HomeBrand Move !!“เบน ลิน” ผู้บริหารใหม่ “Lalamove” กับเป้าหมายสุดท้าทาย เป็นแพลตฟอร์มแรกที่ “ทำกำไร” ได้ในธุรกิจ On-Demand Logistics

“เบน ลิน” ผู้บริหารใหม่ “Lalamove” กับเป้าหมายสุดท้าทาย เป็นแพลตฟอร์มแรกที่ “ทำกำไร” ได้ในธุรกิจ On-Demand Logistics

แชร์ :

lalamove

หลังจากเปิดตัวในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2556 และเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงใน Ecosystem ของธุรกิจ Delivery มาหลากหลายสถานการณ์ ล่าสุด ลาลามูฟ ประเทศไทย (Lalamove) ประกาศเคลื่อนทัพใหญ่อีกครั้ง พร้อมเปิดตัวกรรมการผู้จัดการคนใหม่ นั่นคือคุณเบน ลิน ที่มากับแผนบุกตลาด On-Demand Logistics มูลค่า 7.3 แสนล้านบาทของไทย ด้วยเป้าการเติบโตที่สูงถึง 50%

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

อะไรที่ลาลามูฟมองหาในตลาดขนส่งสินค้าไทย

สำหรับภาพรวมของลาลามูฟนั้น ปัจจุบัน บริษัทมีการให้บริการแล้วใน 30 เมืองทั่วภูมิภาคเอเชียและละตินอเมริกา โดยมีคนขับอิสระในระบบกว่า 1.5 ล้านคน และผู้ใช้งานกว่า 8 ล้านแอคเคาน์ทั่วโลก โดยลาลามูฟเผยว่า สามารถให้บริการขนส่งสินค้าสำเร็จแล้วกว่า 200 ล้านครั้ง

ส่วนการเติบโต 50% ที่ลาลามูฟคาดหวัง และประกาศไว้ด้านบนนั้นคุณเบน ลิน เผยให้เห็นภาพรวมว่า พบการเติบโตในธุรกิจ Food Delivery ราว 10 – 15% (YoY) เช่นเดียวกับธุรกิจ Shared Mobility ที่เติบโต 15% (YoY) เช่นกัน

อย่างไรก็ดี ความท้าทายของตลาดนี้ก็คือ การมี Fixed Cost ที่ค่อนข้างสูง ทั้งในด้านตัวรถยนต์ และค่าใช้จ่ายด้านกำลังคน – พนักงาน อีกทั้งยังเป็นตลาดที่ต้องใช้การทำโปรโมชัน – ส่วนลดต่าง ๆ มาดึงดูดใจลูกค้าอย่างต่อเนื่องจึงจะสามารถเติบโตได้ด้วย

ลาลามูฟ เบน ลิน กรรมการผู้จัดการ 01

คุณเบน ลิน กรรมการผู้จัดการ ลาลามูฟ ประเทศไทย

On-Demand Logistic กับโอกาสที่มีมากกว่า

การขยับมาสู่ธุรกิจ On-Demand Logistics จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า โดยลาลามูฟพบว่า ในตลาดดังกล่าว มีการใช้งานเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่หลายคนเริ่มมีธุรกิจของตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย และกลุ่ม SME นั่นจึงทำให้ลาลามูฟประกาศกลยุทธ์ปี 2022 สู่การเป็นแพลตฟอร์ม On-Demand Logistics โดยโฟกัสที่ Last-Mile Logistics กับ Mid-Mile Logistics 

หมายเหตุ : รูปแบบการจัดส่งสินค้าประกอบด้วย 3 ระดับ นั่นคือ

  1. First-Mile Logistics เป็นการจัดส่งสินค้าจากโรงงานผลิตไปยังศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่
  2. Mid-Mile Logistics การจัดส่งสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ไปสู่ศูนย์กระจายสินค้าขนาดเล็ก – โกดัง – เอาท์เล็ตต่าง ๆ
  3. Last-Mile Logistics เป็นการจัดส่งขั้นสุดท้าย จากศูนย์กระจายสินค้ารายย่อยให้ถึงมือผู้บริโภค

“เราตั้งใจขยายธุรกิจให้ครอบคลุมจาก Last-Mile Logistics ไปจนถึง Mid-Mile Logistics เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม  ตั้งแต่กลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ไปจนถึงกลุ่มองค์กร”

คุณเบน ลินยังบอกด้วยว่า ตั้งเป้าขยายการเติบโตในปีนี้ไว้ที่ 50% ต่อปี และคาดหวังว่าจะเป็นแพลตฟอร์มแรกในประเทศไทยที่สามารถทำกำไรได้ด้วย

