HomeStartupจุฬาฯ เปิด Club Chula Spin-off ปั้นงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

จุฬาฯ เปิด Club Chula Spin-off ปั้นงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

แชร์ :

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การส่งออกและการท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย กระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของวิกฤติโควิด-19 และลากยาวมาถึงปัจจุบัน ฉุดเศรษฐกิจหดตัวอย่างหนัก จึงทำให้ลำพังเครื่องยนต์เศรษฐกิจเดิมที่มีอยู่ไม่พออีกต่อไป เพราะถึงแม้วันนี้ประเทศไทยจะเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวให้เข้าประเทศได้ แต่ยังต้องใช้เวลา ในขณะที่ภาคการส่งออกแม้จะกลับมาเติบโตเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สามารถชดเชยกับรายได้ที่หายไปได้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โจทย์ใหญ่ของประเทศตอนนี้จึงต้องมี “New Growth Engine” หรือ “เครื่องยนต์ตัวใหม่” ที่จะเข้ามาฟื้นเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถของไทยให้แข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ในระยะยาว ซึ่งหนึ่งในเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ที่ว่านี้ก็คือ การแปลง “งานวิจัย” เป็น “นวัตกรรม” สู่การใช้งานได้จริง

จากหิ้งสู่ห้าง เครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนศก.ไทย

เมื่อพูดถึง “งานวิจัย” หลายคนจะมองว่างานวิจัยไทยส่วนใหญ่นั้นอยู่บนหิ้ง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่างานวิจัยของไทยมีจำนวนมาก แต่กลับไม่ได้นำมาสร้างเป็นนวัตกรรมและสร้างประโยชน์ให้กับสังคมจริงๆ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุมาจากการตั้งโจทย์งานวิจัย ซึ่งในอดีตมักจะเริ่มต้นจากนักวิจัยมากกว่าการมองที่ Pain Point ของผู้ใช้งาน

นั่นจึงเป็นที่มาของการเปิด “Club Chula Spin-off” ของ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ที่นอกจากจะเป็นที่รวมกลุ่มของเหล่า Deep Tech Startup ด้านงานวิจัยหลากหลายสาขาแล้ว ยังเป็นเสมือนพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้นักวิจัยมาแชร์ประสบการณ์การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมให้สามารถตอบความต้องการของภาคธุรกิจได้จริง เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ต่อไป

“ในอดีตบทบาทของมหาวิทยาลัยมี 3 เรื่องหลักๆ คือ สร้างคน สร้างองค์ความรู้ และพัฒนาอาจารย์ นักศึกษาให้สามารถนำความรู้นวัตกรรมไปช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติ แต่วันนี้บทบาทของมหาวิทยาลัยจะต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอกมากขึ้น พร้อมทั้งลองสิ่งใหม่ๆ และสร้างคุณค่าให้สังคมพึ่งพาได้” ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ย้ำบทบาทของมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนไป

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจฬาฯ

โดย Club Chula Spin-Off จะเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนและสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อสังคมไทยและประเทศชาติจากการนำผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยจุฬาฯ หลากหลายสาขามาสปินออฟ แปลงความรู้เป็นนวัตกรรมสู่การใช้งานจริง ซึ่งจะช่วยปลดล็อกการพัฒนางานวิจัย และทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตยั่งยืน โดยมี บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 นำทีมสปินออฟ และปัจจุบันยังมีสตาร์ทอัพที่พร้อมสปินออฟอีกกว่า 50 บริษัท ไม่ว่าจะเป็น Haxter Robotics ผลิตหุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วย, MINEED สร้างนวัตกรรมนำส่งยาที่ละลายและซึมผ่านผิวหนัง, Nabsolute พัฒนาสเปรย์เพิ่มประสิทธิภาพหน้ากากผ้าป้องกันฝุ่น PM2.5, Tann D Innofood สร้างนวัตกรรมเส้นโปรตีนไข่ขาวเพื่อคนรักสุขภาพ และ Herb Guardian วิจัยพัฒนานวัตกรรมสเปรย์ฉีดพ่นลดฝุ่นละออง PM2.5 โดยคิดเป็นมูลค่าตลาดรวมกว่า 1.67 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้ามูลค่าตลาดขยายตัวต่อเนื่องเป็น 50,000 ล้านบาท ใน 3 ปี

จากงานวิจัยนาโน สู่บริการสังเคราะห์นาโน สร้างรายได้กว่า 100 ล้าน

บริษัท นาอีฟ อินโนว่า จำกัด ผู้ให้บริการสังเคราะห์สารนาโนเพื่อให้สารต่างๆ ซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันสามารถพัฒนานาโนเทคโนโลยีไปใช้ในผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการได้ 10 โครงการแล้ว คิดเป็นมูลค่ากว่า 25 ล้านบาท โดยจุดเริ่มในการเข้าร่วมกับ Club Chula Spin-off ดร.ธีรพงศ์ ยะทา คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ และผู้ก่อตั้ง นาอีฟ อินโนว่า เล่าว่า ก่อนหน้านี้เป็นอาจารย์ทำงานวิจัย กระทั่งในปี 2562 หลังจากได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ แต่หลายคนก็ถามว่ามีงานวิจัยไหนที่ออกมาสู่ตลาดแล้วบ้าง คำถามนั้นทำให้รู้สึกสะเทือนใจ

