HomeBrand Move !!เปิดแนวคิด “Laundry Bar” ทำอย่างไรจึงขึ้นเป็นเบอร์ 1 ร้านสะดวกซักในมาเลเซีย พร้อมกางแผนบุกตลาดไทย

เปิดแนวคิด “Laundry Bar” ทำอย่างไรจึงขึ้นเป็นเบอร์ 1 ร้านสะดวกซักในมาเลเซีย พร้อมกางแผนบุกตลาดไทย

แชร์ :

เครื่องซักผ้าอุตสาหกรรม ถูกใช้ในธุรกิจแฟรนไชส์ร้านสะดวกซักมากขึ้น

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นเทรนด์ผู้บริโภคเปลี่ยนจากหิ้วตะกร้าผ้าไปที่ “เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ” ไปสู่ “ร้านสะดวกซัก 24 ชม.” กันมากขึ้น เพราะตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสบาย ซักเมื่อไหร่ก็ได้ อีกทั้งยังให้ความรู้สึกถึงความสะอาดที่มากกว่าการซักที่เครื่องหยอดเหรียญ ด้วยเหตุผลต่างๆเหล่านี้ ดึงดูดให้นักลงทุนที่กำลังมองหาธุรกิจช่วยสร้างรายได้ ทยอยตบเท้าเข้ามาเปิดสาขากันมากขึ้น ท่ามกลางแบรนด์แฟรนไชส์ทั้งไทยและต่างชาติ ที่มีให้เลือกมากมายในปัจจุบัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เทรนด์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะในไทย เพราะในหลายประเทศก็มีมานานแล้ว อย่างที่ “มาเลเซีย” ตลาดร้านสะดวกซักมีมูลค่าสูงกว่า 1 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน มีจำนวนผู้เล่นมากกว่า 10 แบรนด์ และมีจำนวนสาขารวมกันมากถึง 3,000 สาขาเลยทีเดียว

ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดที่ดุเดือด ชนิดที่หลายแบรนด์สู้ด้วยการเปิดหน้าร้านปะทะกัน มี “Laundry Barที่สามารถเบียดคู่แข่ง ขึ้นมายืนในฐานะผู้นำตลาดได้ ด้วยส่วนแบ่งการตลาดกว่า 45% ทิ้งห่างจาก “Bubble Lab” และ “Clean Pro” ที่มีส่วนแบ่งอยู่รายละ 15% ส่วนแบรนด์อื่นๆ ร่วมกันถือส่วนแบ่งที่เหลืออีก 25% 

หลังจากเปิดสาขาแรกในปี 2013 Laundry Bar ใช้ระยะเวลา 6 ปี ในการขยายตลาดไปสู่ตลาดใหม่ ทั้งในประเทศมาเลเซีย และต่างประเทศที่ บรูไน และตุรกี จนมี 520 สาขาในปัจจุบัน 

อะไรคือจุดต่าง ที่ทำให้แฟรนไชส์ “Laundry Bar” ประสบความสำเร็จมากกว่าแบรนด์อื่น ทั้งๆที่ไม่ใช่ร้านสะดวกซักรายแรกที่เข้าสู่ตลาด 

สร้างจุดต่างให้น้ำยาซักผ้าฟรีจนพลิกตลาดได้สำเร็จ

ร้าน Laundry Bar ที่ประเทศมาเลเซีย

คุณพอล อัง (Paul Ang) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลอนดรี้บาร์ จำกัด เล่าว่า การตัดสินใจนำธุรกิจ Laundry Barเข้าสู่ตลาดร้านสะดวกซักในประเทศมาเลเซีย ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีผู้เล่นหลายรายเข้ามาสู่ตลาดแล้ว เนื่องจากมองเห็นช่องว่างในตลาด เรื่องของ “น้ำยาซักผ้า” ที่ลูกค้าจะต้องเตรียมมาเอง หรือจ่ายเงินซื้อเพิ่มจากค่าบริการ จึงเข้าสู่ตลาดโดยเป็น “เจ้าแรกที่ให้น้ำยาซักผ้าลูกค้าฟรี” ทำให้ลูกค้าเริ่มเปลี่ยนจากแบรนด์อื่น เข้ามาทดลองซักผ้าที่ Laundry Bar มากขึ้น ก่อนที่ต่อมาร้านได้รับความนิยมอย่างมาก และได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้ร้านอื่นๆหันมาให้น้ำยาซักผ้าฟรีเหมือนกัน

