HomeInsight20 แนวโน้มตลาดงานปี ’64 – ’65 “จ้างงานลดลง-เงินเดือนสำคัญกว่า Work-Life Balance-ต้อง Upskill-Reskill”

20 แนวโน้มตลาดงานปี ’64 – ’65 “จ้างงานลดลง-เงินเดือนสำคัญกว่า Work-Life Balance-ต้อง Upskill-Reskill”

แชร์ :

Job Trend Insights

Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

การเกิดขึ้นของสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อตลาดงานอย่างรุนแรง ทั้งในส่วนของบริษัทผู้จ้าง และในส่วนของคนทำงาน – นักศึกษาจบใหม่ที่กำลังเข้าสู่ตลาดงาน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

JobsDB” (จ๊อบส์ ดีบี) ได้เปิดรายงานสถานการณ์ตลาดแรงงานไทยปี 2564 พร้อมคาดการณ์ปี 2565 และผลสำรวจ “ถอดรหัสลับ จับทิศทางความต้องการคนทำงานยุคใหม่” (Global Talent Survey) ที่เป็นความร่วมมือกับ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) และ เดอะ เน็ตเวิร์ก (The Network)

การเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในไทย และความต้องการของคนทำงาน สรุปออกมาเป็น 20 แนวโน้มดังนี้

1. อัตราการว่างงานในไทยพุ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี

ไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 อัตราการว่างงานรายไตรมาสในประเทศไทยสูงสุดเมื่อเทียบกับ 5 ปีย้อนหลัง และสูงที่สุดตั้งแต่เกิดวิกฤต COVID-19 อยู่ที่ 1.96% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่ผ่านมาทั้งก่อนเกิดการแพร่ระบาด และในปีที่แล้ว อัตราการว่างงานในประเทศไทยอยู่ที่โดยเฉลี่ย 1%

JobsDB

2. COVID-19 ระลอก 4 กระทบการประกาศงานบนออนไลน์ลดลง 48% ภาพสะท้อนริษัทชะลอการจ้างงาน

ทิศทางการประกาศงานบนออนไลน์ในประเทศไทย นับตั้งแต่เกิด COVID-19 ระลอกแรกช่วงเดือนมีนาคมปี 2563 มาจนถึงระลอก 4 ในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมของปี 2563 พบว่า

– COVID-19 ระลอกแรก ในช่วงเดือนมีนาคม และรัฐประกาศ Lockdown ส่งผลให้ประกาศงานออนไลน์ทั้งประเทศติดลบ 36% แต่หลังจากประเทศไทยสามารถคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้ และรัฐปลด Lockdown ทำให้ประกาศรับสมัครงานผ่านช่องทางออนไลน์ ฟื้นกลับมาโต

– COVID-19 ระลอก 2 ที่เกิดช่วงเดือนธันวาคม จำนวนผู้ติดเชื้อไม่ได้เยอะมาก แต่ก็มีผลให้ประกาศรับสมัครงานออนไลน์ลดลงมากกว่าระลอกแรก ซึ่งช่วงการระบาดรอบนี้ ประกาศงานออนไลน์ติดลบ 46%

– COVID-19 ระลอก 3 แนวโน้มประกาศรับสมัครงานทางออนไลน์กลับมาดีขึ้น โดยติดลบ 13% เมื่อเทียบกับมกราคม 2563 เนื่องจากผู้ประกอบการผ่านวิกฤตมา 2 ระลอกแล้ว ทำให้เริ่มเข้าใจวงจรของสถานการณ์เข้าเกิดการระบาด แล้วสักพักหนึ่งจะดีขึ้น

– COVID-19 ระลอก 4 ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่แย่ลง และมีผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ทำให้จากที่ผู้ประกอบการธุรกิจคาดว่าสถานการณ์จากระลอก 3 ที่ต่อเนื่องมาเข้าสู่ระลอก 4 จะดีขึ้น กลับไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ส่งผลให้การประกาศรับสมัครงานทางออนไลน์ ลดลงถึง 48%

JobsDB

3. “งานขาย – งานไอที วิศวกรรม” ตลาดงานต้องการมากสุดในครึ่งปีแรกของปี 2564

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 พบว่า กลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากสุด ได้แก่

