HomeInsightห้างฯล้น คนกระจุก สถานการณ์สังคมเมืองที่กรุงเทพ ไร้ทางเลือก

ห้างฯล้น คนกระจุก สถานการณ์สังคมเมืองที่กรุงเทพ ไร้ทางเลือก

แชร์ :

จากการประเมินของ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) คาดการณ์ว่าธุรกิจ “ค้าปลีก” ของไทยในปี 2023 มีมูลค่าสูงถึง 3.7i ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในประเทศไทยมูลค่ากิจการค้าปลีกคิดเป็นสัดส่วนราว 16% ของ GDP เป็นรองเพียงภาคอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น โดยธุรกิจที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนเมืองเป็นอย่างมากก็คือ “ศูนย์การค้า” เนื่องจากพัฒนาการการให้บริการ และการคัดกรองร้านค้าศูนย์การค้าในปัจจุบันทำให้มีบริการที่ “ครบวงจร” (One-Stop Shopping) กล่าวคือ เป็นสถานที่ที่รวบรวมสินค้านานาชนิด ซึ่งผู้บริโภคสามารถหาซื้อสินค้า และเข้ารับบริการ ต่างๆ ได้ครอบคลุมทุกด้าน นั่นทำให้ศูนย์การค้าดึงดูดผู้ใช้บริการที่ต้องการความหลากหลาย ครบถ้วนในที่เดียว ขณะที่วิธีการเลือกทำเล ของฝั่งผู้ประกอบการ มาจากปัจจัยเรื่อง กำลังซื้อของลูกค้า คู่แข่ง ด้านการคมนาคม ปัจจัยด้านกฎหมายและข้อบังคับ และปัจจัย ด้านโอกาสในการเติบโตของเมืองในอนาคต

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

นั่นทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ห้างล้น คนกระจุก” เมื่อศูนย์การค้าตั้งอยู่ในระยะติดๆ กัน ในย่านศูนย์กลางทางธุรกิจ จนเกิดปัญหาจราจร ผู้คนในสังคมขาดความหลากหลายในกิจกรรมและสถานที่

“ค้าปลีก” กำหนดทิศทางเศรษฐกิจ

จากหนังสือเรื่อง Waimart in China ระบุถึงความสำคัญของธุรกิจค้าปลีกเอาไว้ว่า “Manufacturing system from being producer-driven to retailer driven” สะท้อนให้เห็นว่าจากเดิมที่ภาคการผลิตเป็นผู้ขับเคลื่อนหรือตัดสินใจในการผลิตสินค้า กลายเป็นว่าปัจจุบันนี้ด้วยข้อมูล (Data) ที่มีอยู่ในมือ “ค้าปลีก” กลับกลายเป็นผู้กำหนดดีมานด์หรืออาจรวมไปถึงกำหนดราคา ผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดใหญ่มีส่วนกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการกระจายสินค้า

ยังไม่นับว่า ภาคค้าปลีกและบริการ มีจำนวน SME ที่เกี่ยวพันมากถึง 2.4 ล้านราย หรือคิดเป็น 80% ของ SME ในประเทศ นั่นทำให้ธุรกิจค้าปลีกมีการจ้างงานโดยตรงนับล้านอัตรา ความสำคัญของค้าปลีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ที่นอกเหนือจากจะสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นแหล่งดึงดูดการท่องเที่ยวจากต่างชาติ รวมทั้งคนไทยเองก็ใช้เวลาในห้างสรรพสินค้าเพื่อการพักผ่อนด้วยเช่นกัน

เทรนด์การก่อสร้างอีกอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาตลอดระยะเวลา 4-5 ปีหลังก็คือ โครงการมิกซ์ยูส (Mix-Used) ที่วางตำแหน่งห้างสรรพสินค้า อยู่บริเวณเดียวกับอาคารสำนักงาน เพื่อดึงดูดพนักงาน ให้ใช้ชีวิตในช่วงกลางวัน และหลังเลิกงานได้ง่าย ขณะเดียวกันก็ใช้จำนวนประชากรจากอาคารสำนักงานเป็นทราฟฟิกของห้างฯ รวมไปถึงพื้นที่อยู่อาศัย นั่นทำให้จำนวนผู้คนในบริเวณเดียวกันหนาแน่นยิ่งขึ้น

