น่าสนใจทีเดียวสำหรับ TikTok แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานไม่ถึงร้อยล้านคนในสหรัฐอเมริกา และมีต้นกำเนิดจากนักพัฒนาในจีนแผ่นดินใหญ่อย่าง ByteDance ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” กังวลอย่างมาก จนต้องใช้คำสั่งพิเศษ (Executive Orders) เพื่อแบนแอปพลิเคชันดังกล่าวให้พ้นแดนอินทรี หรือมิเช่นนั้นก็ต้องขายกิจการเพื่อจะได้มั่นใจว่าจะไม่มีการแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานกลับไปยังจีนแผ่นดินใหญ่
โดยที่ผ่านมา ความกังวลของสหรัฐอเมริกาต่อ TikTok เริ่มเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมตอนปลายปี 2019 เมื่อคณะกรรมการด้านการลงทุนจากต่างประเทศ (The Committee on Foreign Investment in the U.S. หรือ CFIUS) ได้เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับแอป TikTok ว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ในขณะนั้นไม่ได้มีแอคชั่นที่จริงจังต่อประเด็นนี้แต่อย่างใด
ในสายตาคนทั่วไป มันจึงไม่แปลกหากจะมองได้ว่า แนวคิดการแบน TikTok อย่างเข้มข้นเพิ่งมาเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ โดยที่มาของแรงบันดาลใจดังกล่าว นอกจากเรื่องของความมั่นคงของประเทศแล้ว ได้มีสื่อดังของสหรัฐอเมริกาอย่าง Forbes และสื่อจากอังกฤษอย่าง The Telegraph หยิบเหตุการณ์การปราศรัยหาเสียงครั้งแรกของโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในเมือง Tulsa รัฐโอกลาโฮมา สหรัฐอเมริกา มาเป็นกรณีศึกษาร่วมด้วย
สื่อตั้งข้อสังเกต ทำไม Donald Trump พุ่งเป้ามาที่ TikTok
ความร้ายแรงของเหตุการณ์นี้ก็คือ แทนที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะได้กล่าวปราศรัย “ครั้งแรก” ท่ามกลางผู้สนับสนุนที่แน่นขนัด แต่อีเวนท์ดังกล่าวเต็มไปด้วยเก้าอี้ว่างเปล่ามากมาย จนเป็นเรื่องเสียหน้าไปทั่วโลก และสาเหตุที่ทำให้เก้าอี้ว่างเปล่า ไร้เงาผู้สนับสนุนนั้น ส่วนหนึ่งอาจมาจากแคมเปญต่อต้านโดนัลด์ ทรัมป์บน TikTok และ Twitter นั่นเอง
โดยแรกเริ่มเดิมที สิ่งที่ผู้คนไม่พอใจนั้นมาจาก “วันที่” จัดงาน ซึ่งทีมของโดนัลด์ ทรัมป์ เลือกจัดเป็นวันที่ 19 มิถุนายน 2020 ซึ่งตรงกับวันครบรอบการเลิกทาสของสหรัฐอเมริกา (ในขณะนั้น สหรัฐอเมริกามีการประท้วง #BlackLivesMatter เกิดขึ้นด้วย และมีความไม่พอใจในการแสดงออกของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อกรณีดังกล่าวเป็นทุนเดิม) และถึงแม้ในเวลาต่อมา จะมีการเปลี่ยนวันที่จัดงานเป็น 20 มิถุนายนเพื่อลดความโกรธเกรี้ยวของฝูงชนแล้วก็ตาม แต่การตอบโต้ทรัมป์และทีมงานหาเสียงโดยใช้สื่อโซเชียลเป็นเครื่องมือก็เริ่มต้นขึ้นไปแล้ว
เป้าหมายของแคมเปญต่อต้านทรัมป์บน TikTok และ Twitter ก็คือ การลงทะเบียนเข้าร่วมงานปราศรัยด้วย “ข้อมูลปลอม” ทั้งชื่อ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล ฯลฯ และไม่ต้องไปเข้าร่วมงาน ซึ่งแคมเปญนี้ไม่เพียงกระทบใจชาวอเมริกัน เพราะเมื่อมัน Go Online ใคร ๆ ก็เข้าร่วมได้ นั่นจึงมีคนที่ไม่รักทรัมป์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกร่วมแรงร่วมใจจองที่นั่งกันมากมาย
แน่นอนว่า ข้อมูลปลอม ๆ เหล่านี้ทำให้ทีมผู้จัดงานของทรัมป์ดีใจมาก และมีการเตรียมตัวครั้งใหญ่เพื่อรองรับผู้ฟังจำนวนดังกล่าว โดยความจุของสถานที่จัดงานคือราว 20,000 ที่นั่ง และทีมผู้จัดก็ได้รับการยืนยันว่ามีคนลงทะเบียนมาเกือบ 1 ล้านคน ซึ่งเกินกว่าจำนวนที่รับได้ ทำให้ทางผู้จัดงานบอกว่าจะมีการปราศรัยของประธานาธิบดีที่ด้านนอกอาคารด้วย
