HomeBrand Move !!7 เรื่องรู้จัก IPO น้องใหม่ “เงินติดล้อ” จากไฟแนนซ์ห้องแถวสู่บริษัทมหาชน ธุรกิจในเครือแบงก์กรุงศรีฯ

7 เรื่องรู้จัก IPO น้องใหม่ “เงินติดล้อ” จากไฟแนนซ์ห้องแถวสู่บริษัทมหาชน ธุรกิจในเครือแบงก์กรุงศรีฯ

แชร์ :

TIDLOR เงินติดล้อ

“เงินติดล้อ” นับเป็น IPO น้องใหม่ในหมวดธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ด้วยมูลค่าเสนอขายสูงสุด 5 ลำดับแรกในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย หรือราว 35,480 – 38,089 ล้านบาท เป็นเบอร์หนึ่งสินเชื่อจำนำรถเริ่มต้นจาก “ไฟแนนซ์ห้องแถว” ที่มีธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่  ตามดู 7 เรื่องน่าสนใจของ TIDLOR ก่อนเปิดซื้อขายในตลาดฯ (first day trading) วันที่ 10 พฤษภาคมนี้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

1. “เงินติดล้อ” บริษัทในเครือธนาคารกรุงศรีฯ

ความเป็นมาของ “เงินติดล้อ” (เดิมคือ ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ) เริ่มต้นปี 2523 เป็นธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในจังหวัดเพชรบูรณ์ ในนามบริษัท ศรีสวัสดิ์ เพชรบูรณ์ จำกัด ก่อตั้งโดยครอบครัวแก้วบุญตา ต่อมาปี 2534 ขยายธุรกิจไปจังหวัดต่างๆ รวม 130 สาขา ทั่วประเทศ เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ศรีสวัสดิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (1991) จำกัด

จุดเปลี่ยนอยู่ในปี 2550 กลุ่ม AIG เข้าซื้อสินทรัพย์เครือข่ายสาขา “ศรีสวัสดิ์” จากบริษัท ศรีสวัสดิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (1991) จำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด

ต่อมาปี 2552 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดจากกลุ่ม AIG ทำให้ธุรกิจ “ศรีสวัสดิ์” กลายเป็นบริษัทในเครือของธนาคาร และเปลี่ยนชื่อเป็น “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” จากนั้นในปี 2558 ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น “บริษัท เงินติดล้อ จำกัด” และปี 2559 เปลี่ยนโลโก้เป็น “เงินติดล้อ” (ลดตัวอักษรคำว่า “ศรีสวัสดิ์” วางไว้ด้านล่าง)

ปี 2561 รีแบรนด์ครั้งใหญ่ เปลี่ยนโลโก้เหลือแค่ “เงินติดล้อ” ตัดคำว่า “ศรีสวัสดิ์” ออก เพื่อไม่ให้ลูกค้าสับสน สาเหตุก็เพราะในปี 2551 ครอบครัวแก้วบุตตา (ผู้ก่อตั้ง ศรีสวัสดิ์ ก่อนขายธุรกิจให้ AIG) ได้จัดตั้งบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1972 จำกัด ทำธุรกิจรับจ้างจัดเก็บหนี้และบริการสินเชื่อจำนำรถและบ้าน โดยใช้ชื่อแบรนด์ “ศรีสวัสดิ์” เงินสด ทันใจ ปัจจุบันคือ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) : SAWAD

ปัจจุบันแม้ “เงินติดล้อ” ไม่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทอื่นๆ ที่มีชื่อ “ศรีสวัสดิ์” แต่ก็ยังเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ”

TIDLOR เงินติดล้อ

2. ที่มาทำไม “เงินต้องติดล้อ” จุดเริ่มต้นธุรกิจ

หากย้อนดูธุรกิจและชื่อแบรนด์ “เงินติดล้อ” ก็คงมีคำถามว่า “ทำไมเงินต้องติดล้อ” ซึ่งหากทำความเข้าใจกับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทยและศึกษาพฤติกรรมบางกลุ่มของสังคมก็ได้คำตอบว่าทำไม “เงินติดล้อ”  นั่นก็เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง หากเจาะดูกลุ่มฐานรากของประเทศไทย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระ เป็นกลุ่มรายได้น้อยราว 10,000 บาทต่อเดือน และเป็นรายได้ไม่สม่ำเสมอ เช่น วินมอเตอร์ไซค์  รายได้ผันผวนตามสภาพอากาศ แดดออก ฝนตก