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้คำจำกัดความของ “กรุงทพฯ” เอาไว้ว่าเป็นเมือง “เอกนคร”ii (Primate City) หรือเมืองที่มีขนาดใหญ่กว่าเมืองอันดับสอง อย่างน้อย 2 เท่า ทั้งจำนวนประชากรและขนาดทางเศรษฐกิจ ทำให้กลายเป็นเป้าหมายของการย้ายถิ่น รวมทั้งต้นทุนด้านการเดินทางจากการขนส่งที่ใช้เครื่องยนต์และสิ่งแวดล้อม ขณะที่ชุมชนและร้านค้าดั้งเดิมก็หายไปจากการเติบโตและพรั่งพร้อมของห้างสรรพสินค้า คำถามก็คือการสร้างความสมดุลให้กับการเติบโตของห้าง – เมือง และ คนที่ก้าวเดินไปพร้อมๆ กัน จะดำเนินไปได้อย่างไร ?

ชนชั้นกลางโต กำลังซื้อขยับ ปัจจัยดันห้างฯ ผุดไม่ยั้ง

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย โดยระบุว่า รายได้ต่อหัวคนไทยในปี 2564 อยู่ที่ 232,160 บาทต่อคนต่อปี ส่วนรายได้ต่อหัวคนไทยในปี 2565 อยู่ที่ 252,928 บาทต่อคนต่อปี ถึงแม้ว่า ในปี 2566 รายได้ต่อหัวคนไทยจะเติบโตน้อยกว่าที่คาด อยู่ที่ 259,409.3 บาทต่อคนต่อปีiii จากเดิมที่เคยประเมินไว้ว่าจะอยู่ที่ 262,633.3 บาทต่อคนต่อปี แต่ก็นับว่าเติบโตขึ้น

ประกอบกับการตลาดในโลกปัจจุบันที่กระตุ้นให้ไลฟ์สไตล์ การกิน – ดื่ม -เที่ยว ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ Instagrammable สามารถโพสต์เรียกยอดไลก์ได้ทางโซเชียลมีเดีย การปรุงแต่งประสบการณ์ และการนําเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ บริหารพื้นที่ขาย หรือโชว์สินค้าเพื่อเรียกความสนใจจากลูกค้าให้มาจับจ่าย ด้วยข้อมูลและองค์ความรู้ที่นำมาสร้างสรรค์การจัดเรียงสินค้า ล้วนแล้วแต่ทำให้ผู้เล่นรายใหญ่ในประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเปิดตัวศูนย์การค้าด้วยแรงดึงดูดมหาศาล

Experience Marketing หัวใจความสำเร็จ ห้างฯ ไทย

จากการแข่งขันที่นอกจากจะต้องต่อสู้กันเองในกลุ่มผู้ประกอบการที่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้เล่นรายใหญ่ระดับประเทศด้วยกันเองแล้ว ห้างสรรพสินค้าของไทยยังต้องเผชิญหน้ากับภาวะ Digital Disruption อย่างรุนแรง ผู้เล่นหน้าใหม่ไม่ได้ปรากฏตัวอยู่แค่ในรูปแบบ Physical Store แบบดั้งเดิม แต่กลายร่างไปอยู่ในโทรศัพท์มือถือ ทั้ง e-Market Place และ Social Commerce

จึงทำให้เจ้าตลาดห้างสรรพสินค้าในไทยทั้งหลายต้องขนฝีไม้ลายมือมาห่ำหั่นกัน ผ่าน “การสร้างประสบการณ์” (Experience Marketing) ที่กลายเป็นอาวุธเด็ดของห้างฯ ไทย ชนิดที่ว่า “ห้างนอกก็สู้ไม่ได้ ออนไลน์ก็อย่าหวัง” ชนิดที่ห้างสรรพสินค้าในประเทศไทยต้องมีพื้นที่ที่เป็นลานกว้าง เพื่อเอาไว้จัดกิจกรรมทั้งรองรับงานลูกค้าที่มาเช่าพื้นที่หรือไว้ทำกิจกรรมดึงดูดลูกค้าของตัวเอง ชนิดที่ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ต้องมีกิจกรรม “ทุกวัน” รวมทั้งการจัดสรรร้านค้าที่สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้า ดังนั้นเราจึงเห็นการที่ร้านอาหารชื่อดังดั้งเดิมหลายแห่งแห่ “ขึ้นห้าง” เพื่อเรียกคนให้มาจับจ่าย

ผังเมือง ตัวกำหนดเกมการแข่งขัน?

