดียวกันในรอบ 50 ปี (นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท มาม่าและไวไว) พร้อมตั้งโต๊ะแถลงข่าวแจกแจงต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้น จนไม่สามารถแบกไหว โดยทุกแบรนด์ยื่นขอกรมการค้าภายใน ปรับขึ้นราคาสินค้าซอง 6 บาท เพิ่มอีก 2 บาท เป็น 8 บาท

ถือเป็นการขอขึ้นราคาในรอบ 14 ปี ของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นับจากปี 2551 จากราคาซองละ 5 บาท เป็น 6 บาท (ก่อนหน้านั้นปรับราคาในปี 2540 มาเป็นซองละ 5 บาท เรียกว่ากว่า 10 ปี จึงขอปรับราคา)

mama yumyum waiwai

ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบะหมี่ฯ ทุกราย บอกเหมือนกันว่า สาเหตุที่ต้องขอปรับราคา มาจากวัตถุดิบหลัก “แป้งสาลีและน้ำมันปาล์ม” ที่เป็นต้นทุนหลัก 50-60% ของบะหมี่ฯ ขยับขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี และไม่มีแนวโน้มลดลงเหมือนการปรับขึ้นก่อนหน้านี้ในปี 2554  จากน้ำท่วมใหญ่ และปี 2557 จากวิกฤติแป้งสาลี ที่เป็นการปรับขึ้นและลดลงในที่สุด  แต่ครั้งนี้เป็นการปรับฐานของราคาวัตถุดิบแป้งสาลีและน้ำมันปาล์ม แบบขึ้นราคาเร็วแรง และไม่ลดลง

ทั้ง 5 แบรนด์บะหมี่ฯ ย้ำว่าครั้งนี้ถือเป็นวิกฤติต้นทุนรุนแรงที่สุดของทุกราย  

โอดสินค้าบางรายการเริ่มขาดทุนแล้ว 

สถานการณ์วัตถุดิบบะหมี่ฯ และค่าขนส่งเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี โดยไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ ทำให้ขณะนี้ บะหมี่ฯ ทุกแบรนด์เริ่ม “ขาดทุน” จากการผลิตสินค้าบางรายการ

คุณวีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายแบรนด์ “ไวไว” บอกว่าได้พยายามตรึงราคาสินค้ามาตั้งแต่ต้นปี ช่วงไตรมาสแรกบางเดือนสินค้าบางรายการขาย “ขาดทุน” จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมากกว่ากำไรที่มีอยู่  เพราะไวไวต้องแบกรับทั้งต้นทุนการผลิตและจัดจำหน่าย  จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นด้วย และอาจต้องเจอค่าแรงเพิ่มขึ้นอีกในเดือนตุลาคมนี้

“ในสถานการณ์นี้จึงอยากขอร้องให้กรมการค้าฯ พิจารณาให้ขึ้นราคาบะหมี่ฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่รอดได้”

ขณะนี้ ไวไว ใช้วิธีบริหารต้นทุนด้วยการลดโปรโมชั่น เพิ่มราคาขายส่งแทน แต่ก็ไม่สามารถช่วยได้มากนัก การทำตลาดในช่วงนี้จึงลดการขายในประเทศลง เพราะยิ่งขายเยอะยิ่งเจ็บตัว และไปเน้นขยายตลาดต่างประเทศที่สามารถปรับขึ้นราคาได้ตามวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นแทน  ปัจจุบันมีสัดส่วนส่งออกต่างประเทศ 30%

เช่นเดียวกับ คุณกิตติพศ ชาญภาวรกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทวันไทย อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด แบรนด์  “ยำยำ” ที่ย้ำว่าตอนนี้สินค้าบางรายการ “ขายเข้าเนื้อ” ทุกวัน และยังรอให้กรมการค้าฯ พิจารณาอนุมัติให้ขึ้นราคา รวมทั้งได้หันไปทำตลาดส่งออกมากขึ้น โดยมีการปรับขึ้นราคาไปแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2564 และ 2565  โดยเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์ขึ้นราคาเป็นตัวเลขสองหลัก ราคาขายสูงกว่าไทย 2 เท่าตัว ปัจจุบันยำยำ มีสัดส่วนส่งออก 25%

ทางด้าน คุณฮิจิริ ฟูกุโอกะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิชชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด แบรนด์ “นิชชิน” ซึ่งทำตลาดอยู่ในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ  จีน  อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์  บอกว่าราคาวัตถุดิบบะหมี่ฯ ปรับขึ้นเหมือนกันทั่วโลก แต่ในต่างประเทศ “ไม่มีการควบคุมราคา” สามารถปรับขึ้นราคาได้ตามต้นทุนจริง  และนิชชิน ได้ปรับขึ้นสินค้าส่งออกในต่างประเทศไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประมาณ 5-12% แต่สินค้าที่ทำตลาดในประเทศไทยยังไม่สามารถขึ้นราคาได้

