HomeDigitalถอดบทเรียนจาก “เอสโตเนีย” ประเทศที่หน่วยงานรัฐคิดแบบ e-government ใช้ AI พิพากษาคดี

ถอดบทเรียนจาก “เอสโตเนีย” ประเทศที่หน่วยงานรัฐคิดแบบ e-government ใช้ AI พิพากษาคดี

แชร์ :


เมื่อเอ่ยถึงการเป็น “รัฐบาล” ไม่ว่าประเทศไหนก็ตาม น้อยครั้งที่จะมีภาพของการปรับใช้นวัตกรรม หรือการนำเทคโนโลยีสุดล้ำเข้ามาใช้งาน แต่ไม่ใช่สำหรับเอสโตเนีย ประเทศเล็ก ๆ ที่มีประชากรเพียง 1.3 ล้านคน และกำลังนำ AI เข้ามาช่วยงานรัฐบาลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ตำแหน่ง Chief Data Officer ดูแลจริงจัง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยผู้ที่นำ AI เข้ามาช่วยงานรัฐบาลเอสโตเนียคือ Ott Velsberg ว่าที่ ดร. วัย 28 ปี จากมหาวิทยาลัย Umeå University ในสวีเดน เขาคนนี้คือคนที่นำ IoT และดาต้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับงานบริการของภาครัฐ โดยรัฐบาลเอสโตเนียจ้างเขาเข้าทำงานเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาในตำแหน่ง Chief Data Officer เพื่อสร้างโปรเจ็ค AI ให้กับกระทรวงต่าง ๆ นำไปให้บริการกับประชาชน

ปัจจุบัน Velsberg ได้นำ AI มาให้บริการกับชาวเอสโตเนียแล้ว 13 โปรเจ็ค โดยที่รัฐบาลไม่ต้องจ้างข้าราชการเพิ่ม

AI ทำอะไรได้บ้าง?

ยกตัวอย่างโปรเจ็ค AI ของเอสโตเนีย เช่น มีการนำภาพถ่ายดาวเทียมของหน่วยงานทางอากาศของสหภาพยุโรปที่ส่งเข้ามาเป็นประจำทุกสัปดาห์ มาจับคู่กับภาพถ่ายเรือกสวนไร่นาของเกษตรกรในประเทศ และใช้แมชชีนเลิร์นนิ่งเพื่อตรวจสอบว่า ไร่นาของใครที่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐในการตัดหญ้าแห้งไปแล้วแต่ไม่ยอมทำตาม เพียงแค่นี้ ก็สามารถช่วยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว และไม่ต้องใช้คนจำนวนมากไปเดินตรวจสอบไร่นาด้วยตัวเองแต่อย่างใด

โปรเจ็ค AI นี้ช่วยให้รัฐบาลเอสโตเนียประหยัดเงินไปได้ 665,000 ยูโรในปีแรกที่นำมาประยุกต์ใช้ เนื่องจากช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เจ้าหน้าที่ต้องไปเดินสำรวจด้วยตัวเอง ทำให้เจ้าหน้าที่มีเวลาตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับเกษตรกรที่ไม่ปฏิบัติตามได้มากขึ้น

อีกหนึ่งตัวอย่างคือการใช้แมชชีนเลิร์นนิ่งช่วยจับคู่คนที่ตกงานกับบริษัทที่กำลังหาพนักงานอยู่ โดยอิงจากทักษะที่พวกเขาระบุไว้ในเรซูเม่ โปรเจ็คนี้พบว่า AI สามารถช่วยให้ชาวเอสโตเนียหางานใหม่ได้หลังจากตกงานเพียง 6 เดือน หรือมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบเดิมที่ใช้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการถึง 58%

ตัวอย่างที่สามคือการใช้ระบบอัตโนมัติ กับการสมัครเข้าโรงเรียน ซึ่งทำให้เด็กชาวเอสโตเนียถูกส่งชื่อเข้าโรงเรียนในย่านที่เด็กอาศัยอยู่ให้โดยอัตโนมัติ ผู้ปกครองไม่ต้องกังวลและพาลูกตัวเองไปสมัครแต่อย่างใด เหตุที่ทำได้ เพราะทางเอสโตเนียมีการเก็บข้อมูลจากโรงพยาบาล และแชร์ข้อมูลนี้กับโรงเรียนในท้องถิ่น ซึ่งในจุดนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ AI แต่เป็นการทำงานของระบบอัตโนมัติเท่านั้น

แต่ตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจให้สูงสุดในการนำ AI มาใช้งานก็คือการที่กระทรวงยุติธรรมของเอสโตเนียขอร้องให้ Velsberg และทีมงานออกแบบผู้พิพากษาโดยใช้ AI เพื่อตัดสินในคดีที่มีความเสียหายไม่เกิน 7,000 ยูโรให้ ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มต้นพัฒนาแล้ว และเป็นไปได้ว่าจะเริ่มใช้งานจริงภายในปีนี้

หลักการทำงานคือจะให้ทั้งโจทก์และจำเลยอัพโหลดเอกสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องเข้ามาในระบบ เพื่อให้ AI ตัดสิน อย่างไรก็ดี ทางรัฐบาลก็เปิดโอกาสให้ผู้เสียหายทั้งสองฝ่าย หากไม่พอใจผลการตัดสินก็สามารถอุทธรณ์กับผู้พิพากษามนุษย์ได้เช่นกัน

แน่นอนว่ากระทรวงยุติธรรมของเอสโตเนียค่อนข้างพอใจกับระบบดังกล่าว เนื่องจากทำให้ผู้พิพากษา และทนายความมีเวลาไปพิจารณาคดีที่ยากกว่าได้

ประชาชนว่าไง? 

เมื่อถามถึงการยอมรับ ต้องบอกว่า ชาวเอสโตเนีย 1.3 ล้านคนนั้นมีความคุ้นเคยกับบริการออนไลน์พอสมควร โดยปัจจุบันพวกเขามีฐานข้อมูลประชาชนอยู่ในส่วนกลาง ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ว่าอยู่ที่ไหนในโลกก็สามารถใช้ National ID Card เข้าถึงบริการของรัฐบาลเอสโตเนียได้แบบ 100% และ 99% ของบริการจากภาครัฐสามารถเข้าใช้งานได้ผ่านออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง

ฐานข้อมูลของภาครัฐยังเชื่อมต่อกับส่วนงานต่าง ๆ ผ่านอินฟราสตรักเจอร์ที่เรียกว่า X-Road ที่ทำให้ระบบสามารถแชร์ดาต้าระหว่างกันได้สะดวกยิ่งขึ้น ส่งผลให้ชาวเอสโตเนียสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลาว่ามีใครเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาบ้าง โดยการล็อกอินเข้าไปในพอร์ทัลของรัฐบาล

เทคโนโลยีเหล่านี้จำเป็นมากขึ้น ในประเทศที่มีกำลังคนไม่มากนัก โดยปัจจุบัน 22% ของชาวเอสโตเนียที่รับราชการ ซึ่งแม้จะดูเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูง แต่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่ประเทศมีแล้ว ก็ถือว่าน้อยพอสมควรหากจะบริการในเรื่องต่าง ๆ  ให้ดีพอ

Source

Source

 


แชร์ :

You may also like