HomeDigitalSCB ปรับกลยุทธ์(อีกรอบ)ชู Moment Banking ขยี้ทุก ‘โมเม้นต์’ ดันยอดใช้ SCB EASY

SCB ปรับกลยุทธ์(อีกรอบ)ชู Moment Banking ขยี้ทุก ‘โมเม้นต์’ ดันยอดใช้ SCB EASY

แชร์ :

เห็นการปรับตัวและพัฒนามาถึง 3 Season แล้ว สำหรับธนาคารไทยพาณิชย์อีกหนึ่งธนาคารที่โหมการรบในสนาม Digital Banking อย่างหนักหน่วง เพราะวางเป้าหมายสำคัญด้วยการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำใน Digital Banking และมีผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม SCB EASY แตะ 9-10 ล้านคน ให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ พร้อมทั้งการเติบโตขยับเป็นมากกว่า 12.5 ล้านคน ให้ได้ในปีต่อไป

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ขยับจาก Mobile Banking สู่ Moment Banking

ย้อนกลับไปดูพัฒนาการของ SCB EASY ตั้งแต่การเริ่มโฟกัสการทำ Digital Transformation ผ่านการปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อให้ธุรกิจรอดพ้นจากการถูก Disruption ซึ่งตลอดกว่า 1 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่การเปิดตัวหลังทำการยกเครื่องแพลตฟอร์มใหม่ทั้งหมดเมื่อ 7 ส.ค. 2560 ในช่วงเฟสแรก ที่เน้นการพัฒนาเพื่อให้ SCB EASY เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ใช้งานได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และมีความเสถียรมากขึ้น พร้อมแนะนำฟีเจอร์กดเงินไม่ใช่บัตรผ่านแอปฯ จนสร้างความตื่นเต้นและกลายเป็นหนึ่งฟีเจอร์ยอดนิยมมาจนถึงปัจจุบัน  โดยมียอดธุรกรรมกดเงินไม่ใช้บัตรตลอดกว่า 1 ปีที่ผ่านมานี้ ไปแล้วกว่า 38 ล้านครั้ง

เฟสต่อมาในซีซั่น 2 เมื่อ 8  มีนาคม 2561 กับการขยับของ SCB EASY ด้วยการสร้างมาตรฐานใหม่ในธุรกิจ ผ่านการประกาศยกเลิกการคิดค่าธรรมเนียมการทำธุกรรมต่างๆ ผ่านแอปฯ กลายเป็นเกมสำคัญในการดึงคนเข้ามาสู่แพลตฟอร์มมากขึ้น และเป็นการลบภาพจำ Pain Point ที่ลูกค้ามีต่อธนาคารว่า “งก ช้า ห่วย” ซึ่ง Pain Point ในเรื่องของความช้านั้น เริ่มแก้ไปได้บ้างตั้งแต่การยกเครื่องแพลตฟอร์มใหม่ในครั้งแรก จนเข้าสู่เฟสที่ 2 เรื่องของการแก้ไขภาพในเรื่องของความงก และห่วย ก็เป็นโจทย์ที่ได้รับการแก้ไขตามมา รวมทั้งยังช่วยเพิ่มให้มีคนเข้ามาในแพลตฟอร์มมากขึ้น จาก 4 ล้านราย ในช่วงเริ่มต้น เป็นมากกว่า 6 ล้านรายในเวลาต่อมา

และล่าสุดเมื่อ 8 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา หลังทำการบ้านบนดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้งการมอนิเตอร์การใช้งานของ Users รวมทั้งพยายามทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อปรับการเดินเกมทั้งในแง่ของการพัฒนาฟีเจอร์ให้ตอบโจทย์ รวมทั้งการปรับวิธีคิด วิธีการสื่อสาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและคำนึงถึงผลที่ได้จากการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างความรับรู้ต่อฟีเจอร์ต่างๆ ที่อยู่ในแอปฯ ซึ่งมีถึงกว่า 155 ฟีเจอร์ แต่บางฟีเจอร์ที่แม้ว่าจะมีประโยชน์แต่กลับไม่เป็นที่รับรู้ของผู้บริโภคมากนัก