  1. สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 15.3%
  2. สายงานไอที คิดเป็น 14.8%
  3. สายงานวิศวกรรม คิดเป็น 10.0%
  4. สายงานการตลาด/ประชาสัมพันธ์ คิดเป็น 8.6%
  5. สายงานบัญชี คิดเป็น 6.7%

4. “จัดซื้อ โลจิสติกส์ ประกัน” สายงานที่มีประกาศรับสมัครมากสุดในครึ่งปีแรกของปี 2564

กลุ่มสายงานที่มีจำนวนประกาศงานเติบโตขึ้นมากที่สุด ได้แก่

  1. สายงานการจัดซื้อ คิดเป็น +43.0%
  2. สายงานโลจิสติกส์ คิดเป็น +37.4%
  3. สายงานประกันภัย คิดเป็น +36.4%
  4. สายงานอีคอมเมิร์ซ คิดเป็น +31.7%
  5. สายงานการผลิต คิดเป็น +30.8%

JobsDB

5. “งานไอที อีคอมเมิร์ซ” ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด ความต้องการในตลาดงานยังสูง

นับตั้งแต่เกิด COVID-19 ระลอก 1 มาถึงระลอก 4 ในปัจจุบัน “สายงานท่องเที่ยว และโรงแรม” ยังคงเป็นสายงานเดียว ทั้งประกาศงาน และความต้องการของตลาดงานยังอยู่ในภาวะติดลบ

ในขณะที่สายงาน “ไอที” และ “อีคอมเมิร์ซ” ตรงกันข้าม โดยยังคงเป็น 2 สายงานที่ความต้องการในตลาดงานสูง เห็นได้จากผลสำรวจ 15 อันดับสายงานที่มีประกาศงานมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม 2564 พบว่ามี 3 สายงานที่อยู่ในทิศทางบวกคือ

– สายงานไอที +4.8%

– สายงานการบริหารจัดการ +5.9%

– สายงานอีคอมเมิร์ซ +14.3%

JobsDB

6. การแข่งขันแย่งชิงงานสูง อัตราอยู่ที่ 80 ใบสมัคร ต่อ 1 ประกาศงาน

COVID-19 สร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง ทำให้อัตราการว่างงานสูงขึ้น ในขณะที่ประกาศงานลดลง สิ่งที่ตามมาคือ เมื่อมีคนตกงานมากขึ้น แต่ประกาศรับสมัครงานลดลง ย่อมส่งผลให้การแข่งขันเพื่อให้ได้งานนั้นๆ สูงขึ้นตาม

– COVID-19 ปี 2563 อัตราการแข่งขันการสมัครงานอยู่ที่ 100 ใบสมัครงาน ต่อ 1 ประกาศงาน

– COVID-19 ครึ่งปีแรกของปี 2564 อัตราการแข่งขันการสมัครงานอยู่ที่ 80 ใบสมัครงาน ต่อ 1 ประกาศงาน เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรก จำนวนประกาศงานเพิ่มขึ้น ทำให้การแข่งขันลดลง อย่างไรก็ตามอัตรา 80 : 1 ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์การแข่งขันสูง

7. “งานผลิต” สายงานที่มีผู้สมัครมากสุด

ผลสำรวจ Top 5 จาก 15 สายงานที่มีผู้สมัครงานมากสุด (วัดจากใบสมัครครึ่งปีแรก ปี 2564 เทียบกับครึ่งปีหลัง ปี 2563) พบว่า

  1. สายงานการผลิต +27.8%
  2. สายงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง +21.3%
  3. สายงานจัดซื้อ +19.7%
  4. สายงานวิศวกรรม +19.5%
  5. สายงานไอที +16.7%

เหตุผลที่สายงานการผลิต มีผู้สมัครงานมากสุด เนื่องจากการเกิด COVID-19 ที่ผ่านมา ทำให้หลายโรงงานต้องหยุด หรือปรับลดการผลิตชั่วคราว ดังนั้น เมื่อกลับมาเปิดการผลิตใหม่ จึงมีความต้องการจากตลาดงานสูง