เมื่อคู่แข่งเริ่มขยับตัวตาม คุณพอลไม่รอช้า เร่งคิดหาวิธีที่เพิ่มความมั่นใจของลูกค้าว่า ซักผ้าที่นี่แล้วสะอาดกว่า เขาแก้ Pain Point ของลูกค้า ที่กังวลเรื่องของการใช้เครื่องซักผ้าร่วมกับผู้อื่น ด้วยการทำให้น้ำยาซักผ้ามีคุณภาพดีมากยิ่งขึ้น จากที่รับน้ำยาจากแบรนด์อื่นมาให้บริการลูกค้า ก็กลับมาโฟกัสและพัฒนานวัตกรรม “ผลิตภัณฑ์ซักผ้าสูตรเฉพาะ” ในชื่อแบรนด์เดียวกัน ประกอบด้วย น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม และน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ซึ่งเมื่อลูกค้านำมาผ้ามาซัก เครื่องซักผ้าซึ่งมีเครื่องจ่ายน้ำยาอัตโนมัติ จะคำนวณสัดส่วนการจ่ายน้ำยาต่างๆ ให้เหมาะสมกับปริมาณผ้า เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการซักสูงสุด

ทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าซักแล้วสะอาด ปลอดภัย เพราะได้รับการตรวจสอบคุณภาพจากนักเคมีแล้วว่า สามารถป้องกันเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้ถึง 99% จากจุดนี้ ทำให้แบรนด์ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นอีก มีลูกค้ามาขอซื้อผลิตภัณฑ์ซักผ้าเพื่อไปใช้ต่างหาก คุณพอลจึงต่อยอดธุรกิจนี้ โดยจัดตั้งโรงงานผลิตในมาเลเซีย เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ซักผ้า กระจายสินค้าไปสู่สาขาต่างๆ พร้อมทั้งขยายไปสู่การวางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด อย่างห้างสรรพสินค้า รวมถึงช่องทางอีคอมเมิร์ซ ผ่าน Lazada และ shopee เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

อยากเป็นเบอร์ 1 ต้อง Active และมี Innovation

คุณแซนดร้า ฉั่ว ผู้อำนวยการบริหาร และคุณพอล อัง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลอนดรี้บาร์ จำกัด

จุดแข็งอีกด้านของ Laundry Bar คือ การเลือกใช้ เครื่องซักผ้าอุตสาหกรรม จากอเมริกาและยุโรป ซึ่งเดิมเครื่องซักประเภทนี้จะถูกใช้งานตามโรงแรม และโรงงาน ถูกนำมาให้บริการกับลูกค้าร้านสะดวกซักมากขึ้น เพราะเหมาะสำหรับการซักผ้าในปริมาณที่มาก ซักได้ทั้งผ้าห่ม และผ้านวม อีกทั้งยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน 18 ปี ขณะที่เครื่องซักผ้าบ้าน ส่วนใหญ่เป็นแบบฝาบน ไม่สามารถรองรับการซักได้อย่างเต็มที่

 “ถ้าคุณอยากเป็นเบอร์ 1 ในตลาด สิ่งที่จะต้องทำคือ Active อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นนอกจากการให้น้ำยาซักผ้าฟรีเพื่อให้ลูกค้ามาทดลองใช้บริการที่ร้านแล้ว สิ่งที่ทำให้ลูกค้าติดใจและกลับมาซักผ้าที่ร้านซ้ำ เพราะเราเป็นแบรนด์ที่มี Innovative อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น โปรดักส์น้ำยาซักผ้าที่มีคุณภาพ รวมถึงการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เช่น แอพพลิเคชั่น Franchise App ที่ช่วยให้นักลงทุนทราบยอดขายได้แบบเรียลไทม์ มีระบบจัดเก็บข้อมูล ช่วยในการวิเคราะห์และนำไปสู่การทำ CRM หรือโปรโมชั่นต่างๆ กับลูกค้าในอนาคต ช่วยให้นักลงทุนสามารถบริหารจัดการร้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า นอกจากนี้ยังพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับลูกค้า ที่สามารถเติมเงินเข้ากระเป๋า “LB Pay” ทำให้ไม่ต้องพกเงินก็สามารถซักได้ หรือหากจะแลกเหรียญซัก จะสามารถแลกเป็น Token ได้เช่นกัน” 