นำมาสู่การเดินเกมในเฟสที่ 3 ด้วยการเปลี่ยนทั้ง Positioning และ Image ต่อการเป็น Mobile Banking ของ SCB EASY มาสู่การเป็น Moment Banking พร้อมการสื่อสารอรรถประโยชน์จากฟีเจอร์ต่างๆ ที่มีอยู่ในแอปฯ โดยเฉพาะการเลือกฟีเจอร์เด่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สอดคล้อง และเป็นประโยชน์กับในแต่ละสถานการณ์ในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมานำร่องในการสื่อสารก่อนราว 22 โมเมนต์ เพื่อตอกย้ำให้ผู้บริโภครับรู้ พร้อมทั้งฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่จะใส่เพิ่มเติมเข้ามาในแพลตฟอร์มในอนาคต โดยตั้งเป้าทั้งในแง่จำนวน Users ที่จะเพิ่มขึ้นบนแพลตฟอร์มจากปัจจุบันที่มีราว 8 ล้านราย ให้เพิ่มเป็น 9-10 ล้านคน ภายในสิ้นปีนี้ รวมทั้งในแง่ของ Usage ที่ต้องการให้ 99% ของ Cashless Digital Transaction ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจธนาคารจะต้องเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มของ SCB EASY

คุณโจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงวิธีคิดที่เปลี่ยนไปของ SCB EASY จากที่เคยคิดจากมุมของโปรดักต์มาเป็นการเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง หรือกล่าวได้ว่าเป็น “มนุษย์พันธุ์ใหม่” ที่ต้องการอะไรแบบทันที เดี๋ยวนี้ ตอนนี้ แถมยังสับสนเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งเร้าต่างๆ ได้ตลอดเวลา รวมทั้งยังถูกสปอยล์จากบรรดาแบรนด์หรือภาคธุรกิจต่างๆ ทั้งความไว ความฟรี ความดี ความถูก ทำให้มีตัวเลือกหลากหลายมากมาย โดยเฉพาะคนในยุค 10 ปีให้หลังมานี้ ที่เปลี่ยนเร็วจนธุรกิจต่างๆ ไม่สามารถตอบสนองได้ทัน

“ปัจจัยสำคัญที่เป็นอัตราเร่งการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในยุคนี้คือ การพัฒนาของสมาร์ทโฟน ซึ่งนำมาทั้งการเติบโตของ Big Data และการเกิด Technology Disruption ต่างๆ กลายเป็นศูนย์กลางของผู้คนยุคนี้ไม่ว่าจะซื้อ มองหา ต้องการอะไรก็จะทำผ่านมือถือทั้งสิ้น ทั้งซื้อของ หาข้อมูลต่าง สอบถามเส้นทาง ทำให้การเติบโตทั้งจำนวนเครื่องและระยะเวลาบนหน้าจอของผู้บริโภคสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนไทยที่เป็นหนึ่งประเทศที่มีการใช้งานสมาร์ทโฟนอยู่อันดับต้นๆ ของโลก สะท้อนผ่านไมโครโมเม้นต์สำคัญในการใช้งานสมาร์ทโฟน คือ การยกหน้าจอขึ้นมาดูในแต่ละครั้ง ซึ่งคนไทยมีการยกหน้าจอมือถือมาดูในแต่ละวันมากถึง 400 ครั้ง ขณะที่ต่างประเทศมีค่าเฉลี่ยประมาณ 200-300 ครั้งต่อวันเท่านั้น ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ ถูก Disrupt สิ่งที่เหนือไปกว่าการพัฒนาของเทคโนโลยี ก็คือการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคนั่นเอง

พูดให้ชัดขึ้น SCB EASY ทำอะไรได้บ้าง

ขณะที่ภาคธุรกิจธนาคาร หากต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ใกล้ชิดผู้บริโภคมากขึ้น ก็จำเป็นต้องสร้างแพลตฟอร์มให้อยู่บนมือถือ ซึ่งทุกธนาคารต่างก็พัฒนา Mobile Banking ของตัวเองออกมากันแทบทั้งสิ้น แต่ความท้าทายมากกว่านั้นคือ จะทำอย่างไรให้คนเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มและทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มของตัวเองให้มากที่สุด และแม้ว่า SCB EASY จะทำได้ค่อนข้างดีไม่ว่าจะเป็นฐานผู้ใช้ที่เติบโตมาได้ถึง 8 ล้านกว่าคน โดยมียอด Active สูงถึง 75%  และการทำธุรกรรมต่างๆ ที่อยู่ในปริมาณมาก แต่ยังมีจุดอ่อนที่พบคือ ฟีเจอร์บางอย่างที่เป็นประโยชน์ แต่คนไม่รู้ว่า SCB EASY สามารถทำได้ ขณะเดียวกันก็ยังเก็บ Pain Point ต่างๆ ในการติดต่อกับทางธนาคารที่ผู้บริโภคยังมีอยู่ เพื่อพัฒนาเป็นฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่จะมีเพิ่มเติมมาอีกในอนาคต เพื่อให้ SCB EASY สามารถทำทุกธุรกรรมได้เหมือนกับที่ธนาคารทั่วไปสามารถทำได้

