HomeBrand Move !!ญี่ปุ่นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน “โตเกียว-โอซาก้า” และอีก 5 เมืองใหญ่แล้ว

ญี่ปุ่นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน “โตเกียว-โอซาก้า” และอีก 5 เมืองใหญ่แล้ว

แชร์ :

หลังจากเผชิญแรงกดดันจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขในช่วงที่ผ่านมาอย่างรุนแรง ล่าสุด นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโสะ อาเบะ ก็ได้มีการออกประกาศภาวะฉุกเฉินแล้วโดยพุ่งเป้าไปที่เมืองใหญ่อย่าง “กรุงโตเกียว – โอซาก้า” รวมถึงอีก 5 จังหวัดสำคัญ เพื่อให้เมืองเหล่านี้สามารถใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ได้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยนอกจากโตเกียวและโอซาก้าแล้ว อีก 5 จังหวัดที่มีชื่ออยู่ในประกาศภาวะฉุกเฉินด้วยนั้นประกอบด้วย คานากาว่า, ไซตามะ, ชิบะ, เฮียวโก และฟุกุโอกะ สำหรับระยะเวลาในการประกาศนั้น ทางนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นระบุว่าจะกินเวลาประมาณหนึ่งเดือน และรัฐบาลจะอัดฉีดเงิน 108 ล้านล้านเยนเข้าระบบเศรษฐกิจด้วย

สำหรับเป้าหมายสำคัญของการประกาศภาวะฉุกเฉินนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นบอกว่า คือ “การเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชน”

อย่างไรก็ดี รายงานจากเว็บไซต์ Japantimes ระบุว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินในครั้งนี้จะไม่นำไปสู่การ “ล็อกดาวน์” เมืองเหมือนเช่นที่เกิดในบางประเทศของสหภาพยุโรป แต่จะเป็นการช่วยให้หน่วยงานท้องถิ่นสามารถขอความร่วมมือจากประชาชนให้อยู่แต่ในบ้าน (เว้นแต่จะต้องออกมาซื้ออาหาร หรือมีเหตุจำเป็นจริง ๆ) รวมถึงขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจในกรณีที่รัฐบาลต้องใช้มาตรการรับมือกับไวรัสที่เข้มข้นขึ้นนั่นเอง

โดยภายใต้การประกาศภาวะฉุกเฉินนี้ ฝ่ายปกครองท้องถิ่นสามารถประกาศให้โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงภาพยนตร์ และพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ ปิดตัวลงชั่วคราวได้ รวมถึงสามารถเข้าใช้พื้นที่ต่าง ๆ ของเมือง เพื่อสร้างเป็นสถานพยาบาลชั่วคราวสำหรับรองรับผู้ป่วยได้ด้วย (แม้ว่าเจ้าของพื้นที่จะไม่ยินยอมก็ตาม)

นอกจากนั้น ฝ่ายปกครองท้องถิ่นยังสามารถสั่งการให้ผู้ผลิตยาและอาหารของเมืองขายสินค้าให้กับภาครัฐโดยตรงได้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี การประกาศภาวะฉุกเฉินนี้จะไม่มีผลกับบริการพื้นฐานอย่างไฟฟ้า ประปา แก๊ส ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา ธนาคาร ไปรษณีย์ และระบบขนส่งมวลชน

ภาพของร้านค้าในย่าน Ginza เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2020 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแหล่งช้อปสินค้าชื่อดังเงียบเหงาไปถนัดตาจากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 (ขอบคุณภาพจาก Shutterstock)

ญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉิน “ช้าไป”?

ที่ผ่านมา มีรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นถูกโจมตีจากหลายฝ่ายจากเหตุที่ไม่ยอมรับว่าญี่ปุ่นเจอไวรัส Covid-19 เล่นงานจนเข้าสู่ภาวะวิกฤติแล้ว เห็นได้จากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้น 205 รายในวันจันทร์ที่ผ่านมา จนมียอดสะสมผู้ติดเชื้อรวม 4,041 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 4 รายจนทำให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตแตะ 108 รายแล้ว

