HomeDigitalApple มีปัญหาอะไรกับบริษัทเกม?

Apple มีปัญหาอะไรกับบริษัทเกม?

แชร์ :

เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่กำลังร้อนแรงบนโลกดิจิทัล เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Apple และ Google ต้องปะทะกำลังกับ Epic Games บริษัทเกมเบอร์ใหญ่ที่มีผลงานครองใจแฟน ๆ ทั่วโลก

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ อาจมีจุดเริ่มต้นมาจากเมื่อ 3 ปีก่อนหน้า ที่ Tim Sweeney ผู้ก่อตั้ง Epic Games ได้ขึ้นกล่าวในงาน DevCom เมื่อปี 2017 ว่า ธุรกิจเกมจะมีอนาคตสดใสมากกว่านี้ หากพ่อค้าคนกลางไม่เก็บส่วนแบ่งมากเกินไป

โดยเขาได้ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางทางการเงิน เช่น Visa, Mastercard ว่ามีการคิดค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างถูกมากเมื่อเทียบกับธุรกิจเกม (หรืออาจหมายถึงค่าใช้จ่ายเพียงไม่กี่เซนต์ต่อการทำธุรกรรมหนึ่งครั้ง) ตรงกันข้ามกับแพลตฟอร์มอย่าง Steam, App Store, Google Play ที่คิดส่วนแบ่งมากถึง 30%

Tim Sweeney เปิดใจด้วยว่า ตัวเลขส่วนแบ่ง 30% นั้นเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมก็จริง (คือทั้งบนคอมพิวเตอร์, เกมคอนโซล และโมบายล์ต่างก็คิดเก็บส่วนแบ่งที่เรทนี้กันทั้งหมด) แต่เขามองว่า สำหรับเกมบนมือถือ ส่วนแบ่งนี้ถือว่าแพงเกินไป เพราะตัวแพลตฟอร์มที่เป็นพ่อค้าคนกลางแทบไม่ได้มีส่วนอะไรในการสนับสนุนเลย ตรงกันข้ามกับผู้ผลิตเครื่องเล่นเกมคอนโซล ที่ต้องลงทุนวิจัยและพัฒนาตัวเครื่องไปตั้งมากมาย แถมยังต้องจัดโปรโมชัน – ทำการตลาดดึงดูดให้คนอยากซื้ออีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ ในปี 2018 ทางค่าย Epic Games จึงมีการเปิดตัวร้านค้าออนไลน์ของตัวเอง โดยคิดส่วนแบ่งน้อยกว่าที่ 12% เพื่อให้รายได้ส่วนใหญ่ (88%) ส่งตรงถึงนักพัฒนาเกม และมีการจับมือกับครีเอเตอร์บน YouTube หรือบนแพลตฟอร์มอื่น ๆ ให้ช่วย “ขาย” เกมให้นักพัฒนาด้วย (Track จากโค้ดที่บรรดายูทูบเบอร์เอาไปแปะไว้ในคลิปของตัวเองว่ามีคนกดเข้ามาดาวน์โหลด หรือเล่นเกมนั้น ๆ มากน้อยแค่ไหน)

Tim Sweeney ให้เหตุผลของการทำเช่นนี้ว่า เขาอยากสร้างความสัมพันธ์กับคนเล่นเกมที่เป็นลูกค้าของเขาด้วยตัวเอง ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแพลตฟอร์มตัวกลางอย่าง Google Play Store, App Store หรือใครต่อใคร

ส่วนแบ่ง 30% รายได้ที่บริษัทเกมอยากทวงคืน

ขณะที่อีกเหตุผลหนึ่งอาจเป็นเรื่องของส่วนแบ่ง 30% ที่ Epic ไม่จำเป็นต้องจ่ายให้กับแพลตฟอร์มเหล่านั้นอีกต่อไป  หากการดาวน์โหลดเกิดขึ้นข้างนอกสโตร์ เพราะ Tim Sweeney เคยกล่าวให้สัมภาษณ์ว่า เงินส่วนแบ่ง 70% ที่ได้รับนั้น บริษัทเกมต้องนำมาดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างนักพัฒนา, ค่าบริหารจัดการ, ค่าวิจัยและพัฒนา และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่น ๆ

แต่ถึงอย่างนั้น แนวคิดดังกล่าวก็ไม่สามารถใช้ได้กับทุกแพลตฟอร์ม เพราะสำหรับผู้ใช้ไอโฟนนั้น ตัวระบบไม่อนุญาตให้ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์จากแหล่งภายนอก และที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือ เกม Fortnite บน iOS สามารถทำเงินได้มากถึง 15 ล้านเหรียญสหรัฐภายใน 3 สัปดาห์แรกของการเปิดตัว ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้ชิ้นใหญ่เลยทีเดียว

อีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลคือความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มที่จะดาวน์โหลดเกมไปเล่น เพราะการมีชื่ออย่าง App Store หรือ Google Play Store แปะหน้าทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในระดับหนึ่ง แต่ Tim Sweeney มองว่ามันไม่ใช่ประเด็นสำคัญนัก เพราะคนเล่นเกมเอง ทราบแหล่งที่จะดาวน์โหลดเกมที่น่าเชื่อถือกันดีอยู่แล้ว

