HomeBrand Move !!กางพอร์ต “ธุรกิจร้านอาหาร” ไทยเบฟ ขยายแนวรบทุกเซ็กเมนต์ เจาะตลาดสตรีทฟู้ด ถึงร้านหรู

กางพอร์ต “ธุรกิจร้านอาหาร” ไทยเบฟ ขยายแนวรบทุกเซ็กเมนต์ เจาะตลาดสตรีทฟู้ด ถึงร้านหรู

แชร์ :

เป้าหมายของ “ไทยเบฟ” คือ การเป็นอันดับ 1 ในธุรกิจเครื่องดื่ม และอาหารของประเทศไทย และอาเซียน ซึ่งปัจจุบันสามารถก้าวขึ้นเป็นบริษัทเครื่องดื่มครบวงจรใหญ่ที่สุดในอาเซียนได้สำเร็จแล้ว ทั้งยังติด Top 5 บริษัทเครื่องดื่รายใหญ่ในเอเชีย ด้วยมูลค่าธุรกิจ 16,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือไม่ต่ำกว่า 550,000 ล้านบาท !!

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่ทว่ายังมีอีกหนึ่ง “จิ๊กซอว์” สำคัญที่ “ไทยเบฟ” ต้องสร้างให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น คือ “กลุ่มธุรกิจอาหาร” ซึ่งปัจจุบันกำลังเร่งขยายอาณาจักรธุรกิจอาหาร ทั้งในรูปแบบ Organic Growth และทำ M&A (Mergers and Acquisition) โดยมีเป้าหมายสร้างการเติบโตด้านผลประกอบการ ให้โตขึ้น 2 – 3 เท่าภายในปี 2020 จากปัจจุบันกลุ่มธุรกิจอาหารในเครือไทยเบฟ ทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท

แน่นอนว่าเรือธงที่สร้างรายได้หลัก ยังคงเป็น “ธุรกิจอาหารของกลุ่มโออิชิ” แต่ขณะเดียวกัน การจะเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจอาหารทั้งในไทย และต่างประเทศ ต้องมีความหลากหลายของเซ็กเมนต์ร้านอาหาร ทั้งประเภทอาหาร, Brand Portfolio และระดับราคา

“ร้านอาหารญี่ปุ่น” ก้าวแรกในธุรกิจอาหาร

ถึงแม้จุดเริ่มต้นของ “ไทยเบฟ” เริ่มจากธุรกิจเครื่องดื่ม นับตั้งแต่เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ขยายไปสู่เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า “ไทยเบฟ” จะเป็น Major Player แค่ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มเท่านั้น การขยายธุรกิจให้เติบโตกว่าที่เป็นอยู่ จึงต้องมองหาธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกัน เพื่อร่วมกันเสริมความแข็งแกร่งให้เดินไปด้วยกันได้

และธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับเครื่องดื่มอย่างแยกไม่ออก คือ “ธุรกิจอาหาร” โอกาสทางธุรกิจมหาศาล ทั้งในด้านผลประกอบการ และการเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง ผ่านเครือข่ายร้านอาหารที่กระจายครอบคลุมทั่วประเทศ

หากย้อนกลับไปก้าวแรกของการลงทุนในธุรกิจร้านอาหารอย่างจริงจังของกลุ่มไทยเบฟ เกิดขึ้นเมื่อครั้งซื้อกิจการ “โออิชิ กรุ๊ป” ปี 2551 ทำให้ได้ทั้งธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ และธุรกิจอาหาร ซึ่ง “โออิชิ” เป็นผู้สร้างตลาด “ร้านอาหารญี่ปุ่น” ในรูปแบบบุฟเฟต์ และทำให้การบริโภคอาหารญี่ปุ่นแพร่กระจายเป็นวงกว้างในระดับ Mass Market ก็ว่าได้

เนื่องจากในอดีต ตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยเป็น Niche Market ที่มีลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนญี่ปุ่นในไทย และคนไทยกลุ่มหนึ่งที่คุ้นเคยกับอาหารญี่ปุ่น อีกทั้งร้านอาหารญี่ปุ่นเมื่อ 20 – 30 ปีก่อน ตั้งอยู่เฉพาะย่านที่มีคนญี่ปุ่นอาศัยอยู่ เช่น ย่านสุขุมวิท และอยู่ในโรงแรม