JobsDB

8. คาดการณ์การจ้างงานลดลงยาวถึงสิ้นปี 2564– “วัคซีน” คือตัวแปรสำคัญของตลาดงาน

สิ่งที่น่าจับตามองคือ สถานการณ์ COVID-19 ระลอก 4 ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก และจำนวนผู้ติดเชื้อยังสูงไม่หยุด ส่งผลกระทบรุนแรงกับการจ้างงาน

– คาดการณ์ว่าการจ้างงานอาจจะลดลงยาวไปจนสิ้นปี 2564 ซึ่งช่วงเดือนธันวาคมเป็น Low Season ของตลาดงาน (ช่วง High Season ของตลาดงานคือ มกราคม และพฤษภาคม)​

– การกระจายการฉีดวัคซีน คือ ปัจจัยหลักในการสร้างความเชื่อมั่น ดังนั้น หากมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงของการจ้างงานให้ฟื้นกลับมา

JobsDBJobsDB

 

เปิดผลวิจัยความต้องการคนทำงานยุคใหม่

ผลวิจัย “ถอดรหัสลับ จับทิศทางความต้องการคนทางานยุคใหม่” (Global Talent Survey) ที่ JobsDB ร่วมกับ Boston Consulting Group และ The Network ประกอบด้วยรายงาน 3 ฉบับ ได้แก่

รายงานฉบับที่ 1 : Where – สถานที่ทำงานแบบไหนที่คนทำงานยุคใหม่ต้องการ และการทำงานแบบ Virtual

รายงานฉบับที่ 2 : How – วิถีชีวิตเปลี่ยน พนักงานต้องการทำงานแบบไหน

รายงานฉบับที่ 3 : What – เจาะลึกความต้องการ งานอะไรที่คนทำงานอยากทำมากที่สุด

โดยสำรวจความคิดเห็นคนทำงานกว่า 200,000 คน ใน 190 ประเทศ จาก 20 กลุ่มอาชีพ จัดทำขึ้นในช่วงปลายปี 2020 เพื่อศึกษาเทรนด์ของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไปในหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ COVID-19 สรุปออกมาดังนี้

9. “ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์” 3 ประเทศที่คนไทยอยากทำงานผ่านทางไกลมากสุด

ผลวิจัย “ถอดรหัสลับ จับทิศทางความต้องการคนทางานยุคใหม่ ฉบับ 1 Where – สถานที่ทำงานแบบไหนที่คนทำงานยุคใหม่ต้องการ และการทำงานแบบ Virtualพบว่า

– คนไทย 50% ต้องการทำงานทางไกลกับองค์กรที่เปิดโอกาส

– คนทำงานทั่วโลก 57% ต้องการทำงานทางไกลกับองค์กรที่เปิดโอกาส

ขณะที่ 10 ประเทศที่คนไทยอยากทำงานกับนายจ้างผ่านทางไกลมากสุด คือ

  1. ออสเตรเลีย
  2. ญี่ปุ่น
  3. สิงคโปร์
  4. อเมริกา
  5. จีน
  6. อังกฤษ
  7. แคนาดา
  8. ไต้หวัน
  9. ฮ่องกง
  10. เกาหลีใต้

ส่วน 10 อันดับ ชาวต่างชาติ ที่อยากทำงานกับนายจ้างในไทยผ่านทางไกลมากสุด คือ

  1. สิงคโปร์
  2. มาเลเซีย
  3. รัสเซีย
  4. จีน
  5. อินโดนีเซีย
  6. อินเดีย
  7. ฟิลิปปินส์
  8. กาตาร์
  9. แอฟริกาใต้
  10. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

JobsDB

10. คนไทยเตรียมตัวแข่งขันกับคนต่างชาติมากขึ้น เมื่อแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน สนใจมาทำงานในไทยเพิ่มขึ้น

– ผลสำรวจปี 2563 พบว่า ประเทศไทยติดอันดับ 35 ของโลกที่คนต่างชาติอยากเดินทางมากทำงานมากสุด ขยับขึ้นจากปี 2562 อยู่อันดับที่ 43

– คนต่างชาติที่อยากมาทำงานในไทยเป็นทักษะเฉพาะทาง แตกต่างจากเดิมที่เป็นแรงงานทั่วไป

