HomeBig Featured“KLOUD by KBank” กำเนิดอาคารสายกรีนใจกลางสยามกับ 7 เรื่องราวรักษ์โลกที่สร้างจาก “ตึก”

“KLOUD by KBank” กำเนิดอาคารสายกรีนใจกลางสยามกับ 7 เรื่องราวรักษ์โลกที่สร้างจาก “ตึก”

แชร์ :

kloud by kbank

KLOUD by KBank

เปิดตัวแล้วอย่างเป็นทางการสำหรับ KLOUD by KBank ตึกสายกรีนใจกลางสยามสแควร์ของธนาคารกสิกรไทย ที่ภายในมาพร้อมเทคโนโลยีมากมายในการรักษาสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงานได้ แถมยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกหลาย ๆ อย่างที่เปิดให้บุคคลทั่วไป หรือผู้ประกอบการรายย่อยได้ใช้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายอีกด้วย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

จุดกำเนิดของตึกแห่งนี้ มาจากความร่วมมือกันของ 6 องค์กรยักษ์ใหญ่ ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC, บริษัท ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยทั้ง 6 พาร์ทเนอร์มีการนำองค์ความรู้ – เทคโนโลยีของตนเองเข้ามาติดตั้งอยู่ภายในอาคาร และทำให้ตัวอาคารแห่งนี้ กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบด้านการประหยัดพลังงาน รวมถึงสามารถลดการสร้างขยะให้กับโลกได้สำเร็จ

สำหรับการใช้งานตัวอาคาร จะแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่ ชั้น 1 – 2 เป็นส่วนการให้บริการด้านการเงินของธนาคารกสิกรไทย – ร้านกาแฟของ Class Cafe และส่วน Wisdom ขณะที่ชั้น 3 – 4 เปิดให้บุคคลทั่วไป นิสิตนักศึกษา สามารถเข้ามาใช้งานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยความพิเศษที่ทำให้ KLOUD by KBank กลายเป็นอาคารสายกรีนอัจฉริยะ มีดังต่อไปนี้

ตึกที่มีระบบรีไซเคิล คัดแยกขยะ และ Upcycling แฝงในทุกอณู

kloud by kbank

ตู้คัดแยกขยะภายนอกตัวอาคารของทาง GC

แนวคิดด้านการคัดแยกขยะถือเป็นจุดที่เห็นได้ชัดทั้งจากภายนอกและภายในอาคาร โดยภายนอกจะพบว่ามีตู้ Upcycling ของทาง GC ตั้งอยู่ให้เรานำขยะประเภทที่กำหนดไปหย่อนได้ และเมื่อเข้ามาภายในตัวตึกจะพบว่ามีถังคัดแยกขยะเตรียมไว้ให้ถึง 7 ประเภทในแทบทุกชั้น พร้อมข้อความที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า แต่ละถังเตรียมไว้สำหรับขยะรีไซเคิลประเภทใด ซึ่งทั้งหมดนี้คือแพลตฟอร์ม “YOUเทิร์น” ของทาง GC นั่นเอง

kloud by kbank

จุดคัดแยกขยะที่ตั้งอยู่ในชั้นต่าง ๆ ของอาคาร

สำหรับการทำงานของแพลตฟอร์ม YOUเทิร์นนั้น จะครอบคลุมตั้งแต่การคัดแยกขยะที่ต้นทาง มีเครื่องย่อยเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยชีวภาพ และมีตู้รับคืนขวดพลาสติก รวมถึงมีระบบการเข้ารับ จัดเก็บ และนำขยะรีไซเคิลเหล่านั้นไป Upcycling เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ต่อไป

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ  Upcycling Wall Decoration หรือการตกแต่งผนังภายในอาคารด้วยวัสดุที่ผ่านการ Upcycling แล้ว และยังมีตู้แลกของรางวัลที่เป็นสินค้า Upcycling by GC อาทิ เสื้อผ้า กระเป๋า เฟอร์นิเจอร์ และของใช้ต่าง ๆ ซึ่งการจัดการขยะดังกล่าวเป็นหนึ่งในเป้าหมายของทางตึก KLOUD by KBank ด้าน Zero waste to landfill และธนาคารกสิกรไทยยังระบุว่า ความสามารถในการคัดแยกขยะของตึก KLOUD นี้ ทำให้ไม่มีขยะเหลือทิ้งกลับคืนสู่พื้นที่ทิ้งขยะของหน่วยงานกรุงเทพมหานครอีกด้วย

ตึกที่ลดการใช้น้ำได้ 52%

kloud by kbank

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือการที่ธนาคารกสิกรไทยบอกว่า ภายในตึก KLOUD มีการใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำที่สามารถลดการใช้น้ำภายในอาคาร เมื่อเทียบกับ Baseline water consumption โดยพบว่าสามารถลดลงได้ถึง 52% นอกจากนี้มีการออกแบบระบบและติดตั้งมิเตอร์วัดการใช้น้ำเป็น 2 ส่วน แยกระหว่างมิเตอร์การใช้น้ำสำหรับสุขภัณฑ์ก็อกน้ำภายในอาคาร และมิเตอร์สำหรับร้านกาแฟภายในอาคาร จึงสามารถบริหารจัดการการใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตึกที่มาพร้อมเทคโนโลยีลดความร้อนบนหลังคา