ทั้งนี้ SCB EASY ได้ทำการสรุปสถิติต่างๆ ที่น่าสนใจ ที่เก็บไว้ตลอดกว่า 1 ปี หลังทำการยกเครื่องแพลตฟอร์มใหม่ ไว้ดังต่อไปนี้

– ในแง่จำนวนผู้ใช้งานโดยรวมเพิ่มขึ้นหลังจากเฟสแรกกว่าเท่าตัว จาก 4 ล้านราย เป็นมากกว่า 8 ล้านราย โดยมีจำนวนผู้ Log in เข้าใช้งานเฉลี่ย 20 ครั้งต่อเดือน หรือรวมทั้งสิ้นมากกว่า 2,000 ล้านครั้ง

– ขณะที่มียอดการทำ Transaction ต่างๆ ผ่านแอปฯ อาทิ การโอนเงินมีมากกว่า 450 ล้านครั้ง, ยอด Top Ups บริการต่างๆ 101 ล้านครั้ง. การชำระบิล  39 ล้านครั้ง, กดเงินสดโดยไม่ใช้บัตร 38  ล้านครั้ง, การจ่ายเงินผ่าน QR Scan  11 ล้านครั้ง

– ในส่วนบริการ Digital Lending มีการยื่นใบสมัครสินเชื่อดิจิทัล 486,000 ราย  โดยมียอดอนุมัติเงินกู้ผ่านแอปฯ 4,700 ล้านบาท  รวมทั้งยังมีการซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านแอปฯ  1 แสนล้านบาท

– ในส่วนของไลฟ์สไตล์ต่างๆ มีการขายตั๋วหนัง (SF)  มากกว่า 310,000 ใบ, ยอดบริจาคเงินผ่านแอปฯ  250 ล้านบาท การแลกของรางวัลหรือโบนัสต่างๆ ผ่านแอป 360,000 ครั้ง

– รวมทั้งยังมีการบริการแจ้งเตือนการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่าน Line OA  SCB Connect ไปมากกว่า 400 ล้านครั้ง

“สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากการพัฒนา SCB EASY ให้เป็น Lifestyle Platform แต่ก็ต้องเป็นแพลตฟอร์มที่มีประโยชน์และเกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา หรือเป็น Transaction Base เช่น การซื้อตั๋วหนัง หรือจ่ายเงินแลกโค้ดเล่นเกม แต่หากเป็นไลฟสไตล์ทั่วไปซึ่งไม่จำเป็นต้องมี Transaction เช่น ฟังเพลง ลูกค้าก็จะไม่เข้ามาที่แอปฯ เราแต่เลือกที่จะเข้าไปในแอปฯ เฉพาะของกิจกรรมนั้นๆ ซึ่งเราต้องมาทบทวนและปรับบริการต่างๆ ในแพลตฟอร์มให้ดีขึ้น เหมือนการบริหารเชลฟ์สินค้าในร้านสะดวกซื้อ ที่เชลฟ์ไหนขายไม่ดีก็ต้องเปลี่ยน เอาสินค้าใหม่ที่ดีกว่ามาขายแทน โดยเฉพาะการเลือกจากโมเมนต์ที่ถูกต้องในการเข้าไปหาลูกค้าซึ่งมีความสำคัญมาก”

นำมาซึ่งการพัฒนาฟีเจอร์ในอนาคต เพื่อช่วยลด Pain Point หรือเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการมาติดต่อธนาคาร รวมทั้งตอบโจทย์การใช้ชีวิตในแต่ละวันได้มากขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มสามารถให้บริการได้ราวๆ ไตรมาส 2 ของปี 2562  เช่น  การใช้ SCB EASY เป็น E-Passbook ได้อย่างสมบูรณ์, การเก็บไฟล์ PDF ต่างๆ ไว้ในแอปฯ เพื่อใช้ในการยื่นภาษีหรือหลักฐานต่างๆ, การเปิดบัญชีใหม่ผ่านแอปฯ ได้เลย, สามารถเลือกออกสลิปได้จากทุกๆ Transaction ภายในแอปฯ เพื่อลดความยุ่งยากในการเก็บสลิปหรือลบสลิปทิ้ง, เป็นที่เก็บรายละเอียดสัญญาสินเชื่อต่างๆ ที่มีกับธนาคาร รวมทั้งสามารถใช้บริการกดวงเงินจากบัตรเครดิตจากทุกๆ บัตรของ SCB ที่มีผ่านแอปฯ ภายใต้เงื่อนไขดอกเบี้ยตามผลิตภัณฑ์นั้นๆ รวมทั้งสามารถแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศเก็บไว้ในช่วงที่มีราคาดี แล้วค่อยไปรับเงินในภายหลังได้ เป็นต้น

