HomeBrand Move !!3 กรณีศึกษา ต้นแบบการเปลี่ยนแปลงของห้องสมุดทั่วโลก ให้ทันพฤติกรรมนักอ่านรุ่นใหม่

3 กรณีศึกษา ต้นแบบการเปลี่ยนแปลงของห้องสมุดทั่วโลก ให้ทันพฤติกรรมนักอ่านรุ่นใหม่

แชร์ :

 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ขึ้นชื่อว่าเป็นห้องสมุด ภาพในความทรงจำสำหรับใครหลายคนอาจเป็นภาพของชั้นหนังสือที่วางเรียงรายและมีหนังสือจำนวนมหาศาลอัดแน่นอยู่ในนั้นรอให้ใครสักคนเข้าไปค้นหา แต่สำหรับโลกในศตวรรษที่ 21 ห้องสมุดบางแห่งก็กำลังลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง ด้วยการทำให้หนังสือเหล่านั้นสามารถก้าวออกมา “ตามหา” ผู้อ่านในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือออฟไลน์ได้แล้วเช่นกัน

ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงของห้องสมุดครั้งนี้กำลังได้รับการจับตาจากทั่วโลก เห็นได้จากการมอบรางวัลสิงโตทองคำให้กับ Mother New York ในผลงาน “Insta Novels” ที่ทำร่วมกับ New York Public Library ตั้งแต่กลางปี 2018 ที่ผ่านมา เพื่อผันหนังสืออมตะอย่าง Alice’s Advertures in Wonderland, The Metamorphosis, The Raven, Carol และ YellowWallpaper ให้ขึ้นไปอยู่บน Instagram Stories ได้อย่างงดงาม

สิ่งที่ยืนยันความสำเร็จของโปรเจ็ค Insta Novels ได้ดีก็คือยอด Followers ของห้องสมุดที่เพิ่มขึ้น 13,000 รายภายใน 24 ชั่วโมงแรกของการเปิดตัว และปัจจุบันยอดผู้ติดตามได้พุ่งสูงเกิน 3.64 แสนรายไปแล้ว ส่วนตัวเลขด้านการอ่านพบว่า มียอดผู้ใช้งานเข้ามาอ่านไปแล้วกว่า 300,000 ครั้ง ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว

Richert Schnorr ผู้อำนวยการฝ่ายงานสื่อดิจิทัลของ New York Public Library กล่าวถึงโปรเจ็คนี้ว่า เป็นการทำ Instagram Stories ให้กลายเป็นที่เผยแพร่ “เรื่องราว” (Stories) ได้อย่างแท้จริง เนื่องจากคอนเทนต์อมตะที่ถูกคัดเลือกมานั้น จะได้รับการออกแบบใหม่ให้สามารถแสดงผลได้อย่างเหมาะเจาะบนสมาร์ทโฟน อีกทั้งยังต้องเลือกฟอนต์ให้เหมาะสม การใส่ภาพประกอบ ฯลฯ ซึ่งทั้ง New York Public Library และ Mother New York มองว่านี่คือการพลิกโฉมหน้าของการทำหนังสือดิจิทัลเลยทีเดียว

ข้อสำคัญคือ Instagram เป็นแพลตฟอร์มที่ผู้คนนับพันล้านคนใช้งานกันเป็นประจำทุกวัน แถมยังมีผู้ใช้งานซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่มารวมตัวกันอยู่มากมาย จึงไม่อาจปฏิเสธว่า ความอมตะของบทประพันธ์จะยังคงถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น แม้ว่ามันจะทรานสฟอร์มตัวเองไปอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างจากในอดีตไปแล้วก็ตาม