KLOUD-solar roof

ด้านบนของอาคารติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

ด้านบนของ KLOUD by KBank ยังมาพร้อมแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งมีกำลังผลิตที่ 45,000 kHw ต่อปี และนำกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้มาใช้ในตัวอาคาร นอกจากนั้น ยังมีการใช้วัสดุหลังคาที่มีค่า SRI (Solar Reflectance Index) สูง เพื่อลดการสะสมความร้อนบนพื้นผิวหลังคา โดยข้อมูลจาก U.S. Environmental Protection Agency พบว่าการเลือกใช้วัสดุหลังคาแบบ High reflective roof จะช่วยให้หลังคามีอุณหภูมิต่ำกว่าหลังคาทั่วไปถึง 28-33 องศาเซลเซียส และสามารถลดสภาวะเกาะร้อน (Heat Island Effect) ที่มักเกิดในโครงการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองที่มีความหนาแน่นสูงได้

ส่วนการใช้ไฟฟ้าของตัวอาคารที่นอกเหนือจากแผงโซลาร์เซลล์จะผลิตได้ ทางธนาคารกสิกรไทยมีการซื้อใบรับรองสิทธิการเป็นผู้ใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานสะอาด (Renewable Energy Certificate หรือ REC) เพิ่มเติม

ตึกที่ให้บริการ Co-Working Space แบบไม่มีค่าใช้จ่ายใจกลางสยาม

KLOUD-co working space

พื้นที่บริเวณชั้น 3 – 4 ของตึก KLOUD เปิดเป็น Co-Working Space ที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใช้งานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สำหรับการเข้าใช้งานพื้นที่ Co-Working Space ของตึก KLOUD นั้นต้องบอกว่าน่าสนใจมาก เพราะจะเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสแกน QR Code ที่หน้าประตูทางเข้า หรือการจองใช้สิ่งอำนวยความสะดวกภายในตัวอาคารก็เป็นระบบดิจิทัลทั้งหมดเช่นกัน

ผู้ที่สนใจเข้าใช้งานต้องทำการเพิ่มเพื่อน Line: @KLOUDbyKBank และยืนยันตัวตนผ่าน K PLUS ก่อน จากนั้นจะสามารถใช้ QR Code เพื่อสแกนเข้าตึก ใช้ลิฟท์ จองที่นั่ง และห้องประชุมต่าง ๆ ได้ โดยรูปแบบการจองมีทั้งแบบโต๊ะทำงาน (ทั้งแบบนั่งเดี่ยว นั่งกลุ่ม หรือมากับเพื่อนกับห้องประชุมในรูปแบบส่วนตัว) นอกจากนั้นยังสามารถจองคลาสเรียน หรือจะจัดอีเวนต์ นั่งบนอัฒจันทร์ (Amphitheatre) ก็ได้เช่นกัน รวมถึงมีตู้ Vending Machine ขายขนม เครื่องดื่ม ให้บริการภายในตัวอาคารด้วย

ตึกที่มาพร้อมแพลตฟอร์มบริหารจัดการอาคารอัจฉริยะ

kloud by kbank

แพลตฟอร์มบริหารจัดการอาคารอัจฉริยะ

นอกจากให้บริการอินเทอร์เน็ตกับผู้ใช้งานในตึกแล้ว การติดตั้งเครือข่ายของ AIS  ยังทำให้ตัวอาคารรองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT ต่าง ๆ ได้ ซึ่งช่วยในแง่ของการวิเคราะห์สภาพความเป็นไปภายในตัวตึก ไม่ว่าจะเป็น สภาพอากาศ ความหนาแน่นของผู้คนในตึก การใช้ Facilities ต่าง ๆ ฯลฯ ได้ และช่วยในการบริหารจัดการตัวตึกได้อีกทางหนึ่ง

ขณะที่ในด้านการสร้างอาคาร KLOUD by KBank ทาง SCG มีการนำเทคโนโลยีการสร้างอาคารอัจฉริยะ SCG HVAC Air Scrubber ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้อาคารประหยัดพลังงานได้สูงสุดถึง 20% พร้อมระบบบำบัดมลพิษและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และติดตั้งระบบ SCG Bi-ion ที่ช่วยกำจัดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ถึง 99% เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจในอากาศที่สะอาดปลอดภัยยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น โครงการ KLOUD by KBank ยังได้รับการรับรองมาตรฐานอาคาร LEED และ Fitwel ซึ่งแสดงถึงเป้าหมายในการทำให้อาคารสามารถประหยัดพลังงานไปพร้อม ๆ กับการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับผู้ใช้งานอาคารด้วยนั่นเอง

ตึกที่มีจอดิจิทัลช่วยผู้ประกอบการรายย่อย

KLOUD-จอดิจิทัลด้านหน้าของตึก KLOUD by KBank มาพร้อมจอดิจิทัล 3 มิติ ที่ธนาคารกสิกรไทยบอกว่า จะใช้พื้นที่ดังกล่าวช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยให้มีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น ภายใต้ชื่อโครงการ “KLOUD TOP PICKS” โดยธนาคารมองว่า ผู้ประกอบการรายย่อยอาจจะไม่มีกำลังในการซื้อสื่อโฆษณาในสยามสแควร์มากนัก การเปิดพื้นที่ดังกล่าวช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้มีพื้นที่ในการโชว์สินค้าและบริการของตัวเอง เพื่อสร้างการเป็นที่รู้จัก เพิ่มโอกาสในการขายได้มากยิ่งขึ้น

ตึกที่ตั้งใจกลางสยาม เดินทางสะดวก

ความพิเศษสุดท้ายของตึก KLOUD by KBank อาจเป็นเรื่องทำเลที่ตั้งที่อยู่ใจกลางเมือง และสามารถเดินทางมาได้โดยสะดวกจากระบบขนส่งสาธารณะ ทั้ง BTS, รถประจำทาง ฯลฯ ซึ่งธนาคารกสิกรไทยระบุว่า สามารถรองรับการเดินทางมากกว่า 1,300 ทริปต่อวัน

 


แชร์ :

You may also like