เมื่อประชากรที่มีกำลังซื้ออยู่รวมตัวกัน ก็ยิ่งทำให้ห้างสรรพสินค้า ที่ต้องการให้ผู้บริโภค “เข้าถึงง่าย” ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน “สยามพารากอน” ที่พระราม 1 อยู่ห่างจาก “เอ็มสเฟียร์” ถนนสุขุมวิท ราว 3.8 กิโลเมตร และยิ่งใกล้ “สีลมเอจ” ยิ่งกว่าที่ 2.1 กิโลเมตร จากระยะดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการกระจุกตัวของ “ย่าน” ห้างสรรพสินค้า

การก่อสร้างที่ต้องใช้ “พื้นที่สีแดง-สีส้ม” ในผังเมือง ซึ่งกำหนดการใช้พื้นที่ รวมทั้งราคา สอดคล้องกับเรื่องของความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และการจราจร ไปจนถึงความสวยงามของงานก่อสร้าง บ่งบอกว่าอาจจะไม่ใช่แนวทางที่เพียงพออีกต่อไป เมื่อเกิดภาวะ “ห้างล้น” จนประชากรหนาแน่น การจราจรในช่วงเทศกาล หรือหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน จนทำให้ค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางพุ่งสูง ตลอดจนทางเลือกในการใช้ชีวิต กิจกรรมลดลง หลากหลายอิเวนต์ล้วนต้องสร้างสรรค์โดยอิงกับในพื้นที่ห้างสรรพสินค้า กลายเป็น “ชีวิตติดห้าง” ของคนกรุงเทพฯ

กระทั่งมีกระทู้หรือการตั้งคำถามในโซเชียลมีเดียบ่อยครั้งว่า “นอกจากห้างแล้ว ยังมีที่ไหนพาแฟนไปเดตได้บ้าง?”

ส่วน พื้นที่สีเขียวที่เข้าถึงได้จริง กลายเป็นตัวเลือกที่จำกัดของกรุงเทพฯ จากข้อมูลของ Rocket Media Labiv ระบุว่า ปัจจุบันอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ คือ 7.49 ตร.ม./คน และคาดว่าจะถึง 9 ตร.ม./คน ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นตัวเลขตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างไรก็ตาม การจะนำอัตราขนาดพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรมาเปรียบเทียบกับอัตราพื้นที่สวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ต่อจำนวนประชากร อาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว แต่ยังมีประเด็นเรื่อง “การเข้าถึงได้ในเชิงระยะทาง” อีกด้วย ซึ่งเมื่อนำเกณฑ์ดังกล่าวมาประกอบกับข้อมูลจุดที่ตั้งของสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ทั้ง 133 แห่งจะพบว่าสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้และมีระยะการเข้าถึงตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ชั้นในและพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ เกือบทั้งหมด  แต่ในขณะเดียวกันจากข้อมูลชุดนี้ก็ทำให้เราเห็นประเด็นที่น่าสนใจว่า แม้ในเขตที่ไม่มีสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้เลยหรือมีน้อย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนา สัมพันธวงศ์ หรือบางรักที่มีเพียงแห่งเดียว

ปี ’67 ห้างใหม่อะไรจะเกิด

ในปี 2566 ค้าปลีกไทยเติบโตขึ้นถึงกว่า 10% ผลมาจากการฟื้นตัวหลังจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ผู้บริโภคกลับมาทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น อีกทั้งครึ่งแรกของปี 2566 สามารถเพิ่มยอดขายจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่นักท่องเที่ยวก็มาเยี่ยมเยือนกรุงเทพมากถึง 22.78 ล้านคน ครองอันดับเมืองอันดับ 1 แซงหน้าปารีส