Ednita Kelly บรรณารักษ์จากห้องสมุดสาธารณะลอสแองเจลลิส ขอบคุณภาพจาก abc7.com

ห้องสมุดสามล้อแห่ง San Pedro

อีกหนึ่งห้องสมุดที่มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็คือห้องสมุดสาธารณะของลอสแองเจลลิสที่ตั้งอยู่ในย่าน San Pedro เมื่อบรรณารักษ์อย่าง Ednita Kelly ลงทุนสร้างสามล้อชนิดพิเศษเพื่อนำพาหนังสือดี ๆ ออกไปหาเด็ก ๆ และผู้คนในชุมชน โดย Kelly เล่าว่า รถสามล้อคันนี้สามารถบรรทุกหนังสือน้ำหนัก 250 ปอนด์ได้อย่างสบาย ๆ และหนังสือดังกล่าวจะถูกบรรจุอยู่ในตู้เก็บที่ออกแบบอย่างแข็งแรง แถมมีสีสดใส ต้องตาต้องใจเด็ก ๆ ด้วย

ปัจจุบัน โครงการห้องสมุดเคลื่อนที่ของ Kelly สามารถนำพาหนังสือไปส่งถึงมือผู้อ่านรายใหม่ ๆ ได้แล้วกว่า 5,000 เล่ม โดย Kelly ให้เหตุผลของการริเริ่มโครงการดังกล่าวว่าอาจเป็นเพราะเธอมีความรักในหนังสือเป็นทุนเดิม และเชื่อมั่นว่าการอ่านนั้นมีเวทย์มนต์ที่จะทำให้คนอ่านสนุกสนานไม่แพ้กิจกรรมอื่น ๆ นั่นเอง

ความทุ่มเทของ Kelly ทำให้กิจกรรมนี้ไม่เพียงแต่นำหนังสือออกไปหาผู้อ่าน แต่ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างห้องสมุดกับชุมชนให้แน่นแฟ้นมากขึ้นด้วย

Kansas City ยกเลิกค่าปรับ

กรณีสุดท้ายที่นำมาฝากกันนี้ไม่ได้พาหนังสือออกไปข้างนอก แต่กำลังหาทางพาคนกลับเข้ามาหาหนังสืออยู่ และสิ่งที่ขัดขวางพวกเขาเอาไว้ก็คือ ค่าปรับการยืมหนังสือเกินกำหนด 

ปัจจุบัน ห้องสมุดในสหรัฐอเมริกามากกว่า 450 แห่งยังคงคิดค่าปรับจากการยืมหนังสือหรือทรัพยากรต่าง ๆ ของห้องสมุดเกินกำหนดอยู่ ซึ่งในมุมของ Quinton Lucas ผู้ว่าการแคนซัสซิตี้ แห่งรัฐมิสซูรี มองว่าไม่เป็นผลดีต่อการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สักเท่าใด

โดยทุกวันนี้ มีคนที่ถูกห้ามไม่ให้เข้ามายืมหนังสือหรือทรัพยากรต่าง ๆ ของห้องสมุดสาธารณะในแคนซัสซิตี้ราว 9,000 คน ซึ่งบางทีก็หมายรวมถึงเด็ก ๆ ไปด้วย เพราะพ่อแม่ไม่สามารถพาเข้ามาในห้องสมุดได้อีก

Quinton Lucas จึงออกไอเดียในการปรับเปลี่ยนห้องสมุดสาธารณะให้เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้นด้วยการยกเลิกค่าปรับการยืมหนังสือเกินกำหนด (ซึ่งปัจจุบันมีตัวเลขสะสมอยู่มากถึง 250,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.68 ล้านบาท) และคนที่ติดค้างค่าปรับอยู่เดิมก็จะยกเลิกให้ทั้งหมดด้วย พร้อม ๆ กับการคาดหวังว่า การยกเลิกค่าปรับนี้จะทำให้เด็ก ๆ กลับเข้ามาใช้บริการห้องสมุดมากขึ้น

ทั้ง 3 เรื่องราวนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการปรับตัวของห้องสมุดเพื่อความอยู่รอด หลังถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ จากเทคโนโลยีดิจิทัลรอบตัว พร้อม ๆ กับการทรานสฟอร์มรูปแบบ และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่มีมานานเกี่ยวกับอ่านหนังสือเสียใหม่ ส่วนจะทำให้ห้องสมุดกลับมาเป็นสถานที่ในดวงใจได้อีกครั้งหรือไม่ ยังคงเป็นเรื่องที่เราต้องติดตามต่อไป

Source

Source

Source


แชร์ :

You may also like