HomeBrand Move !!ผ่าแผน Big C หลังจัดทัพใหม่ทุ่ม 10,000 ล้าน ลุยค้าปลีกไทย-เทศ เตรียมปล่อย IPO ในปีนี้

ผ่าแผน Big C หลังจัดทัพใหม่ทุ่ม 10,000 ล้าน ลุยค้าปลีกไทย-เทศ เตรียมปล่อย IPO ในปีนี้

แชร์ :

BRC

หลังบริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ BRC ประกาศพา Big C กลับเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้ง โดยปัจจุบัน BRC ได้ยื่นไฟลิ่งไปแล้วเรียบร้อย และยื่นไฟลิ่งขาย IPO ซึ่งยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงาน ก.ล.ต. แล้วคาดว่าจะสามารถเปิด IPO ได้ภายในปีนี้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

การหวนคืนตลาดหลักทรัพย์ฯอีกครั้งของ Big C ในชื่อ BRC หลังเคยถอนหุ้นออกจากตลาดไปเมื่อปี 2560 นับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในแวดวงค้าปลีกเมืองไทยและระดับภูมิภาค เพราะนอกจากจะเป็นการกลับมายิ่งใหญ่ในตลาดหลัดทรัพย์อีกครั้งแล้วยังเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญในอุตสาหกรรม เพราะปัจจุบัน “Big C” มีส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตของไทยอยู่ที่  41.9% เป็นเบอร์ 2 ของตลาด โดยผู้นำเบอร์ 1 ของธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ 56.6% 

คุณอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ BRC กล่าวว่า เรามีการปรับวิสัยทัศน์ชัดเจนขึ้น มีเป้าหมายขององค์กร ให้ลูกค้าได้รับสินค้าและบริการที่ดีขึ้น พร้อมกับสร้างความยั่งยืนให้คู่ค้า การประกาศกลับเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อการเติบโตในระยะยาวแล้ว ยังเป็นแนวทางรับมือการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นตลอดเวลา  ท่ามกลางการแข็งขันและคู่แข็งที่เติบโต

“วันนี้ BRC ของเราใหญ่กว่า แข็งแกร่งกว่าบิ๊กซีในอดีต วันที่เราออกจากตลาด และวันนี้เราต้องเลือกชกเพราะเห็นโอกาสทั้งในและต่างประเทศอีกมาก โดยเราจะต้องมีแพลตฟอร์ม รีเทล ที่มีพื้นที่ขายในทุกจังหวัดครอบคลุมทุกจุดในประเทศ มีระยะห่างไม่เกิน 30 นาทีในการขับรถ” คุณอัศวิน เตชะเจริญวิกุลกล่าวถึง BRC ในตลาดหลักทรัพย์ฯ นับจากนี้

 

ส่องอาณาจักร Big C ก่อนปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่แปรสภาพสู่ BRC 

เส้นทางการเติบโตของ BRC เริ่มหลังจากกลุ่มกลุ่มทีซีซี (เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี) ได้เข้าซื้อกิจการ “Big C” จากกลุ่มคาสิโนในปี 2559 โดยมีการเพิ่มประสิทธิภาพให้เติบโต และโลดแล่นตลาดหลักทรัพย์อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่ในปี 2560 หุ้น BIGC จะออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปในที่สุด

จุดเปลี่ยนที่น่าสนใจของบิ๊กซี คือในปี 2564 บิ๊กซีเริ่มจัดทัพใหม่อีกครั้ง เติมช่องทางการจำหน่ายหลากหลาย ทั้งการเปิดตัว Omni-Channel , การเปิดตัวร้านค้าโดนใจ และจัดพอร์ตโฟลิโอของสินค้าใหม่ และเริ่มการมีการพัฒนาแบรนด์บิ๊กซี (Private Label) ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์  Big C Happy Price , Big C Happy Price Pro เป็นต้นสร้างความเข้าถึงมากขึ้น

และในปี 2565 บิ๊กซีได้เปิดตัวซอฟท์แวร์สำหรับวิเคราะห์ข้อมูล พร้อมปรับรูปแบบธุรกิจให้มีความเป็นดิจิทัล รวมถึงการเปิดตัวแอปพลิเคชั่น Big C Plus การเข้าซื้อกิจการ Kiwi Mart ในกัมพูชา และเปิดตัว MM Food Serviec แห่งแรกในไทย นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มขึ้นของฐานข้อมูลจาก (สมาชิก) จาก 12-13 ล้านราย เป็น 18 ล้านราย

ขณะที่ในปี 2566 มีการปรับโครงสร้างธุรกิจอีกครั้ง และยังขยายช่องทางการจำหน่ายสู่แพลตฟอร์มทีมอลล์ ( TMALL) ในจีน เพื่อแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน ทำให้ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ BRC ได้ประกาศกลับเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้ง แล้วคาดการณ์ว่าจะสามารถเปิด IPO ได้ภายในปี 2566 นี้

