HomeBrand Move !!จัดทัพใหม่ในรอบ 15 ปี RS Music จ่อปิดดีลร่วมทุนต่างประเทศ เสริมแกร่งเงินทุน-กลยุทธ์ พาธุรกิจเพลงโกอินเตอร์ 

จัดทัพใหม่ในรอบ 15 ปี RS Music จ่อปิดดีลร่วมทุนต่างประเทศ เสริมแกร่งเงินทุน-กลยุทธ์ พาธุรกิจเพลงโกอินเตอร์ 

แชร์ :

หนึ่งในธุรกิจที่สร้างการเติบโตให้ RS ไปสู่เป้าหมายรายได้ 5,500 ล้านบาทในปีนี้ คือ “ธุรกิจเพลง” ภายใต้โครงสร้างใหม่ RS Music และถือเป็นการหวนกลับมาทำธุรกิจเพลงเต็มรูปแบบของ RS ในรอบ 15 ปี

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ธุรกิจเพลง คือธุรกิจดั้งเดิมของ RS ตั้งแต่เริ่มต้นบริษัทในปี 2525 เคยมีสัดส่วนรายได้จากการขายซีดีถึง 90% ของรายได้รวม เมื่อเข้าสู่ยุคสตรีมมิ่ง RS เริ่มลดบทบาทธุรกิจเพลงตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ขายโรงงานซีดีทิ้ง  ทำให้สัดส่วนรายได้เพลงเหลืออยู่ที่ 7% แต่ก็ไม่ได้เลิกทำ!

ปี 2566 RS ปรับโครงสร้างธุรกิจเพลงใหม่ในรอบ 15 ปี จากเดิมที่เป็น “บิสซิเนส ยูนิต” ได้จัดตั้งเป็นบริษัท RS Music โดยรวมธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเพลงทั้งหมดมาไว้ด้วยกัน ได้แก่ 3 ค่ายเพลง (Rsiam, Rose Sound และ Kamikaze, สถานีเพลง COOLFahrenheit, โชว์บิซ, การทำการตลาดออนไลน์และออนกราวนด์ รวมถึง Artist Management

เวลาที่ใช่ของ RS ในธุรกิจเพลง 

เฮียฮ้อ คุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) บอกว่าปี 2566 จะเป็นปีที่ RS กลับมาให้ความสำคัญในการลงทุนและทำงานเชิงรุกกับ “ธุรกิจเพลง” อีกครั้ง เริ่มตั้งแต่ปรับโครงสร้าง จัดกลุ่มธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง คล่องตัวในการ Synergy กับพาร์ทเนอร์ทั้งไทยและต่างประเทศ ที่สำคัญเป็นการจัดโครงสร้างเพื่อ Spin-off เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2567 โดยจะแต่งตั้ง FA ในเดือนพฤษภาคมนี้

เมื่อ 15 ปีก่อน RS มองว่าธุรกิจเพลงไม่น่าสนใจก็ลดบทบาทลง แต่วันนี้ถึงเวลาที่ใช่ เป็น New Wave เข้ากับกระแส Soft Power แพลตฟอร์มออนไลน์ทำให้คอนเทนต์ของศิลปินเข้าถึงผู้คนได้ทั่วโลก วันนี้คนเสพเพลงไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องภาษา เป็นการฟังเพลงจากความรู้สึกและชื่นชอบศิลปิน

วันนี้ช่องทางการหารายได้ธุรกิจเพลงมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ออนไลน์ สตรีมมิ่ง ที่ยังเติบโตสูง  การทำกิจกรรม สปอนเซอร์คอนเสิร์ต การขายตั๋วเข้าชม การใช้มีเดีย ปัจจุบันสินค้าจะใช้กลยุทธ์สื่อสารการตลาด “มิวสิค มาร์เก็ตติ้ง” เต็มรูปแบบ นั่นคือโอกาสของ RS Music