ขณะที่ 10 ประเทศ ที่อยากมาทำงานที่ประเทศไทยมากสุด คือ

  1. สิงคโปร์
  2. มาเลเซีย
  3. จีน
  4. อินโดนีเซีย
  5. รัสเซีย
  6. สวีเดน
  7. ฟิลิปปินส์
  8. อินเดีย
  9. สวิสเซอร์แลนด์
  10. กาตาร์

เพราะฉะนั้นสิ่งที่คนไทยต้องเตรียมตัว คือ การแข่งขันกับคนต่างชาติในตลาดงาน ดังนั้น การพัฒนาทักษะจึงเป็นสิ่งจำเป็น

JobsDB

11. COVID-19 ส่งผลให้ถูกเลิกจ้าง ลดเวลาทำงาน โยกย้ายพนักงาน เพิ่มเวลาทำงาน

ผลวิจัย “ถอดรหัสลับ จับทิศทางความต้องการคนทางานยุคใหม่ ฉบับ 2 How – วิถีชีวิตเปลี่ยน พนักงานต้องการทำงานแบบไหน” พบว่าองค์กรต่างๆ ได้ปรับกลยุทธ์การจ้างงาน ส่งผลต่อคนทำงานในรูปแบบที่แตกต่างกัน

– 18% ถูกเลิกจ้าง หรือลดเวลาการทำงาน

– 78% ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือถูกให้รับหน้าที่อื่น โดยส่วนใหญ่องค์กรต่างๆ จะยังไม่ใช้วิธีเลิกจ้าง เพื่อแก้ปัญหาในระยะแรก เพราะต้องการรักษาพนักงานไว้ แต่จะปรับกลยุทธ์ภายใน เช่น โยกย้ายพนักงานไปทำหน้าที่อื่น หรือแผนกอื่นแทน

– 4% ของพนักงานในประเทศ ถูกเพิ่มเวลาทำงานให้มากขึ้น แต่ยังน้อยกว่าประเทศในภูมิภาคเดียวกัน อย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง

JobsDB

12. งานช่างการผลิต และภาคบริการ ได้รับผลกระทบโดยตรงมากสุด

สายงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจาก COVID-19 คือ

– สายงานช่าง และการผลิต เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในคลัสเตอร์โรงงาน ทำให้โรงงานต้องเปลี่ยนนโยบายการทำงานคือ  สลับกันมาทำงาน ลดชั่วโมงการทำงาน ปลดพนักงานเพิ่ม ซึ่งมีผลโดยตรงกับพนักงานส่วนนี้

– ภาคบริการ

– งานศิลปะและครีเอทีฟ

– งานบริการดูแลลูกค้า

– งานขาย

JobsDB

13. คนอยากทำงานแบบ Hybrid Working ผสมผสานระหว่างออฟฟิศ และ Virtual

เมื่อเปรียบเทียบ Mindset ของคนทำงานที่มีต่อสถานที่ทำงาน ระหว่างก่อนเกิด COVID-19 กับหลัง COVID-19 พบว่ามีมุมมองความคิดที่เปลี่ยนไป

ก่อนเกิด COVID-19

– พนักงานอยากเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศมากที่สุด และปฏิเสธที่จะทำงานแบบ Virtual

– 72% เลือกที่จะเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ แบบเต็มเวลา

หลัง COVID-19

– ทัศนคติเรื่องการทำงานแบบ Virtual เริ่มมีบทบาทมากขึ้น

– 73% เลือกที่จะทำงานแบบผสมผสานระหว่างออฟฟิศและ Virtual

– ความต้องการเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มเวลา ลดลงเหลือแค่ 7%

JobsDB

14. คนให้ความสำคัญกับเงินเดือน/ค่าตอบแทน มากกว่า Work-Life Balance

COVID-19 ทำให้คนทำงานกังวลความมั่นคงในชีวิต ค่าใช้จ่าย และค่าครองชีพมากขึ้น จึงทำให้ปัจจัยการทำงานเปลี่ยนไป โดยคำนึงถึงเรื่องเงินเดือน หรือผลตอบแทนมากที่สุด

