HomeCSR7 เรื่องของกระบวนการ “รีไซเคิล” ขวด PET ใช้ใหม่ได้ 100% ช่วยโลกกอบกู้วิกฤติขยะ

7 เรื่องของกระบวนการ “รีไซเคิล” ขวด PET ใช้ใหม่ได้ 100% ช่วยโลกกอบกู้วิกฤติขยะ

แชร์ :

รู้หรือไม่ว่า ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำอัดลมที่อยู่ในชีวิตประจำวันนั้น ล้วนทำจากพลาสติกแบบใส ที่เรียกว่า “PET” ซึ่งพลาสติกชนิดนี้สามารถนำกลับมาสู่กระบวนการ รีไซเคิลได้แบบ 100% กลายเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ได้ไม่รู้จบ หากคุณอยากช่วยโลกลดปริมาณขยะและการใช้พลาสติกผลิตใหม่ นี่คือ 7 เรื่องเกี่ยวกับกระบวนการรีไซเคิลที่คุณจะต้องรู้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune
  1. Circular Economy แนวคิดเปลี่ยนขยะให้กลับมาวนใช้ได้ไม่รู้จบ

ทั่วโลกพูดถึงภาวะโลกร้อน (Global warming) รวมถึงวิกฤตขยะล้นโลกกันมานานแล้ว หนึ่งทางออกที่มักจะถูกหยิบขึ้นมาพูดกันอยู่เสมอ คือ การลดการใช้พลาสติก รวมถึงการนำเอาวัตถุ สิ่งของ เครื่องใช้ ที่ผลิตขึ้นมาแล้วทั้งหมดวนกลับมาใช้ซ้ำ ไม่เพียงแต่ภาคประชาชนที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะ ภาคอุตสาหกรรมเองได้ร่วมกันผลักดันแนวคิด “เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน” หรือ “Circular Economy” กันอย่างต่อเนื่อง แทนการผลิต-บริโภค-แล้วทิ้ง ตามรูปแบบอุตสาหกรรมแบบเดิม 

หัวใจสำคัญของแนวคิดนี้ ไม่ใช่แค่เพียงการผลิตบริโภคนำกลับมาใช้ซ้ำเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนกระบวนการผลิต การบริโภค และการใช้ชีวิตเลยก็ว่าได้ ซึ่งองค์กรที่นำไปใช้ต้องทำความเข้าใจหลักการออกแบบและการทำงานของธรรมชาติ เพื่อให้การใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด ในประเทศไทยมีหลายองค์กร เช่น SCG, Coca-cola ที่เราเริ่มเห็นการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้อย่างจริงจัง

  1. สถานการณ์ขยะยังน่าเป็นห่วง

ข้อมูลจาก กรมควบคุมมลพิษบอกว่า ในปี 2561 ปริมาณขยะในไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อน จาก 27.8 ล้านตัน จะเพิ่มขึ้นอีก 1.64% ด้วยปัจจัยจากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น การขยายตัวของชุมชนเมืองรวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ที่มีเพียง 5 แสนตันจากจำนวน 2 ล้านตันเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล 

ที่น่ากังวล คือ ยังมีขยะที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกวิธีถึง 27% หรือเกือบ 1 ใน 3 ของขยะที่ต้องกำจัด กลายเป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง

  1. ขวดพลาสติก PET ถูกส่งมารีไซเคิลที่อินโดรามา เวนเจอร์ส 

สำหรับขวดพลาสติก PET ที่ถูกใช้งานแล้ว จำนวน “100 ตันต่อวัน จะถูกส่งมาที่ อินโดรามา เวนเจอร์สบริษัทผู้ผลิต PET รายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ 25% โดยบริษัทมีการจัดตั้งโรงงานรีไซเคิล 11 แห่งทั่วโลก ทั้งในประเทศเนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อเมริกา เม็กซิโก รวมถึงประเทศไทย ที่นับว่าเป็นโรงงานรีไซเคิลแห่งแรก หลังบริษัทเข้ามาจัดตั้งโรงงานในจังหวัดนครปฐมเมื่อ 5 ปีก่อน 

ก่อนที่จะมาถึงโรงงานแห่งนี้ ขวด PET จะถูกบีบอัดจนกลายเป็นกองพลาสติกขนาดใหญ่ และจะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพก่อนนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยในปี 2018 ที่ผ่านมา อินโดรามา เวนเจอร์ส สามารถรีไซเคิลขวด PET ได้ถึง 1.65 พันล้านขวดต่อปี ช่วยประเทศไทยลดการใช้น้ำมันดิบกว่า 530,000 บาร์เรล และลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกซ์มากถึง 118 ล้านกิโลกรัม 

แต่เนื่องจากปริมาณขวด PET ที่เข้ามาในแต่ละวันมีปริมาณสูง ในปี 2564 อินโดรามา เวนเจอร์ส มีแผนที่จะเพิ่มกำลังการรีไซเคิลจาก 30 ตันต่อวันเป็น 68 ตันต่อวัน หรือคิดเป็นประมาณ 2.4 หมื่นตันต่อปี โดยได้เตรียมงบลงทุนถึง 10.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และภายในปี 2568 เชื่อว่าจะสามารถเพิ่มการรีไซเคิลได้เป็น 7.5 แสนตันต่อปี