จ่อปิดดีลร่วมทุนมิวสิคพาร์ทเนอร์ต่างประเทศ

หลังจากเปิดตัวโปรเจกต์ความร่วมมือกับ Grammy X RS จัดคอนเสิร์ตร่วมกันต่อเนื่อง 3 ปีไปแล้ว  ปีนี้ RS Music ยังมีแผนปิดดีลกับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศในเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นดีลขนาดใหญ่ที่จะสร้างมูลค่าให้ทั้งกลุ่มและเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการผลักดัน RS Music ให้มีศักยภาพขยายธุรกิจให้เติบโตได้ทั้งในประเทศและระดับโลก

โดยมิวสิค พาร์ทเนอร์ต่างประเทศที่จะเข้ามาร่วมทุน (JV) จะใส่เม็ดเงินลงทุน รวมทั้ง Synergy ด้านกลยุทธ์ เพื่อทำให้ RS Music แข็งแรงขึ้น มีช่องทางในการนำธุรกิจเพลงไปต่างประเทศได้ง่ายขึ้น 

การกลับมาทำธุรกิจเพลงเต็มรูปแบบ RS ไม่ได้มองว่าธุรกิจเพลงจะอยู่แค่ในประเทศไทย เพราะโลกไร้พรมแดน ในมุมของศิลปินไทยก็มีโอกาสไปทำกิจกรรมในต่างประเทศได้ ผ่านพาร์ทเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญและมีตลาดอยู่แล้ว ส่วนหน้าที่ของ RS คือ สร้างศิลปินที่ดี  ตลาดแรกๆ ในมุมของศิลปินที่ไปได้ก็ จีน เอเชีย ถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ส่วนคอนเทนต์เพลงไปทำตลาดได้ทั่วโลกผ่านสตรีมมิ่ง

โมเดลการสร้างสรรค์งานเพลง จะมีทั้งทำเอง, พาร์ทเนอร์ และศิลปินอิสระ  RS Music กำลังเปิดรับออดิชั่นคนรุ่นใหม่ก้าวสู่การเป็นศิลปินในสังกัดภายใต้ โปรเจกต์ RS Newcomers ที่จะมีผลงานออกมาในไตรมาส 3

ส่วนโปรเจกต์ RS Homecoming  กลุ่มศิลปินศิษย์เก่าอาร์เอสรุ่นต่างๆ ที่ยังมีแฟนคลับติดตามผลงานอยู่จะเริ่มทยอยออกมาเช่นกัน เริ่มจากศิลปินเบอร์แรก “บีม กวี” กับการรวมตัวครั้งสำคัญของ “พ่อพ่อบีมกับน้องแฝด” พี่ธีร์น้องพีร์ใน Single ใหม่ เเนวเพลง Electronic Pop กับเพลง “Calll Me Daddy” Beam ft. Thee Phee  ในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้

ปีนี้ธุรกิจเพลงวางเป้าหมายรายได้ 700 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15% ของรายได้รวม RS   

ขยายธุรกิจสัตว์เลี้ยงเปิด Pet Shop โรงแรมหมาแมว 

อีกธุรกิจดาวเด่นของ RS  ที่เกิดจากความเป็นทาสน้องหมาของเฮียฮ้อ คือ ธุรกิจสัตว์เลี้ยง RS Pet All  ปีนี้ได้เข้าไปลงทุนใน บริษัท ฮาโตะ เพ็ท เวลเนส เซ็นเตอร์ จำกัด (Hato Pet Wellness Center) ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยงครบวงจรและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน “Preventive Program” โปรแกรมการป้องกันดูแลและส่งเสริมให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพแข็งแรงชั้นนำของประเทศไทย ในสัดส่วน 51% ด้วยงบลงทุน 117 ล้านบาท

ล่าสุด ฮาโตะ ได้เปิดตัวโรงพยาบาลสัตว์กรุงเทพ-ชัยพฤกษ์ ศูนย์สุขภาพสัตว์เลี้ยงครบวงจร เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่แมสมากขึ้น