หาน่านน้ำใหม่ สร้างโมเดลเติบโต 10 เท่า  

นอกจากวิธีคิดทางการตลาดในการขับเคลื่อนแพลตฟอร์มดิจิทัลจะต้องเปลี่ยนแล้ว กระบวนการทำงานและจัดการระบบหลังบ้านต่างๆ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ Digital Banking สามารถทำทุกๆ ธุรกรรมที่ธนาคารในแบบ Physical สามารถทำได้ และทำได้อย่างชาญฉลาดมากกว่า เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถ Breakthrough จากกรอบการเติบโตเดิมๆ มาสู่การสร้างโมเดลเติบโตใหม่ให้แก่ธุรกิจสามารถเติบโตได้หลายๆ เท่าตัว หรืออาจจะมากเป็นสิบเท่าตัวเลยทีเดียว

ซึ่งสอดคล้องกลยุทธ์สำคัญของธนาคารไทยพาณิชย์ในการขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคต ด้วยการสร้างทีม 10X  เพื่อช่วยพัฒนาโซลูชั่นส์ในการขับเคลื่อนหน่วยธุรกิจต่างๆ ให้เติบโตได้ 10 เท่า โดยทีมนี้จะประกอบขึ้นจากกลุ่มคนที่อยู่นอกธุรกิจธนาคาร เช่น จากกลุ่ม ปตท. หรือไมโครซอฟท์ เพื่อต้องการสร้างวิธีคิดหรือมุมมองใหม่ๆ จากคนนอกธุรกิจที่แตกต่างไปจากวิถีเดิมๆ แบบที่คนในสายงานคุ้นเคย เพื่อสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น รวมทั้งการหาคนที่มีความสามารถจาก Silicon Valley เข้ามาเสริมทีม เพื่อพัฒนาระบบการทำงานหลังบ้านต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ ฉลาดและแม่นยำมากขึ้น

ขณะที่การทำงานของทีม 10X จะมาเสริมศักยภาพของ SCB EASY ในมิติใดนั้น คุณโจ้ อธิบายกลไกหลักของธนาคารที่คนทั่วไปนึกถึงและต้องการมา ผ่านวัตถุประสงค์หลักๆ 3 เรื่อง คือ การใช้เป็นที่เก็บเงิน โดยการมอบดอกผลที่งอกเงยเป็นสิ่งตอบแทนให้ตามสมควร, การใช้ธนาคารเป็นตัวกลางในการเคลื่อนย้ายเงินไปสู่อีกที่หนึ่ง เช่น การถอน โอน จ่าย ต่างๆ และสุดท้ายคือ การเข้าถึงธนาคารเพื่อต้องการเข้าถึงแหล่งทุนในการกู้เงินต่างๆ ซึ่งสองข้อแรกการพัฒนาของดิจิทัลแบ้งกิ้งทำได้ค่อนข้างดี สามารถกระตุ้นการรับรู้ และ Educated จนลูกค้าเข้าใจและมีความคุ้นเคยจนจำนวนธุรกรรมต่างๆ เติบโตเป็นอย่างดี

ขณะที่ในฐานะของการเป็นแหล่งทุนให้แก่ผู้บริโภคนั้นยังค่อนข้างอ่อนแอ ไม่สามารถแข่งขันกับกลุ่ม FinTech หรือ Peer to Peer Lending ทั้งหลายได้มากนัก ซึ่งจุดนี้จะเป็นอีกหนึ่งจุดที่ทาง SCB EASY จะให้ความสำคัญและเข้ามาโฟกัสมากขึ้น เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องของผู้บริโภคที่มีต่อธนาคารผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มได้อย่างแท้จริง

ดังนั้น เป้าหมายในการผลักดันให้ยอด Digital Lending ผ่าน SCB EASY เติบโตได้ 10 เท่าตัวในปีหน้า จึงเป็นโปรเจ็กต์นำร่องของทีม 10X ซึ่งจะมีการพัฒนาระบบหลังบ้านทั้งการวิเคราะห์สินเชื่อ ประเมินความเสี่ยง รวมทั้งอัลกอริธึมต่างๆ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