ประกอบกับช่วงนั้นจุฬาฯ เริ่มเปิดโอกาสให้สามารถนำงานวิจัยมาต่อยอดสู่ภายนอก จึงเข้าร่วมกับ Club Chula Spin-off กระทั่งก่อตั้งบริษัทและเกิดโมเดลความร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยเพื่อนำเทคโนโลยีนาโนนี้ไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการอีก 40 โครงการ หากทำได้ครบจะสามารถสร้างมูลค่าได้กว่า 100 ล้านบาท

นวัตกรรมช่วย “ด่านหน้า” สู้โควิด-19

บริษัท เอนจิน ไลฟ์ จำกัด เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่นำงานวิจัยมาสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ รศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เล่าที่มาของธุรกิจว่า เดิมเป็นอาจารย์ชอบทำงานวิจัยโดยนำความรู้ด้านวิศวกรรมทางการแพทย์มาสร้างสรรค์นวัตกรรมและเครื่องมือทางการแพทย์อยู่แล้ว จึงได้เปิดบริษัท เอน จิน ไลฟ์ จำกัด เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่คนไทยนำไปใช้ในทางการแพทย์

กระทั่งเกิดสถานการณ์โควิด-19 จึงอยากนำความรู้มาพัฒนานวัตกรรมช่วยเหลือประเทศ จากจุดนี้จึงลงมือค้นหา Pain Point หรือปัญหาที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องเจอเพื่อนำมากลับพัฒนา จนกระทั่งออกมาเป็นตู้ความดันบวกเคลื่อนที่ได้ จากนั้นก็พัฒนารถตรวจโควิด-19 ที่ทราบผลภายใน 3 ชั่วโมง ไปจนถึงหุ่นยนต์ที่สามารถดึงวัคซีนได้แม่นยำเพื่อลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งในปัจจุบันบริษัทมีการเช็คฟีดแบกการใช้งานกับบุคลากรทางการแพทย์ต่อเนื่องเพื่อนำมาปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดีขึ้น และไม่ใช่แค่นวัตกรรมสำหรับโควิด-19 แต่บริษัทยังมีอีกหลายโปรเจคที่สามารถนำความรู้ทางวิศวกรรมมาช่วยงานด้านการแพทย์ได้ เพราะมองว่าหากไทยต้องการจะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์จำเป็นจะต้องมีการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์อีกหลากหลาย ซึ่งจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ

แปลงความรู้เป็นนวัตกรรม แก้ปัญหาฝุ่น

บริษัท เฮิร์บ การ์เดียน อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่แจ้งเกิดจากงานวิจัย .ภญ.ดร.ร.ต.อ.หญิง สุชาดา สุขหร่อง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ บริษัท เฮิร์บ การ์เดียน เล่าว่า เดิมทีต้องการก่อตั้งบริษัทเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมจากสมุนไพร แต่ด้วยความเป็นเภสัชกร เมื่อเห็นฝุ่นลอยในอากาศ จึงอยากช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เลยคิดกระบวนการต่างๆ ขึ้นจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ “Phytfoon” ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการมาขอใช้สิทธิ์ในการทำตลาดแล้ว 4 ปี อีกทั้งยังมีการทำ “จุฬาฟ้าใส” ด้วยการใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญจากอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ร่วมกับเภสัชศาสตร์ในการจัดการปัญหาฝุ่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ

เส้นโปรตีนจากไข่ขาว นวัตกรรมคืนรอยยิ้มให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ

บริษัท ทานดี อินโนฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตเส้นโปรตีนจากไข่ขาว อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่นำความรู้มาแปลงเป็นนวัตกรรมจนโดนใจคนรักสุขภาพ ผศ.ดร.สถาพร งามอุโฆษ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ และผู้ก่อตั้ง บริษัท ทานดี อินโนฟู้ด จำกัด เล่าที่มาว่า ด้วยความเป็นทีมโภชนาการและการกำหนดอาหาร ทำให้เห็นปัญหาในการทานโปรตีนของผู้บริโภคหลายกลุ่ม ทั้งคนอ้วน ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยมะเร็ง โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องทานไข่ขาว 6 ฟองทุกวันตลอดชีวิต จึงอาจจะรู้สึกเบื่อและไม่ไม่อยากทาน จึงคิดค้นนวัตกรรมที่จะทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้สามารถทานไข่ขาวได้อย่างมีความสุข และอิ่มท้องในแบบที่คุ้นเคย ด้วยการนำไข่ขาวมาทรานส์ฟอร์มเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นอุดงต่างๆ ที่ให้เนื้อสัมผัสเหมือนกับทานเส้นก๋วยเตี๋ยวที่มาจากแป้ง

ปัจจุบันนอกจากเส้นโปรตีนจากไข่ขาวจะวางจำหน่ายในประเทศแล้ว บริษัทยังพัฒนาแบรนด์ “Ekky Day” เพื่อทำตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายรายจากทั่วโลกติดต่อเข้ามาและอยากจะนำเอาผลิตภัณฑ์นี้ไปต่อยอดเชิงพาณิชย์

“การนำงานวิจัยมาต่อยอดและพัฒนามาเป็นนวัตกรรมต่างๆ ทำให้นิสิตเห็นว่าสิ่งที่เขาคิดค้นเพื่อแก้ไขปัญหาสามารถจะสร้างประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้คนรุ่นใหม่อยากพัฒนานวัตกรรมต่อยอดเชิงพาณิชย์ ทั้งยังเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศได้”


แชร์ :

You may also like