นอกจากนี้วางแผนขยายธุรกิจเพิ่มด้วยการเปิด “โรงแรมหมาแมว” รวมทั้งการเปิด Pet Shop แบรนด์ใหม่ สาขาแฟลกชิปในเดือนกรกฎาคมนี้  ลงทุนประมาณ 10-15 ล้านบาท เป็นร้านใหญ่สุด ไซซ์ L จากนั้นจะขยาย Pet Shop  ไซซ์ M และ S ด้วย ปีนี้เปิด 6-7 สาขา

RS ตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำในธุรกิจสัตว์เลี้ยงครบวงจร และเตรียม Spin-Off นำบริษัทย่อย RS pet all เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 3 ปี

“พุทธ อภิวรรณ” ดันเรตติ้งเพิ่ม 100% 

กลุ่มธุรกิจมีเดีย RS Multimedia  หลังจาก “พุทธ อภิวรรณ” เข้ามาเป็นผู้อำนวยข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 คนใหม่ และเป็นผู้ดำเนินรายการ “ลุยชนข่าว” ส่งผลให้เรตติ้ง Nationwide อยู่ที่ 1.2% เข้าถึงฐานผู้ชมกว่า 3.2 ล้านคน  มีรายได้โฆษณามากขึ้นจากเรตติ้งที่เพิ่มขึ้นกว่า 100%  โดยจะเห็นรายได้ในไตรมาส 2

โดยภาพรวมธุรกิจมีเดียไตรมาสแรกฟื้นตัวจากการปรับกลยุทธ์จัดตั้งหน่วยงานใหม่ MSM  (Media Sale Marketing) เป็นหน่วยงานกลางขายโฆษณากลุ่มธุรกิจสื่อของ RS ทำให้ลูกค้าสะดวกในการวางแผนใช้สื่อแบบ one stop service

ส่วนธุรกิจคอมเมิร์ซ RS Livewell เตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ในหมวดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัวภายใต้แบรนด์ well u, Vitanature+

ด้าน RS Mall เพิ่มความหลากหลายของสินค้าจากพาร์ทเนอร์ พร้อมขยายช่องทางการขายไปยังสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสแรกที่ผ่านมา

สำหรับผลประกอบการไตรมาสแรกที่ผ่าน RS มีรายได้ 813 ล้านบาท กำไรสุทธิ 92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของธุรกิจสื่อและรายได้จากการจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ที่สูงขึ้น รวมไปถึงการรับรู้กำไรพิเศษจากการขายหุ้น CHASE บางส่วน

มองว่าในไตรมาส 2 รายได้จะกลับมาทำ New High อีกครั้งจากการจัดกิจกรรมทั้งคอนเสิร์ต อีเวนท์ รวมไปถึงการเพิ่มรายได้ใหม่ๆ จากธุรกิจคอมเมิร์ซ โดยปี 2566 วางเป้าหมายรายได้ 5,500 ล้านบาท กำไร 10-12%

หลังจากประเทศไทยผ่านการเลือกตั้งทั่วไปและได้รัฐบาลใหม่ ในฐานะภาคเอกชน เฮียฮ้อ  มีมุมมองว่ารัฐบาลน่าจะมีนโยบายสนับสนุนคอนเทนต์ Soft Power อย่างจริงจัง ด้วยการสนับสนุนเงินทุน แต่ไม่ใช่มาชี้นำกำหนดแนวทางการทำงานเหมือนที่ผ่านมา เพราะไปต่อไม่ได้ เมื่อคนให้เงินกับคนวางกลยุทธ์ ไม่เข้าใจกัน ควรปล่อยให้เอกชนที่มีความเชี่ยวชาญได้ทำงานและเรียนรู้ 

อย่าง เกาหลีใต้ ที่ประสบความสำเร็จส่งออก Soft Power ไปทั่วโลก เพราะรัฐบาลสนับสนุน โดยไม่หวังผล แม้งานที่ทำออกมาจะได้ผลหรือไม่ก็ตาม เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้เอกชน สุดท้ายจะเห็นว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จ เอกชนจะต้องเป็นผู้นำในการทำงานไม่ใช่ภาครัฐ    

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like