เพิ่มรถขนส่งขนาดใหญ่

หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของลาลามูฟ ประเทศไทย ในปีนี้คือการเพิ่มประเภทยานพาหนะขนาดใหญ่อีก 4 ประเภท ได้แก่ รถ SUV, รถซีดาน, รถ Hatchback และรถบรรทุกขนาดใหญ่ ทำให้ในภาพรวม ลาลามูฟมีรถให้บริการ 7 ชนิด ครอบคลุมตั้งแต่สองล้อไปจนถึงรถขนส่งขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นแต้มต่อในตลาด On-Demand Logistics สำหรับลูกค้าในการเลือกใช้บริการ

คุณเบน ลิน กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การขยายการให้บริการรถที่มีขนาดใหญ่ขึ้นนี้ ทำให้ลาลามูฟ และคนขับอิสระมีโอกาสในการทำรายได้เพิ่มขึ้นด้วย เมื่อเทียบกับรายได้จากบริการรถสองล้อที่อาจไม่มากเท่าไร

ทั้งนี้ แต่ละประเทศที่ลาลามูฟให้บริการมีรถในแพลตฟอร์มแตกต่างกัน เช่น ในสิงคโปร์ หรือฮ่องกง เป็นพื้นที่ที่ไม่มีรถจักรยานยนต์ให้บริการเลย แต่มีในส่วนของรถตู้ให้บริการแทน เป็นต้น

นอกจากนี้ ทางแพลตฟอร์มยังขยายรูปแบบให้บริการเพิ่มขึ้น เช่น การเช่ารถพร้อมคนขับทั้งวัน (Full day rental), บริการจัดส่งสินค้าแบบกำหนดเวลา (Scheduled Delivery) และบริการจัดส่งพัสดุ (Courier) ส่วนในแอปพลิเคชัน ลูกค้าสามารถระบุคนขับที่ชื่นชอบได้ (เช่น อาจเคยใช้บริการขนส่งเป็นประจำ) เมื่อลูกค้ากดออเดอร์ใหม่ ระบบก็จะแสดงผลคนขับที่ลูกค้าชื่นชอบขึ้นมาก่อน เป็นต้น, ฟีเจอร์ช่วยค้นหาคนขับในระยะกว้าง, ติดตามการจัดส่งผ่าน GPS แบบเรียลไทม์, การจัดส่งแบบหลายจุด, การมีเครื่องมือทางบัญชีให้ธุรกิจได้ใช้ และการเชื่อมต่อ API กับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ฯลฯ

ขยายตลาดต่างจังหวัดเพิ่ม

สำหรับการบุกตลาดต่างจังหวัด คุณเบน ลินเผยกลยุทธ์ว่า จะไม่ใช่การบุกตลาดแบบปูพรม แต่จะเปิดตัวทีละจังหวัด และจังหวัดที่จะเปิดให้บริการนั้น ต้องสามารถให้บริการเชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ ได้อย่างแข็งแกร่งด้วย นั่นคือต้องสร้างให้การขนส่งภายในเมือง (Intra-city) และการขนส่งแบบข้ามเมือง (Inter-City) ไปด้วยกัน เมื่อทำได้สำเร็จแล้วจึงจะขยายไปจังหวัดต่อไป

lalamove billkin

ตั้ง “บิวกิ้น” เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ไทยคนแรก

การสื่อสารถึงการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจอีกข้อหนึ่งคือการตั้งแบรนด์แอมบาสเดอร์คนแรกของประเทศไทย นั่นคือ “บิวกิ้น – พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล” โดยผู้บริหารลาลามูฟ ให้ความเห็นว่า เขาเป็นคนที่มีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจน สามารถเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ได้ดี โดยเฉพาะวัยรุ่นที่อยากมีธุรกิจของตัวเอง เพราะบิวกิ้นก็เป็นนักธุรกิจ

ทั้งนี้ คุณเบน ลิน เผยว่า ลาลามูฟในปัจจุบันมีอัตราการเติบโตด้านตัวเลขผู้ใช้งานแพลตฟอร์มเฉลี่ยต่อเดือน 5 – 10% โดยมีทั้งกลุ่ม B2C และ B2B ส่งผลให้ในครึ่งปีแรกของ 2565 บริษัทสามารถเติบโตได้ 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ อย่างไรก็ดี ในอนาคต ทางลาลามูฟเยผว่าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากกลุ่ม B2B ให้เป็น 30% ของรายได้รวมด้วย

“ในปี 2565 เราตั้งในขยายธุรกิจให้ครอบคลุมตั้งแต่ Last-Mile Logistics ไปจนถึง Mid-Mile Logistics และขยายพื้นที่ให้บริการไปยังจังหวัดต่าง ๆ ภายในสองปี โดยเติบโตที่ 50% ต่อปี ซึ่งจะทำให้เราเป็นแพลตฟอร์มแรกในประเทศไทยที่สามารถทำกำไรได้” คุณเบน ลิน กล่าวทิ้งท้าย


แชร์ :

You may also like