จับมือ “มาสเตอร์แฟรนไชน์” รุกตลาดสะดวกซักไทย

คณะผู้บริหาร Laundry Bar ไทยและมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม คุณพอล มองว่า ตลาดร้านสะดวกซักในประเทศมาเลเซีย ยังไม่ถึงจุดที่เป็นเรดโอเชี่ยน แต่ยังเป็นบลูโอเชี่ยนที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ขณะเดียวกันมองหาโอกาสขยายตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ตลาดยังใหม่ และเปิดกว้าง ทั้งในแง่ของจำนวนประชากรที่มากกว่าประเทศมาเลเซีย รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่คล้ายกัน 

สำหรับความท้าทายในการเข้าสู่ตลาดประเทศไทย คุณพอล เผยว่า ตลาดไทยมีความท้าทายอยู่ที่ ทำอย่างไรจึงจะสามารถดึงดูดผู้บริโภคชาวไทยให้มาทดลองใช้บริการ Laundry Bar และกลับมาใช้บริการซ้ำได้ ดังนั้นจึงมองหามาสเตอร์แฟรนไชส์ นักลงทุน Local ที่มีความเข้าใจพฤติกรรมคนไทย และมีวิสัยทัศน์ที่ตรงกัน เพื่อมาร่วมลงทุน และทำหน้าที่ขยายแผนงานในประเทศไทย รวมถึงกลุ่มประเทศ CLMV 

“หลังจากที่ออกบูธแฟรนไชส์มาหลายปี มีนักลงทุนที่สนใจสมัครเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์จำนวนมาก แต่เราต้องการนักลงทุนที่มีความเข้าใจธุรกิจร้านสะดวกซัก และสามารถพาแบรนด์ Laundry Bar เติบโตได้ทั้งในประเทศไทยและในระดับภูมิภาค จึงตัดสินใจร่วมทุนกับ คุณพิมลวรรณ ชีวเกรียงไกร และคุณชานนท โตวิกกัย ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมตามคุณสมบัติที่ตั้งไว้ ทั้งนี้เรามีแผนที่จะจัดตั้งโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ซักผ้าที่ประเทศไทย ภายในปีหน้า ซึ่งอนาคตไทยจะเป็นศูนย์กลางในการขยายตลาดไปสู่ประเทศกลุ่มประเทศ CLMV ต่อไป” 

เจาะภาคเหนือ ก่อนขยับเข้ามาแข่งรายใหญ่ในกรุงเทพฯ

คุณพิมลวรรณ ชีวเกรียงไกร ผู้บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ลอนดรี้บาร์ ไทย จำกัด

คุณพิมลวรรณ ชีวเกรียงไกร ผู้บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ลอนดรี้บาร์ ไทย จำกัด กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำธุรกิจจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าของครอบครัว บริษัท นิยมพานิชกรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้เห็นว่า ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการเติบโตดี โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้า ที่ลูกค้าส่วนใหญ่จะซื้อเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้า เพื่อไปติดกล่องหยอดเหรียญ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“แต่ปัญหาที่พบคือ เมื่อลูกค้าซื้อเครื่องไปติดกล่องหยอดเหรียญสัก 6 เดือนแล้ว จะมีลูกค้าโทรศัพท์มาที่คอลเซ็นเตอร์ประจำว่า เครื่องเสีย เครื่องกินเหรียญ ทำให้ช่างต้องไล่ซ่อม เรากลับมามองว่าจริงๆแล้วธุรกิจซักผ้าหยอดเหรียญโต แต่ลูกค้าใช้เครื่องผิดประเภท เพราะใช้เครื่องซักผ้าภายในบ้าน ไปทำเชิงพาณิชย์ นอกจากจะทำให้ผ้าที่ซักไม่สะอาดแล้ว ยังทำให้เครื่องเสียบ่อย ธุรกิจซักผ้าหยอดเหรียญจึงไม่ตอบโจทย์ เพราะไม่สามารถสร้างรายได้อย่างคุ้มค่า” 

