HomeInsight“โควิด” พ่นพิษหนัก! KKP มองเศรษฐกิจไทยปีนี้ โตแค่ 1.5% ท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น แม้เปิดประเทศ

“โควิด” พ่นพิษหนัก! KKP มองเศรษฐกิจไทยปีนี้ โตแค่ 1.5% ท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น แม้เปิดประเทศ

แชร์ :

ภาพจาก shutterstock

หลังจากปี 2563 ต้องเจอพิษร้ายของไวรัสมรณะเข้ามาแพร่ระบาดอย่างไม่ทันตั้งตัว จนเศรษฐกิจหยุดชะงัก ทำให้ในปี 2564 ทุกคนจึงต่างคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะกลับมาสดใสเมื่อมีการปูพรมฉีดวัคซีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กระทั่งมาเจอการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ต่อด้วยระลอก 3 ส่งผลให้การระบาดกินวงกว้างและมีผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งไม่หยุด จากที่หลายคนเคยคาดหวังไว้ว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ กลับมาฟื้นตัว ก็เริ่มจะไม่แน่นอนหรืออาจจะหดตัวรุนแรงกว่าเดิม

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร จัดทำรายงาน “เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นยาว ท่องเที่ยวยังไม่กลับเป็นปกติแม้เปิดประเทศ” เพื่อให้ภาคธุรกิจได้เห็นภาพสถานการณ์เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย พร้อมกับใช้เป็นแนวทางในการประคับประคองตัวให้อยู่รอดจากสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนหลังจากนี้

เศรษฐกิจไทยจะไม่กลับมากระทั่งปี 2566

จากสถานการณ์การจัดหาและกระจายวัคซีนที่ล่าช้า รวมถึงการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงและยาวนาน ทำให้ KKP Research ประเมินว่า การบริโภคและการลงทุนของไทยในไตรมาส 2 ปีนี้ น่าจะหดตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และการเปิดประเทศอาจทำได้ล่าช้า ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้ามาได้เพียง 160,000 คนเท่านั้นในปี 2564 และทำให้เศรษฐกิจไทยยากจะกลับมาฟื้นตัวในปีนี้

โดย KKP Research ได้ปรับการประมาณการณ์การเติบโตของ GDP ในปี 2564 จากการเติบโตที่ 2.2% เหลือ 1.5% และยังมีความเสี่ยงโตต่ำกว่านี้หากการระบาดของโควิด-19 ไม่สามารถควบคุมได้ หรือมีการระบาดเกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นฟื้นตัวที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจที่หดตัวไป 6.1% ในปีก่อน

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ในปีหน้า ขึ้นอยู่กับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก ทั้งจากสถานการณ์การฉีดวัคซีนในประเทศที่ล่าช้า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ และนโยบายประเทศต่าง ๆ ในการอนุญาตให้คนเข้าออกประเทศที่อาจทำให้ภาคการท่องเที่ยวในปีหน้ายังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้เต็มที่

วัคซีนไม่พอ การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น

ขณะที่สาเหตุสำคัญที่ทำให้การฉีดวัคซีนของไทยล่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ KKP Research ประเมินว่า มาจากทางเลือกนโยบายของภาครัฐมากกว่างบประมาณที่ไม่เพียงพอ เพราะหากประเมินตัวเลขงบประมาณทั้งหมดที่ต้องใช้เพื่อการเยียวยาเพิ่มเติมผ่านนโยบายต่างๆ ทั้งการแจกเงิน การให้เงินอุดหนุน โครงการคนละครึ่ง โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เทียบกับราคาวัคซีนจะพบว่า หากนำนโยบายที่ใช้เยียวยาจากการระบาดระลอกใหม่เพียง 2 สัปดาห์ไปซื้อและฉีดวัคซีนแทน จะสามารถซื้อ Pfizer ได้ถึง 129.4 ล้านโดส Moderna ได้อย่างน้อย 68.6 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอสำหรับประชากรไทยเกือบทั้งประเทศและจะลดต้นทุนทางการคลังจากการเยียวยาได้อย่างมาก

นอกจากนี้ KKP Research ยังประเมินว่า แผนการฉีดวัคซีนของไทยในปัจจุบัน ยังมีความไม่แน่นอนสูง ในกรณีประเมินว่าการฉีดวัคซีนของไทยน่าจะสามารถฉีดวัคซีนได้ครอบคลุม 50% ของประชากรในปีนี้ และด้วยระดับประสิทธิผลของวัคซีนที่ใช้ กว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) จะต้องใช้ฉีดวัคซีนมากกว่า 80% ของประชากร (ขึ้นอยู่กับประสิทธิผลของวัคซีนและความสามารถในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา) และอาจจะใช้เวลาถึงไตรมาส 2 ของปี 2565

แต่ในกรณีเลวร้ายที่วัคซีนทำไม่ได้ตามแผนอาจต้องใช้เวลานานกว่าเดิม ไทยอาจจะเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ในครึ่งหลังของปี 2565 (หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลย เช่น มีผู้ไม่ประสงค์ฉีดวัคซีนจำนวนมาก) ดังนั้น แผนการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าและไม่มีความแน่นอนจะสร้างความไม่แน่นอนเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจไทยและส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวจะไม่สามารถกลับมาได้ในเต็มที่ในปีนี้