อีกพฤติกรรมคือการ “ออมเงิน” เป็นลักษณะซื้อทรัพย์สินที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต ทรัพย์สินที่ถือครองมากที่สุดคือ “ยานพาหนะ” เห็นได้จากรถและมอเตอร์ไซค์ จดทะเบียนในประเทศไทยมีประมาณ 40 ล้านคัน จากจำนวนประชากร 67 ล้านคน

แต่ปัจจุบันคนไทย 18% ยังไม่มีบัญชีธนาคาร (Unbanked) และกว่า 61% เป็นกลุ่มที่มีบัญชีธนาคาร แต่ไม่สามารถเข้าถึงบริการอื่น ๆ อย่าง สินเชื่อหรือบัตรเครดิตได้ โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอและมักจะได้รับค่าจ้างต่ำกว่าแรงงานในระบบ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 55%

เมื่อกลุ่มฐานรากไม่มีหลักฐานทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน หรือ Statement  จึงเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ยาก แต่การที่พวกเขาเป็นเจ้าของยานพาหนะต่างๆ นั่นจึงเป็นที่มาว่า “ทำไมเงินต้องติดล้อ” และเป็นที่มาของธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ

ในต่างจังหวัดจึงเห็นภาพชัดเจนของธุรกิจ “สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ” รายย่อย มีผู้ประกอบการนับ 100 ราย ส่วนใหญ่เป็นระดับท้องถิ่นและภูมิภาค มีจำนวนกว่า 15,000 สาขาทั่วประเทศ

ตลาดสินเชื่อทะเบียนรถในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการกลุ่ม Non-Bank มูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 2.9-3 แสนล้านบาท (ดูจากยอดสินเชื่อคงค้างปี 2562) อัตราการเติบโตเฉลี่ย 12-16% ตั้งแต่ปี 2562-2567 เป็นตลาดเติบโตเร็วกว่าสินเชื่อผู้บริโภคช่วงหลายปีที่ผ่านมา

TIDLOR MD เงินติดล้อ

คุณปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR

3. แก้โจทย์คนฐานรากเข้าไม่ถึงสินเชื่อธนาคาร

สำหรับคนที่เข้าถึงสินเชื่อธนาคาร ก็คงคุ้นเคยกับดอกเบี้ยรายปี อย่าง สินเชื่อบ้าน ดอกเบี้ย 6%  สินเชื่อส่วนบุคคลบัตรเครดิตเพดานไม่เกิน 16% ธุรกิจเอสเอ็มอี ดอกเบี้ย 9% สินเชื่อส่วนบุคคลเงินสดเพดานดอกเบี้ย 25%

คุณปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR กล่าวว่าธุรกิจ “เงินติดล้อ” ผู้ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถ เป็นการแก้โจทย์ให้กลุ่มฐานรากที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อธนาคาร ด้วยเพดานดอกเบี้ย 20% ต่อปี อาจมองว่าเป็นอัตราสูง แต่หากเป็นกลุ่มที่พ้นจากเงินติดล้อไปแล้ว คือจะต้องเจอกับ “หนี้นอกระบบ” นั่นหมายถึงดอกเบี้ย 30% ต่อเดือน (หรือกว่า 600% ต่อปี) ทำให้ดอกเบี้ยท่วมเงินต้น และยังไม่รู้ว่าจะเจอวิธีการทวงหนี้รูปแบบใดในวันที่ไม่สามารถผ่อนชำระได้

“เราเห็นกลุ่มฐานรากเข้ามาที่เงินติดล้อทุกวัน เพื่อนำเงินก้อนไปปิดหนี้นอกระบบ”

4. จากไฟแนนซ์ห้องแถว ก้าวสู่บริษัทมหาชน

“เงินติดล้อ” ธุรกิจในเครือแบงก์กรุงศรีอยุธยา เป็นนิติบุคคล บริหารโดยมืออาชีพหลากหลายด้าน ซึ่งเป็นจุดที่หลายองค์กรข้ามไปได้ยาก คือ การเปลี่ยนจากธุรกิจครอบครัว แต่เป็นจุดที่ “เงินติดล้อ” ก้าวข้ามมาแล้วกว่า 10 ปี

