หลังจากที่ดีป้าออกมาเปิดผลสำรวจมูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของไทยในปี 2020 ในหมวดเกม อนิเมชัน และคาแรคเตอร์ โดยพบว่ามีมูลค่ากว่า 3.9 หมื่นล้านบาท และมีสัดส่วนของ “เกม” สูงสุด ถึง 3.4 หมื่นล้านบาทไปแล้วนั้น สิ่งที่น่าค้นหาต่อไปก็คือ ตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ขนาดใหญ่อย่าง “เกม” มีอะไรซ่อนอยู่บ้าง
สิ่งที่ทางผู้สำรวจอย่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ร่วมกับ สมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT) สมาคม ผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟฟิกส์ไทย (TACGA) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA) สมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ (Bangkok ACM SIGGRAPH) และ บริษัท แอทไวส คอนซัลติ้ง จำกัด พบก็คือ อุตสาหกรรมเกมมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
- ปี 2018 มีการเติบโตที่ 13.78%
- ปี 2019 ขยายตัวอีก 15.96%
- ปี 2020 ขยายตัวอีก 34.89% โดยมูลค่าในปี 2020 อยู่ที่ 34,316 ล้านบาท
ทั้งนี้กระแสความนิยมในเกมของประเทศไทย หลัก ๆ เริ่มต้นจากอุปกรณ์โมบายล์ เช่น สมาร์ทโฟน จากนั้นจึงกระจายไปสู่แพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น พีซี หรือเกมคอนโซล โดยเกมบนโมบายล์มีส่วนแบ่งสูงสุดที่ 21,014 ล้านบาท (แบ่งเป็นแอนดรอยด์ 11,077 ล้านบาท และ iOS 9,937 ล้านบาท) ตามมาด้วยเกมพีซี 8,231 ล้านบาท และเกมคอนโซล 4,785 ล้านบาท
ส่วนเกมอาเขต (เกมตู้) พบว่ามีอัตราการเติบโตลดลง เหลือ 251 ล้านบาท เนื่องจากผู้สำรวจบอกว่า ห้างสรรพสินค้ามีการล็อกดาวน์ ทำให้เกมตู้เหล่านี้ไม่สามารถทำรายได้ได้เหมือนในอดีต
“นำเข้าเกม” เติบโต
อย่างไรก็ดี ความนิยมและการเติบโตของอุตสาหกรรมเกมในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นเกมจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งมูลค่าของธุรกิจการจัดจำหน่าย นำเข้าและดูแลลิขสิทธิ์เกมในปี 2020 นั้นสูงถึง 33,316 ล้านบาทเลยทีเดียว
ดีป้าบอกด้วยว่า ความนิยมในเกมเหล่านี้ ยังทำให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ ตามมา เช่น นักสตรีมเกมบนแพลตฟอร์ม Twitch และ Discord เป็นต้น
นอกจากนี้ ผลสำรวจดังกล่าวยังชี้ด้วยว่า เกมแนวแคชชวลเริ่มมาแรง อีกทั้งโมเดลธุรกิจของเกมกำลังวิวัฒนาการ โดยไม่เน้นขายตัวเกมแบบในอดีต แต่เป็นการสร้างเครือข่ายให้ผู้เล่นชักชวนเพื่อนมาเล่นเกมเพื่อขยายฐานลูกค้า และให้ผู้เล่นอยู่ในระบบนิเวศของเกมนานขึ้น รวมถึงมีโมเดลใหม่อย่าง Play-to-earn ด้วย
ตลาด 3 หมื่นล้าน ผลงานไทยไม่ถึง 5%
หันกลับมาดูอีกด้าน สิ่งที่น่าเศร้าก็คือ ตลาดมูลค่า 3 หมื่นกว่าล้านบาทนี้ เป็นการผลิตเพื่อใช้ในประเทศเพียง 429 ล้านบาท และเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 408 ล้านบาทเท่านั้น หรือคิดเป็นการผลิตที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทยเพียง 887 ล้านบาท