นอกจากนี้ หากพิจารณาเฉพาะกรุงโตเกียว เมืองหลวงของประเทศ ยังพบว่าเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ไปแล้ว เห็นได้จากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่มาจากกรุงโตเกียวในช่วงวันเสาร์ – วันจันทร์ที่ผ่านมาถึง 343 ราย (วันเสาร์ 117 ราย, วันอาทิตย์ 143 ราย และวันจันทร์อีก 83 ราย) ส่งผลให้สมาคมการแพทย์กรุงโตเกียว (The Tokyo Medical Association) ต้องออกมาประกาศภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์ไปเมื่อวันจันทร์ หลังพบความเป็นไปได้ว่า ระบบดูแลสุขภาพของญี่ปุ่นอาจไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนมากได้นั่นเอง

รายงานจาก Japantimes ยังมีการกล่าวถึง “โอซาก้า” ว่าเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่เผชิญกับตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงที่สุดในประเทศ รองจากกรุงโตเกียว กับยอดผู้ติดเชื้อ 760 ราย (โดยตัวเลขนี้รวมโอซาก้าและจังหวัดใกล้เคียงอย่าง เกียวโต, เฮียวโก, และนารา เอาไว้แล้ว)

โดยสิ่งที่โอซาก้ากังวลคือเตียงผู้ป่วยที่อาจไม่เพียงพอ จึงมีการเรียกร้องให้โรงแรมในจังหวัดเข้ามาร่วมช่วยเหลือ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากโรงแรมดังอย่าง The Park Front Hotel (โรงแรมพาร์ทเนอร์ของ Universal Studio Japan) ที่มีห้องพักขนาด 600 เตียง เสนอให้เข้าใช้พื้นที่ของทางโรงแรมในการกักตัวผู้ติดเชื้อ Covid-19 ได้แล้ว

เตรียมยกระดับการเรียนสู่ “ออนไลน์”

ด้านภาคการศึกษาของญี่ปุ่น มีรายงานว่า ทางคณะกรรมการการศึกษาของกรุงโตเกียวได้ขยายเวลาปิดการเรียนการสอนไปจนถึงวันที่ 6 พฤษภาคม ในขณะเดียวกันก็มีการพิจารณาถึงการเรียนการสอนออนไลน์ในช่วงชั้นประถม, มัธยมต้น และมัธยมปลายด้วยแล้ว

โดยสิ่งที่ภาครัฐจะช่วยได้นั้นอาจเป็นเรื่องการจัดหาคอมพิวเตอร์, เราเตอร์ ฯลฯ ให้กับเด็ก ๆ ใช้ในการเรียนออนไลน์เพิ่มเติม ขณะที่ 3 ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง NTT Docomo, KDDI และ SoftBank ก็มีนโยบายว่าจะลดค่าธรรมเนียมการใช้บริการให้กับนักเรียนนักศึกษาที่อายุไม่เกิน 25 ปีด้วย

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าหนทางจะสะดวกราบรื่นไปเสียหมด เพราะญี่ปุ่นเคยมีการสำรวจความคิดเห็นเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นต่าง ๆ จำนวน 1,815 คนเกี่ยวกับการสอนออนไลน์เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า 78% ของเจ้าหน้าที่เหล่านั้นไม่เคยมีประสบการณ์ในเรื่องการสอนออนไลน์เลย แถม 73% บอกว่าไม่มีแผนจะเปิดการเรียนการสอนออนไลน์ด้วย

ขอบคุณภาพจาก Sharp

ทั้งหมดนี้ ต้องเรียกว่า Covid-19 ได้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างให้กับญี่ปุ่น ทั้งการประกาศภาวะฉุกเฉิน การควักเงินเข้าอุ้มเศรษฐกิจของประเทศนับล้านล้านเยน รวมถึงการปรับการเรียนการสอนของเด็ก ๆ และสำคัญที่สุดคือไวรัส Covid-19 ยังทำให้ญี่ปุ่นต้องเลื่อนการจัดงาน Tokyo Olympic Games ออกไปเป็นวันที่ 23 กรกฎาคมปีหน้าด้วย ซึ่งการประกาศภาวะฉุกเฉินนี้จะช่วยให้ญี่ปุ่นรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้นหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องให้กำลังใจกันต่อไป

Source

Source

Source

Source

Source


แชร์ :

You may also like