5 ปัจจัยการทำงานก่อน COVID-19

  1. ความสมดุลของชีวิตและงาน (Work-Life Balance)
  2. ความภูมิใจกับงาน
  3. ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน
  4. ความสัมพันธ์ที่ดีกับหัวหน้า
  5. เงินเดือน หรือค่าตอบแทน

5 ปัจจัยการทำงานหลังเกิด COVID-19

  1. เงินเดือน หรือค่าตอบแทน
  2. ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน
  3. ความภูมิใจกับงาน
  4. ความสัมพันธ์ที่ดีกับหัวหน้า
  5. ความสมดุลของชีวิตและงาน (Work-Life Balance)

จะเห็นได้ว่า ปัจจัยการทำงานก่อนเกิด COVID-19 และหลังเกิด COVID-19 พบว่า ก่อน COVID-19 คนให้ความสำคัญกับปัจจัยเกี่ยวกับตัวเองมากที่สุด ในขณะที่หลังเกิด COVID-19 คนให้ความสำคัญกับความมั่นคงมากสุด ดังนั้น เงินเดือนหรือค่าตอบแทนจึงสำคัญที่สุด จึงยอมทำงานหนักขึ้น มากขึ้น ขณะที่ Work-Life Balance กลายเป็นปัจจัยสุดท้ายที่ให้ความสำคัญ

JobsDB

15. Gen Z ต้องการทำงานกับองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และสนับสนุนความเท่าเทียม ความหลากหลาย

– 53% ของคนรุ่นใหม่ จะไม่เลือกทำงานกับองค์กรที่ไม่มีนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม

– 63% ของคนรุ่นใหม่ จะไม่ทำงานกับองค์กรที่ไม่สนับสนุนความหลากหลาย และความเท่าเทียมทางเพศ วัฒนธรรม และความเชื่อ

JobsDB

16. Gen Z มองออฟฟิศไม่ใช่แค่สถานที่ทำงาน แต่รวมถึงความสุข และค่านิยมองค์กรตรงกับทัศนคติ

Gen Z ยังคงต้องการทำงานประจำมากกว่า แต่มุมมองในการเลือกบริษัทเปลี่ยนไป คือ

– “บริษัท” ไม่ใช่เพียงแค่สถานที่ตั้งของออฟฟิศเท่านั้น แต่รวมไปถึงความสุข ค่านิยมองค์กรที่ตรงกับทัศนคติ

– ออฟฟิศใกล้ BTS สาธารณูปโภค มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

– ต้องการงานที่มี Work-Life Balance

– องค์กรสนับสนุให้มีการ Upskill / Reskill ทักษะ และความยืดหยุ่นในการทำงานแบบ Remote Working

– มีหน้าที่ความรับผิดชอบต้องชัดเจน

– องค์กรต้องให้ความก้าวหน้าในสายอาชีพ

– บรรยากาศในการทำงานดี สนุกสนาน มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อน หัวหน้า

– รูปแบบการทำงานลักษณะ Partner ไม่ใช่เจ้านาย-ลูกน้อง

JobsDB

17. คนเปิดรับต่อการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะใหม่

ผลวิจัย “ถอดรหัสลับ จับทิศทางความต้องการคนทำงานยุคใหม่ ฉบับ 3 What – เจาะลึกความต้องการ งานอะไรที่คนทำงานอยากทำมากที่สุด” พบว่า คนเปิดรับต่อการเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่เพิ่มเติม

– 71% ของคนไทยในช่วงอายุ 21 – 40 ปี มีความพร้อมในการพัฒนาทักษะเดิมและการสร้างทักษะสำหรับบทบาทงานใหม่

– สายงานที่ต้องการฝึกอบรมทักษะใหม่ เช่น สายงานช่างและการผลิต สายงานสื่อและสารสนเทศ สายงานขาย

– ทักษะที่ต้องการ Upskill / Reskill คือ ไอที ภาษา​ ทักษะการเป็นผู้นำ

JobsDB

18. คนได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะขณะปฏิบัติงานมากสุด

สำหรับช่องทางการเรียนรู้ที่คนทำงานในประเทศไทยใช้ในการพัฒนาทักษะด้านอาชีพมากที่สุด ได้แก่