เพราะที่ผ่านมาการนำร่องบริการสินเชื่อจะเน้นไปที่การสร้างการรับรู้และประสบการณ์ในการใช้บริการูปแบบเหล่านี้ผ่านระบบดิจิทัล แต่กระบวนการในการทำงานยังเป็นแบบ Manual และใข้เงื่อนไขในการวิเคราะห์สินเชื่อหรือประเมินความเสี่ยงแบบเดิมๆ อยู่ ซึ่งจะมีการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบในการทำงานหลังบ้าน หรือการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้อย่างเต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้น การพัฒนาระบบหลังบ้านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยังทำให้ SCB EASY สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างจากตลาด และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้มากขึ้น

โดยเฉพาะความสามารถในการคัดแยกกลุ่มลูกค้าชั้นดีที่มีความซื่อสัตย์ และมีวินัยในการผ่อนชำระ ทำให้อาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ยในเรทที่พิเศษมากกว่า จากปัจจุบันจะคิดอัตราดอกเบี้ยตามรูปแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งทุกคนต้องจ่ายในอัตราเดียวกัน หรือการเข้าไปในเซ็กเม้นต์ใหม่ๆ ที่เป็นกลุ่มรายย่อยที่ธนาคารส่วนใหญ่ยังเข้าไปไม่ถึง แต่หากมีการจัดการระบบที่แม่นยำในการวิเคราะห์ลูกค้าก็จะทำให้สามารถอนุมัติสินเชื่อให้แก่ลูกค้าในกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยสร้างโอกาสในการเติบโตใหม่ๆ ให้แก่ธนาคารได้ดีมากขึ้น

“SCB EASY เริ่มนำร่องบริการ Digital Lending ในกลุ่ม Pre Loan ผ่านแอพฯ ซึ่งเห็นการตอบรับที่ค่อนข้างดีจากใบสมัครผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เข้ามากว่า 4.8 ล้านใบ และสามารถอนุมัติยอดไปได้ราว 4,700 ล้านบาท ซึ่งมองว่าสามารถขยายการเติบโตได้มากกว่านี้ หากมีการพัฒนาระบบหลังบ้าน โดยเฉพาะการปรับระบบการวิเคราะห์สินเชื่อที่มีความยืดหยุ่นกับลูกค้าแต่ละรายแทนการมองตามลักษณะประเภทของสินเชื่อ รวมทั้งวิธีการเดิมๆ ในการประเมินศักยภาพของลูกค้ามากกว่าการมองผ่านหลักประกันอย่างบ้าน รถ หรือระดับรายได้ตามสลิปเงินเดือน ซึ่งไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของวิถีชีวิตคนในปัจจุบันที่ทำธุรกิจส่วนตัว หรือเป็นกลุ่มฟรีแลนซ์มากขึ้น ซึ่งการยึดติดวิธีการอนุมัติสินเชื่อหรือประเมินความเสี่ยงแบบเดิมๆ จึงกลายเป็นข้อจำกัดในการเข้าไปแข่งขันกับกลุ่มฟินเทคที่พัฒนามากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการลดโอกาสในการเติบโตของแบงก์อีกด้วย แต่ในปีหน้าหลังการพัฒนาร่วมกับทีม 10X เชื่อว่าจะเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของผลิตภัณฑ์นี้ได้อย่างแน่นอน”

สิ่งหนึ่งที่เริ่มมองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นจากการเดินเกมบนดิจิทัลแพลตฟอร์มของธุรกิจธนาคาร คือ โมเดลในการสร้างรายได้จากขาของดิจิทัล จากที่ในเฟสแรกๆ เน้นการมอบ Free Service เพื่อให้มีคนเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มของตัวเองมากๆ ก่อนจะเริ่มส่งโมเดลขายเข้ามาในแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในฝั่งของสินเชื่อที่สร้างรายได้ทั้งจากขาของดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมให้แบงก์ได้ค่อนข้างดี

ขณะเดียวกันการมีทั้งบริการและโปรดักต์ที่หลากหลาย ยังทำให้โอกาสที่แบงก์ของตัวเองจะกลายมาเป็น Main Bank หรือธนาคารหลักที่ลูกค้าจะพักเงินไว้มีสูงมากขึ้น ซึ่งอานิสงส์จากการได้เป็น Main Bank ก็คือโอกาสที่แบงก์ได้ต้นทุนจากเงินฝากที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สร้างผลตอบแทนที่ดีกว่านั่นเอง


แชร์ :

You may also like