HomeCSRคนไทยคนแรก! คุยกับ “หนิง-จุฑาทิพย์ เก่งมานะ” Social Impact and Sustainability Manager คนแรกของสตาร์บัคส์ กับ ภารกิจที่ต้องทำ

คนไทยคนแรก! คุยกับ “หนิง-จุฑาทิพย์ เก่งมานะ” Social Impact and Sustainability Manager คนแรกของสตาร์บัคส์ กับ ภารกิจที่ต้องทำ

แชร์ :

ด้วยนโยบายของ “สตาร์บัคส์”(Starbucks) ที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า จะลดการใช้น้ำ – ลดการปล่อยคาร์บอน ให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 นั่นทำให้หลายๆ ประเทศที่สตาร์บัคส์ดำเนินธุรกิจอยู่ต้องมีตำแหน่งใหม่ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อผลักดันเรื่องราวของความยั่งยืนให้คนในองค์กร ลูกค้า และพันธมิตรทั้งหลายเข้าใจสิ่งที่สตาร์บัคส์ทำมากขึ้น ในประเทศไทยก็เช่นกัน เมื่อเร็วๆ นี้ เชนร้านกาแฟระดับโลก ที่มีสาขากว่า 490 สาขา เพิ่งแต่งตั้ง “หนิง-จุฑาทิพย์ เก่งมานะ” ในฐานะ Social Impact and Sustainability Manager คนแรกของประเทศไทย หน้าที่นี้ต้องทำอะไรบ้าง อะไรคือเป้าหมายแรกที่ต้องทำให้สำเร็จ BrandBuffet จะพาไปจิบกาแฟ คุยกับเธอกัน …

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

Social Impact and Sustainability Manager ต้องทำอะไรบ้าง

เพราะว่า “สตาร์บัคส์ ประเทศไทย” มีพาร์ทเนอร์ (ที่สตาร์บัคส์ จะเรียกบาริสต้าว่า พาร์ทเนอร์) ที่ให้บริการหน้าร้านราว 4,600 คน รวมกับทั้งพนักงานที่สำนักงานใหญ่ ขณะเดียวกันก็ต้องทำงานร่วมกับพันธมิตรธุรกิจอีกมากมาย นั่นทำให้ต้องอาศัยการทำความเข้าใจและประสานงานหลายภาคส่วนเพื่อสร้างความเข้าใจไปในแนวทางเดียวกัน  นี่เอง จึงเป็นบทบาทสำคัญที่ Social Impact and Sustainability Manager ต้องเข้ามาทำหน้าที่ขับเคลื่อนความร่วมมือของทั้งใน – นอกองค์กร ที่สำคัญก็คือ ลูกค้าของสตาร์บัคส์ที่ให้บริการมากกว่า 800,000 คนต่อสัปดาห์ จากจำนวน 490 สาขา

“ที่สตาร์บัคส์เราทำกิจกรรมหลายอย่างมาก ตำแหน่งนี้เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นตัวเชื่อมให้สตาร์บัคส์โฟกัสเรื่องความยั่งยืนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เราทำทั้งเรื่องการพัฒนาคัดสรรคุณภาพเมล็ดกาแฟให้ดีขึ้น เพราะเป็นธุรกิจหลักของเรา ขณะเดียวกันเราก็รู้ดีว่าเราจะทำให้กาแฟดีขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่ใส่ใจเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ที่ต้่องทำควบคู่กัน ขณะเดียวกันเราก็ต้อง Up-skill บริการของเราให้ดีขึ้น เพื่อสร้าง Journey ที่ดีมากขึ้นให้กับลูกค้า” เธอเล่าถึงหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ที่สามารถสรุปได้เป็น 3 ประเด็นสำคัญ Coffee, People และ Planet

เส้นทาง 20 ปี ที่สตาร์บัคส์ ประเทศไทย

คุณหนิง เล่าย้อนให้ฟังว่าเธอร่วมงานกับสตาร์บัคส์ตั้งแต่ทำพาร์ทไทม์ทั้งๆ ที่ตอนนั้นมีงานประจำอยู่แล้ว กระทั่งสตาร์บัคส์เปิดรับสมัครงานจึงเข้าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรแห่งนี้อย่างเต็มตัวในตำแหน่ง เลขาฯ ของ MD ตั้งแต่ปี 2546 (ปีนี้เธอจะทำงานที่สตาร์บัคส์ครบ 20 ปี) นั่นทำให้ได้รับรู้เรื่องราวในสายงานอื่น ๆ มากมาย รวมทั้งโปรเจ็กท์ที่สตาร์บัคส์ ทำงานร่วมกับ องค์กรพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน หรือ The Integrated Tribal Development Program (ITDP)  และคุณหนิงก็มีส่วนเดินทางตามมาดูวิถีชุมชนที่เพาะปลูกกาแฟ และขั้นตอนการคัดเลือกเมล็ดกาแฟตั้งแต่ระยะแรกๆ ที่เริ่มโครงการ จนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ทั้งเรื่องสุขอนามัย ผ่านการใช้น้ำ การสร้างอาชีพ และการศึกษา โดยเริ่มต้นตอกเสาเข็มเพื่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ให้กับชาวเขา