โดยในปี 2565 บริษัท BRC ทำรายได้ไป 113,573 ล้านบาท และมี EBITDA margin  มูลค่า 11,511 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรา 10.5% ขณะที่ไตรมาสแรก 1/66 ที่ผ่านมา สร้างรายได้รวม 27,432.9 ล้านบาท ยอดขายเติบโตขึ้น 2.8% EBITDA margin มีการปรับตัวสูงขึ้นเป็น 10.9% จึงถือเป็นบริษัทที่น่าจับตาสำหรับการเปิด IPO ในครั้งนี้

การ Spin-Off มาเป็น BRC สำเร็จ ธุรกิจของบิ๊กซี ถือเป็นบริษัทเรือธงในกลุ่ม บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC โดยโครงสร้างการดำเนินธุรกิจจากนี้ของบริษัทยังมี BJC ถือหุ้นใหญ่อยู่ใน 5 ขาหลักได้แก่ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ อุปโภคบริโภค ค้าปลีกสมัยใหม่ (มีบิ๊กซีเป็นเรือธง) เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ และธุรกิจอื่นๆ ในกลุ่มบริษัท ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ TCC

โดยปัจจุบันบิ๊กซีสามารถขยายตัวจนมีธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) รวม 1,741 สาขา มีพื้นที่เช่า1.05 ล้านตร.ม. ทั้งในไทยและต่างประเทศ แบ่งเป็น ร้านค้าขนาดใหญ่ 200 สาขา, ร้านค้าขนาดเล็ก 1,518 สาขา และอื่นๆ เช่น ตลาดนัด, บิ๊กซี ฟู้ด เซอร์วิส, บิ๊กซี ดีโป้ รวม 23 สาขา นอกจากนี้ยังมีธุรกิจประเภทค้าส่ง และธุรกิจอื่น เช่น ร้านขายยาเพรียว, ร้านกาแฟวาวี, ร้านหนังสือเอเชียบุ๊คส

 

wake coffee

ร้านกาแฟวาวี และร้านหนังสือ Asai Books ในเครือ BRC

 

กลยุทธ์ค้าปลีกเรือธง Big C กับการเติบโตในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่

ภายใต้งบประมาณการลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาทในช่วง 2 ปีนับจากนี้ (2566-2567) ที่ BRC ใช้เร่งเครื่องธุรกิจในทุกมิติ แบ่งสัดส่วนการลงทุน ได้แก่ การรีโนเวตสาขาเดิม 23% ลงทุนในประเภทร้านค้าขนาดใหญ่ (ไฮเปอร์มาร์เก็ต) 20% ลงทุนในร้านค้าขนาดเล็ก (บิ๊กซี มินิ) 17% ลงทุนในบิ๊กซี ฟู้ด เซอร์วิส 11% และลงทุนในตลาดต่างประเทศอีก 8-10%

สำหรับงบประมาณส่วนสำคัญจะถูกใช้ในการพัฒนาศักยภาพของ “Big C” แบรนด์ค้าปลีกในเครือเป็นเรือธงหลักในการสร้างการเติบโตในหลายโมเดล ซึ่งกลยุทธ์ของบริษัทจะเน้นไปที่การปรับปรุงพัฒนาสาขาเดิมให้ทันสมัยมากขึ้น ให้มีพื้นที่ในการเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าต่างๆ พื้นที่สำหรับการใช้ชีวิต เช่น การปรับปรุงร้านค้าขนาดใหญ่ ประมาณ 10-15 แห่งต่อปี (ในระยะสั้น-กลาง) การจัดสรรพื้นที่เช่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเพิ่มผู้เช่ารายย่อยเข้ามา 

ล่าสุดได้เปิดตัวโมเดลใหม่ล่าสุด “Big C Place” ซึ่งเป็น Store Format ขนาดใหญ่ที่เข้ามาตอบโจทย์การช้อปปิ้ง และการพักผ่อนที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ โดยเตรียมเปิดให้บริการ Big C Place สาขาแรกที่ “ลำลูกกา คลอง 5” ราวต้นเดือนกรกฏาคม 2566 นี้ ซึ่งเป็นการปรับจาก “บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ ลำลูกกา” ไปยังโมเดล “Big C Place” ก่อนจะเปิดสาขาลำดับถัดไปที่ “รัชดาภิเษก” ในปี 2567 ซึ่งเป็นการรีโนเวตจาก “บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ รัชดา” เก่าโดยสาขานี้จะเป็นแฟล็กชิปของโมเดลดังกล่าวที่ใหญ่ที่สุดอีกด้วย

 

Big C Place

โมเดลล่าสุด “Big C Place” ซึ่งเป็น Store Format ขนาดใหญ่ที่เข้ามาตอบโจทย์การช้อปปิ้ง สาขาลำลูกกา