จากปัญหาดังกล่าวทำให้คุณพิมลวรรณ เริ่มสนใจธุรกิจแฟรนไชส์ ร้านสะดวกซัก 24 ชม. เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องมีพนักงาน แต่สามารถสร้างรายได้ตลอด 24 ชม. จึงใช้เวลาศึกษาธุรกิจร้านสะดวกซักที่มีอยู่ในตลาดนาน 4 ปี รวมถึงเดินทางไปสำรวจธุรกิจร้านสะดวกซักที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคชาวมาเลเซียด้วยตัวเอง 

ร้าน Laundry Bar ที่ประเทศมาเลเซีย

“ที่มาเลเซีย ตลาดร้านสะดวกซักมีมูลค่าตลาดสูงถึงหมื่นล้าน เมื่อเราไปลงพื้นที่สำรวจ ก็พบว่า ร้านสีเหลือง หรือ Laundry Bar เป็นร้านที่มีรองเท้ากองอยู่หน้าร้านเยอะมาก ทั้งที่ในละแวกนั้นมีร้านสะดวกซักมากกว่า 10 แบรนด์ แต่ลูกค้าเลือกที่จะเข้าร้านสีเหลืองมากกว่า เราจึงเข้าไปถามว่า ทำไมจึงเลือกซักผ้าร้านนี้ พวกเขาบอกว่า เพราะน้ำยาที่นี่ดีมาก ซักแล้วสะอาด เราจึงตัดสินใจติดต่อคุณพอลเพื่อขอเข้าร่วมทุน”

คุณพิมลวรรณ นำแบรนด์ Laundry Bar มาสู่ประเทศไทย โดยประเดิมสาขาแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คุณพิมลวรรณมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี ปัจจุบัน Laundry Bar ไทย มีทั้งหมด 10 สาขา ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง ตาก พิษณุโลก สุรินทร์ อุบลราชธานี ชลบุรี และสาขาแฟล็กชิพ ตั้งอยู่ในซอย 40 ตรงข้ามซีคอนสแควร์ กรุงเทพฯ และมีแผนที่จะขยายสาขาให้ครบ 30 สาขาภายในสิ้นปีนี้ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ เช่น ภูเก็ต พัทยา อยุธยา นครราชสีมา เป็นต้น

“เฉพาะในกรุงเทพฯ เรามีแผนที่จะเปิดสาขาเพิ่มอีก 10 สาขา โดยเน้นพื้นที่ชุมชนที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่น เช่น ลาดกระบัง รามคำแหง ลำลูกกา เพชรเกษม อ่อนนุช แบริ่ง แพรกษา ซาฟารีเวิร์ล โดยใช้งบลงทุนสาขาละ 2-3 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการตั้งร้านของเราจะเน้นอยู่ในพื้นที่ชุมชน อย่างบริเวณที่ตั้งสาขาแฟล็กชิพ จะเห็นว่ามีอาคารชุดมากกว่า 30 ตึก มีผู้คนหนาแน่น และมีพื้นที่จอดรถอำนวยความสะดวก ลองนึกภาพว่า 7-11 ตั้งอยู่ที่ไหน เราก็ตั้งอยู่ย่านนั้นได้ และในอนาคตเราจะมาแทนธุรกิจเครื่องซักผ้าตู้ เหมือนที่เซเว่นเข้ามาแทนที่โชห่วย ทั้งนี้เรามีนโยบายที่จะเปิดร้านเอง 20% และอีก 80% เป็นการขายแฟรนไชน์

สำหรับภาพรวมตลาดร้านสะดวกซักในประเทศไทย ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดที่ 400-500 ล้านบาท มีสาขา 300-400 สาขา จากแบรนด์ 7-8 รายทั้ง แบรนด์ไทยและต่างชาติ โดยมี “Otteri wash & dry” เป็นผู้นำในตลาดที่ครองส่วนแบ่ง 50% (จับตาธุรกิจที่เนื้อหอมที่สุดในชั่วโมงนี้ “ร้านซักผ้าหยอดเหรียญ 24 ชั่วโมง” พร้อมเหตุผล ทำไม​ใครๆ ก็อยากทำ) และก่อนหน้านี้มีแบรนด์คู่แข่งจากประเทศมาเลเซีย อย่าง Clean Pro ที่จับมือกับแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า LG ในชื่อ “Cleanpro Express” ที่กำลังเร่งขยายสาขาเพิ่มเช่นกัน