ในขณะที่การเข้ามาของ “โออิชิ” เปิดเกมขยายสาขาตามศูนย์การค้า และสร้าง Brand Portfolio ร้านอาหารญี่ปุ่น ให้มีความหลากหลายของประเภทอาหาร และระดับราคา ทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม ทุกโอกาสการบริโภค

ปัจจุบันธุรกิจอาหารของโออิชิ กรุ๊ป ประกอบด้วยร้านอาหาร 7 แบรนด์ ได้แก่ โออิชิ แกรนด์, โออิชิ อีทเทอเรียม, โออิชิ บุฟเฟต์, โออิชิ ราเมง, นิกุยะ, ชาบูชิ และคาคาชิ นอกจากนี้ยังได้ขยายไปสู่ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป (Oishi Packed Food) ทั้งอาหารพร้อมปรุง และอาหารพร้อมรับประทาน รวมทั้งบริการจัดส่งถึงบ้าน

ภายใต้ธุรกิจอาหาร ในเครือโออิชิ กรุ๊ป แบรนด์หลักที่ขยายสาขาได้อย่างรวดเร็วคือ “ชาบูชิ” ในขณะที่แบรนด์ดาวรุ่งที่กำลังมาแรง คือ “โออิชิ อีทเทอเรียม” เป็นการสร้าง Brand New Concept ครั้งใหญ่ของโออิชิ กรุ๊ป เพื่อสร้างความแตกต่างในตลาดร้านอาหารญี่ปุ่น ที่ในช่วง 5 – 10 ปีมานี้ กลายเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง และแทบจะหาความแตกต่างไม่เจอ ประกอบกับเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล ที่มีความเป็นปัจเจกมากขึ้น และธุรกิจร้านอาหารในยุคนี้ ไม่ใช่แค่นำเสนอความอิ่ม-อร่อยเท่านั้น แต่ต้องตอบสนอง 5 Senses ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ

เดินหน้าขยาย Brand Portfolio เจาะตลาด “Street Food” ถึง “Fine Dining”

หลังจากอยู่ในแวดวงเชนร้านอาหารญี่ปุ่นมาได้สักพัก ในปี 2558 เป็นปีที่ “ไทยเบฟ” เริ่มสยายปีก “ธุรกิจอาหาร” ให้แข็งแกร่งขึ้น ด้วยการตั้งบริษัท “Food of Asia” (FOA) เพื่อทำธุรกิจร้านอาหารหลากหลายประเภท นอกเหนือจากร้านอาหารญี่ปุ่นที่บริหารโดยโออิชิ กรุ๊ป เพราะต้องการผลักดันธุรกิจร้านอาหารในเครือไทยเบฟ เข้าไปอยู่กับผู้บริโภคทุกกลุ่ม ทุกโอกาสการบริโภคอาหาร และสามารถขยายสาขาตลาดในประเทศ และนำแบรนด์ออกสู่ตลาดต่างประเทศ

“Portfolio ธุรกิจอาหารของเรา ไม่ได้มีแค่อาหารญี่ปุ่น เพราะด้วยความที่คนไทยชอบความหลากหลาย เราจึงตั้งบริษัท Food of Asia เพื่อทำธุรกิจอาหารที่ไม่ใช่อาหารญี่ปุ่น วันนี้เราเติม Brand Portfolio เพื่อนำเสนอเมนูอาหารได้หลากหลาย ครอบคลุมตั้งแต่ Street Food ที่เราให้บริการในรูปแบบ Food Court, การขยายเข้าสู่ธุรกิจ QSR, Casual Dining ไปจนถึง Fine Dining เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกไลฟ์สไตล์ และทุกๆ โอกาส” คุณนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้อำนวยการ ธุรกิจอาหาร ประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เล่าถึงยุทธศาสตร์กลุ่มธุรกิจอาหารของเครือไทยเบฟ

กลยุทธ์ที่ “Food of Asia” ใช้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารมาโดยตลอด ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์หลัก คือ