 

นอกจากนี้ยังปรับปรุงสาขาในจุดแหล่งท่องเที่ยว เช่น การรีโนเวตบิ๊กซี ราชดำริ ภายใต้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท (2566-2567) ซึ่งเป็นสาขาสำคัญที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมากกว่า 2 ล้านคน (ในช่วงที่ผ่านมา) ซึ่งจากข้อมูลของบริษัทเมื่อมีการรีโนเวตสาขาเดิมแล้วจะสามารถผลักดันให้ยอดขายสาขาที่รีโนเวตเพิ่มขึ้นได้ราว 7-8% และยังมีแผนขยายสาขาบิ๊กซีสาขาย่านท่องเที่ยวเพิ่มจาก 25 สาขาเป็น 60 สาขาในอนาคตอีกด้วย

กางแผนระดับภูมิภาค ทะยานเป้าสู่เบอร์หนึ่งธุรกิจค้าปลีกในภูมิภาคอาเซี่ยน

อีกหนึ่งเป้าหมายการเติบโตของ BRC คือการเข้าไปขยายการเติบโตในระดับภูมิภาคอาเซี่ยน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น หลังก่อนหน้าเคยได้เข้าไปขยายธุรกิจแล้วทั้ง 3 ประเทศ ซึ่งทั้งใน สปป.ลาวและกัมพูชา บิ๊กซีถือเป็นผู้นำในตลาดค้าปลีก ขณะที่ในเวียดนาม ถือว่าบริษัทเป็นเจ้าใหญ่ในธุรกิจค้าส่ง โดยเข้าไปถือหุ้นใน MM Mega Market เวียดนาม

 

“ต่างประเทศยังมีโอกาสอยู่อีกมาก โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะใน สปป.ลาว แต่อย่างไรก็ดีการขยายจำเป็นต้องดูความเหมาะสม เพื่อบรรลุเป้าสู่เบอร์หนึ่งในภูมิภาค ซึ่งการขยายในต่างประเทศถือเป็นการเดินหน้าในการเป็น Regional Retailer มีทั้งคู่แข่งและผู้ประกอบการท้องถิ่นอยู่อีกมาก” คุณอัศวิน เตชะเจริญวิกุล กล่าวถึงเป้าหมายในตลาดระดับภูมิภาค

โดยในในภูมิภาคอาเซี่ยนใน 2 ปี นับจากนี้ “Big C”  จะขยายเพิ่มใน 3 ประเทศหลัก  ได้แก่ สปป.ลาว ,กัมพูชา และเวียดนาม  ประกอบไปด้วย

-สปป.ลาว: บิ๊กซี มินิ รูปแบบแฟรนไชส์ (ให้สิทธิ์เครื่องหมายการค้าแก่บุคคลภายนอก)  63 สาขา โดยในปีนี้ มีแผนจะขยายโมเดล “บิ๊กซีไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ในประเทศลาว” อย่างน้อย 1 แห่ง และคาดว่าจะมีโมเดลรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตไม่เกิน 10 สาขาใน สปป.ลาวในอนาคต

กัมพูชา: บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ 1 สาขา ,บิ๊กซี มินิ 18 สาขา, Kiwi Mart 2 สาขา

-เวียดนาม: ร้านสะดวกซื้อ B’s Mart 78 สาขา นอกจากนี้ยังได้รับสิทธิ์ในการเข้าซื้อธุรกิจและเครื่องหมายการค้า ของบริษัท เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต เวียดนาม (MMVN) ซึ่งจะถูกโอนย้ายมาอยู่ในพอร์ตของ BRC ด้วย และจะเปลี่ยนชื่อเป็น “Big C Mega Market” ในอนาคต

ขณะที่ในประเทศจีนที่จะเดินหน้าจับมือพันธมิตรในท้องถิ่น ในการขยายความร่วมมือในการขยายช่องทางการจำหน่าย เบื้องต้นอยู่ระหว่างการพูดคุยกับพันธมิตร โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายในต่างประเทศเพิ่มเป็น 20-40% ของยอดขายรวม ภายใน 5-7 ปี จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนยอดขายจากต่างประเทศ 10% ของยอดขายรวม

นับเป็นอีกหนึ่งก้าวใหม่ที่น่าจับตามองของ BRC หรือที่เราๆ รู้จักกันดีในนาม Big C กับการความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ เพื่อก้าวสู่ผู้นำตลาดค้าปลีกระดับภูมิภาค

อ่านเพิ่มเติม

รู้จัก “Big C Place” โมเดลล่าสุดจาก Big C ที่จะมาสลัดภาพ  “บิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต” เติมเต็มไลฟ์สไตล์ประเดิม 2 สาขาแรก “ลำลูกกา-รัชดา”


แชร์ :

You may also like