มองจากภายนอก “เงินติดล้อ” เหมือน “สินเชื่อห้องแถว” ที่นักลงทุนมักนำไปเปรียบเทียบกับคู่แข่ง แต่เงินติดล้อ ไม่ได้วางเป้าหมายแค่เป็นเบอร์หนึ่งในประเทศไทย แต่อยากเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในธุรกิจที่ทำ

“ที่ผ่านมาหากมีเรื่องไหนที่เราสนใจและอยากรู้ ก็จะเรียนรู้ดูงานจากผู้นำระดับโลก เช่น เมื่อสนใจเรื่องงานบริการ ก็ไปเรียนรู้จาก Disney สหรัฐฯ เมื่อสนใจเรื่อง Fin Tech และ Digital Transformation หลายปีก่อนก็ไปเรียนรู้จากหลายบริษัทเทคโนโลยีในจีน เพื่อนำความรู้มาพัฒนาองค์กร และหาโอกาสเติบโตด้านดิจิทัล”

ปัจจุบัน “เงินติดล้อ” ให้บริการ 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันครบวงจร ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 (คำนวณจากยอดหนี้คงค้างในปี 2562) และ 2. ธุรกิจนายหน้าประกันภัย ซึ่งติดอันดับ 1 ใน 3

ล่าสุด “เงินติดล้อ” หรือ TIDLOR  ได้ทำการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนรวมไม่เกิน 1,043.54 ล้านหุ้น (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน 136 ล้านหุ้น) กำหนดช่วงราคาเสนอขายที่ 34.00 – 36.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมไม่เกิน 35,480 – 38,089 ล้านบาท (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)

นับเป็น IPO ของหุ้นในหมวดธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าเสนอขายสูงสุด 5 ลำดับแรกในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย

IPO tidlor

5. เปิดรายย่อยจองซื้อจัดสรรแบบ Small Lot First

หุ้นสามัญ TIDLOR ที่จะเสนอขายในครั้งนี้ มีจำนวนไม่เกิน 907,428,600 หุ้น (ไม่รวมหุ้นจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) คิดเป็นสัดส่วนรวมกันไม่เกินร้อยละ 39.1 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดภายหลังการ IPO ในครั้งนี้ โดยแบ่งออกเป็น

  1. การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของเงินติดล้อจำนวนไม่เกิน 210,816,700 หุ้น

2. การเสนอขายหุ้นสามัญเดิมโดยธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำนวนไม่เกิน 284,144,300 หุ้น

3. การเสนอขายหุ้นสามัญเดิมโดย Siam Asia Credit Access Pte. Ltd. จำนวนไม่เกิน 412,467,600 หุ้น

อาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe หรือ Over-allotment Option) จำนวนไม่เกิน 136,114,200 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 15.0 ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด

นอกจากนี้ TIDLOR  ได้จัดสรรหุ้นให้นักลงทุนรายย่อยจำนวน 46.5 ล้านหุ้น สามารถจองซื้อได้ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ของวันที่ 22 เมษายน 2564 ถึง เวลา 16.00 น. ของวันที่ 26 เมษายน 2564 ผ่านช่องทางออนไลน์ของตัวแทนจำหน่ายหุ้น 3 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) (สำหรับบุคคลที่เป็นลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) เท่านั้น)

การจัดสรรหุ้นให้รายย่อยใช้วิธี Small Lot First (เหมือนการจัดสรรหุ้น OR ก่อนหน้านี้) โดยต้องจองซื้อหุ้นขั้นต่ำเป็นจำนวน 1,000 หุ้น ที่ราคา 36.50 บาทต่อหุ้น (ราคา IPO สูงสุด) หรือคิดเป็นมูลค่า 36,500 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนหุ้นที่จองซื้อต่อหนึ่งใบจอง

นักลงทุนรายย่อยที่จองซื้อและชำระเงินครบถ้วนทุกจะได้รับจัดสรรหุ้นในรอบแรกเป็นจำนวนขั้นต่ำที่ 1,000 หุ้น จากนั้นจะได้รับการจัดสรรเพิ่มรอบละ 100 หุ้นต่อราย ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจำนวนหุ้นเบื้องต้นที่เสนอขายต่อผู้จองซื้อรายย่อยจะครบตามจำนวนที่กำหนด