1. ขยายสาขาของแบรนด์ร้านอาหาร ที่อยู่ภายใต้การบริหารของ Food of Asia

2. ขยายแพลตฟอร์มการให้บริการ เนื่องจากปัจจุบัน Customer Journey เปลี่ยนไป คนเริ่มมองหาสิ่งใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ และความสะดวกในการใช้ชีวิต เพราะฉะนั้นการเปิดร้าน แล้วรอให้ลูกค้าเดินเข้ามาใช้บริการ คงไม่ใช่โมเดลที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกกลุ่ม ทุกโอกาสเสมอไป ด้วยเหตุนี้จึงต้องขยายสู่แพลตฟอร์มบริการใหม่ เช่น ให้บริการ Catering และ Delivery

3. ขยาย Brand Portfolio นอกจากมีเชนร้านอาหารญี่ปุ่นที่แข็งแรง ภายใต้การบริหารของโออิชิ กรุ๊ปแล้ว เป้าหมายของ “Food of Asia” ต้องการมีร้านอาหารหลากหลายประเภท ทั้งอาหารไทย อาหารอาเซียน อาหารตะวันตก และอาหารจีน เป็นต้น

4. ควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisition : M&A) และผนึกพันธมิตรในธุรกิจอาหารที่แข็งแกร่ง นอกจากสร้างการเติบโตแบบ Organic Growth ภายใต้แบรนด์ที่สร้างขึ้นเองแล้ว อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะเป็น “ทางลัด” ให้ไปถึงเป้าหมายเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจอาหารทั้งในไทย และอาเซียนได้เร็วขึ้น คือ การควบรวมกิจการ หรือซื้อกิจการ รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรในธุรกิจอาหารที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว ร่วมกันทำธุรกิจ

เช่น เป็นพันธมิตรธุรกิจกับ “ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)” เจ้าของแฟรนไชส์แบรนด์ KFC ในการมอบสิทธิ์การเป็นแฟรนไชส์ซีรายที่ 3 ให้แก่ “บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด” (QSA) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Food of Asia ในการเข้าบริหารและปรับปรุงร้าน KFC กว่า 240 ร้าน จากร้าน KFC ในประเทศไทยกว่า 600 สาขา (อีก 2 รายที่ได้สิทธิ์เป็นแฟรนไชส์ซี คือ เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป และ เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์)

เจาะลึก Brand Portfolio ธุรกิจอาหาร

ยุทธศาสตร์ “กลุ่มธุรกิจอาหาร” ในเครือไทยเบฟ ทั้งภายใต้การบริหารของ “โออิชิ กรุ๊ป” และ “Food of Asia” ต้องการต่อจิ๊กซอว์ประเภทร้านอาหาร ให้มีความเป็นนานาชาติ โดยแต่ละประเภทอาหารที่ “ไทยเบฟ” จะกระโดดเข้าไปทำ ต้องมี Demand ชัดเจน มี Market Size ใหญ่ และมีโอกาสเติบโต

ปัจจุบัน “กลุ่มธุรกิจอาหาร” ในเครือไทยเบฟ มีทั้งร้านอาหารไทย จีน ญี่ปุ่น ตะวันตก อาเซียน และในความหลากหลายนั้น ต้องมีหลายระดับราคา ควบคู่ไปกันการปูพรมสาขา ภายใต้แบรนด์ต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย

“โออิชิ กรุ๊ป” ให้บริการอาหารญี่ปุ่น ประกอบด้วยแบรนด์ โออิชิ แกรนด์, โออิชิ อีทเทอเรียม, โออิชิ บุฟเฟต์, โออิชิ ราเมง, นิกุยะ, ชาบูชิ และคาคาชิ, ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป (Oishi Packed Food) และบริการจัดส่งถึงบ้าน (Oishi Delivery)

“Food Street” ฟู้ดคอร์ทที่เปิดให้บริการในอาคารต่างๆ ปัจจุบันมี 4 สาขา เช่น The Street รัชดา การเข้าสู่ธุรกิจฟู้ดคอร์ท เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง เพราะสามารถเจาะผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม และเข้าไปแบ่งเค้กกับตลาดร้านอาหารข้างทาง (Street Food) ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย

Photo Credit : Facebook HR Foodstreet

“Man Fu Yuan” (หม่านฟู่หยวน) ร้านอาหารจีน ที่นำมาจากโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล สิงคโปร์ ปัจจุบันในไทยมี 2 สาขาที่ ดิ เอ็มควอเทียร์ และ สยามดิสคัฟเวอรี่