คุณปริญญา สิทธิดำรง กรรมการ บริษัทโชคชัยพิบูล จำกัด แบรนด์ “ซื่อสัตย์” ในเครือสหพัฒน์  บอกเหมือนกันว่าขณะนี้สินค้าซอง 6 บาท “ขาดทุนจริงๆ” และต้องหันไปทำตลาดส่งออกเช่นเดียวกับแบรนด์อื่นๆ ปัจจุบันมีสัดส่วนส่งออก 50%

mama noodle at 7-11

“มาม่า” เป็นอีกแบรนด์ ที่บอกว่าต้นทุนสินค้าซอง 6 บาท เลยเพดานไปแล้ว นอกจากต้นทุนวัตถุดิบหลักๆ แป้งสาลี ที่ต้องนำเข้าทั้งหมด จึงมีต้นทุนเพิ่มขึ้นสูงโดยเฉพาะเมื่อเงินบาทอ่อนค่า น้ำมันปาล์ม ก็ขึ้นราคามาต่อเนื่อง นอกจากนี้ต้นทุนอาจจะเพิ่มขึ้นอีกในเดือนตุลาคม จากการปรับขึ้น “ค่าแรง”

วันนี้ “แค่ต้นทุนแป้งสาลีและน้ำมันปาล์ม ที่เพิ่มขึ้นมา” ก็เกิน 1 บาทต่อซองไปแล้ว จึงเป็นสาเหตุให้ยื่นขอขึ้นราคาอีกซองละ 2 บาท

ปัจจุบัน “มาม่า” เน้นทำตลาดส่งออกมากขึ้น เพราะเป็นตลาดที่แข่งขันเสรี สามารถปรับราคาได้ตามต้นทุนจริง “มาม่า ได้ปรับขึ้นราคาตลาดส่งออกไปแล้ว 2-3 ครั้ง”  ปัจจุบันสัดส่วนส่งออกขยับขึ้นมาต่อเนื่องจาก  24-25% เป็น 30% และมีโอกาสจะเพิ่มเป็น 40-50%

วันนี้แม้ทั้ง 5 แบรนด์บะหมี่ฯ ยังคงกำลังการผลิตเท่าเดิม เพียงแต่บางรายลด OT สินค้าที่ขายขาดทุน และหันไปทำตลาดส่งออกมากขึ้น ดังนั้นแม้กำลังการผลิตเท่าเดิม ก็มีโอกาสที่สินค้าขายในประเทศอาจลดลงเมื่อยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมา 

ยื่นหนังสือกรมฯพิจารณาขึ้นราคาอีกครั้ง

คุณพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักอำนวยการ บริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าหลังจากขึ้นเวทีชี้แจงต้นทุนราคาบะหมี่ฯ ร่วมกันในวันนี้แล้ว พรุ่งนี้ (16 ส.ค.2565) ผู้ผลิตบะหมี่ฯ จะไปยื่นหนังสือต่อกรมการค้าภายใน เร่งรัดให้พิจารณาการขอขึ้นราคาบะหมี่ฯ อีกครั้ง  โดยต้องการให้ชี้แจงเหตุผลของการพิจารณาว่ากรมฯ จะตัดสินใจไปในทิศทางใด

“หากกรมฯ ยังนิ่ง ไม่พิจารณา หรือไม่ให้ปรับราคา เราก็คงต้องทนต่อไป โดยต้องหาทางบริหารต้นทุน เพราะต้องรับผิดชอบต่อพนักงาน ผู้ถือหุ้นเช่นกัน หรือหากกรมฯ ให้ขึ้นราคา 7 บาท ก็จะเดินหน้าขอขึ้นเป็น 8 บาทต่อไป”  

ปัจจุบันตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่าราว 18,000 ล้านบาท โดยมีสินค้าชนิดซอง 6 บาท จัดอยู่ในตลาดแมส ครองสัดส่วน 80% และพรีเมียม ที่มีหลากหลายราคา ตั้งแต่ 9 บาท ไปถึง 15 บาท และแบบคัพ 20 บาท สัดส่วนอีก 20%

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นหนึ่งในสินค้าควบคุมราคา มักถูกใช้เป็นตัวชี้วัดดัชนีเศรษฐกิจที่จะส่งผลต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะสินค้าหลักซอง 6 บาท จะมีการพิจารณาการขอขึ้นราคาอย่างเข้มงวด ส่วนบรรจุภัณฑ์ ขนาดอื่นๆ  ที่ราคาสูงกว่า 6 บาท ก็ต้องเสนอขอปรับราคาเช่นกัน รวมทั้งสินค้าใหม่ โดยต้องได้รับการอนุมัติราคาจากกรมการค้าภายในก่อนถึงสามารถจำหน่ายได้ ไม่เช่นนั้นจะผิดกฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like