HomeBrand Move !!วิกฤติยังมีโอกาส! ‘นายใหญ่’ BJC ดึงแผนอนาคต 5-10 ปี เร่งสปีดเสริมแกร่งองค์กรใน 2-3 เดือน

วิกฤติยังมีโอกาส! ‘นายใหญ่’ BJC ดึงแผนอนาคต 5-10 ปี เร่งสปีดเสริมแกร่งองค์กรใน 2-3 เดือน

แชร์ :

ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อ COVID-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและในประเทศไทย กลายเป็นปัจจัยลบกระทบธุรกิจให้ต้องสะดุดหยุดลงในช่วงนี้ แต่หากมองอีกมุมก็นำมาซึ่งโอกาสที่จะได้ดูแลลูกค้า คู่ค้า และพนักงาน เป็นช่วงเวลาเรียนรู้ ปรับตัว เพิ่มประสิทธิภาพให้องค์กรให้แข็งแกร่ง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ถือเป็นการส่งสัญญาณขับเคลื่อนองค์กรที่มองวิกฤติเป็นโอกาสของ 2 นายใหญ่แห่ง BJC Big C เมื่อ คุณอัศวิน และคุณฐาปณี เตชะเจริญวิกุล  (เขยและลูกสาวคนเล็กของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของอาณาจักร TCC Group) ออกมาประกาศยุทธศาสตร์เดินหน้าฝ่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ ไปพร้อมกับการดูแลลูกค้าและคู่ค้าพันธมิตร

คุณอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC เล่าถึงสถานการณ์ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 ว่าเป็นช่วงที่มีความท้าทายอย่างมาก กลุ่ม BJC Big C ต้องปรับตัวจากวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น และต้องมองหาโอกาส ที่จะทำให้องค์กรมีความแข็งแกร่งมากขึ้น เป็นช่วงเวลาที่มีการตัดสินใจหลายอย่างอย่างรวดเร็ว เพื่อดูแลพนักงาน ลูกค้า คู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ

กลุ่ม BJC Big C เริ่มต้นปี 2563 ด้วยความหวังว่าจะเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่ง แต่พอเดือนกุมภาพันธ์ ก็เริ่มเห็นผลกระทบจากการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศจีนลดลง จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19  ทำให้กระทบยอดขายค้าปลีก Big C ในบางสาขาทำเลแหล่งท่องเที่ยว

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีความท้าทายเป็นอย่างมาก จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส Covid-19 ที่รุนแรงขึ้น เริ่มมีผลกระทบต่อลูกค้าและคู่ค้าในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้ต้องประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด

วิกฤติเป็นโอกาสดึงแผนอนาคตเสริมแกร่งองค์กร

แต่วิกฤติครั้งนี้ก็เป็นโอกาสให้กลุ่ม BJC Big C ทำในสิ่งที่วางแผนธุรกิจในอนาคต 5-10 ปีข้างหน้า ให้เกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนนี้  ไม่ว่าจะเป็น โอกาสที่จะปรับองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มาตรการดูแลพนักงานใช้เทคโนโลยีใหม่ ที่เริ่มไปแล้วกับ work from home การจัดประชุมผ่านออนไลน์ (Conference call) การสื่อสารกับพนักงานสาขาและผู้จัดการสาขา ที่ทำงานได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น และช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้าสมัยใหม่

อีกทั้งยังเป็นอีกโอกาสที่ทำให้กลุ่ม BJC Big C ได้ดูแลลูกค้าและคู่ค้าในภาวะวิกฤติครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้ว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในกลุ่มเวชภัณฑ์ยา ขณะนี้โรงงานผลิตบรรจุภัณ์แก้วของ BJC ทั้งที่ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย ยังเปิดดำเนินการปกติ เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารและเวชภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้

ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภค ไม่ว่าจะเป็น กระดาษทิชชู่ ซึ่งมีความต้องการเป็นอย่างมากในช่วงวิกฤติโควิด-19 ฐานการผลิต BJC ไม่ว่าจะเป็นที่ไทย เวียดนาม และกัมพูชา ได้เดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตให้ทันกับดีมานด์ในช่วงนี้

