HomeDigitalGrabFood เปิดสถิติ Self-Pickup ดันยอดขาย Starbucks – Cafe Amazon โต 22%

GrabFood เปิดสถิติ Self-Pickup ดันยอดขาย Starbucks – Cafe Amazon โต 22%

แก้โจทย์คนไทยไม่อยากรอคิวนาน เล็งจำกัดจำนวนออเดอร์ต่อการสั่งหนึ่งครั้ง เพิ่มความปลอดภัยไรเดอร์

แชร์ :

Grab พบคนไทยไม่อยากรอคิวนาน เปิดตัว 3 ฟีเจอร์เรือธง“Self-Pickup, Dine-In และ Flash Sale” เพื่อกระตุ้นยอดการใช้งานในไตรมาสสุดท้ายของปี ด้านผู้บริหารเผยสถิติเชนกาแฟดัง Starbucks – Cafe Amazonยอดขายเพิ่ม 22% จากบริการ Self-Pickup (รับด้วยตัวเองที่หน้าร้าน) เตรียมจำกัดจำนวนออเดอร์ต่อการสั่งหนึ่งครั้งบนบริการ GrabFood หวังเพิ่มความปลอดภัยให้กับไรเดอร์

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

Self-Pickup แก้โจทย์คนไทยไม่อยากรอคิวนาน

สำหรับที่มาของฟีเจอร์เรือธงอย่าง “Self-Pickup” ที่ผู้บริหาร Grab ประเทศไทยนำมาเผยข้อมูลเบื้องหลังในวันนี้ คุณวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ระบุว่ามาจากอินไซต์ของแพลตฟอร์มที่พบว่า 53% ของผู้ใช้งานไม่ต้องการรอคิวที่หน้าร้าน จึงมีการพัฒนาฟีเจอร์ให้ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะสั่งอาหารจากร้านที่สาขาใด และระบบจะแสดงสถานะการทำอาหารให้ทราบตลอด เมื่อถึงเวลาก็สามารถไปรับสินค้าได้ที่หน้าร้านเลย โดยที่ลูกค้าไม่ต้องจ่ายค่าส่งด้วย

สามย่านมิตรทาวน์ ใช้ฟีเจอร์ Self-Pickup สูงสุด

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Grab ระบุว่า บริการ Self-Pickup ได้เปิดตัวไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และสามารถประหยัดเวลาในการรอไปแล้ว 16 ล้านนาที โดยพื้นที่ห้างที่มีการใช้บริการ Self-Pickup สูงสุดได้แก่

  • สามย่านมิตรทาวน์
  • The Parq
  • Emquartier
  • Central World
  • Silom Edge

ลดการใช้พลาสติก 1.7 แสนชิ้น

นอกจากนั้นยังพบว่า สาขาของเชนกาแฟดังอย่าง Starbucks และ Cafe Amazon ที่เข้าร่วมในฟีเจอร์นี้ ก็มียอดขายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 22% ด้วยเช่นกัน โดยสามารถประหยัดเวลาในการรอทั้งหมดราว 790,160 นาที และลดการใช้พลาสติกลงได้ 173,000 ชิ้น (กรณีสั่ง Delivery ทางร้านจะต้องแยกน้ำ กับกาแฟออกจากกัน การมารับเองที่ร้านจึงสามารถลดการใช้พลาสติกในส่วนนี้ลงได้นั่นเอง

Dine-In เชื่อมประสบการณ์ออนไลน์-ออฟไลน์

อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ผู้บริหาร Grab ประเทศไทยเผยว่าจะเป็นฟีเจอร์เรือธงในไตรมาส 4 ก็คือ Dine-In หรือก็คือการไปรับประทานที่ร้าน ที่ Grab พบว่า ผู้ใช้งานส่วนหนึ่งอยากกลับไปนั่งรับประทานในร้านแล้ว และ 65% ของผู้ใช้งานในปัจจุบันจะมีการเช็ครีวิวของร้านที่ต้องการรับประทานก่อน จากนั้นหากต้องการไปนั่งรับประทานที่ร้าน ก็อาจกดซื้อดีล (ลักษณะเป็น E-Voucher) ต่อไปนั่นเอง

หลังจากเปิดใช้งานฟีเจอร์ Dine-in เมื่อเร็ว ๆ นี้ ข้อมูลจาก Grab พบว่า ร้านที่ได้รับความนิยม และสามารถขายดีลได้สูงสุด ได้แก่

  • อบอร่อย
  • OJI Omakase
  • Izakaya Teppen
  • CQK Mala
  • Cutts

Flash Sale เพิ่มโอกาสร้านเล็ก

ฟีเจอร์ที่ 3 ที่ทาง GrabFood นำมาเปิดเผยว่าเป็นฟีเจอร์เรือธงสำหรับไตรมาส 4 ของบริษัทก็คือ Flash Sale หรือดีลลดฟ้าผ่าที่คุณวรฉัตรเผยว่าสามารถช่วยร้านอาหารบนแพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็นร้านเล็กหรือร้านใหญ่ให้สามารถปรากฏตัวบนจุดที่ได้รับความสนใจมากที่สุดบนแอปพลิเคชันได้

