HomeInsightลดขนาดองค์กร-เลิกจ้างพนักงาน! หนทางลดต้นทุนเพื่ออยู่รอด หรือหายนะสู่ความล่มสลาย ?!?

ลดขนาดองค์กร-เลิกจ้างพนักงาน! หนทางลดต้นทุนเพื่ออยู่รอด หรือหายนะสู่ความล่มสลาย ?!?

แชร์ :

 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ในช่วงนี้ จะเห็นข่าวบริษัทต่างๆ ทั่วโลกในหลายอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจค้าปลีกในสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่บริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่ งัดนโยบาย “ลดขนาดองค์กร” (Downsizing) ทั้งการเลิกจ้างพนักงาน ลดการจ้างงาน ปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับ รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ เพื่อให้องค์กรมีต้นทุนลดลง

อันที่จริงแล้ว “การลดขนาดองค์กร” ปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมาที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย บริษัทที่ได้รับผลกระทบได้ตัดสินใจลดขนาดองค์กร เฉพาะแค่บริษัทในสหรัฐอเมริกา ระหว่างปลายปี 2008 ถึงต้นปี 2010 เลิกจ้างพนักงานไปแล้ว 8 ล้านคน

แน่นอนว่าคงไม่มีบริษัทไหนอยากใช้นโยบายนี้ แต่เมื่อบริษัทประสบกับภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน หรือต้องเผชิญกับสภาวะรายได้ลดลง ขณะที่ต้นทุนการดำเนินงานมีแต่จะเพิ่มขึ้น หลายองค์กรจึงเลือกวิธี Downsizing เพราะมองว่าจะเป็นหนทางช่วยลดต้นทุนในองค์กร รวมถึงใช้จังหวะนี้ปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับ คล่องตัวขึ้น เพื่อทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพดีขึ้น

คำถามตามมา… “การลดขนาดองค์กร” เป็นวิธีลดต้นทุนให้กับองค์กรจริงหรือ ?!? หรือเป็นเพียงการต่อลมหายใจองค์กรให้อยู่นานขึ้น แต่สุดท้ายแล้วหนีไม่พ้นต้องเข้าสู่ภาวะล่มสลาย !!!

Harvard Business Review ได้นำเสนองานวิจัยที่ศึกษาและวิเคราะห์โดยทีมวิจัยจาก Auburn University, Baylor University, และ University of Tennessee, Chattanooga ศึกษาถึงผลที่ตามมาจากการลดขนาดองค์กร โดยศึกษาบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา พบว่ามาตรการ Downsizing มีแนวโน้มจะนำไปสู่การสูญเสียองค์ความรู้ที่มีคุณค่า ขณะเดียวกันพนักงานที่อยู่ต่อ ต้องแบกรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้แทบจะไม่มีเวลาไปเรียนรู้ทักษะใหม่เพิ่มเติม

นอกจากนี้ยังทำให้พนักงานที่อยู่ต่อ รู้สึกไม่มั่นใจในการบริหารจัดการขององค์กรนั้นๆ อีกทั้งทำให้ความผูกพัน และความภักดีที่มีต่อองค์กรลดน้อยลง

แม้ว่าการลดขนาดองค์กร ช่วยลดต้นทุน หรือประหยัดค่าใช้จ่ายขององค์กร แต่ในเวลาเดียวกันกลับพบว่า ผลกระทบในระยะยาวที่จะตามมา คือ ความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ขององค์กรย่อมลดน้อยลงเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านี้…ทีมวิจัยยังได้ศึกษาเจาะลึกว่าองค์กรที่ใช้นโยบายนี้ มีโอกาสสูงที่จะเผชิญกับภาวะล้มละลายในเวลาต่อมาหรือไม่ ?!?

โดยศึกษาบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กว่า 4,700 ราย พบว่าบริษัทที่ใช้นโยบายลดขนาดองค์กร มีแนวโน้มที่จะล้มละลาย หรือปิดตัวในอนาคต มากกว่าองค์กรที่ไม่ได้ใช้นโยบายดังกล่าว เพราะถึงแม้การลดขนาดองค์กร จะสร้างผลลัพธ์เชิงบวกในด้านการประหยัดค่าใช้จ่าย แต่นั่นเป็นเพียงผลระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าบริษัทที่ตัดสินใจลดขนาดองค์กรทุกแห่งจะต้องปิดฉากธุรกิจเสมอไป ในผลการศึกษาครั้งนี้พบว่า มีบริษัทที่ทำ Downsizing ยังคงสามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้

ปัจจัยที่ทำให้บริษัทดำเนินธุรกิจต่อได้ คนส่วนใหญ่มักจะมองว่าการมี “เงินทุน” จำนวนมากพอ เป็นเสมือนยาครอบจักรวาลที่จะช่วยให้บริษัทหลุดพ้นจากปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน หรือแม้แต่ปัญหาทางธุรกิจทั้งปวง แต่ในความเป็นจริงแล้ว “แหล่งเงินทุน” ไม่ได้เป็นคำตอบในการป้องกันการล้มละลาย หรือล่มสลายของบริษัทที่ลดขนาดองค์กรเสมอไป

ทว่า “Intangible Resources” หรือ “Intangible Assets” ต่างหากที่เป็นกุญแจสำคัญในการทำให้บริษัทก้าวเดินไปข้างหน้าได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับ “บุคลากร” ที่ยังอยู่ เพราะคนเหล่านี้มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ซึ่งจะมีบทบาทร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรต่อไป เช่น นำความรู้ความสามารถของพนักงาน มาช่วยกันปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น หรือร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ขณะเดียวกันบริษัทหาคู่ค้าธุรกิจ มาช่วยเติมเต็มช่องว่างที่ขาดไป ซึ่งจะทำให้พนักงาน ลดแรงกดดันในการทำงานหลังจากบริษัทลดขนาดธุรกิจ

เพราะฉะนั้นแล้ว คงไม่มีบริษัทไหนอยากลดขนาดองค์กร แต่เมื่ออยู่ในภาวะจำเป็น ก่อนการตัดสินใจใช้นโยบายดังกล่าว ผู้นำองค์กรควรต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ทั้งผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นในระยะสั้น เทียบกับผลกระทบร้ายแรงในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้น คุ้มค่าต่อการทำ Downsizing หรือไม่

ขณะเดียวกันการลดขนาดองค์กร มักจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนปรับโครงสร้างองค์กร ดังนั้นผู้นำองค์กรควรให้ความสำคัญที่ Intangible Resources เช่น บุคลากรที่ยังอยู่ มากกว่าจะโฟกัสเฉพาะการเงิน และสินทรัพย์ทางกายภาพขององค์กร เพราะถ้าหากไม่สามารถรักษาพนักงานเหล่านี้ไว้ได้ เท่ากับว่าบริษัทสูญเสียบุคลากรที่มีคุณค่าไป ซึ่งอาจนำไปสู่จุดสิ้นสุดขององค์กรด้วยเช่นกัน!!

 

Source

Credit Photo (ภาพเปิด) : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

 


แชร์ :

You may also like