HomeBig Featuredร้าน 7-Eleven กระทบโควิดยอดขายทรุด ฉุด CPALL กำไรร่วง 27.9%

ร้าน 7-Eleven กระทบโควิดยอดขายทรุด ฉุด CPALL กำไรร่วง 27.9%

แชร์ :

7 Eleven cover

ธุรกิจค้าปลีกดาวเด่นของเจ้าสัวธนินทร์ เจียรวนนท์ เครือซีพี อย่าง ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในปี 2563 ที่ผ่านมา เจอพิษ COVID-19 เข้าไปเต็มๆ ส่งผลให้บทสรุปผลการดำเนินงานปี 2563 บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) หรือ CPALL ทำรายได้รวม 546,590 ล้านบาท  กําไรสุทธิ 16,102 ล้านบาท ลดลง 27.9%

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ในปี 2563 CPALL มีรายได้รวม 546,590 ล้านบาท ลดลง 4.3% จากปี 2562 แบ่งเป็น รายได้จากการขายสินค้าและบริการ  525,884 ล้านบาท ลดลง 4.5% โดยธุรกิจร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” (7-Eleven) ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสําคัญ จากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจและกําลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลง รวมถึงผลกระทบจากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้จำนวนลูกค้าลดลง ขณะที่ธุรกิจศูนย์จําหน่ายสินค้าส่ง “แม็คโคร” รายได้จากการขายและบริการยังเติบโตได้ ทั้งในไทย อินเดีย และกัมพูชา

CPALL ปี 2563 มีรายได้จากร้านสะดวกซื้อเซเว่น 55%  รายได้จากธุรกิจค้าส่งแม็คโคร 37%  และรายได้จากธุรกิจอื่นๆ ในประเทศไทย 8%

CPALL กำไรสุทธิร่วง 27.9%

ปี 2563 CPALL มีกําไรขั้นต้นจากการขายและบริการ 115,004 ล้านบาท ลดลง  7.9% จากปีก่อน  สาเหตุหลักร้านสะดวกซื้อรายได้ลดลง โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มที่มีอัตรากําไรขั้นต้นสูง ในขณะที่ธุรกิจแม็คโคร ยังสามารถรักษาการเติบโตของกําไรขั้นต้นได้ และจากการลดลงของกําไรขั้นต้นของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ทําให้อัตรากําไรขั้นต้นในงบการเงินรวมของ CPALL อยู่ที่ 21.9% ลดลงจาก 22.7% ในปี 2562

ส่วนกําไรสุทธิอยู่ที่ 16,102 ล้านบาท ลดลง 27.9% จากปีก่อน เนื่องจากการดําเนินงานได้รับผลกระทบจากปัจจัยเศรษฐกิจและสถานการณ์ COVID-19

โควิดทำ 7-Eleven ยอดขายวูบ

มาดูผลการดำเนินงานของร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ซึ่งวางเป้าหมายขยายสาขา 700 สาขาต่อปี ในรูปแบบแฟรนไชส์ Store Business Partner (SBP) ทั้งร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต ร้านในสถานีบริการน้ำมัน ร้านสแตนด์อโลน และบริษัทลงทุนเอง ปี 2563 ขยายสาขาได้ 720 สาขา ดังนั้น ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีสาขาทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 12,432 สาขา แบ่งเป็นร้านบริษัท 5,685 สาขา สัดส่วน 46% เพิ่มขึ้น 470 สาขา  ร้าน SBP 5,919 สาขา สัดส่วน 47% เพิ่มขึ้น 232 สาขา และร้านที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 828 สาขา สัดส่วน  7% เพิ่มขึ้น 18 สาขา

ในด้านผลิตภัณฑ์และการบริการ 7-Eleven มุ่งพัฒนาไปสู่การเป็นร้านอิ่มสะดวกเต็มรูปแบบ มีการพัฒนาสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มเมนูสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับความนิยมอย่างดีจากลูกค้า ปี 2563 สัดส่วนรายได้จากการขาย 71.4% มาจากสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และ 28.6% มาจากสินค้าอุปโภค ทั้งสองกลุ่มนี้ใกล้เคียงกับปีก่อน

