HomeBrand Move !!หน้าร้านน้อยแล้วไง ใครแคร์? นี่มันยุคไหนแล้ว ASICS ขอลุยออนไลน์แบบจัดเต็ม แก้ปัญหาลูกค้าหาซื้อรองเท้าไม่ได้

หน้าร้านน้อยแล้วไง ใครแคร์? นี่มันยุคไหนแล้ว ASICS ขอลุยออนไลน์แบบจัดเต็ม แก้ปัญหาลูกค้าหาซื้อรองเท้าไม่ได้

แชร์ :

เพราะว่า ASICS เพิ่งทำตลาดในเมืองไทยได้ไม่นานนัก ยิ่งเมื่อเทียบกับแบรนด์สินค้า แบรนด์กีฬาชั้นนำระดับโลก จะเปิดให้บริการแพลทฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ASICS.com ในวันที่ 24 เมษายน 2562 โดยมีสินค้าแบรนด์ ASICS และ ASICSTIGER ขณะเดียวกัน Onitsuka Tiger แบรนด์ที่เน้นแฟชั่นสไตล์สปอร์ตที่คนไทยคุ้นเคย ก็เอาด้วยลุยเปิดเป็นแพลทฟอร์มออนไลน์ OnitsukaTiger.com จับตลาดลูกค้าคนไทยในวันเดียวกัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

งานนี้ ASICS เตรียมจัดเต็มใส่สินค้ามาครบทุกไลน์ ซึ่งคาดว่าจะมีสินค้าบนแพลตฟอร์มมากกว่า 1,000 SKUs เลยทีเดียว เรียกได้ว่ามาครบทุกสี จัดเต็มทุกไซส์ และเพื่อให้ลูกค้าหาสินค้าบนแพลทฟอร์ม ASICS.com ได้ง่ายขึ้น จะแบ่งสินค้าออกเป็น 3 หมวด ได้แก่ หมวด Running แบ่งเป็นรองเท้ากลุ่ม Performance กลุ่ม CPS (Core Performance Sports) และกลุ่ม Lifestyle ต่อมาในหมวดเสื้อผ้า ที่มีทั้งเสื้อผ้าสำหรับวิ่ง เทรนนิ่ง เทนนิส รวมถึงแบดมินตัน และหมวดสุดท้ายกับหมวดอุปกรณ์กีฬา

แก้โจทย์ลูกค้ามาหาของหน้าร้านแล้วไม่มี

การเปิดตลาดอีคอมเมิร์ซจะมาช่วยเติมเต็มความต้องการและมอบประสบการณ์ให้ลูกค้ามากขึ้น คุณวโรดม พรานบุญปลูก ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอสิคซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด บอกว่า เพราะพื้นที่หน้าร้านมีค่อนข้างจำกัด แม้กระทั่งแฟลกชิพสโตร์ที่ ASICS ICONSIAM สโตร์ล่าสุด ซึ่งรวมแบรนด์ ASICS และ ASICSTIGER เข้าไว้ด้วยกัน บนพื้นที่ 249 ตร.ม. ก็ยังไม่สามารถวางสินค้าได้ครบทุก Category ที่มีอยู่ได้ ดังนั้นเมื่อเป็นออนไลน์ก็ไม่ต้องกังวลกับพื้นที่

ขณะที่ฝั่งผู้บริโภคเองสามารถสั่งซื้อได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาหาสินค้าตามสาขา ปัจจุบัน ASICS มี Asics Store จำนวน 10 สาขา ซึ่งเป็น Monobrand Store รวมถึงยังมีช่องทางจำหน่ายกับ Multibrand Store เช่น Sport World , Sport Mall , Super Sports และร่วมกับ Sneaker Shop อย่าง ร้าน Carnival , 24 Kilates เป็นต้น แม้ว่า ASICS จะให้ความสำคัญกับทุกช่องทางเท่ากัน แต่ด้วยการวาง Customer Profile ที่ไม่เหมือนกันของแต่ละร้าน ทำให้ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบถ้วน

“การที่แบรนด์เป็นสปอนเซอร์หลักให้กับนักกีฬาทีมชาติ ทำให้ภายใต้แบรนด์ ASICS มีรองเท้าอยู่หลากหลายเซกเมนต์ ไม่เพียงแต่เฉพาะรองเท้าวิ่ง ลูกค้าหลายคนมาตามหารองเท้ารุ่นหายาก บางคนมาตามหารองเท้ามวยปล้ำ รองเท้าวอลเล่บอล ซึ่งเรามีสินค้าเหล่านี้อยู่ แต่ลูกค้าไม่รู้จะไปหาซื้อที่ไหนเพราะไม่มีวางขายตามห้างฯทั่วไป ดังนั้นออนไลน์ ก็จะเข้ามาเป็นช่องทางใหม่ที่จะช่วยกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงแบรนด์ได้ง่ายขึ้น”

เป้าหมายปีนี้ Omni-Channel

แต่การซื้อรองเท้าออนไลน์ไม่เหมือนกับการซื้อเสื้อผ้า ขึ้นชื่อว่าเป็นรองเท้ายังไงก็ต้องลองก่อนซื้อ ยิ่งเป็นรองเท้าที่มีราคาสูง คงไม่ง่ายนักที่จะตัดสินใจซื้อในทันที เว้นแต่จะแฟนตัวยงที่เชื่อมั่นในแบรนด์อยู่แล้ว

