HomeAutomobileทำไม ใครๆ ก็รัก “อินโดนีเซีย” จนขอท้าชิงตำแหน่ง “ดีทรอยด์แห่งเอเชีย” บทวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียของไทย ในการแข่งขันอุตสาหกรรมรถยนต์

ทำไม ใครๆ ก็รัก “อินโดนีเซีย” จนขอท้าชิงตำแหน่ง “ดีทรอยด์แห่งเอเชีย” บทวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียของไทย ในการแข่งขันอุตสาหกรรมรถยนต์

แชร์ :

การออกมาให้สัมภาษณ์ของ Agus Gumiwang Kartasasmita รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมของอินโดนีเซียที่ระบุว่า Isuzu Motors บริษัทผู้ผลิตรถบรรทุกรายใหญ่ของญี่ปุ่นมีแผนจะย้ายโรงงานการผลิตแห่งหนึ่งจากประเทศไทยไปยังอินโดนีเซีย และคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในต้นปีหน้ากำลังสร้างความตื่นตระหนกให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยไม่น้อย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีการพบกันของรัฐมนตรีอินโดนีเซีย กับผู้บริหารอีซูซุในกรุงโตเกียว เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยรอยเตอร์รายงานว่า รัฐมนตรีอินโดนีเซียยินดีอย่างมากต่อการตัดสินใจของอีซูซุ และจะมอบสิทธิพิเศษ รวมถึงสนับสนุนกระบวนการย้ายโรงงานครั้งนี้ด้วย

อย่างไรก็ดี เมื่อช่วง 14.30 น. ของวันนี้ ทางบริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ได้ส่งอีเมลชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงและไม่ใช่การประกาศอย่างเป็นทางการจาก บริษัท อีซูซุมอเตอร์ แต่อย่างใด ถึงแม้ว่าประเทศอินโดนีเซียจะเป็นตลาดที่สำคัญแห่งหนึ่งของอีซูซุก็ตาม  แต่บริษัทไม่มีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปยังอินโดนีเซีย

ส่วนโรงงานอีซูซุในประเทศไทยนั้นพบว่ามีทั้งสิ้นสองแห่ง โดยตั้งอยู่ในย่านสำโรง สมุทรปราการและฉะเชิงเทรา มีกำลังการผลิตปีละ 385,000 คัน และมีการจ้างงานราว 6,000 ตำแหน่ง

ไทยเริ่มอย่างไรกับสมญานาม “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย”

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงศรี เกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ได้กล่าวถึงการเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียของไทยว่า มาจากการลงทุนของบริษัทรถยนต์ข้ามชาติในไทยเพิ่มขึ้นหลังจากการลงนาม Plaza Accord ปี 2530 โดยส่วนใหญ่เป็นค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นที่เผชิญภาวะเงินเยนแข็งค่า ทำให้ลดทอนความสามารถในการแข่งขันของฐานผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่น

ประกอบกับหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 รัฐบาลไทยมีนโยบายผ่อนปรนให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในกิจการไทย พร้อมทั้งกำหนดแผนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ และสนับสนุนการลงทุนผลิตเพื่อส่งออก โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของภูมิภาคเอเชีย (Detroit of Asia) ส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจาก 0.36 ล้านคันในปี 2540 เป็น 1.88 ล้านคันในปี 2565 หรือขยายตัวเฉลี่ย 9.8% ต่อปีนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

อีกทั้งยังพบว่า การผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้โครงสร้างตลาดรถยนต์เปลี่ยนจากผลิตเพื่อใช้ในประเทศเป็นผลิตเพื่อส่งออก (เฉลี่ยปี 2550-2565 อัตราส่วนผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 48% ต่อการผลิตเพื่อส่งออก 52%)

ทำไมใคร ๆ ก็รัก “อินโด”

หันมามองสถานการณ์ปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า อินโดนีเซียได้กลายเป็นประเทศที่มีแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น โตโยต้า (Toyota) ฮอนด้า (Honda) มิตซูบิชิ (Mitsubishi) ซูซุกิ (Suzuki) และอินโดนีเซียยังพยายามจะวางโพสิชันตัวเองเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วย

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้อินโดนีเซียเป็นที่รักของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์มาจากตลาดที่มีขนาดใหญ่ และความต้องการซื้อที่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิด Covid-19 แล้ว เห็นได้จากยอดขายรถยนต์ใหม่ในเดือนมกราคม 2023 ที่ทำได้ถึง 94,087 คัน หรือเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยแบ่งออกเป็นรถเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ 23,982 คัน (โตขึ้น 10%) และรถส่วนบุคคล 70,105 คัน (โตขึ้น 12.5%)