การจัดสรรหุ้นจะดำเนินการโดยระบบคอมพิวเตอร์ของ บริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด โดยคาดว่าจะสามารถประกาศผลการจัดสรรและรายชื่อผู้จองซื้อรายย่อยที่ได้รับการจัดสรรผ่านทาง https://www.settrade.com ในวันที่ 28 เมษายนนี้  และหุ้น TIDLOR จะเริ่มเทรดวันแรก 10 พฤษภาคม 2564

TIDLOR เงินติดล้อ

6. ราคา P/E ประเมินจากโอกาสรายได้ในอนาคต

ราคาหุ้น IPO เงินติดล้อ กำหนดช่วงราคา 34.00 – 36.50 บาทต่อหุ้น หากดูกำไรสุทธิ ปี 2563 ที่ 2,416 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดจำนวน จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้น (Earnings Per Share) เท่ากับ 1.04 บาทต่อหุ้น และอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio: P/E) ประมาณ 32.60–35.00 เท่า

เมื่อเทียบ P/E Ratio ของบริษัทจดทะเบียนอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันสำหรับธุรกิจสินเชื่อ เฉลี่ยประมาณ 27.4 เท่า และสำหรับธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิต เฉลี่ยประมาณ 37.7 เท่า

การกำหนดราคา IPO เงินติดล้อ ดังกล่าว เป็นการประเมินธุรกิจในอนาคต ซึ่งมีทั้งธุรกิจสินเชื่อและโบรกเกอร์ประกันภัย ที่ไม่เหมือนธุรกิจในกลุ่มเดียวกัน จึงไม่ได้นำรายได้และกำไรในอดีตมาคำนวณ P/E ปัจจุบัน

ตัวอย่าง บางหุ้น P/E 20 เท่า แต่บางตัว 40 เท่า นักลงทุนยังเลือกซื้อหุ้นที่ P/E 40 เท่า เพราะเห็นโอกาสสร้างการเติบโตในอนาคตได้ ดังนั้นการลงทุนอย่าดูเพียง P/E สูงหรือต่ำ เพราะไม่ได้สะท้อนราคาหุ้นว่าถูกหรือแพง แต่ให้ดูการเติบในอนาคต

7. เป้าหมาย 3 ปีเติบโต 15-20%

ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันของ “เงินติดล้อ” เติบโตมาต่อเนื่อง ปี 2563 มียอดสินเชื่อคงค้าง 51,331 ล้านบาท ส่วนธุรกิจนายหน้าประกันภัยเพิ่งเริ่มทำมา 3 ปี ในปี 2563 มีค่าเบี้ยประกันวินาศภัยที่ขายได้ 4,011 ล้านบาท เติบโต 40%

ผลการดำเนินงาน ย้อนหลัง 3 ปี

  • ปี 2561 รายได้ 7,569 ล้านบาท กำไร 1,306 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 17.3%
  • ปี 2562 รายได้ 9,458 ล้านบาท กำไร 2,202 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 23.3%
  • ปี 2563 รายได้ 10,559 ล้านบาท กำไร 2,416 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 22.9%

ปัจจุบัน “เงินติดล้อ” มีเครือข่ายสาขากว่า 1,000 สาขา ทั่วประเทศ เงินที่ได้จาก IPO  จะนำไปขยายอีก 500 สาขา ในช่วง 3 ปีนี้ และใช้เป็นเงินทุนขยายพอร์ตสินเชื่อ โดยประเมินการเติบโต 15-20% ต่อเนื่อง 3 ปี จากโอกาสในธุรกิจสินเชื่อ ที่ผู้ประกอบการรายเล็กจะค่อยๆ หายไป จากกฎระเบียบของภาครัฐออกมาควบคุม ทำให้ผู้ประกอบการที่มีเงินทุนแข็งแกร่ง ให้บริการลูกค้าได้ดีเติบโตได้  ส่วนธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยประเมินการเติบโตกว่า 40% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เพราะไม่มีผู้เล่นรายใหญ่ครองตลาด


แชร์ :

You may also like