อย่างไรก็ดี ภาพที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม เพราะเวที BOK Center Arena สถานที่จัดการประชุมมีผู้เข้าร่วมงานไม่ถึงครึ่ง จนกลายเป็นภาพที่สร้างความเสียหน้าครั้งใหญ่ ทั้งของสหรัฐอเมริกา และโดนัลด์ ทรัมป์
เมื่อผลไม่เป็นดังที่หวัง ก็แน่นอนว่ามีการออกข่าวแก้เกี้ยวโดยอ้างสาเหตุต่าง ๆ เช่น การอ้างว่ามีเหตุประท้วงภายในเมือง Tulsa ทำให้ผู้สนับสนุนไม่สามารถออกมาร่วมกิจกรรมได้ ฯลฯ (ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในคืนนั้นมีการประท้วงเกิดขึ้นจริง แต่เป็นการประท้วงขนาดย่อมที่ไม่น่าจะหยุดคนนับล้านได้หากตั้งใจจะมาจริง ๆ)
อย่างไรก็ดี สองสัปดาห์หลังจากนั้น Mike Pompeo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ก็ได้หยิบประเด็นเรื่องการแบนแอป TikTok เพื่อความมั่นคงของประเทศขึ้นมาพูดอย่างจริงจัง ทั้ง ๆ ที่แอป TikTok เข้ามาในตลาดสหรัฐอเมริกาแล้วสองปีเป็นอย่างน้อย เหตุการณ์นี้มีการพูดถึงกันอยู่เงียบ ๆ ในกลุ่มผู้ใช้ TikTok ในสหรัฐอเมริกาว่า แคมเปญของพวกเขาอาจเป็นต้นเหตุก็เป็นได้
หรือ TikTok กลายเป็นเครื่องมือหาเสียง?
TikTok กลายเป็นประเด็นทางการเมืองนับจากนั้น แต่วันที่เรื่องนี้มีผลจริง ๆ อาจเริ่มขึ้นเมื่อ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ให้สัมภาษณ์ระหว่างที่เขาโดยสารเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันจากวอชิงตันกลับมาฟลอริด้า ว่า เขาสามารถใช้ “คำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี” หรือ Executive order ในการสั่งแบนแอปพลิเคชันนี้ได้ และสุดท้ายก็มีการเซ็นคำสั่งออกมาจริง ๆ เมื่อวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยนอกจาก TikTok แล้ว แอปอย่าง WeChat ของค่าย Tencent ก็โดนหางเลขไปด้วย
ด้วยสถานะที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ของ TikTok การถูกแบนย่อมไม่ส่งผลดี และทำให้มีกระแสข่าวลือว่านักลงทุนหลายรายเกิดความเสียดาย และอยากขอซื้อ TikTok จากบริษัทแม่อย่าง ByteDance ซึ่งหนึ่งในนั้นมีชื่อของบริษัท Microsoft รวมอยู่ด้วย
นอกจากการเจรจาขอซื้อกิจการแล้ว ก็มีนักลงทุนอีกหลายรายที่ออกมาตั้งข้อสงสัยถึงคำสั่งนี้ของทรัมป์ ด้วยมองว่า ดีลขายกิจการทั่วไป ก็ยังต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือนจึงจะเจรจาเสร็จสิ้น แต่เส้นตายของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ต้องให้แอปพลิเคชันจัดการตัวเองให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 กันยายน หรือให้เวลาเพียง 45 วันดูจะเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลเลย
ด้าน TikTok เอง แม้ไม่มีประเด็นทำให้ประธานาธิบดีเสียหน้า แต่ TikTok ก็น่าจะเตรียมตัวรับมือกับเรื่องนี้มาสักพักแล้ว เห็นได้จากการเปลี่ยนตัวผู้บริหารเป็น Kevin Mayer อดีตมือดีจากดิสนีย์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เพื่อลดแรงกดดันเรื่องการเป็นแอปพลิเคชันจากจีนแผ่นดินใหญ่ หรือการออกมาชี้แจงว่า บริษัทไม่มีการส่งข้อมูลผู้ใช้งานให้รัฐบาลจีนอย่างที่รัฐบาลอเมริกันกล่าวหา (ปัจจุบัน ข้อมูลถูกเก็บไว้ที่สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์)
ประกอบกับศักยภาพของ TikTok ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ในสหรัฐอเมริกาได้อย่างรวดเร็ว เห็นได้จากสถิติของ Sensor Tower ที่มีการคาดการณ์ว่าในสหรัฐอเมริกามีผู้ใช้งาน TikTok อยู่ราว 85 ล้านคน จากเดิมในปี 2018 ที่มีผู้ใช้งานอยู่เพียง 20 ล้านคน ทำให้มีกลุ่มนักลงทุนแสดงความสนใจอยากต่ออายุให้กับแอปพลิเคชันดังกล่าวด้วยการขอซื้อกิจการของ TikTok จาก ByteDance กันมากมาย