ส่วนการผลิตสินค้าเวชภัณฑ์ ที่ใช้ในการทำความสะอาด สบู่ น้ำยาทำความสะอาด ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาได้ผลิตแอลกอฮอล์และน้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และลูกค้ามั่นใจว่าสามารถเข้าถึงสินค้าและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีปริมาณเพียงพอ

“ที่ผ่านมาท่านรองประธานบริษัท คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี โดยผ่านมูลนิธิและกลุ่ม BJC Big C ได้สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ่าตัด หน้ากาก และ face shield โดยมอบให้หน่วยงานต่าง ๆ ไปแล้วหลายแห่ง ถือเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันของทุกองค์กรเพื่อทำให้ประเทศพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้”

ส่วนกลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern trade) Big C เป็นอีกกลุ่มธุรกิจหลักที่ต้องให้บริการต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีความจำเป็น ของกินของใช้ เข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม รวมทั้งบริการ Logistic และคลังสินค้า (DC) ในการขนส่งสินค้าจากคู่ค้าของ Big C ไปถึงมือผู้บริโภค ผ่านโครงข่ายการกระจายสินค้าที่ครอบคลุมในภูมิภาคอาเซียน และใช้เครือข่ายโลจิสติกส์ช่วยภาครัฐในการกระจายเวชภัณฑ์ เช่น หน้ากากอนามัย เพื่อให้เข้าถึงคนไทยทั่วประเทศ

เวลานี้เป็นเวลาที่ลำบากและมีความท้าทาย กลุ่ม BJC  Big C  ต้องทำหน้าดูแลลูกค้า คู่ค้า และพนักงาน พร้อมตอบแทนสังคมอย่างเต็มที่ เพื่อฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้

เพิ่มสวัสดิการดูแลพนักงาน

ฝั่งนายหญิง BJC คุณฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่การเงินกลุ่มบริษัท กล่าวว่าตอนนี้เป็นสถานการณ์ที่ลำบากและมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงได้ปรับรูปแบบการทำงาน work from home เพื่อดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน  แม้จะสื่อสารกันลำบาก แต่ทุกคนได้ปรับตัวไปตามสถานการณ์พร้อมๆ กัน

การประกาศให้พนักงานทำงานที่บ้านในสถานการณ์นี้ ได้จัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นให้ไปใช้ที่บ้าน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการทำงาน การเรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ ผ่านระบบ E-learning, Teleconference การประชุมผ่านระบบ Zoom ,Webex มากขึ้น

พนักงานคือเป็นส่วนสำคัญขององค์กร จึงได้เพิ่มสวัสดิการดูแลต่างๆ ทั้งด้านของอุปกรณ์ใช้สอยในการทำงาน หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ถุงมือ face shield เพื่อใช้ป้องกันตัวเอง นอกจากนี้ได้ขยายวงเงินรักษาพยาบาลพิเศษให้กับพนักงานที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ

กลุ่มที่ต้องปฏิบัติงานในห้าง Big C และส่วนอื่นๆ ได้อำนวยความสะดวกด้านการจำหน่ายอาหารในพื้นที่สำนักงาน รวมทั้งสื่อสารประชาสัมพันธ์ตลอดระยะเวลาที่เริ่มมีการแพร่ระบาด เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์ และช่วยเหลือดูแลตัวเอง มีแนวทางปฏิบัติต่างๆ ให้พนักงานได้รับมือและเตรียมพร้อมสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น การวางแผนและเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ในระดับต่างๆ ตั้งแต่เบื้องต้นไปถึงการประกาศเคอร์ฟิว หรือมาตรการปิดร้านหรือสำนักงาน เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น เพื่อร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรคและวิกฤติครั้งนี้ไปด้วย

“เมื่อเราดูแลคนในครอบครัว ซึ่งก็คือพนักงานให้ดีที่สุด ก็สามารถที่จะส่งต่อการดูแลนี้ไปถึงลูกค้าให้ได้รับการบริการที่ดีที่สุดเช่นเดียวกัน เชื่อว่าเราจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน ด้วยความเชื่อมั่นและโอกาสที่จะทำให้องค์กรแข็งแกร่งต่อไป”

source 


แชร์ :

You may also like