นำ Know-How บริษัทแม่มาใช้ แต่ปรับให้เข้ากับคนไทย

Laundry Bar สาขาแฟล็กชิพ ถนนศรีนครินทร์ ซอย 40 ตรงข้ามซีคอนสแควร์ กรุงเทพฯ

ในด้านการแข่งขันคุณพิมลวรรณ มองว่า ตลาดประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ยังเป็นบลูโอเชี่ยนไปอีก 3-5 ปี จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคปัจจุบัน ที่มักจะอยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว หรืออยู่ตามคอนโด นอกจากนี้ยังชอบใช้เวลาอยู่นอกบ้านมากขึ้น เช่น ออกมานั่งตามร้านกาแฟเพื่อใช้ Wi-Fi ทำงาน  

การนำแบรนด์ Laundry Bar เข้ามาสู่ผู้บริโภคไทย มีเป้าหมายเดียวกับบริษัทแม่ที่ประเทศมาเลเซีย คือการขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาด ดังนั้นจึงต้องมีการปรับในหลายส่วน เพื่อให้เข้าพฤติกรรมและความชอบของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นการปรับพื้นที่ร้านให้เป็นแนว Co-Working Space มีบริการ Wi-Fi เพื่อให้ลูกค้าสามารถเอางานมาทำ หรือนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือในระหว่างรอผ้า นอกจากนี้ยังมีการปรับสีสันที่ใช้ตกแต่งร้านเพื่อให้ถูกใจคนไทยมากยิ่งขึ้น

การจัดพื้นที่ร้านให้เป็นแนว Co-Working Space

แบรนด์ Laundry Bar ที่มาเลเซีย จะใช้สีสันที่ค่อนข้างจัดจ้าน แดงจัด เหลืองจัด และน้ำเงินจัด ซึ่งเรามองว่าสะดุดตาจริง แต่อาจจะไม่เข้ากับคนไทย จึงคุยกับทางคุณพอลเพื่อขอปรับลดโทนสีลง และด้วยคอนเซปท์ของแบรนด์ ที่ต้องการให้การซักผ้าเป็นเรื่องที่สนุกและสะดวกสบาย เรายังคงนำตัวการ์ตูน รูปเครื่องซักผ้าเข้ามาใส่เป็นลูกเล่นเพื่อสื่อถึงความสนุก นอกจากนี้ยังสร้างสเปซในพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อให้ลูกค้านั่งคอยระหว่างรอผ้าได้”

คุณพิมลวรรณ เสริมต่อว่า สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากคุณพอล คือ ธุรกิจร้านสะดวกซักอาจจะดูเหมือนง่าย แต่ความจริงมีเบื้องหลังที่ยากมาก ยกตัวอย่างเช่น เครื่องจ่ายน้ำยาอัตโนมัติ กว่าที่จะสามารถสร้างนวัตกรรมเป็นของตัวเองได้ ต้องลองผิดลองถูกกับการหาชิ้นส่วนอะไหล่มาแล้วมากมาย ดังนั้นการจะก็อปปี้ หรือทำแบรนด์เองจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และการเลือกแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ โดยเข้ามาเป็นมาสเตอร์แฟรนไชน์ ทำให้สามารถดึง Know-How รวมไปถึงการดึงระบบ IT ที่บริษัทแม่พัฒนามาใช้ได้เลยทันที ไม่ต้องเสียเวลาและใช้เงินทุนสูงในการเดเวลอปเอง 

อย่างไรก็ตาม คุณพิมลวรรณ คาดว่าภายใน 3 ปี Laundy Bar จะสามารถขยายสาขาได้ถึง 300 สาขา และหลังจากสร้างตลาดในประเทศไทยได้แข็งแรงแล้ว เมื่อขยายตลาดได้ครบ 200 สาขา จะขยับไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในประเทศ CLMV โดยเริ่มต้นที่ประเทศกัมพูชาต่อไป


แชร์ :

You may also like