ทำไม Microsoft ต้องอยากได้ TikTok
สำหรับค่ายที่มาแรงที่สุดอย่าง Microsoft ยักษ์ใหญ่วงการเทคโนโลยี ที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า TikTok จะทำให้ Microsoft มีแหล่งรายได้ใหม่จากธุรกิจโฆษณาอย่างเต็มตัว หลังจากปล่อยให้บริษัทเพื่อนบ้านอย่าง Google, Facebook ฯลฯ นำหน้าไปไกลโข
ไม่เพียงเท่านั้น การมีเงื่อนเวลาของรัฐบาลทรัมป์มากดดันให้ TikTok ต้องขายกิจการให้กับบริษัทสัญชาติอเมริกันภายใน 45 วันหลังจากมีคำสั่งออกมา (20 กันยายน 2020) ยังอาจทำให้ Microsoft สามารถซื้อ TikTok ได้ในราคาถูกกว่าที่ควรจะเป็นด้วย
ด้วยปัจจัยที่กล่าวมา นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า TikTok จะทำให้พอร์ตรายได้ของ Microsoft สมบูรณ์มากขึ้น ประกอบกับความเชื่อมั่นในการบริหารของ Satya Nadella ที่นำพาบริษัทให้ประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายเซกเมนต์ ทั้งเกม, คลาวด์ ฯลฯ การเปิดหน้าไพ่ว่าจะขอซื้อ TikTok จึงเท่ากับเพิ่มแต้มต่อให้บริษัทโดยปริยาย
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่ Microsoft ต้องแบกรับจากการซื้อกิจการ TikTok ก็มีอยู่เช่นกัน ตัวอย่างที่สามารถดูได้คือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสัญชาติเดียวกันอย่าง Facebook หรือ Twitter ที่ต้องปวดหัวและต้องวิ่งวุ่นเข้าชี้แจงต่อสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ไม่นับรวมที่บริษัทเหล่านั้นต้องจ้างพนักงานเอาท์ซอร์สคอยมอนิเตอร์ข่าวปลอม ภาพโป๊ ความรุนแรง ฯลฯ จนสุขภาพจิตย่ำแย่และออกมาฟ้องร้องอยู่หลายครั้ง ฯลฯ ซึ่งไม่คุ้มเลยหาก Microsoft จะต้องเผชิญกับปัญหาแบบเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่จุดที่ Microsoft ยืนอยู่ทุกวันนี้อาจจะ “ดีอยู่แล้ว”
บิล เกตส์ อดีตผู้ก่อตั้ง Microsoft เองก็เคยให้สัมภาษณ์กับ The Wired โดยเปรียบดีลนี้ว่าเป็นถ้วยยาพิษ พร้อมบอกว่าการจะเป็นผู้เล่นที่แข็งแกร่งในวงการโซเชียลมีเดียไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน
การโต้กลับของ TikTok ฟ้องรัฐบาลอเมริกัน?
ท่ามกลางอนาคตที่ไม่ชัดเจนของ TikTok ในตลาดสหรัฐอเมริกา ดูเหมือนว่าบริษัทเองก็ไม่ได้ยอมแพ้ หากยังมีการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ ๆ ออกมาเพิ่มเติม เช่น การเปิดแอปพลิเคชัน More on TikTok สำหรับผู้ชม Fire TV ของค่าย Amazon รวมถึงการที่มีรายงานข่าวอ้างว่า TikTok เตรียมเอกสารจะยื่นฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ เร็ว ๆ นี้
ในขณะเดียวกัน ผู้เล่นรายอื่น ๆ ก็มีการเปิดตัวแอปพลิเคชันแห่ง “แรงบันดาลใจ” ที่มีฟีเจอร์คล้าย ๆ กับ TikTok ออกมาทันที เช่น Reels จาก Facebook ซึ่งส่วนหนึ่งอาจทำให้ครีเอเตอร์ที่อยู่บน TikTok และกำลังมองหาแพลตฟอร์มใหม่ย้ายสังกัดกันได้บ้าง
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ความกังวลเรื่องข้อมูลของชาวอเมริกันว่าจะหลุดรอดไปอยู่ในมือจีนแผ่นดินใหญ่จนต้องสั่งแบน TikTok ให้ได้แบบปัจจุบันทันด่วนอาจเป็นเพียงเกมการเมือง เพราะอย่าลืมว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เหลือเวลาอยู่บนเก้าอี้ไม่มากนัก และการจะกลับมาครองตำแหน่งนี้อีก 4 ปีในวันที่แต้มต่อทางการเมืองต่ำเตี้ยเรี่ยดินก็ดูจะมีทางเลือกไม่มาก
ไม่แน่ว่า การกำจัด TikTok จึงอาจเป็นเพียงหมากตาหนึ่งที่โดนัลด์ ทรัมป์ เลือกทำเพื่อให้เขากลับมาเป็นใหญ่อีกครั้งในทำเนียบขาวก็เป็นได้
Source