ธุรกิจร้านสะดวกซื้อในปี 2563 มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการรวม 300,705 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 33,356 ล้านบาท หรือ -10%  มีกําไรจากการดําเนินงานปี 2563 อยู่ที่ 22,415 ล้านบาท ลดลง 20.9% จากปีก่อน และมีกําไรสุทธิเท่ากับ 14,298 ล้านบาท ลดลง 29.1% จากปีก่อน

โดยสรุปร้าน 7-Eleven มียอดขายเฉลี่ยร้านเดิมลดลง 14.5% โดยมียอดขายเฉลี่ยต่อสาขาต่อวันอยู่ที่ 70,851 บาท มียอดซื้อต่อบิล 75 บาท จำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 949 คน

CPALL 7Eleven delivery

จากผลกระทบ COVID-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ร้านสะดวกซื้อได้ปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ โดยเพิ่มช่องทางการขาย  ตู้จําหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) รวมไปถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ ALL Online ผ่าน 7-Eleven.TH Application Shop@24  บริการสั่งและส่งสินค้าตามความต้องการ (On-demand Delivery) ผ่านทางไลน์ หรือแอปพลิเคชั่น 7-delivery พร้อมบริการถึงปลายทางตามที่ลูกค้าเลือกหรือรับสินค้าที่สาขา ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวสามารถสร้างรายได้จากการขายสินค้าได้ในระดับที่น่าพอใจ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่ลดลงจากผลกระทบ COVID-19

ส่วนธุรกิจอื่นของ CPALL ที่ประกอบด้วยธุรกิจตัวแทนรับชําระค่าสินค้าและบริการ รวมถึง ตัวแทนรับฝากและถอนเงินแทนธนาคาร ธุรกิจผลิตและจําหน่ายอาหารสําเร็จรูป ธุรกิจจําหน่ายและบริการอุปกรณ์ค้าปลีก และธุรกิจอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ให้บริการสนับสนุน 7-Eleven เป็นหลัก เช่น อีคอมเมิร์ซ  ในปี 2563 กลุ่มธุรกิจอื่นมีกําไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้เท่ากับ 4,543 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.4%

ธุรกิจค้าส่ง แม็คโคร มีกําไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ก่อนหักรายการระหว่างกัน เท่ากับ 8,051 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  7.3% จากรายได้การขายเพิ่มขึ้นและการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี

ปี 64 ลงทุนร้านเซเว่นฯ 12,000 ล้านบาท  

ปี 2564  CPALL วางเป้าหมายการขยายสาขา ร้าน 7-Eleven  ต่อเนื่องไปตามการขยายตัวของชุมชน โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แหล่งท่องเที่ยว รวมถึงทำเล ที่มีศักยภาพอื่นๆ โดยจะเปิดสาขาใหม่อีกประมาณ 700 สาขา คาดการณ์รายได้ยอดขายเติบโตในอัตราใกล้เคียงจีดีพี

ประเมินงบลงทุนประมาณ 11,500 – 12,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การเปิดสาขาใหม่ 3,800 – 4,000 ล้านบาท  การปรับปรุงร้านเดิม 2,400 – 2,500 ล้านบาท  โครงการใหม่ บริษัทย่อยและศูนย์กระจายสินค้า 4,000 – 4,100 ล้านบาท  และสินทรัพย์ถาวร และระบบสารสนเทศ 1,300 – 1,400 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ มีมติให้จ่ายเงินปันผล ปี 2563 หุ้นละ 0.90 บาท สําหรับผู้ถือหุ้นจํานวน 8,983 ล้านหุ้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,084 ล้านบาท คิดเป็น 57% ของกําไรสุทธิ กำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 21 พฤษภาคม 2564


แชร์ :

You may also like