  1. จากขวด PET กลายเป็นเม็ดพลาสติก rPET 

เมื่อมาสู่ขั้นตอนของการรีไซเคิล ขวด PET ที่ใช้แล้วจะถูกนำมาคัดแยก เพื่อนำสิ่งแปลกปลอมทุกชนิดออกจากขวดให้หมด จากนั้นผ่านการล้างทำความสะอาดอีกหลายครั้ง ผ่านขั้นตอนการกำจัดเชื้อโรค ก่อนจะถูกตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ เรียกว่า เกล็ดพลาสติก จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการใช้ความร้อนสูงถึง 285-300 องศาเซลเซียส เพื่อหลอมเกล็ดพลาสติกให้เป็นเม็ดพลาสติก rPET รอส่งออกต่างประเทศ เช่น อังกฤษ และออสเตรเลีย เพื่อนำไปผลิตบรรจุภัณฑ์ใหม่ หรือแปลงร่างเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆต่อไป

  1. ทั่วโลกรณรงค์ใช้พลาสติกรีไซเคิลทำบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารและเครื่องดื่มใหม่

จากปัญหาวิกฤติขยะที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้ลายประเทศหันมาส่งเสริมให้ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้แล้ว อย่างในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น รวมถึง 28 ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป เริ่มนำวัสดุและบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากรีไซเคิลมาใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม 

อย่างที่ประเทศเยอรมนี พบว่า มีอัตราการนำขวดพลาสติกมารีไซเคิลมากถึง 94% สูงสุดในสหภาพยุโรป ส่วนญี่ปุ่น พบว่า มีอัตราการนำขวดพลาสติกมารีไซเคิลถึง 83% แสดงให้เห็นว่าเม็ดพลาสติกได้มาตรฐานและปลอดภัยที่จะนำมาผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่อาหารและเครื่องดื่ม

  1. ไทยยังไม่อนุญาตให้นำ rPET กลับมาบรรจุอาหารและเครื่องดื่มใหม่ 

แต่สำหรับประเทศไทย กลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ยังจำเป็นต้องใช้ขวดพลาสติกที่ผลิตใหม่ทั้งหมด เนื่องจากกฎหมายห้ามไม่ให้นำพลาสติกใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่กับบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสกับอาหาร ซึ่งข้อห้ามนี้ครอบคลุมถึงเม็ดพลาสติก รีไซเคิลที่ผ่านการกระบวนการรีไซเคิลแล้ว (rPET) โดยขณะนี้ยังอยู่ในช่วงของการผลักดันให้มีการพิจารณาแก้กฎหมายเพื่อให้สามารถนำ rPET มาใช้ 

แต่เม็ดพลาสติกรีไซเคิล rPET สามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าได้อีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้ายืด เสื้อกันหนาว พรม และใยสังเคราะห์ในหมอนได้ กระเป๋าเป้ รองเท้า ส่วนฝาขวด ซึ่งเป็นพลาสติกประเภท HDPE สามารถรีไซเคิลและนำมาทำขวดน้ำมันเครื่อง ท่อ ลังพลาสติก และไม้เทียม จะเหลือก็แต่ส่วนฉลากขวดที่เป็น PVC ที่ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีรีไซเคิลได้ ต้องส่งให้บริษัทรับจัดเก็บนำไปทำลายทิ้งตามข้อกำหนดของรัฐบาลเท่านั้น

  1. อย่าลืมแยกขยะอย่างถูกวิธี

ในฐานะผู้บริโภคสามารถเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรีไซเคิลนี้ได้ไม่ยาก เพราะขั้นตอนที่สำคัญไม่น้อยไปกว่า การส่งขวดพลาสติกใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล คือ การคัดแยกและจัดเก็บอย่างถูกวิธี หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ไม่จำเป็นต้องแยกระหว่างฝาขวดและขวดออกจากกัน เพราะฝาขวด HDPE และฉลาก PP จะถูกแยกและนำไปรีไซเคิลในอีกกระบวนการหนึ่ง 

ดังนั้นก่อนจะทิ้งขวดพลาสติกที่อยู่ในมือลงสู่ถัง เพียงแค่เทน้ำที่เหลือออกให้หมด ไม่ใส่ขยะอื่นๆเพิ่มเติมลงไปในขวด เพื่อลดการสะสมของสารปนเปื้อน จากนั้นก็ออกแรงบิดให้แบน แยกขวดออกจากขยะประเภทอื่น เพื่อให้ง่ายต่อกระบวนการจัดเก็บก็เพียงพอแล้ว และถ้าหากไม่รู้ว่าจะทิ้งลงในถังขยะสีอะไร คุณอาจจะสังเกตไปที่ “สัญลักษณ์ขยะรีไซเคิล” แทนการจดจำสีก็จะช่วยให้การแยกขยะและจัดเก็บง่ายมากยิ่งขึ้น


แชร์ :

You may also like