  1. การสอนงานขณะปฏิบัติงาน
  2. การเรียนรู้ด้วยตัวเอง
  3. สถาบันการศึกษาออนไลน์

JobsDB

19. ฟรีแลนซ์​โตสวนกระแส COVID-19

ในขณะที่การจ้างงานประจำ มีแนวโน้มลดลงในยุค COVID-19 ระบาดหนัก ตรงกันข้ามกับ “งานฟรีแลนซ์” ที่โตเพิ่มขึ้น สวนกระแสตลาดงาน เนื่องจากบริษัทต้องการลดค่าใช้จ่าย ด้วยการลดการจ้างคน (งานประจำ) แล้วหันไปจ้างฟรีแลนซ์เป็นชิ้นงานไป

20. คาด GDP ปี 2565 โต ตลาดงานฟื้น สายงานโรงแรม ท่องเที่ยว ร้านอาหารจะกลับมาจ้างงานมากอันดับต้นๆ

JobsDB มองว่าถ้าสถานการณ์ COVID-19 ระลอก 4 คลี่คลาย หรือดีขึ้น ย่อมส่งผลให้ GDP ของประเทศไทยในปี 2565 กลับมาเติบโต เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ที่ในช่วง COVID-19 ระบาดหนัก ส่งผลให้ GDP ลดลง แต่เมื่อการฉีดวัคซีนทั่วถึง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมา ส่งผลให้ GDP พุ่งขึ้นเป็น 6 – 7%

ประกอบกับในช่วงมกราคม เป็นช่วง Peak Season ของการตลาดงาน ดังนั้น หาก COVID-19 สิ้นสุดภายในปลายปีนี้มีโอกาสที่สถานการณ์การจ้างงานจะกลับมาเพิ่มขึ้น

มองว่าสายงานที่เติบโตสูงในปี 2565 คือ อาชีพที่ได้รับผลกระทบมากสุดอย่างสายงานด้านการท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร เนื่องจากโดนผลกระทบมากสุด แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น จะกลับมาจ้างงานมากขึ้น โดยคาดว่ามีแนวโน้มเติบโตอันดับต้นๆ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการผลิต หลังจากโรงงานปิดไป เมื่อกลับมาเปิดการผลิตใหม่ ต้องมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น

JobsDB

 

ประเทศไทยจะเดินหน้าต่อได้หลัง Post COVID-19 ต้องสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทักษะ พัฒนาอุตสาหกรรมประเทศ

JobsDB ได้สรุปหลังวิกฤต COVID-19 สถานการณ์การจ้างงานในประเทศ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นประเทศไทย ผู้ประกอบการ และคนทำงานจะเดินหน้าต่อไปได้ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทักษะ พัฒนาด้านเทคโนโลยี พัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ และต้องมี Growth Mindset

ประเทศไทย

– สนับสนุนการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะ จัดให้มีคอร์สเรียนออนไลน์ฟรีสำหรับคนทำงานให้ครอบคลุม ทั้ง Emerging Skill และ Transferable Skill

– รักษาแรงงานทักษะสูงในประเทศ พร้อมกับปรับนโยบายการจ้างงานทักษะสูงเพื่อดึงแรงงานต่างชาติ

– พัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ

– ลดการกระจุกตัวของคนทำงานในเมืองใหญ่ ด้วยการขยายการทำงานยังในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

ผู้ประกอบการ

– บริษัทเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทางานในยุคดิจิทัลเต็มตัว

– ตระหนักถึงนโยบายสังคม-สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมความเท่าเทียม ยอมรับความหลากหลายทางเพศ

– ให้ความสำคัญกับการ Upskill / Reskill คนทำงาน

คนทำงาน

– เปิดใจการรับทักษะใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคง ก้าวหน้าในสายอาชีพ

– สร้างทัศนคติในกการเรียนรู้ไม่รู้จบ โดยเฉพาะความรู้ด้านไอที ดิจิทัล

– นอกจาก Hard Skill เรื่อง Soft Skill ก็ต้องให้ความสำคัญ เช่น Growth Mindset, Leadership

Job Trend Insights

Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like