ยิ่งไปกว่านั้น การท่องเที่ยวปี 2565 อาจกลับมาน้อยกว่าที่หลายฝ่ายประเมิน เพราะนักท่องเที่ยวจีนจะยังไม่กลับมาเที่ยวในไทย เศรษฐกิจไทยหวังการฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีนในไทยทำได้ตามแผน แม้ว่าในปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีจะประกาศตั้งเป้าเปิดประเทศภายใน 120 วัน แต่ KKP Research ประเมินว่า การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยยังขึ้นอยู่กับความต้องการมาท่องเที่ยวในไทยของคนต่างชาติด้วย ซึ่งการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวยังไม่กล้ากลับเข้ามาในไทย

อีกทั้งเมื่อดูโครงสร้างนักท่องเที่ยวของไทยจะพบว่าประมาณ 1 ใน 4 เป็นนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งรัฐบาลจีนส่งสัญญาณนโยบายว่าจะยังปิดประเทศต่อเนื่องแม้ประชากรจะได้รับวัคซีนไปจำนวนมากแล้ว ตลอดจนมีนโยบายที่ต้องการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศในระยะยาว ทำให้คาดว่าในปี 2565 นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักจะยังไม่กลับเข้ามาเที่ยวในไทยปีหน้า โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในปีหน้าจะกลับมาได้เพียง 5.8 ล้านคน ลดลงจากที่เคยประเมินไว้ที่ 14.1 ล้านคน และก่อนการระบาดของโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยอยู่ที่ 40 ล้านคน

เมื่อภาคการท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับนโยบายต่างประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2565 ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง KKP Research มองว่าหากการฉีดวัคซีนในประเทศเป็นไปได้ตามแผน การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในปีหน้า โดยในกรณีเลวร้ายที่นักท่องเที่ยวกลับมาเพียง 3 ล้านคน เศรษฐกิจอาจโตได้ต่ำกว่าที่ประเมินเหลือเพียง 3.1% เท่านั้น ดังนั้น สิ่งที่ต้องจับตามองคือ หากการท่องเที่ยวกลับมาไม่ได้เหมือนเก่าในปีหน้าและระยะยาว ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจะได้รับ ผลกระทบต่อเนื่องอย่างหนัก

เรื่องใหญ่ที่รัฐต้องเร่งทำ 

การระบาดที่ยืดเยื้อยาวนานและรุนแรงกว่าเก่าเดิม ส่งผลให้การออกไปจับจ่ายใช้สอยของประชาชนลดลงต่อเนื่องทั้งในเดือนเมษายนและพฤษภาคม และยังไม่ฟื้นกลับมาถึงระดับปกติในเดือนมิถุนายน ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศพัฒนาเริ่มฟื้นตัวเกินระดับก่อนโควิด-19 ไปแล้วตามการเปิดเมือง ดังนั้น หากสถานการณ์การฉีดวัคซีนล่าช้า KKP Research ประเมินว่า ในภาพรวมไทยต้องเจอต้นทุนมหาศาลที่เพิ่มขึ้นผ่านหลายช่องทาง ได้แก่

1.ความเสี่ยงจากการระบาดระลอกใหม่ ตัวอย่างผลกระทบที่พอประเมินได้ในเดือนเมษายน คือ การบริโภคหดตัวลง ประมาณ 4% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 19,000 ล้านบาท และการลงทุนหดตัวลงประมาณ 2% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,500 ล้าน บาท หรือต้นทุนต่อเศรษฐกิจคิดเป็นประมาณ 23,500 ล้านบาท ต่อเดือนที่มีการระบาด

2.ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ล่าช้ากว่าเดิม KKP Research ประเมินว่า หากไทยเร่งฉีดวัคซีนจนกลับมาเปิดประเทศได้ภายในปีนี้ อาจทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาได้ประมาณ 3 ล้านคนในปีนี้ และ 14.1 ล้านคนในปีหน้า ความล่าช้าจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลงเหลือ 160,000 คน และ 5.8 ล้านคนในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ ขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคิดเป็นประมาณ 34,000 บาท ต่อคน คิดเป็นต้นทุนต่อเศรษฐกิจอีกประมาณ 96,560 ล้านบาทในปี 2564 และ 292,400 ล้านบาทในปี 2565

3.ต้นทุนทางการคลังเพื่อต่อสู้กับการระบาด ในการระบาดระลอกใหม่รัฐต้องออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกกว่า 2.19 แสน ล้านบาท และต้องกู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้หนี้สาธารณะจะสูงขึ้นประมาณ 3% ของ GDP เมื่อเทียบกับ กรณีไม่มีการกู้เพิ่มเติม

โดย KKP Research มองว่ารัฐบาลมีทางเลือกในการหลีกเลี่ยงต้นทุนมหาศาลเหล่านี้ได้ โดยการเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ต้นทุนที่สูงต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า นโยบายที่ภาครัฐควรทำที่สุดในเวลานี้คือ การเร่งควบคุมการระบาดให้เร็วที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงจากการระบาดระลอกใหม่ รวมถึงเร่งจัดหาวัคซีน เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ให้กลับมาเป็นเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เมื่อสถานการณ์เริ่มอยู่ภายใต้การควบคุม รัฐต้องเตรียมการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นโครงการลงทุนที่สร้างรายได้ สร้างงาน และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางที่ตอบโจทย์โลกหลังโควิด-19


แชร์ :

You may also like