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ผลิตงานโดยมีทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอง (IP Owner) ที่ดีป้าพบนั้น มีมูลค่า 409 ล้านบาท (รายได้จากการดาวน์โหลด การใช้จ่ายภายในเกม การขายและการให้เช่าลิขสิทธิ์เกมบนแพลตฟอร์มพีซี) อีกส่วนหนึ่งคือธุรกิจรับจ้างผลิตงาน (Outsource) คิดเป็นมูลค่า 133 ล้านบาท
In-App Purchase เติบโตแตะ 2.1 หมื่นล้าน
อีกหนึ่งหัวข้อที่น่าสนใจคือการใช้จ่ายภายในเกม (In-App Purchase) ที่ดีป้าพบว่า ปี 2020 คนไทยมีการใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อไอเท็มต่าง ๆ ในเกมมากถึง 21,938 ล้านบาท โดยปัจจัยที่ทำให้ In-App Purchase เติบโต นอกเหนือจากการมีช่องทางชำระเงินที่หลากหลายแล้ว Covid-19 ก็มีส่วนเช่นกัน เพราะทำให้ผู้เล่นมีเวลามากขึ้น นำไปสู่การใช้จ่ายภายในเกมมากขึ้นตามไปด้วย
แต่เมื่อพิจารณาร่วมกับความจริงที่ว่า เกมที่ได้รับความนิยมในไทย กว่า 98% เป็นเกมที่มาจากการนำเข้าแล้ว ทำให้เราเห็นความจริงข้อหนึ่งว่า การใช้จ่ายภายในเกมสามารถดึงเงินเข้ากระเป๋านักพัฒนาเกมต่างชาติ – แพลตฟอร์มข้ามชาติไปไม่น้อยเลยทีเดียว
ตลาดเกมไทย “สดใส” จริงหรือ?
อย่างไรก็ดี แนวโน้มในการขยายตัวของอุตสาหกรรมเกมในประเทศไทยในมุมของผู้สำรวจมองว่ายังคงสดใส โดยได้แรงหนุนจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น
- เทคโนโลยีใหม่ ๆ และอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ช่วยให้ประสบการณ์ในการเล่นเกมดีขึ้น
- ต้นทุนในการพัฒนาเกมที่ลดลง
- การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกลุ่มผู้เล่น และค่านิยมในการเล่นเกม
- มีเม็ดเงินโฆษณาจากการ tie-in ของแบรนด์ต่าง ๆ
แต่หากมองไปที่ทั่วโลก 5 ประเทศที่ทำรายได้จากอุตสาหกรรมเกมในปี 2020 สูงสุด (อ้างอิงจาก dotcominfoway.com) คือ
- สหรัฐอเมริกา 36,869 ล้านเหรียญสหรัฐ
- จีนแผ่นดินใหญ่ 36,540 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ญี่ปุ่น 18,952 ล้านเหรียญสหรัฐ
- เกาหลีใต้ 6,194 ล้านเหรียญสหรัฐ
- เยอรมนี 6,012 ล้านเหรียญสหรัฐ
และหากเจาะไปที่บางประเทศอย่างจีนแผ่นดินใหญ่ ท่ามกลางการเข้าไปล้วงลูกของรัฐบาลจีน ทั้งการห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเล่นเกมเกิน 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ฯลฯ แต่รายงานจากสำนักข่าวซินหัวก็ยังเผยให้เห็นว่า รายได้จากอุตสาหกรรมเกมของจีนปี 2021 ได้เติบโตทะลุ 2.9 แสนล้านหยวนไปแล้ว โดยในจำนวนนี้ เป็นเกมบนแพลตฟอร์มโมบายล์มากกว่า 2.3 แสนล้านหยวน และบริษัทผู้พัฒนาเกมของจีนก็คาดว่ายอดขายเกมที่มาจากนอกประเทศในปี 2021 นี้ อาจพุ่งขึ้นไปถึง 1.08 แสนล้านหยวน หรือกว่า 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐได้เลยทีเดียว
ส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าประเทศที่นักลงทุนให้ความสนใจอาจเป็นสิงคโปร์ ที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Garena Online ของค่าย Sea ตั้งอยู่ รวมถึงยังมีสตาร์ทอัพ – บริษัทผู้พัฒนาภายในประเทศอีกไม่ต่ำกว่า 200 รายที่ส่งออกเกมสู่หลายประเทศทั่วโลก
คำถามอาจมีเพียงหนึ่งเดียว นั่นคือ ตลาดที่สดใส มีการเติบโตสูง และถูกมองว่ามีศักยภาพอย่างประเทศไทย จะอยู่ใน “บทบาทใด” ของอุตสาหกรรมเกมที่กำลังเติบโตอย่างมากนี้