คุณวโรดม บอกว่า ลูกค้าเก่าอาจจะตัดสินใจซื้อสินค้าบนออนไลน์ได้ทันที ความท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้ลูกค้าใหม่ตัดสินใจซื้อ อย่างที่ทราบกันดีว่า ASICS เป็นผู้นำด้านรองเท้าวิ่งที่อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ มีทีม Research ที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีมาสู่สินค้าใหม่ต่อเนื่อง แต่ด้วยราคาสินค้าที่ค่อนข้างสูง ทำให้นักวิ่งมือใหม่ที่ยังไม่เคยสัมผัสเทคโนโลยีอาจลังเลที่จะตัดสินใจซื้อ

ล่าสุด ASICS เปิดตัวรองเท้าวิ่งรุ่นใหม่ METARIDE ในราคา 9,900 บาท ซึ่งเป็นรุ่นที่พัฒนาต่อมาจากรุ่น METRARUN

“เราจะสื่อสารกับลูกค้าอย่างไร ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ทำไมแบรนด์ ASICS ถึงราคาสูงกว่าแบรนด์อื่น เพราะจุดแข็งของ ASICS คือ เทคโนโลยี ดังนั้นในการสื่อสารพนักงานจะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญ ที่ต้องให้ข้อมูลเทคโนโลยีและแนะนำลูกค้าได้ว่า รองเท้ารุ่นไหนที่เหมาะสมกับเขา เพื่อช่วยให้เขาวิ่งได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้แรงน้อยลง”

เพื่อเสริมจุดแข็งด้านเทคโนโลยีให้แข็งแรงขึ้น ที่ ASICS ICONSIAM เป็นอีกหนึ่ง Touch Point สำคัญของแบรนด์ที่นอกจากให้ลูกค้ามาเลือกสินค้าแล้ว ภายในร้านยังมีโซน ASICS Foot ID ซึ่งเป็นเซอร์วิสที่นำเทคโนโลยีการวิเคราะห์ทางชีวกลศาสตร์ และการเลือกรองเท้าที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาการวิ่ง ทั้งในการสแกนรูปเท้า (Foot Scanning) และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว (Gait Analysis) ที่มีความแม่นยำ จะช่วยให้ลูกค้าสามารถเลือกรองเท้าได้ตรงกับความต้องการมากที่สุดเพื่อเสริมประสิทธิภาพการวิ่ง และหากว่าซื้อแล้วใส่ไม่ได้ ASICS ก็มีนโยบายการคืนสินค้า (Return Policy) สร้างความมั่นใจให้ลูกค้าอีกขั้น

เมื่อลูกค้ามีประสบการณ์ทั้ง Online และ Offline แล้ว คุณวโรดม เผยว่า เฟสถัดไปคือการทำ Omni-Channel ซึ่งคาดว่าจะ launch ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 เพื่อให้ลูกค้าซื้อสินค้าบนออนไลน์แล้วมารับที่ร้าน หรือมาดูสินค้าที่ร้านแล้วให้ไปส่งที่บ้าน

เปิดปีแรกขอศึกษาตลาดก่อน ตั้งเป้าออนไลน์ 10-15%

แม้ว่าตลาดไทยจะเป็นตลาดใหญ่ ที่หลายธุรกิจก็อยากจะเข้ามาช่วงชิงโอกาส แต่ ASICS มองว่า อีคอมเมิร์ซเป็นงานใหม่ที่ไม่ง่าย ดังนั้นในช่วงปีแรกจะขอเรียนรู้และศึกษาตลาดก่อน โดยตั้งเป้ามียอดขายออนไลน์ไว้ที่ 10-15% ของยอดขายรวม เพราะเชื่อว่ามี Opportunity ที่จะเติบโต

ขณะเดียวกัน ASICS เองมองว่าไทยเป็นตลาดที่สำคัญเป็นอันดับ 1 ใน SEA ซึ่งในการรุกตลาดอีคอมเมิร์ซของ ASICS ครั้งนี้ ไม่เพียงแค่เฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นไปในทิศทางเดียวกับ ASICS ในกลุ่มประเทศ SEA โดยก่อนหน้านี้ ASICS ประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ได้ launch แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเช่นกัน เมื่อช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

“ASICS ประเทศไทย ตั้งได้เพียง 2 ปี ถือว่าเป็นใหม่กว่าแบรนด์อื่นๆที่เข้ามาทำตลาดนานกว่า โดยผ่านมา Brand Awareness ของ ASICS ยังน้อยเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นๆที่มีอยู่ในตลาด ทำให้ในปีนี้เราต้องทำการบ้านกันหนักขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งการสร้าง Brand Awareness และ Touch ที่จะต้องเข้าถึงผู้บริโภค โดยปีนี้จะใช้งบการตลาด 8-9% ของยอดขาย ในการสื่อสารแบรนด์ ทั้งในแง่ของการทำ Advertising ไปกับอีคอมเมิร์ซ รวมถึงการให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์ร่วมกับแบรนด์ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น Running Club หรือ กิจกรรม ASICS Relay งานวิ่งผลัด 4 คน ที่จะจัดขึ้นที่ท่าพระจันทร์ ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้”

พร้อมทั้งใช้แบรนด์แอมบาสเดอร์ ที่นอกจากจะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงแล้ว ยังเป็น Real sports ไม่ว่าจะเป็น เต้ย-พงศกร เมตตาริกานนท์ ณัฐ ศักดาทร และ โย-ยศวดี หัสดีวิจิตร มาช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน และความเชื่อมั่นในแบรนด์ และยังมี Running Influencer จากเพจต่างๆ ที่มาแบ่งปันประสบการณ์ ข้อมูลข่าวสาร กิจกรรมการวิ่ง เทคโนโลยี รองเท้ารุ่นใหม่ รวมถึงการทดสอบ ซึ่ง Influencer ถือเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของเหล่านักวิ่งอีกด้วย


แชร์ :

You may also like