จนทำให้ในปีที่ 2566 มีแหล่งช็อปปิงเกิดใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น โครงการ ICS หรือไอคอนสยาม เฟส 2 ที่ประเดิมเปิดตัวตั้งแต่เดือนมกราคม เมื่อมาถึงช่วงใกล้เทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง บิ๊กโปรเจ็กต์จาก 2 ค่ายใหญ่ อย่าง Central และ The Mall ก็เผยโฉมให้เห็น เริ่มจาก Central Westville และต่อด้วย The Emsphere ที่ทำให้อาณาจักร The EmDistrict ครบถ้วนทั้งสามตึก ยังไม่นับงานรีโนเวทที่ เดอะมอลล์ปรับปรุงห้างเดิมที่อยู่มานานานอย่าง บางกะปิ และ บางแคให้แปลงโฉมเป็น M Lifestyle Store ในส่วนของเซ็นทรัล ก็รีโนเวท เซ็นทรัล รามอินทรา ต้อนรับการเปิดตัวของ ‘น้องนมเย็น’ รถไฟฟ้าสายสีชมพู

ในปี 2567 เมกะโปรเจ็กต์อย่าง One Bangkok จะเปิดตัวเฟสแรกให้เห็นอย่างเป็นทางการ ขณะที่งานรีโนเวท เกษรพลาซ่า ก็จะเสร็จสิ้นลง ทำให้การแข่งขันในแยกราชประสงค์ดุเดือดขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า Luxury

บทสรุป

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ห้างสรรพสินค้า” เป็นหนึ่งในเสน่ห์ที่น่าหลงใหลของ “กรุงเทพฯ” ภาพการแข่งขันทำให้ผู้เล่นแต่ละรายในตลาดต่างก็ทุ่มเทสรรพกำลัง เพื่อสร้างสรรค์พื้นที่ และกิจกรรมภายในให้ดึงดูดผู้บริโภคมากที่สุด รวมทั้งพยายามส่งเสริมพื้นที่สีเขียวจากการใช้ประโยชน์ของสวนสาธารณะโดยรอบแล้วก็ตาม แต่การแข่งขันดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดการกระจุกตัวของพื้นที่ ราคาสินค้า และภาวะการจราจร ก่อให้เกิดภาวะ “คนจนเมือง” คุณภาพของผู้อยู่อาศัยและร้านค้าดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไป 

ภาครัฐในฐานะผู้กำหนดและใช้กฏหมาย ต้องเริ่มพิจารณาว่า การใช้ผังเมืองเป็นตัวกำหนดอย่างเดียว อาจจะไม่ใช่คำตอบของใบอนุญาตให้ก่อสร้างห้างสรรพสินค้าอีกต่อไป หากแต่ต้องพิจารณาถึงมิติทางสังคมไปด้วย และโจทย์ใหญ่ยิ่งกว่าก็คือการกระจายความเจริญของเมือง และเศรษฐกิจออกนอกรอบให้มากขึ้น โดยตัวภาคประชาสังคมในเขตพื้นที่ต้องเข้มแข็งใส่ใจกับกระบวนการ EIA ให้มากขึ้น

ในขณะที่ภาคเอกชนเอง ก็ต้องดำเนินการอย่างจริงใจทั้งเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ผ่านการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ การรณรงค์ภายใน การออกแบบที่แบ่งปันพื้นที่สาธารณะให้กับชุมชนโดยรอบ ไปจนถึงการคำนึงถึงผลประโยชน์ระหว่างเจ้าของพื้นที่ ลูกค้า ตลอดจนตัวพนักงานที่เป็นหนึ่งใน stakeholder สำคัญที่ต้องเดินทางมาให้บริการทุกวัน การกระจายตัวเศรษฐกิจและห้างออกไปเพื่อตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตใกล้บ้าน อาจจะเป็นคำตอบ ของทั้ง “คนเดิน” และ “คนให้บริการ”

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

ihttps://www.scbeic.com/th/detail/file/product/9146/gngbmuuqhh/Industry-Insight_Retail-trade_20230804.pdf

ii https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/regional-articles/reg-article-2023-10-09.html

iiihttps://www.wealthrepublic.co.th/detail/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B8%9B%E0%B8%B5-2566-%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%AE%E0%B8%A7%E0%B8%9A–%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87-%E0%B8%AA%E0%B8%A8%E0%B8%8A.%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88-915.html#:~:text=%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%20%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD,%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%9B%E0%B8%B5

ivhttps://rocketmedialab.co/bkk-park/


แชร์ :

You may also like