“SO Asean Café & Restuarant” ร้านอาหารที่พัฒนาขึ้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The Destination of Asean Cusine” เพื่อให้บริการเมนูอาหารเด็ดของชาติต่างๆ ในอาเซียน ปัจจุบันมี 5 สาขา

“SO Asean Coffee” เป็นร้านกาแฟและเครื่องดื่มเมนูต่างๆ ภายใต้แนวคิด “The Art Asean Coffee Through Unbeatable”

Photo Credit : SO asean Cafe & Restaurant

“ธุรกิจเค้กและเบเกอรี่” ด้วยมูลค่าตลาดเค้กและเบเกอรี่ในไทย ไม่ต่ำกว่า 25,000 ล้านบาท และยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก จากจุดนี้เอง ทำให้ “Food of Asia” กระโดดเข้ามาบุกตลาดเค้กและเบเกอรี่ โดยจับมือกับ “Hong Kong Maxim Group” กลุ่มทุนด้านธุรกิจอาหารและเบเกอรี่รายใหญ่ของฮ่องกง เพื่อร่วมทุนตั้ง “บริษัท แมกซ์ เอเชีย จำกัด” เริ่มต้นด้วยการนำเชนเบเกอรี่ชื่อดังจากฮ่องกง “mx cakes & bakery” มาเปิดสาขาในไทย

Photo Credit : Facebook mx cakes & bakery Thailand

“ธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน” (Quick Service Restaurant : QSR) จัดตั้ง “บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด” ในเครือ Food of Asia ได้สิทธิ์การเป็นแฟรนไชส์ซีร้าน “KFC”

“กลุ่มอาหารไทย” เมื่อไม่นานนี้ Food of Asia ได้เข้าซื้อกิจการบริษัท “Spice of Asia” ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารไทย 4 แบรนด์ ประกอบด้วย Café Chilli, Chill Thai Restaurant, POT Ministry และ Eat Pot ด้วยมูลค่า 114.5 ล้านบาท

“Hyde & Seek” ให้บริการอาหารสไตล์ตะวันตก เจาะกลุ่มบน โดยเข้ามาอยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจอาหารของ Food of Asia ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา

Photo Credit : Facebook POT Ministry

“ธุรกิจอาหาร เมื่อเทียบกับธุรกิจเครื่องดื่ม มาร์จิ้นไม่ได้มากเหมือนกับธุรกิจเครื่องดื่ม แต่เรามองว่ามีโอกาสที่จะสร้างผลกำไรได้ดี โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2020 ผลประกอบการของธุรกิจอาหาร จะโต 2 – 3 เท่าจากตัวเลขปัจจุบันที่ทำได้กว่า 6,000 ล้านบาท โดยจะมาจากทั้ง Organic Growth และการทำ M&A ทำให้มีแบรนด์ใหม่เข้ามาเติมใน Portfolio เสริมทัพกับแบรนด์ปัจจุบันที่มีอยู่ เพื่อทำให้กลุ่มธุรกิจนี้ เดินเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม” คุณนงนุช กล่าวทิ้งท้าย

ที่สำคัญแบรนด์ “กลุ่มธุรกิจอาหารของไทยเบฟ” มีความพร้อมด้านโลเกชั่นการเปิดสาขาร้าน เพราะนอกจากการนำแบรนด์เหล่านี้ เปิดในศูนย์การค้า และอาคารสำนักงานต่างๆ แล้ว วันนี้บริษัทในเครือ “ทีซีซี กรุ๊ป” ยังเป็น Developer โครงการอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการพาณิชย์รายใหญ่ด้วยเช่นกัน

ทั้งธุรกิจรีเทล เช่น โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์, เกตเวย์, เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์, ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์, เวนิว ย่านซอยลาซาล และตะวันนาในโซนต่างๆ รวมไปถึงธุรกิจอาคารสำนักงาน การพัฒนาโครงการ Mixed-use Development อีกมากมายที่กำลังตามมาในอนาคต และเชนค้าปลีกภายใต้การบริหารของ “บีเจซี” เช่น บิ๊กซี ที่เตรียมขยายสาขาทั้งในไทย และอาเซียน

Photo Credit : Facebook SO asean Cafe & Restaurant


แชร์ :

You may also like