อีกทั้งตัวระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เอง ในระยะหลังก็มีฟีเจอร์ด้านซีเคียวริตี้ที่คอยตรวจสอบ และถามผู้ใช้งานก่อนทุกครั้งว่ายินยอมให้แอปพลิเคชันเข้าถึงข้อมูล รูปภาพ ไมโครโฟน กล้อง หรือไฟล์ต่าง ๆ หรือไม่ ดังนั้น เขาจึงมองว่า การที่ Apple บังคับให้ทุกอย่างต้องเกิดขึ้นบน App Store นั้นเป็นสิ่งที่ผูกขาดมากเกินไป

ความไม่ลงรอยที่รอการปะทุ

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า มีความไม่ลงรอยกันเกิดขึ้นตลอดช่วงที่ผ่านมา และในที่สุด ปัญหาดังกล่าวก็มาปะทุอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 สิงหาคม 2020 เมื่อค่าย Epic Games ตัดสินใจหักด้ามพร้าด้วยเข่า เปิดให้มีการจ่ายเงินให้กับทางบริษัทโดยตรง ซึ่งขัดกับข้อตกลงในการให้บริการแอปพลิเคชันบน App Store จนนำไปสู่การถอดเกมดังอย่าง Fornite ออกจาก App Store ในที่สุด

โดยรายละเอียดของข้อขัดแย้งนั้นเกิดขึ้นที่ส่วน Direct Payment บนแอปพลิเคชัน Fornite ที่ผู้ใช้ iPhone และ iPad ที่สามารถเลือกได้ว่าจะซื้อเหรียญ V-Bucks จำนวน 1,000 เหรียญได้ 2 ราคา โดยหากซื้อผ่าน App Store ก็จะต้องจ่ายในราคา 9.99 เหรียญสหรัฐ แต่ถ้าซื้อผ่านช่องทางของ Epic ก็จะสามารถซื้อได้ในราคา 7.99 เหรียญสหรัฐเท่านั้น ซึ่ง Apple บอกว่า การกระทำนี้ขัดต่อข้อตกลงของ App Store ที่ระบุว่า การทำธุรกรรมใด ๆ ต้องใช้ Mechanism ของ Apple อย่าง In-App Purchase เพียงอย่างเดียว

ด้าน Epic Games ก็ได้โต้กลับโดยยกตัวอย่างบริการอย่าง Amazon, Grubhub, Nike SNKRS, Best Buy, DoorDash, Fandango, McDonalds, Uber, Lyft และ StubHub ที่มีแอปอยู่บน App Store และไม่เห็นต้องใช้ Mechanism ของ Apple ในการทำธุรกรรมแต่อย่างใด ที่สำคัญ ทาง Epic เองก็มีการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มของตัวเอง และสามารถทำ Transaction มูลค่าหลักพันล้านเหรียญสหรัฐได้อย่างปลอดภัยมาแล้วเช่นกัน

ในที่สุด เรื่องราวทั้งหมดก็เข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดีกันอย่างเป็นทางการ รวมถึงเรื่องของส่วนแบ่ง 30% ที่ถูกหยิบขึ้นมาพูดคุยจนกลายเป็นประเด็นร้อนของ Apple ในตอนนี้ด้วย ไม่เพียงเท่านั้น  ทาง Epic Games ยังทำคลิปดังกล่าวขึ้นมาเพื่อประท้วงการผูกขาดของ Apple ด้วย

ใคร ๆ ก็เห็นใจ Epic Games?

น่าสนใจว่า สื่ออย่าง The New York Times และ The Wall Street Journal ตลอดจนบริษัทเทคโนโลยี เช่น Facebook, Spotify และ The Match Group ค่อนข้างเอนเอียงไปในฝั่ง Epic Games

หรือในส่วนของหน่วยงานภาครัฐเองก็มีกรณีที่ คณะกรรมการสหภาพยุโรป (The European Commission : EC) ที่เคยเปิดการไต่สวน Apple มาแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2020 ในข้อหาใกล้เคียงกันว่า Apple ละเมิดต่อกฎของอียูที่ว่าด้วยเรื่องการแข่งขันอย่างเป็นธรรมหรือไม่

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผู้บริหารของ Apple อย่าง Phil Schiller ก็แย้งว่า การกระทำ และข้อเรียกร้องของ Epic Games ที่ขอให้ Apple เปิดแพลตฟอร์มให้นักพัฒนาสามารถแข่งขันได้มากกว่านี้ กำลังทำให้ผู้ใช้ iOS ตกอยู่ในความเสี่ยง

ขณะที่บน eBay ก็เกิดปรากฏการณ์การนำไอโฟนที่ติดตั้งเกม Fornite เรียบร้อยแล้วมาวางขายกันพอสมควร หวังหารายได้จากคนที่ไม่สามารถลงเกม Fornite ได้แล้วนั่นเอง

ทั้งนี้ บริการ App Store ได้กลายเป็นเครื่องจักรหาเงินตัวสำคัญของ Apple ไปแล้ว เห็นได้จากตัวเลขรายได้ที่มีกว่า 46,000 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปี 2019 หรือ 18% ของรายได้ทั้งบริษัท โดยในปีนี้ Apple ตั้งเป้ารายได้จาก App store เอาไว้ถึง 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

รวมทั้งล่าสุด ทาง Epic Games ออกมาประกาศแล้วว่า เกม Fortnite ซีซั่นต่อไป จะไม่ลงไปใน iPhone, iPad หรือ Mac แน่นอน

ส่วนที่ว่าปัญหาครั้งนี้จะพาคู่กรณีไปจบลงในทิศทางไหนนั้น อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเลยทีเดียวจึงจะได้ข้อสรุป

Source

Source

Source

Source

Source

Source

Source


แชร์ :

You may also like