นอกจากนั้น ในปี 2022 ยอดขายรถยนต์ของอินโดนีเซียยังพุ่งถึง 1.048 ล้านคัน หรือคิดเป็นการเติบโต 18% เมื่อเทียบกับปี 2021 ด้วย

สมรภูมิ EV ก็ยังเป็น “อินโดนีเซีย”

ในวันที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะต้องก้าวไปสู่สนามแข่งใหม่อย่างรถยนต์ไฟฟ้า (EV) อินโดนีเซียก็สามารถดึงดูดใจนักลงทุนได้เช่นกัน เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะปริมาณนิกเกิลสำรองที่อินโดนีเซียมีมากกว่าประเทศใด ๆ บนโลก โดยข้อมูลของสื่อตะวันตกอย่าง Bloomberg ระบุว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีปริมาณนิกเกิลสำรองมากถึง 24% ซึ่งนิกเกิลเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตแบตเตอรี่ ส่วนประเทศอันดับสองคือฟิลิปปินส์ ที่มีปริมาณนิกเกิลสำรองเพียง 5% เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นบริษัทต่าง ๆ เข้าไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในอินโดนีเซียมากมาย เช่น CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่ EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้ที่กำลังสร้างโรงงานทางตอนเหนือของเมือง Maluku

ลงทุนไทยหด เหตุ “สังคมสูงอายุ”

ด้านคุณบุนเซอิ โอคุโบะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC Banking) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้เคยกล่าวให้สัมภาษณ์ถึงเทรนด์การลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียนว่า หากเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์จะเน้นไปลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย (และอินเดีย) มากขึ้น พร้อมเผยข้อกังวลของบริษัทญี่ปุ่นในการมาลงทุนที่ประเทศไทยว่า มีความกังวลเรื่องการเข้าสู่สังคมสูงอายุที่จะทำให้ไทยขาดแคลนแรงงานได้นั่นเอง

อย่างไรก็ดี ในสายตานักลงทุนญี่ปุ่น ประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่องสถานที่ตั้ง ที่อยู่ใจกลางอาเซียน และเชื่อมต่อกับทุกประเทศได้โดยสะดวก ทำให้ไม่อาจมองข้ามได้เช่นกัน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ รู้จัก “ASEAN LINK” บริการใหม่กรุงศรี ตั้งเป้าพานักธุรกิจเทศ-ไทยบุกอาเซียน – Brand Buffet)

5 ปัจจัย อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยยังเติบโต

ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ของธนาคารกรุงศรียังมองว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในช่วงปี 2566-2568 ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปัจจัยหนุน 5 ข้อ ได้แก่

1) ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการกระเตื้องขึ้นของกำลังซื้อท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่น่าจะทยอยปรับลดลง

2) ปัญหาขาดแคลนชิปแม้จะยังคงมีอยู่เป็นระยะในปี 2566 ภายใต้แรงกดดันของสงครามเทคโนโลยีโดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน แต่คาดว่าจะคลี่คลายลงในช่วงปี 2567-2568 หลังจากอุปทานชิปเริ่มเข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้นจากการเร่งลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตชิปในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ เยอรมนี และญี่ปุ่น

3) นโยบายอุดหนุนการใช้รถไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ที่ยังมีต่อเนื่อง

4) การเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการของภาครัฐ และการขยายตัวต่อเนื่องของธุรกิจค้าปลีกออนไลน์และโลจิสติกส์ ตลอดจนการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวหลังการเปิดประเทศมากขึ้น ช่วยหนุนความต้องการรถเพื่อการพาณิชย์

5) ผู้ประกอบการมีแผนเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เพื่อกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าตอบรับนโยบายอุดหนุนของภาครัฐ

ส่วนการส่งออกคาดว่าในปี 2566 จะยังเติบโตในอัตราไม่สูงนักตามทิศทางกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ยังคงซบเซาก่อนที่จะกระเตื้องขึ้นในปี 2567-2568 ภายใต้ความเสี่ยงจากนโยบายลดการใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ของหลายประเทศ ในขณะที่การส่งออกรถยนต์ของไทยส่วนใหญ่ยังเป็น ICE

Source

Source

Source


แชร์ :

You may also like