HomeBrand Move !!ถอด FINLAND MODEL ต้นแบบ Green Country ขับเคลื่อนธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อโลกอนาคต

ถอด FINLAND MODEL ต้นแบบ Green Country ขับเคลื่อนธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อโลกอนาคต

แชร์ :

วิกฤติความยั่งยืนและปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งคนทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ รวมถึงภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปกับการบริหารจัดการที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สาธารณรัฐฟินแลนด์ เป็นประเทศที่ได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในฐานะประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจพร้อมไปกับการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ จนได้ชื่อว่าเป็น Green Country ของโลก

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย จัดงานสัมมนา Global Business Dialogue 2019 ภายใต้หัวข้อ Designing New Growth model Towards Sustainability  เพื่อศึกษาโมเดลการพัฒนาสู่ความยั่งยืนที่ประสบความสำเร็จจากองค์กรชั้นนำระดับโลก ซึ่งนอกจากจะทำให้ธุรกิจมีส่วนช่วยเกื้อหนุนระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติแล้ว ยังเอื้อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนอีกด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ฟินแลนด์ ถือเป็นประเทศต้นแบบที่ดำเนินการจัดการกับวิกฤตโลกร้อนอย่างจริงจังและก้าวหน้าอย่างมาก เห็นได้จากโครงการ Climate Reality Project เพื่อแก้ไขปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโดยตรง โดยวางเป้าหมายอย่างท้าทายว่าภายในปี 2035 ฟินแลนด์จะเป็นประเทศที่ปล่อยค่าคาร์บอนที่เป็นกลาง (Carbon Neutrality) หรือปลอดคาร์บอน และเป็นสังคมสวัสดิการที่ไม่มีฟอสซิล

แค่นั้นไม่พอ เพราะฟินแลนด์ได้ให้ความสำคัญกับการลดการทำลายป่าไม้ สร้างแรงจูงใจด้านการดูดซับคาร์บอนจากป่าไม้ ลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมการก่อสร้างและภาคครัวเรือน รวมถึงเพิ่มบทบาทการเป็นประเทศผู้นำเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยเชิญพันธมิตรในหลายภาคส่วนมาร่วมจัดทำมาตรการผ่านภาคประชาสังคม กระตุ้นให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนสร้างนวัตกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยรัฐบาลสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจผ่านมาตรการทางภาษี ทั้งหมดนี้ฟินแลนด์ต้องการผลักดันให้วิกฤตความยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อไต่ระดับให้เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับวิกฤตความยั่งยืนอันดับหนึ่งของโลก

Sitra และ St1 Nirdic Oy จากฟินแลนด์เป็นองค์กรเอกชนชั้นนำที่มีบทบาทสำคัญในการนำโมเดลการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) มาสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

Mr. Ernesto Hartikainen, Leading Specialist แห่ง Sitra กองทุนอิสระที่เน้นการลงทุนในโครงการและธุรกิจสตาร์ทอัพ กล่าวว่า แนวทางหนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ การยืดวงจรอายุของสินค้าให้ยาวนานขึ้น เช่น จากเดิมที่เคยผลิตสินค้าแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ก็หันมาใช้วัตถุดิบรีไซเคิล หรือขยะชีวภาพ การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในการจำหน่ายสินค้า การใช้โมเดล Sharing Economy ให้ลูกค้าจ่ายเงินตามปริมาณการใช้งาน เช่น ธุรกิจเช่ารถยนต์

Mr.Patrick Pitkänen, Director of Biorefining Business Development and Production แห่ง St1 Nordic Oy บริษัทพลังงานแห่งฟินแลนด์ กล่าวว่า จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นย่อมต้องใช้พลังงานฟอสซิลมากขึ้น ส่งผลให้โลกร้อนขึ้น โมเดลต่อจากนี้ของบริษัทจะเน้นพัฒนาพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอน หรือลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนให้มากที่สุด อาทิ พลังงานชีวภาพ พลังงานลม พลังงานจากขยะ และพลังงานความร้อนจากพื้นพิภพ  เพื่อลดปริมาณการกลั่นน้ำมันจากพลังงานฟอสซิล

“การเปลี่ยนแปลงขององค์กรเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้นั้น จำเป็นต้องสร้างนโยบายผลักดันในระยะยาวผสานเข้าไปในกระบวนการทำงาน (Process) ไม่ใช่ทำระยะสั้นเป็นโครงการเฉพาะกิจ (Project) รวมถึงภาครัฐต้องมีบทบาทสนับสนุนเอกชนในการสร้างนวัตกรรมในแง่ของการให้แรงจูงใจ และบทลงโทษแก่ภาคเอกชน เพื่อให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เช่น เมื่อรัฐบาลฟินแลนด์ออกมาตรการลดภาษีให้กับบริษัทที่ใช้พลังงานลม ทำให้ St1 ตัดสินใจลงทุนสร้างฟาร์มกังหันลม (Wind Park) ทางตอนเหนือของนอร์เวย์เมื่อ 2 ปีก่อน นอกจากนี้ St1 ยังดึงชุมชนในท้องถิ่นมาเป็นพันธมิตรสำคัญผ่านกลยุทธ์ Think Global,  Act Local โดยนำขยะจากชุมชนใกล้โรงงานมาใช้เป็นพลังงาน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว”

จะเห็นได้ว่าฟินแลนด์โมเดลทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นแนวทางที่ทำให้องค์กรต่างๆ สามารถนำมาต่อยอดเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างโอกาสการเติบโตให้กับธุรกิจบนโลกอนาคต ท่ามกลางพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับสภาพสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

 


แชร์ :

You may also like