ต่อมาก็มีโอกาสเรียนรู้งานในฝ่ายมาร์เก็ตติ้ง ดูแลเรื่อง Merchandise ซึ่งทำให้ได้ทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อนำเอาแก้วเบญจรงค์, ผ้าย้อมคราม หรือผ้าที่นำมาตัดชุดให้น้องหมีสตาร์บัคส์ ตลอดจนทำโครงการ Book For Children ในขณะเดียวกัน ความเจ็บป่วยของคนในครอบครัว ก็กระตุ้นให้ เกิดความสนใจในเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม อาหาร และอากาศ ซึ่งเธอศึกษาอย่างจริงจัง จนพบว่าสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีได้ตั้งแต่ต้นทางของวัตถุดิบ ดังนั้นเมื่อทาง “สตาร์บัคส์ ประเทศไทย” ต้องการคนมาทำงานในตำแหน่ง Social Impact and Sustainability Manager จึงตรงกับความต้องการ ขณะเดียวกันกรรมการผู้จัดการปัจจุบัน คุณเนตรนภา ศรีสมัย ก็ให้ความไว้วางใจ จนกระทั่งได้ทำหน้าที่ดังกล่าว

“ลดการใช้พลาสติก” เรื่องใกล้ตัว ที่ไม่ง่าย

นอกเหนือจากกิจกรรมต่างๆ ที่สตาร์บัคส์ทำอยู่แล้ว ยังมีความร่วมมือกับ ผศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต อาจารย์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อนำเอากากกาแฟ มาผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ เพื่อประหยัดทรัพยากรและสะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นธุรกิจกาแฟ ซึ่งเทคโนโลยีและการดีไซน์ปัจจุบันสามารถทำได้ตั้งแต่โต๊ะภายในร้าน ไปจนถึงอุปกรณ์อื่นๆ เช่น ถาด แผ่นรองแก้วหรือกระเบื้องที่ใช้แต่งบนโต๊ะ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำร้านสาขาในรูปแบบ Greener Store

แถมด้วยงานที่สตาร์บัคส์ ร่วมมือกับ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) ในโครงการ Starbucks FoodShare นำอาหารที่ไม่ได้จำหน่ายภายในร้านตามวัน-เวลาที่กำหนด แต่ยังสามารถรับประทานได้ ไปส่งมอบให้กับชุมชนในบริเวณโดยรอบ

สำหรับภารกิจเร่งด่วนที่ถือว่าเป็นความท้าทายก็คือ การลดการใช้งาน Single-Used plastic ให้ได้

“โจทย์ที่รู้สึกว่าอยากทำให้ได้ในตอนนี้ก็คือเรื่องการเพิ่ม Personal Cup เพราะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นง่ายๆ แต่ทั้งนี้ก็ต้องทำงานทั้งกับลูกค้าของเรา ที่เราจะบอกเขาอย่างไรให้เขาสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Personal Cup ที่มีส่วนลด 10 บาท หรือถ้าหากว่านั่งในร้านก็มีแก้วแบบ For Here รวมทั้งเราก็ต้องขอความร่วมมือจากพาร์ทเนอร์หน้าร้านของเราด้วยว่า ต้องช่วยแนะนำลูกค้าให้มากขึ้น เพราะ Single-Used plastic โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ถูกใช้แล้วและนำไปทิ้งไม่ถูกที่ จะเป็นภาระสิ่งแวดล้อมอย่างมาก”

นั่นจึงเป็นที่มาของแคมเปญ Little Choices, Big Changes ที่จะสร้างการรับรู้ในปีนี้ เน้นให้ลูกค้ามีส่วนร่วมและภาคภูมิใจไปด้วยกัน โดยมีแก้วเครื่องดื่มเย็นไว้ให้บริการลูกค้าที่ทานในร้าน แถมยังกระตุ้นให้พนักงานในออฟฟิศสตาร์บัคส์เองกับพาร์ทเนอร์ช่วยกันใช้แก้วส่วนตัว โดยตั้งเป้าหมาย ลดการใช้แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งจากเดิมปีที่แล้วลดลงได้ 2 ล้านใบ ให้กลายเป็น 3 ล้านใบ หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 50%

แก้ว For Here สำหรับเครื่องดื่มเย็นที่ทานในร้าน

ส่วนโจทย์ใหญ่ของสตาร์บัคส์ ประเทศไทย ก็คือ เป้าหมายในปี 2573 ต้องสร้างผลกระทบเชิงบวก ลดการใช้น้ำตั้งแต่หน้าร้านจนถึงที่ไร่ ลง 50% ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งในร้านและขั้นตอนการขนส่ง 50% และลดขยะ 50% รวมทั้งเพิ่มสาขา Greener Store ทั้งจำนวนและการออกแบบต่างๆ ภายในร้าน ไปจนถึงการใช้พลังงาน และการบริหารงานภายใน ซึ่งในปีนี้จะเพิ่มจาก 8 สาขา ให้เป็น 20 สาขาภายในปีนี้

ตั้งแต่ทำงานกับสตาร์บัคส์ที่ผ่านมา กระทั่งโปรเจ็กต์ที่กำลังทำอยู่ พี่หนิง ของน้องๆ ในสตาร์บัคส์ พูดถึงสิ่งที่เธอทำมาทั้งหมด ด้วยถ้อยคำง่ายๆ ว่า “ทำแล้วใจฟู”


แชร์ :

You may also like