อีกหนึ่งความพิเศษของฟีเจอร์นี้คือ การทำงานแบบ Personalize ของตัวแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้งานอาจได้เห็น Flash Sale ที่แตกต่างกันตามพฤติกรรมการใช้บริการ และความชื่นชอบ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากมีการใช้งานดังกล่าว ผู้บริหาร Grab เผยว่าร้านค้าที่เข้าร่วมรายการมียอดขายเติบโตขึ้น 4.4 เท่า (เทียบกับก่อนเข้าโปรแกรม Flash Sale)

นอกจากนั้น ทาง Grab ยังกล่าวถึงฟีเจอร์อื่น ๆ ที่มีการใช้งานแล้วบนแพลตฟอร์มด้วย เช่น

  • สั่งอาหารแบบกลุ่ม (Group Order): ฟีเจอร์ที่ผู้ใช้บริการหลายคนสามารถสั่งอาหารจากร้านเดียวกันรวมกันได้ผ่านออเดอร์เดียว (จะมีการแชร์ลิงค์จากผู้ใช้งานตั้งต้น และผู้ใช้งานที่ริเริ่มการสั่งต้องเป็นคนจ่ายค่าอาหารทั้งหมด โดยในอนาคต Grab จะพัฒนาความสามารถในการแจ้งยอดค่าใช้จ่ายให้กับคนที่สั่งอาหารคนอื่น ๆ ได้ทราบด้วย) สำหรับฟีเจอร์นี้พบว่าได้รับความนิยมจากกลุ่มพนักงานออฟฟิศที่ชอบสั่งอาหารมารับประทานร่วมกันGrab เผยด้วยว่า เมนูอาหารที่ได้รับความนิยมจากการสั่งอาหารแบบกลุ่มคือกาแฟ อาหารปรุงสำเร็จ และก๋วยเตี๋ยว โดยการสั่งแบบกลุ่มเฉลี่ยแล้วพบว่า สั่งผ่านผู้ใช้งานราว 2 – 3 คน และมีการสั่งไปแล้วกว่า 1 ล้านครั้ง
  • สั่งอาหารล่วงหน้า (Order for later): ฟีเจอร์ที่ให้ผู้ใช้บริการสั่งอาหารได้ล่วงหน้าได้มากสุดภายใน 7 วัน โดยสามารถระบุวันและเวลาที่ต้องการรับอาหารตามความสะดวก โดย 58% ของผู้ใช้ฟีเจอร์นี้คือคนที่ยุ่งกับการทำงานระหว่างวันจนไม่มีเวลาสั่งอาหาร ขณะที่ 20% ต้องการหลีกเลี่ยงการสั่งอาหารในช่วงเวลา peak hours เช่น มื้อเที่ยงและมื้อเย็น
  • ส่งแบบประหยัด (Saver Delivery): ฟีเจอร์ที่พัฒนามาเพื่อผู้ใช้บริการสั่งอาหารที่ไม่เร่งด่วนและต้องการประหยัดค่าส่ง โดยจะช่วยลดค่าส่งสูงสุด 50% เมื่อเทียบกับการจัดส่งแบบมาตรฐาน ปัจจุบันเปิดทดลองแล้วใน 16 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ดี หากสังเกตุจะพบว่า แนวทางการใช้งานแพลตฟอร์ม GrabFood อาจมีการพัฒนาให้เกิดการสั่งอาหารในจำนวนที่มากขึ้น (เช่น การสั่งแบบ Group Order) ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายกับไรเดอร์ผู้ส่งอาหารได้ ในจุดนี้ คุณวรฉัตรเผยว่า ทางแพลตฟอร์มอยู่ระหว่างการพัฒนาฟีเจอร์เพื่อจำกัดจำนวนการสั่งอาหารในแต่ละรอบไม่ให้มากเกินไปจนเป็นอันตรายต่อคนขับแล้วเช่นกัน

ส่วนรถที่ใช้ในการจัดส่ง พบว่า ยังคงต้องพึ่งพาจักรยานยนต์เป็นหลัก เนื่องจากเคยมีการใช้รถยนต์ในการจัดส่งแล้ว และพบว่ามีความไม่สะดวกหลายประการ เช่น การหาที่จอดรถยาก และปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ที่อาจทำให้การจัดส่งสินค้าล่าช้าเกินไป

ลดขยะพลาสติก 8,100 ตัน

นอกจากฟีเจอร์ด้านการใช้งานที่มีการเปิดเผยออกมาแล้ว อีกหนึ่งประเด็นคือเรื่องของการรักษ์โลก ที่ Grab พบว่า การเปิดให้ลูกค้าเลือกว่าจะงดรับช้อน-ส้อมพลาสติก (Plastic Cutlery Opt-Out) สามารถลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ถึง 8,100 ตัน หรือคิดเป็นการงดแจกช้อนส้อมพลาสติกรวมกว่า 898 ล้านชุดในทุกประเทศที่ Grab ให้บริการ

ส่วนฟีเจอร์ ชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ฟีเจอร์ที่ชวนให้ผู้ใช้บริการร่วมบริจาคเงิน 1 บาท ในทุกออเดอร์เพื่อสมทบทุนในการปลูกต้นไม้ พบว่าสามารถนำไปสนับสนุนการปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 2 แสนต้นทั่วภูมิภาค โดยเป็นการปลูกต้นไม้ในประเทศไทย (ติดตามการเจริญเติบโตได้ผ่าน GPS) จำนวน 5 หมื่นต้น (จังหวัดกระบี่และแม่ฮ่องสอน)


แชร์ :

You may also like